พระประวัติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงประกอบพระกรณียกิจด้านต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นงานใหญ่ และงานสำคัญอย่างยิ่งของบ้านเมือง ทรงเป็นกำลังสำคัญในการบริหารประเทศหลายด้าน และทรงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอย่างสูง ผลงานด้านต่าง ๆ ของพระองค์แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพอันสูง เป็นที่ประจักษ์แก่มหาชนทุกยุคทุกสมัย ดังจะกล่าวถึงพระประวัติ และพระราชกรณียกิจด้านต่างๆ ดังนี้
พระประวัติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๕๗ ในพระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าจอมมารดาชุ่ม ธิดาพระอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ) ต้นสกุล"โรจนดิศ" เป็นเจ้าจอมมารดา ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๐๕ พระบาท สมเด็จพระบรมชนกนาถ พระราชทานพระนามและพระพร ประกอบด้วยคาถาเป็นภาษาบาลีซึ่งมีคำแปลดังต่อไปนี้
" สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏ พระจอมเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม ผู้บิดาตั้งนามกุมารบุตรที่เกิดแต่ชุ่มเล็กเป็นมารดานั้น และซึ่งคลอดในวัน ๗ ฯ๙ ๗ ปีจอจัตวาศกนั้น ว่าดังนี้ พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าดิศวรกุมาร นาคนาม ขอจงเจริญชนมายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ สรรพสิริสวัสดิพิพัฒนมงคล ทุกประการ สิ้นกาลนานต่อไป เทอญ
ตั้งนามมาวัน ๕ ฯ๕ ๙ ค่ำ ปีจอจัตวาศก เป็นปีที่ ๑๒ เป็นวันที่ ๖๐๙๖ ในรัชกาลปัจจุบันนี้"
พระองค์ทรงเริ่มเรียนหนังสือไทยชั้นต้นจากสำนักคุณแสงและคุรปาน ราชนิกุล ในพระบรมมหาราชวัง ทรงศึกษาภาษาอังกฤษในโรงเรียนหลวง ซึ่งมีมิสเตอร์ ฟรานซิส ยอร์ช แพตเตอร์สัน เป็นพระอาจารย์
พ.ศ. ๒๔๑๘ เมื่อมีพระชนม์ได้ 13 พรรษา ได้ทรงผนวชเป็นสามเณรที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงเป็น พระอุปัชฌาย์ และประทับจำพรรษาที่วัดบวรนิเวศวิหาร
พ.ศ. ๒๔๒๐ ได้ทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก ได้รับพระราชทานยศเป็นนายร้อยตรีทหารมหาดเล็ก บังคับกองแตรวง พระชนมายุได้ 15 ปี
พ.ศ. ๒๔๒๒ ได้รับพระราชทานยศเป็นนายร้อยโท ผู้บังคับการทหารม้า ในกรมทหารมหาดเล็กและในปีเดียวกันนี้ได้รับพระราชทานยศเป็น นายร้อยเอก ราชองค์รักษ์ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระชนมายุได้ 17 ปี
พ.ศ. ๒๔๒๓ ได้รับพระราชทานยศเลื่อนเป็นนายพันตรี ผู้สนองพระบรมราชโองการ ว่าการกรมทหารมหาดเล็ก
พ.ศ. ๒๔๒๔ โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปสังกัดกรมทหารปืนใหญ่ ซึ่งเรียกกันในสมัยนั้นว่า "กรมกองแก้วจินดา"
พ.ศ. ๒๔๒๕ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยสมเด็ยพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงเป็นพระ อุปัชฌาย์ และประทับจำพรรษาที่วัดนิเวศธรรมประวัติ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พ.ศ. ๒๔๒๘ โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปเป็นผู้บังคับการทหารมหาดเล็ก และได้รับพระราชทานยศเป็นนายพันโท
พ.ศ. ๒๕๒๙ โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระสุพรรณบัฎ และทรงประกาศแต่งตั้งให้ดำรงพระอิสริยยศ เป็น "กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ"
พ.ศ. ๒๔๓๐ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นผ้บัญชาการทหารบก
พ.ศ. ๒๔๓๑ ได้รับพระราชทานยศเป็นนายพลตรี
พ.ศ. ๒๔๓๒ โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายจากงานฝ่ายทหารไปปฏิบัติงานทางพลเรือน ทรงเป็นผู้กำกับ กรมธรรมการ
พ.ศ. ๒๔๓๓ โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็นอธิบดีกรม ศึกษาธิการ
พ.ศ. ๒๔๓๕ - ๕๘ โปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงมหาดไทย
พ.ศ. ๒๔๔๒โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระอิสริยยศเป็น "กรมหลวงดำรงราชานุภาพ"
พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระอิสริยยศ เป็น "กรมพระดำรงราชานุภาพ"
พ.ศ. ๒๔๕๘ ดำรงตำแหน่งนายกหอพระสมุดสำหรับ พระนคร
พ.ศ. ๒๔๖๖ ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมุรธาธร และเป็นนายพลเอก
พ.ศ. ๒๔๖๘ ดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรี
พ.ศ. ๒๔๖๙ ดำรงตำแหน่งนายก ราชบัณฑิตยสภา
พ.ศ. ๒๔๗๒ โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อน พระอิสริยยศเป็น "สมเด็จพระเจ้า บรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ"
พ.ศ. ๒๔๘๖ สิ้นพระชนม์
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงประกอบพระกรณียกิจด้านต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นงานใหญ่ และงานสำคัญอย่างยิ่ง ของบ้านเมือง ทรงเป็นกำลังสำคัญในการบริหารประเทศหลายด้าน และทรงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอย่างสูง ผลงานด้านต่าง ๆ ของพระองค์แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพอันสูง เป็นที่ประจักษ์แก่มหาชนทุกยุคทุกสมัย
ด้านการศึกษา
ถึงแม้ว่าพระองค์จะทรงปฏิบัติหน้าที่ทางการศึกษาอยู่ในช่วงระยะเวลาสั้นเพียงประมาณ ๓ ปี (พ.ศ. ๒๓๓๓ - ๒๓๓๕) แต่พระองค์ ทรงมีพระดำริริเริ่มเป็นเยี่ยมในพระกรณียกิจด้านนี้หลายประการ กล่าวคือ
๑. ทรงเริ่มงานจัดการศึกษาเป็นครั้งแรก เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนสภาพ "โรงเรียนทหารมหาดเล็ก" ซึ่งเป็นโรงเรียนฝึกสอนวิชาทหารให้แก่นายร้อย นายสิบ ในกรมทหารมหาดเล็ก มาเป็นโรงเรียนสำหรับพลเรือน มีชื่อเรียกว่า "โรงเรียนพระตำหนัก สวนกุหลาบ" และพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งผู้จัดการโรงเรียน
๒. ในขณะที่ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมธรรมการ ได้ทรงจัดวางระเบียบการบริหารราชการของกรมและโรงเรียน กล่าวคือ ทรงวางระเบียบ ข้อบังคับตำแหน่งหน้าที่เสมียน พนักงาน ในการเข้ารับราชการ การเลื่อนตำแหน่ง ลาออก ลงโทษ ตลอดจนทรงกำหนดให้มีการตรวจสอบและ รายงานผลตรวจโรงเรียนทั้งในกรุงและหัวเมืองของพนักงานด้วย
๓. ทรงขยายการศึกษาโดยอาศัย "วัด" ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ และอบรมศีลธรรมให้แก่ราษฎรมาแต่โบราณ และ "วัดมหรรณพาราม" เป็นโรงเรียนหลวงแห่งแรกที่ทรงจัดตั้งขึ้น การศึกษาลักษณะนี้ได้ขยายออกไปอย่างกว้างขวางทั่วกรุงเทพฯ ในเวลาต่อมา และเมื่อทรงปรับปรุง หลักสูตรและวิธีการสอน ตลอดจนจัดพิมพ์ตำราเรียนเรียบร้อยแล้ว ได้ทรงขยายการศึกษาออกไปสู่ราษฎรตามหัวเมืองต่าง ๆ โดยทรงจัดตั้ง โรงเรียนหลวงขึ้นทั่วประเทศ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๕
๔. ทรงริเริ่มจัดให้มีการตรวจสอบตำราเรียนและออกประกาศรับรอง ทั้งนี้เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ และความสามารถอย่างเหมาะสม และทรงกำหนด ให้มีการปรับปรุงหลักสูตรตำราเรียนขึ้นใหม่ คือ ตำราแบบเรียนเร็ว
๕. ทรงจัดตั้ง "โรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือน" เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ ในขณะที่ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งต่อมา ใน พ.ศ. ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนมหาดเล็ก" และเปลี่ยนเป็น "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ในเวลาต่อมา
๖. ทรงปรับปรุงและแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ ของหอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งเป็นหอสมุดแห่งเดียวในพระนคร เช่น ทรงกำหนดให้มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการดำเนินงาน จัดงบประมาณสำหรับซื้อหนังสือ กำหนดระเบียบวิธีการยืม และการเป็นสมาชิก เป็นต้น
ด้านมหาดไทย
ซึ่งเป็นกิจการสำคัญยิ่งในการบริหารประเทศนั้น พระองค์ทรงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการก่อตั้งและปฏิรูปการจัดระเบียบการปกครอง ภายในประเทศ และการบริหารราชการของกระทรวงมหาดไทยกล่าวคือ
๑. ทรงจัดการบังคับบัญชางานภายในกระทรวง ให้มีรูปแบบเป็นระบบราชการชัดเจนขึ้น มีลำดับขั้นการบังคับบัญชา มีการแบ่งงานและเลือกสรร ผู้มีความรู้ความสามารถเข้ารับราชการ โดยการจัดสอบคัดเลือกตลอดจนออกระเบียบวินัยต่าง ๆ เช่น เลิกประเพณีให้ข้าราชการทำงานอยู่ที่บ้าน กำหนดให้มีการประชุมข้าราชการทุกวัน กำหนดเวลาการทำงาน ตลอดจนจัดระเบียบส่ง ร่าง เขียน และเก็บหนังสือราชการ เป็นต้น
๒. ทรงจัดระบบการปกครองส่วนภูมิภาค ซึ่งเรียกว่า "ระบบเทศาภิบาล" ได้เป็นผลสำเร็จ และนับว่าเป็นผลงานสำคัญที่สุดของพระองค์ โดยทรง รวมหัวเมืองต่าง ๆ จัดเข้าเป็น "มณฑล" และมี "ข้าหลวงเทศาภิบาล" เป็นผู้บังคับบัญชา อยู่ในอำนาจของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยอีกชั้นหนึ่ง สำหรับการแบ่งเขตย่อยลงไปเป็นจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้านนั้น ใน พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้ออก "พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่" บังคับใช้ทั่วพระราชอาณาจักร
พระราชกรณียกิจด้านการปกครองส่วนท้องถิ่นที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ทรงริเริ่มจัดตั้ง "การสุขาภิบาลหัวเมือง" ในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ โดยเริ่มที่ ตำบลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร เป็นแห่งแรก และนับเป็นการปูพื้นฐานการปกครองส่วนท้องถิ่น
พระกรณียกิจด้านมหาดไทยทุกประการ จึงล้วนแต่เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนยั่งยืนมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากพระราชกรณียกิจด้านการศึกษาและด้านมหาดไทยแล้ว พระองค์ยังทรงรับพระราชภาระจัดการและมีส่วนร่วมในการปรับปรุงกิจการด้านอื่น ๆ อีกหลายด้าน ได้แก่ ด้านการป่าไม้ ซึ่งทรงริเริ่มก่อตั้งกรมป่าไม้ขึ้นเพื่อให้หน่วยงานของรัฐได้เข้าไปควบคุมดูแลกิจการป่าไม้โดยตรง และทรงริเริ่ม ให้ดำเนินการออกพระราชบัญญัติ กฎกระทรวง และกฎข้อบังคับต่าง ๆ เพื่อเป็นผลประโยชน์ของกรมป่าไม้เป็นหลักสำคัญ และเป็นรากฐานในการ ปฏิบัติงานของกรมป่าไม้มาจนถึงปัจจุบัน ทรงริเริ่มการออกโฉนดที่ดิน
ด้านสาธารณสุข
ทรงรับภาระในการจัดการโรงเรียนแพทย์ต่อจาก พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ ทรงมีพระดำริริเริ่มให้มีโอสถศาลา สำหรับรับหน้าที่ผลิตยาแจกจ่ายให้ราษฎรในตำบลห่างไกล ซึ่ง ปัจจุบันคือ สถานีอนามัย และทรงจัดตั้งปาสตุรสภา สถานที่ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งในปัจจุบันโอนไปอยู่ในสังกัดของสถานเสาวภา สภากาชาดไทย นอกจากนี้พระองค์ยังทรงรับพระภารกิจด้านงานสรรพากร และงานอุตสาหกรรมโลหกิจ ซึ่งเป็นแนวทางพัฒนางานมาจนถึงปัจจุบันด้วย
ด้านศิลปวัฒนธรรม
ทรงริเริ่มและวางรากฐานการดำเนินงานของกิจการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอสมุดแห่งชาติ และพระองค์ท่านก็ทรง อุทิศเวลา ทรงพระนิพนธ์หนังสือ ตำราต่าง ๆ ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี อันเป็นมรดกทางปัญญาของชาวโลกมาจนกระทั่งทุกวันนี้
ที่มา
http://www.moi.go.th/portal/page?_pageid=814,1062651,814_1064635&_dad=portal&_schema=PORTAL