การกระทำโดยพลาด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างความรับผิดทางอาญาเรื่องของเจตนาโดยผลของกฎหมาย และเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล และเรื่องของป้องกัน จำเป็น |
|
อ้างอิง
อ่าน 276 ครั้ง / ตอบ 0 ครั้ง
|
ประพันธ์ เวารัมย์
|
การกระทำโดยพลาด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างความรับผิดทางอาญาเรื่องของเจตนาโดยผลของกฎหมาย และเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล และเรื่องของป้องกัน จำเป็น
การกระทำโดยพลาด ดูมาตรา ๖๐
มาตรา ๖๐ “ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น”
การพิจารณาว่าเป็นการกระทำโดยพลาดหรือไม่ ต้องดูที่เจตนาเริ่มต้นเป็นหลัก ว่าเป็นเจตนาฆ่าหรือเจตนาทำร้าย เช่น ก ยิง ข กระสุนไม่ถูก ข แต่พลาดไปถูก ค ได้รับบาดเจ็บ อย่างนี้เป็นการกระทำโดยพลาดโดยชัดเจน การที่ ก ยิง ข ไม่ถูก การยิงนี้เป็นเจตนาฆ่า มีความผิดฐานพยายามฆ่า ข ส่วนความผิดของ ก กับ ค เจตนาเริ่มต้นเป็นเจตนาฆ่า เมื่อพลาดไปถูก ค ดังนั้น ก จึงมีความผิดต่อ ค ฐานพยายามฆ่าเหมือนกัน เพราะว่าเริ่มต้นด้วยเจตนาฆ่า
ถ้าข้อเท็จจริงเปลี่ยนไป เจตนาเริ่มต้นเป็นเจตนาทำร้าย เช่น ก ใช้ไม้ตีหัว ข แต่ไม้ไม่ถูก ข พลาดไปถูก ค ที่ศีรษะ ค ถึงแก่ความตาย อย่างนี้ ก จะมีความผิดฐานใด
คำตอบ ก มีความผิดฐานพยายามทำร้าย ข ส่วนความผิดต่อ ค ก็ต้องดูเจตนาเริ่มต้นเป็นหลัก คือ ก มีเจตนาทำร้าย แต่ ค ตาย ก ก็ต้องรับผิดต่อ ค ฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาตามมาตรา ๒๙๐
ข้อสังเกต ถ้าการกระทำโดยพลาด ผลจากการกระทำโดยพลาดนั้นเกิดจากความประมาท เช่น ก ต้องการตีหัว ข แต่ว่าไม้พลาดไปถูกหัวของ ค โดยประมาท อย่างนี้ ก จะมีความผิดฐานใด ถ้าเป็นอย่างนี้ เมื่อไม้พลาดถูก ค โดยความประมาทของ ก อย่างนี้ ก ต้องรับผิดฐานประมาทหรือรับผิดฐานกระทำโดยพลาด กรณีอย่างนี้ ก ต้องรับผิดฐานกระทำโดยพลาดเพราะว่า อย่างไรเสียก็ต้องรับผิดฐานการกระทำโดยพลาดโดยเจตนาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องไปพิจารณาว่า ก นั้นประมาทหรือไม่ เนื่องจากเป็นเรื่องของเจตนาโดยผลของกฎหมาย
แต่ถ้าหากการที่ไม้พลาดไปถูก ค นั้นไม่ได้เกิดจากความประมาทแต่เกิดจากกรณีที่ ก นั้นเล็งเห็นผลอย่างแน่แท้แล้วว่าไม้นั้นจะพลาดไปถูก ค อย่างนี้ ก ต้องรับผิดต่อ ค ฐานการกระทำโดยพลาดหรือฐานเจตนาย่อมเล็งเห็นผล เรื่องนี้มีแนวคำพิพากษาแบ่งออกเป็น ๒ แนว แนวแรกบอกว่าเป็นการกระทำโดยพลาด แต่อีกแนวหนึ่งบอกว่าในเมื่อมีเจตนาย่อมเล็งเห็นผลอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องไปพิจารณาการกระทำโดยพลาด (ปกติแล้วเนติฯจะไม่ออกเป็นข้อสอบ เพราะฎีกาไม่ชัดเจน)****
การกระทำโดยพลาดนั้น ตัวละครจะต้องมี ๓ ฝ่าย แต่ถ้าหากตัวละครนั้นมีแค่ ๒ ฝ่าย เช่น ก. ต้องการฆ่าตัวเอง แต่เผอิญยิงแล้วกระสุนมันพลาดไปถูก ข. อย่างนี้ไม่ใช่การกระทำโดยพลาด เพราะว่าตามตัวบทนั้นต้องมีตัวละคร ๓ ฝ่าย จะต้องไปดูเรื่องของประมาท
การกระทำโดยพลาด นอกจากจะเป็นการกระทำต่อบุคคลแล้ว ถ้าเป็นการกระทำต่อทรัพย์ก็สามารถมีการกระทำโดยพลาดได้
มีข้อสังเกต ถ้าหากเป็นการกระทำต่อบุคคล แต่พลาดไปถูกทรัพย์ ไม่ถือว่าเป็นการกระทำโดยพลาด คือจะต้องเป็นการกระทำต่อทรัพย์ ถ้าไปถูกทรัพย์ด้วยกัน หรือเป็นการกระทำต่อบุคคลพลาดไปถูกบุคคลด้วยกัน เช่น ถ้า ก. ต้องการยิง ข. แต่กระสุนพลาดไปถูกทรัพย์ของ ข อย่างนี้ไม่ใช่การกระทำโดยพลาด เพราะว่าวัตถุแห่งการกระทำมันไม่เหมือนกัน ส่วน ก จะต้องรับผิดต่อทรัพย์ของ ข หรือไม่ ก็ต้องไปดูเรื่องประมาทหรือเล็งเห็นผลอีกต่างหาก ถ้า ก ต้องการยิง ข กระสุนพลาดไปถูกทรัพย์ของ ค อย่างนี้มีตัวละครเพิ่มมาอีกตัวเป็นสามตัว แต่ว่าวัตถุแห่งการกระทำนั้นไม่เหมือนเดิม เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่การกระทำโดยพลาด ถ้า ก ยิง ข กระสุนพลาดไปถูกม้าของ ค อย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นการกระทำโดยพลาด เพราะว่าวัตถุแห่งการกระทำคือม้ากับ ข มันเป็นวัตถุคนละอย่าง แต่ถ้าเผอิญว่าการที่กระสุนพลาดถูกไปม้าของ ค นั้น ค กำลังขี่ม้าตัวนั้นอยู่แล้วกระสุนไปถูกม้าของ ค ทำให้ ค ตกจากหลังม้าได้รับบาดเจ็บ อย่างนี้ถือว่าเป็นการกระทำโดยพลาดแล้ว เพราะผลมันไปเกิดกับ ค ซึ่งเป็นวัตถุแห่งการกระทำเป็นบุคคลเช่นเดียวกับ ข ดังนั้น ก ก็จะมีความผิดฐานพยายามฆ่า ข แล้วก็ถ้า ค ไม่ตาย ก็จะมีความผิดฐานพยามฆ่า ค เหมือนกัน เพราะว่าการที่ ค ตกจากหลังม้าเป็นผลโดยตรงและก็ไม่มีเหตุแทรกแซง
ถ้า ก ต้องการยิงกระจกรถยนต์ของ ข แต่ไม่ถูก พลาดไปถูกกระจกรถยนต์ของ ค แตก อย่างนี้เป็นทรัพย์กับทรัพย์เหมือนกัน ก ต้องรับผิดต่อกระจกรถยนต์ของ ค
เรื่องของการกระทำโดยพลาดจะมีตัวอย่างที่แปลกๆอยู่ ๒ เรื่อง ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการกระทำโดยพลาด
เรื่องแรก ถ้า ก ต้องการยิงรถยนต์ของ ข แต่พลาดไปถูกสุนัขของ ข ตาย อย่างนี้เป็นการกระทำโดยพลาดหรือไม่ อย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นการกระทำโดยพลาด เพราะว่าตัวละครมีแค่ ๒ ตัว แต่ถามว่า ก จะต้องรับผิดที่ทำให้สุนัขของ ข ตายฐานทำให้เสียทรัพย์ตามมาตรา ๓๕๘ หรือไม่ คำตอบคือ ก จะต้องรับผิด ตามมาตรา ๓๕๘ ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จในตัวเอง คือประสงค์จะทำต่อทรัพย์ของ ข ผลก็ไปเกิดขึ้นกับทรัพย์ของ ข
เรื่องที่สอง ถ้า ก ต้องการยิง ข แต่ไปเข้าใจว่ารูปปั้นของ ข นั้นคือตัว ข ปรากฏว่าในขณะนั้น ข นอนเล่นอยู่ข้างๆกับรูปปั้น กระสุนถูกรูปปั้นและแฉลบไปถูก ข ซึ่งนอนเล่นอยู่ข้างๆถึงแก่ความตาย อย่างนี้เป็นการกระทำโดยพลาดหรือไม่ คำตอบไม่เป็นการกระทำโดยพลาดเพราะมีตัวละครแค่ ๒ ตัว แต่ว่า ก จะต้องรับผิดฐานฆ่า ข โดยเจตนาประสงค์ต่อผล โดยถือเป็นความผิดสำเร็จ
ประเด็นต่อไป การกระทำโดยพลาด มันพลาดโดยไม่มีผลเกิดกับผู้เสียหายฝ่ายแรก
เช่น ก ยิง ข กระสุน กระสุนไม่ถูก ข แต่พลาดไปถูก ค แต่ถ้าสิ่งที่ ก ทำนั้น ทำให้ผู้เสียหายฝ่ายแรกสำเร็จด้วย แต่กระสุนไปถูกผู้เสียหายฝ่ายที่สองด้วย อย่างนี้ก็ถือว่าเป็นการกระทำโดยพลาดด้วยเหมือนกัน เช่น ก ต้องการยิง ข ก็เลยถือปืนเล็งไปที่ ข ลั่นไก กระสุนถูก ข ถึงแก่ความตาย กระสุนทะลุ ข ไปถูก ค ได้รับบาดเจ็บ อย่างนี้การที่กระสุนไปถูก ค ก็เป็นการกระทำโดยพลาดเช่นกัน
ตัวอย่าง ก ต้องการฆ่า ข ก็เลยยิงไปที่ ข ซึ่ง ข ก็หลบ กระสุนไปถูก ข แต่เนื่องจาก ข หลบก็เลยเซ ไปถูกตอไม้เสียบตาย กระสุนพลาดไปถูก ค ที่แขน ค ก็เลยตกน้ำถึงแก่ความตายเพราะจมน้ำ อย่างนี้ ก จะต้องรับผิดต่อ ข และ ค หรือไม่อย่างไร เรื่องนี้ก็คือการกระทำโดยพลาดทั้งหมด ก จะต้องรับผิดต่อ ข ฐานเจตนาฆ่า มาตรา ๒๘๘ และมาตรา ๕๙ เพราะความตายของ ข เป็นผลโดยตรง ส่วน ค กระสุนถูก ค จมน้ำตาย ก ก็ต้องรับผิดต่อ ค เหมือนกัน เป็นการกระทำโดยพลาด ตามมาตรา ๒๘๘ และมาตรา ๖๐
ข้อสังเกต คือเรื่องเจตนาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ถ้า ก มีเจตนาฆ่า ข โดยมีเจตนาไตร่ตรองไว้ก่อนตามมาตรา ๒๘๙(๔) พลาดไปถูก ค ถึงแก่ความตาย อย่างนี้ถือว่าการกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อนมันโอนไปด้วย เพราะฉะนั้น ก ต้องรับผิดต่อ ค ตามมาตรา ๒๘๙(๔) แต่ถ้าหากเป็นเรื่องอื่น เช่น มาตรา ๒๘๙(๑) เจตนาฆ่าบุพการี ก ต้องการฆ่า ข ซึ่งเป็นพ่อของตัวเอง แต่กระสุนพลาดไปถูก ค ซึ่งเป็นบุคคลอื่น อย่างนี้มาตรา ๖๐ ตอนท้ายก็เขียนไว้แล้วว่ามันไม่โอนไปด้วย อย่างนี้ ก จะรับผิดต่อ ค ตามมาตา ๒๘๘ หรือมาตา ๒๘๙(๑) แต่ถ้าหาก ค นั้นบังเอิญเป็นบุพการีของ ก เช่นกัน เช่นเป็นแม่ ก ต้องการฆ่าพ่อ แต่พลาดไปถูกแม่ อย่างนี้มาตรา ๒๘๙(๑) โอนไปด้วยได้ เพราะว่าผู้ถูกกระทำนั้นเป็นบุพการีเหมือนกัน
เรื่องพลาดกับเรื่องประมาท ประมาทนั้นมีพลาดได้หรือไม่ คำตอบ การกระทำโดยพลาดนั้นมีได้เฉพาะเจตนาเท่านั้น เป็นเรื่องของเจตนาโอน ประมาทโอนไม่มี จะประมาทหรือไม่ต้องพิจารณาอีกเรื่องหนึ่ง เช่น ก ยิงปืนโดยประมาททำให้ ข ได้รับบาดเจ็บ แต่กระสุนมันพลาดไปถูก ค ได้รับบาดเจ็บเหมือนกัน อย่างนี้ไม่ใช่เรื่องการกระทำโดยพลาด ก จะต้องรับผิดต่อ ค หรือไม่นั้น จะต้องไปดูเรื่อง ก ประมาทหรือไม่
เรื่องของการกระทำโดยพลาดกับเรื่องของการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย คือถ้าไม่พลาด อ้างป้องกันได้ เมื่อพลาดก็อ้างป้องกันได้เหมือนกัน เช่น ก จะยิง ข ข มี สิทธิป้องกันตัวเอง ข จึงยิง ก เพื่อป้องกันตัวเอง กระสุนของ ข นั้น พลาดไปถูก ค ได้รับบาดเจ็บ อย่างนี้ถ้ากระสุนถูก ก ข ก็อ้างป้องกันได้ กระสุนพลาดไปถูก ค ข ก็อ้างป้องกัน ต่อ ค ได้เหมือนกัน แต่กรณีของป้องกันนั้นนักศึกษาต้องระวังนิดหนึ่ง ถ้ากระสุนพลาดไปโดยประมาท ก็ไม่ต้องพิจารณาโดยประมาท ถือว่าเป็นเรื่องของการกระทำโดยพลาดแล้ว
ตัวอย่าง ข ซึ่งมีสิทธิป้องกัน ถ้ายิง ก แต่กระสุนพลาดไปถูก ค โดยประมาท ถ้าเป็นเป็นเรื่องพลาดปกติก็ไม่ต้องดูเรื่องประมาทหรือไม่ แต่เรื่องป้องกันนั้นต้องดูเพราะว่านาย ข นั้นการที่กระสุนพลาดไปถูก ค ประมาทหรือไม่ เพราะอะไรครับ เพราะว่าการกระทำโดยป้องกันนั้น สามารถปฏิเสธความรับผิดได้เฉพาะการกระทำโดยเจตนาเท่านั้น ถ้าหากเป็นการกระทำโดยประมาท ถ้า ข ยิงกระสุนพลาดไปถูก ค โดยประมาทนั้น อ้างป้องกันต่อ ค ไม่ได้ เพราะว่าการป้องกันนั้นจะต้องเป็นการกระทำโดยเจตนา
ต่อไปเรื่องของ ประมาทกับบันดาลโทสะ ก็คือถ้าไม่พลาดอ้างบันดาลโทสะได้ ถ้าพลาดไปถูกอีกบุคคล ก็อ้างบันดาลโทสะกับอีกบุคคลหนึ่งได้เหมือนกัน เช่น ก ถูก ข ข่มเหงก็เลยเกิดบันดาลโทสะ ยิง ข กระสุนพลาดไปถูก ค ก ก็อ้างบันดาลโทสะต่อ ค ได้เหมือนกัน ทั้งๆที่ ค นั้นไม่ใช่ผู้ข่มเหง เรื่องบันดาลโทสะนั้น ต้องกระทำต่อผู้ข่มเหง ถ้ากระทำต่อบุคคลอื่น เช่น ลูกของผู้ข่มเหง อย่างนี้อ้างบันดาลโทสะไม่ได้ ค ตามตัวอย่างนั้น ไม่ใช่ผู้ข่มเหง แต่ ก นั้นก็สามารถอ้างบันดาลโทสะกับ ค ได้
เรื่องสุดท้ายของบันดาลโทสะ ต้องระมัดระวังว่า เรื่องของการกระทำโดยพลาดนั้นจะต้องมีผลไปเกิดกับผู้เสียหายฝ่ายที่สอง ถ้าไม่มีผลเกิดกับผู้เสียหายฝ่ายที่สอง อย่างนี้ไม่ใช่เรื่องของการกระทำโดยพลาด เช่น ก ยิง ข กระสุนพลาดเกือบไปถูก ค อย่างนี้ไม่มีผลเกิดขึ้นกับผู้เสียหายฝ่ายที่สอง ไม่ใช่การกระทำโดยพลาด แต่ถ้าหาก ก ยิง ข กระสุนเกือบถูก ค แต่ ค ตกใจหลบกระสุน แล้วก็ล้มลมไปชนตอไม้ได้รับบาดเจ็บ กรณีนี้มีผลเกิดขึ้นกับผู้เสียหายฝ่ายที่สอง เพราะฉะนั้นก็เป็นการกระทำโดยพลาดแล้ว ดังนั้น ก จะต้องรับผิดฐานพยายามฆ่า ข แล้วก็รับผิดอาญาฐานฆ่า ค เหมือนกัน
ต่อไป เรื่องการกระทำโดยประมาท ซึ่งเป็นเรื่องง่ายมากในการวินิจฉัยข้อสอบ
การกระทำโดยประมาทคือ การกระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์
วิสัย หมายถึง สภาพภายในของตัวผู้กระทำ เช่น เป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ เป็นคนปัญญาอ่อน ซึ่งต้องนำมาพิจารณา
พฤติการณ์ คือ เหตุภายนอกตัวผู้กระทำ เพราะฉะนั้นจะพิจารณาว่าประมาทหรือไม่ ก็ดูทั้งตัวผู้กระทำทั้งเหตุภายในและภายนอก
ข้อสังเกต เรื่องประมาท
๑.ในเรื่องของตัวการร่วม คือประมาทนั้นไม่มีตัวการร่วม ตัวการร่วมนั้นมีได้เฉพาะการกระทำโดยเจตนา ตัวการร่วมฐานประมาทนั้นไม่มี จะต้องดูแต่ละคนว่าประมาทหรือไม่ ต่างคนต่างประมาท นอกจากเรื่องตัวการร่วมแล้ว เรื่องตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุนทั้งหมด มีได้เฉพาะการกระทำโดยเจตนาเท่านั้น ความผิดฐานประมาทนั้นไม่มีตัวการ ผู้ใช่ ผู้สนับสนุน
๒.ประมาทไม่มีพยายาม ขับรถโดยประมาทส่ายไปส่ายมายังไม่ชนใคร ไม่มีความผิดฐานพยายามประมาท
๓.ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์โดยประมาทไม่มี
**ในการทำข้อสอบ การวินิจฉัยว่าจำเลยประมาทหรือไม่ เป็นเรื่องที่ง่ายมาก ง่ายกว่าเจตนาเยอะเลย เพราะว่าข้อสอบจะบอกมาแล้วในโจทย์ว่าประมาทหรือไม่ คำๆแรกก็คือ “ไม่ดูให้ดี” “รีบร้อน” ไปเจอคำเหล่านี้ ฟันธงเลยครับว่าประมาท คำที่สามที่พบบ่อย “หยอกล้อกัน” แต่คำนี้กำกวมต้องระมัดระวัง ซึ่งไม่ใช่ประมาท คือคำว่า “แกล้ง”
เรื่องประมาทก็ไม่มีอะไรมาก แต่ผมอยากจะให้ดูข้อสอบในอดีตข้อหนึ่งซึ่งน่าสนใจ ต้องฝึกทำข้อสอบเป็นหลัก ขาดไม่ได้เลย
คำถาม ระหว่างที่นางสาวเหลืองกำลังจอดรถยนต์รอสัญญาณไฟจราจรในเวลาใกล้เที่ยงคืนที่สี่แยกแถวนั้น นายดำคนร้ายคดีฆ่าคนตายซึ่งกำลังหลบหนีการไล่ติดตามจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้แอบเปิดประตูแล้วเข้ามานั่งในรถยนต์ของนาวสางเหลือง และได้ใช้ปืนจ่อศีรษะนางสาวเหลือง ให้ขับรถฝ่าไฟสัญญาจราจรด้วยความเร็วสูง และมิให้เปิดไฟหน้ารถทั้งนี้เพื่อให้นายดำจะได้หลบหนีได้ทัน นางสาวเหลืองตกใจกลัว จึงทำตามที่นายดำสั่ง ปรากฏว่ารถยนต์ที่นางสาวเหลืองขับได้พุ่งชนนายขาวที่กำลังเดินข้ามถนน นายขาวถึงแก่ความตาย ดังนี้ นางสาวเหลืองจะมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นายขาวถึงแก่ความตายตามมาตรา ๒๙๑ หรือไม่
คำตอบ เรื่องนี้เป็นเรื่องของการกระทำโดยจำเป็นหรือไม่ครับ นักศึกษาส่วนใหญ่ตอบว่าเป็นการกระทำโดยจำเป็น แต่ไม่ถูกนะครับ เนื่องจากการกระทำโดยจำเป็นนั้นจะต้องเป็นการกระทำโดยเจตนาเท่านั้น แต่เรื่องนี้ไม่มีเจตนาในการชน ธงเฉลยว่า นางสาวเหลืองไม่ประมาท เพราะในพฤติการณ์เช่นนั้นจะกะเกณฑ์ให้มีความระมัดวังเหมือนอย่างบุคคลธรรมดาไม่ได้ เป็นเหตุสุดวิสัย ไม่ประมาทจึงไม่ต้องรับผิด
เรื่องถัดไป คือความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล ซึ่งสำคัญมาก
โดยเนื้อของมันแล้วก็จะแทรกอยู่ในข้อสอบทุกข้อ เพราะฉะนั้นนักศึกษาต้องรู้เรื่องนี้ ไม่รู้ไม่ได้ ต้องรู้ความหมายของผลโดยตรง ผลธรรมดา และเหตุแทรกแซง
ผลโดยตรง คือทฤษฎีเงื่อนไข ถ้าไม่มีการกระทำของจำเลย ผลยังเกิดเท่ากับไม่ใช่ผลโดยตรง เพราะฉะนั้นไม่ต้องรับผิด ในทางกลับกันถ้าพิจารณาตามนี้ ถ้าไม่มีการกระทำของจำเลยผลไม่เกิด อย่างนี้ก็เป็นผลโดยตรง เรื่องของผลโดยตรง ใช้กับความผิดอาญาทุกกรณี รวมถึงกรณีที่ต้องใช้เรื่องของผลธรรมดาด้วย คือจะใช้ผลธรรมดาได้ มันต้องผ่านผลโดยตรงมาก่อน ต้องผ่านทฤษฎีเงื่อนไขมาก่อน ถึงจะใช้ผลธรรมดาได้ ถ้าไม่ผ่านทฤษฎีเงื่อนไข ก็ไม่ต้องพิจารณาเรื่องผลธรรมดาอีก
ผลธรรมดา อยู่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๓ วัตถุประสงค์หลักคือการผ่อนปรนความแข่งกระด้างเรื่องของผลโดยตรง แต่ใช้ในบางกรณีเท่านั้นไม่ได้ใช้กับความผิดอาญาทุกกรณี คือต้องใช้กับกรณีที่ต้องรับโทษหนักขึ้นเนื่องจากผล เช่น ทำร้ายร่างกายธรรมดา มาตรา ๒๙๕ แต่ผู้ถูกทำร้ายมันบาดเจ็บสาหัสตามมาตรา ๒๙๗ เพราะฉะนั้น ก็ใช้ผลธรรมดา คือจะต้องรับโทษหนักขึ้น
ผลธรรมดานั้น จะใช้ต่อเมื่อผลบั้นปลายเกิดนอกเหนือเจตนาของผู้กระทำ และต่อเมื่อผลทำให้ต้องรับผิดในมาตราบทหนัก จะใช้ต่อเมื่อผลบั้นปลายเกิดนอกเหนือเจตนาของผู้กระทำ และต่อเมื่อผลทำให้ต้องรับผิดในผลมาตราหนัก คือการจะใช้ผลธรรมดานั้น อย่างแรกจะต้องดูว่าเป็นบทหนักของกันและกัน อย่างเช่น มาตรา ๒๙๗ เป็นบทหนักของมาตรา ๒๙๕ อันนี้ชัดเจน และจะต้องใช้ในกรณีซึ่งผลบั้นปลายนั้นเกิดขึ้นนอกเหนือเจตนา
ถ้าหากไม่ใช่บทหนัก ใช้เพียงผลโดยตรง ซึ่งผลโดยตรงนั้นใช้ทุกกรณีอยู่แล้ว เหตุแทรกแซงก็ใช้ทุกกรณี
เหตุแทรกแซงนั้นไม่มีในตัวบท ใช้กับความผิดอาญาทุกกรณีเมื่อเกิดเหตุแทรกแซงขึ้น
เหตุแทรกแซง คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลัง จากการกระทำความผิดและเป็นเหตุที่ก่อให้เกิดผลบั้นปลายขึ้น จะต้องรับผิดต่อเมื่อเหตุแทรกแซงนั้นวิญญูชนคาดหมายได้
ที่บอกว่าผลธรรมดาจะต้องใช้ในกรณีซึ่งเป็นบทมาตราหนักเท่านั้น เพราะฉะนั้น จะใช้ผลธรรมดาหรือไม่ จะต้องพิจารณาก่อนว่าบทบัญญัติมาตรานั้นเป็นมาตราหนักของอีกบทบัญญัติหนึ่งหรือไม่ มาตรา ๒๙๗ เป็นบทมาตราหนักของมาตรา ๒๙๕ การที่จะต้องรับผิดตามมาตา ๒๙๗ หรือไม่ จะต้องใช้ผลธรรมดา
บทมาตราหนัก เช่น ชิงทรัพย์เป็นเหตุให้คนตายตามมาตรา ๓๓๙ วรรคท้าย เป็นบทหนักของมาตรา ๓๙๙ วรรคแรกชิงทรัพย์ธรรมดา ต้องใช้ผลธรรมดา เช่น ก ต้องการชิงทรัพย์ของ ข ซึ่ง น นั้นเป็นโรคหัวใจโดยที่ ก ไม่รู้ เมื่อ ก ชิงทรัพย์ของ ข และ ข ตกใจเกิดหัวใจวายตาย ก จะมีความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นตายตามมาตรา ๓๓๙ วรรคท้ายหรือไม่ จะต้องพิจารณาว่าเป็นผลโดยตรงหรือไม่ การที่ ข ตาย เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของ ก หรือไม่ เป็นผลโดยตรง เพราะถ้าไม่มีการกระทำของ ก ข ก็จะไม่ตาย เพราะฉะนั้น การ ตายของ ข ก็เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของ ก แต่การชิงทรัพย์เป็นเหตุให้คนตายเป็นบทหนักของชิงทรัพย์ธรรมดา กรณีนี้ปกติแล้ว ถ้า ก ชิงทรัพย์ ของ ข ก็จะผิดฐานชิงทรัพย์ธรรมดาตามมาตรา ๓๓๙ วรรคแรก แต่เผอิญว่า ข ตายขึ้นมา จะต้องใช้มาตรา ๖๓ มาพิจารณาว่าความตาย ข นั้นเป็นผลธรรมดาของการชิงทรัพย์หรือไม่ ความตายของ ข ในกรณีนี้เป็นผลธรรมดาของการชิงทรัพย์หรือไม่ ไม่เป็น การที่ ก ไปชิงทรัพย์แล้ว ข ตาย ความตายของ ข ไม่ใช่ผลธรรมดาของการชิงทรัพย์ เพราะฉะนั้น กรณีนี้เนื่องจากมาตรา ๓๓๙ วรรคท้ายเป็นบทหนักของมาตรา ๓๓๙ วรรคแรก แม้กรณีความตายของ ข จะเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของ ก ก็ตาม แต่เนื่องจากมาตรา ๓๓๙ วรรคท้ายเป็นบทหนักของมาตรา ๓๓๙ วรรคแรก ซึ่งต้องใช้ผลธรรมดาเข้ามาจับ เพราะฉะนั้น ก ก็ไม่ต้องรับผิดตามมาตรา ๓๓๙ วรรคท้าย นักศึกษาจะเห็นได้ว่าผลธรรมดานั้นมันมาผ่อนคลายความแข็งกระด้างของผลโดยตรง
ตามแนวฎีกายังมีบางกรณี ที่ศาลชี้ชัดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่บทหนักของเรื่องหนึ่ง เพราะฉะนั้น เมื่อไม่ใช่บทหนัก ก็ไม่ต้องใช้ผลธรรมดา ใช้แต่เพียงผลโดยตรงกับเหตุแทรกแซง
ประมาทเป็นเหตุให้คนตายตามมาตา ๒๙๑ ไม่ใช่บทหนักของประมาทเป็นเหตุให้รับอันตรายต่อกายและใจ ตามมาตรา ๓๙๐ เพราะฉะนั้น ถ้าจำเลยไปกระทำความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายต่อกายและใจแล้วก็เกิดตายขึ้นมาตรา ๒๙๑ อันนี้ชัดเจนว่ามาตรา ๒๙๑ ไม่ใช่บทหนักของมาตรา ๓๙๐ ก็ไม่ต้องดูเรื่องมาตรา ๖๓ ผลธรรมดาเลย ก็ไปดูแค่ผลโดยตรงกับเหตุแทรกแซงเท่านั้น
***เรื่องที่ออกสอบบ่อยๆก็คือ ฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาตามมาตรา ๒๙๐ เป็นบทหนักของมาตรา ๒๙๕ ทำร้ายร่างกายธรรมดาและมาตรา ๓๙๑ ใช้กำลังทำร้ายไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจหรือไม่ มาตรา ๒๙๐ เป็นบทหนักของมาตรา ๒๙๕ หรือมาตรา ๓๙๑ หรือไม่ ตรงนี้เป็นส่วนซึ่งคำพิพากษาศาลฎีกานั้นมา ๒ ทาง คือถ้ามาตรา ๒๙๐ เป็นบทหนักของมาตรา ๒๙๕ มาตรา ๓๙๑ ก็ต้องใช้มาตรา ๖๓ เรื่องผลธรรมดา แต่ถ้าไม่ใช่บทหนัก มาตรา ๒๙๕ มาตรา ๓๙๑ ก็ใช้เฉพาะผลโดยตรงกับเหตุแทรกแซง แต่ว่าถ้าจะจำฎีกาหลักๆบอกว่า มาตรา ๒๙๐ ไม่ใช่บทหนักของมาตรา ๒๙๕ และมาตรา ๓๙๑ เมื่อไม่ใช่บทหนักก็ไม่ต้องพิจารณาเรื่องผลธรรมดา ดูเฉพาะเรื่องผลโดยตรงกับเหตุแทรกแซงเท่านั้น
ฎีกาหลักเรื่องของมาตรา ๒๙๐ มาตรา ๒๙๕ มีฎีกาเรื่องหนึ่งก็คือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๙๕/๒๕๑๘
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๓๙๕/๒๕๑๘ บอกว่ามาตรา ๒๙๐ ไม่ใช่บทหนักของมาตรา ๒๙๕ ข้อเท็จจริงมีว่า จำเลยตี ถ.มีแผลเล็กน้อย.แต่ ถ.สลบจำเลยเข้าใจว่า ถ. ตาย จึงเอาผ้าขาวม้าของ ถ.ผูกคอ ถ.แขวนกับต้นไม้เป็นเหตุให้ ถ. ตาย จำเลยมีความผิดตามมาตรา 290 กรณีนี้เป็นเหตุแทรกแซงที่คาดหมายได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๑๕๔/๒๕๓๔ จำเลยที่ 2 สำคัญผิดว่าบุตรแรกเกิดของตนถึงแก่ความตายแล้วจึงโยนลงมาจากหน้าต่างโรงแรม แม้โจทก์จะไม่มีพยานรู้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ร่วมลงมือกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 แต่การที่ จำเลยที่ 1 อยู่ร่วมห้องเดียวกับจำเลยที่ 2 ตามลำพัง ในขณะที่จำเลยที่ 2 คลอดบุตร จำเลยที่ 2 ย่อมต้องมีความเจ็บปวด ซึ่งจะต้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ช่วยเหลือตน ตามพฤติการณ์จึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รู้เห็นในการคลอดบุตรของจำเลยที่ 2 แม้จะเป็นการคลอดก่อนกำหนดประมาณ 2 เดือนเศษก็หาใช่ว่าเด็กทารกจะไม่มีชีวิต รอดอยู่เสมอไปไม่ จำเลยที่ 1 ในฐานะบิดาย่อมมีหน้าที่ต้องเอาใจใส่ดูแล บุตรด้วยการใช้ความระมัดระวังตรวจดู ให้ถ้วนถี่เสียก่อนว่าบุตรที่เกิดมายังมีชีวิต รอดอยู่หรือไม่ มิใช่ปล่อยให้จำเลยที่ 2 โยนบุตรทิ้งไปโดยมิได้ห้ามปรามทั้ง ๆ ที่ จำเลยที่ 1สามารถใช้ความระมัดระวังในกรณีเช่นนี้ได้ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายตาม ป.อ. มาตรา 390.
ต่อไปมาตรา ๖๓ ในส่วนที่บอกว่า มาตรา ๖๓ จะใช้ต่อเมื่อผลบั้นปลายเกิดนอกเหนือเจตนาของผู้กระทำเท่านั้น คือ ถ้าจะใช้มาตรา ๖๓ ถ้าเป็นเรื่องของมีเจตนาฆ่าแล้วต่อมาผู้เสียหายตาย ตรงนี้ควรตัดเรื่องของมาตรา ๖๓ ผลธรรมดาออกไปเลย ดูแค่ผลโดยตรงกับเหตุแทรกแซงเท่านั้น เช่น ก ยิง ข ข หลับทันแต่เซไปถูกตอไม้เสียบตาย อย่างนี้จะต้องพิจารณเรื่องผลธรรมดาหรือไม่ คำตอบคือไม่ต้องพิจารณาเรื่องผลธรรมดาเลย เพราะว่า ผลธรรมดาจะใช้ต่อเมื่อผลบั้นปลายเกิดขึ้นนอกเหนือเจตนาของผู้กระทำ กรณีนี้ประสงค์ให้ตายคือใช้ปืนยิง แล้ว ข ก็ตายสมดังเจตนาของ ก เพราะฉะนั้นไม่ต้องเอาเรื่องผลธรรมดาเข้ามาจับ
เช่น ทำร้ายร่างกายธรรมดา แต่ผลมันสาหัส อย่างนี้ต้องใช้ผลธรรมดา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๕๙/๒๕๓๒ จำเลยใช้ ของแข็งตี ทำร้ายผู้ตายมีบาดแผลฟกช้ำดำ เขียวทั่วร่างกายกับมีบาดแผลฉีกขาดที่ศีรษะยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ลึกประมาณ1.5 เซนติเมตร มีบาดแผลฉีกขาดที่หัวคิ้วซ้าย ยาวประมาณ 3 เซนติเมตรลึกประมาณ 1 เซนติเมตร มีบาดแผลถลอกที่ขากรรไกรและข้อศอกซ้ายกระดูกขากรรไกรหัก กระดูกซี่โครงร้าว 2 ซี่ ฟังได้ว่าจำเลยทำร้ายผู้ตายโดย มี เจตนาฆ่า หลังจากที่ผู้ตายถูก ทำร้ายแล้ว ได้ มีการนำตัวผู้ตายไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล แพทย์ได้ รักษาผู้ตายเบื้องแรกโดย ให้น้ำเกลือใส่ท่อช่วย หายใจ ผ่าตัดใส่ท่อระบาย ลมในโพรง ปอดข้างซ้าย เพราะมีลมรั่วออกมาจากทางเดินหายใจ แล้วใส่เครื่องช่วย หายใจให้ผู้ตายด้วย และแพทย์ผู้รักษามีความเห็นว่าหากให้ผู้ตายรักษาตัว ที่โรงพยาบาลต่อไปแล้ว โอกาสที่ผู้ตายจะมีชีวิต รอดมีมากกว่าผู้ตายจะถึงแก่ความตาย การที่ญาติผู้ตายกระทำให้การรักษาสิ้นสุดลงโดยการดึง เครื่องช่วย หายใจ และท่อช่วย หายใจออก แล้วพาผู้ตายกลับบ้าน และผู้ตายถึงแก่ความตายในคืนนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย หาใช่เป็นผลจากการกระทำของจำเลยโดยตรงไม่ เพราะเมื่อผู้ตายอยู่ในความดูแลรักษาของแพทย์แล้ว ผู้ตายย่อมเป็นผู้อยู่ในสภาพที่มีโอกาสมีชีวิต อยู่รอดสูงการกระทำของจำเลยจึงมีความผิดเพียงฐาน พยายามฆ่าผู้ตาย.
ถ้าเป็นเหตุแทรกแซงเกิดขึ้น ก็จะตัดความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล จำเลยก็ไม่ต้องรับผิด แต่มีอีกกรณีหนึ่งซึ่งไม่ใช่เหตุแทรกแซง แต่เป็นการตัดความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลเหมือนกัน คือเรื่องของการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายของบุคคลที่สาม เช่น ก ต้องการแกล้ง ข ก็เลยเอาเหรียญกระษาปณ์ปลอมไปซุกซ่อนไว้ในบ้านของ ข และแจ้งตำรวจให้มาจับ ข ตำรวจก็มาตรวจค้นพบเหรียญกระษาปณ์ปลอมในบ้านของ ข ก็เลยจับ ข ดำเนินคดี ถามว่า ก จะต้องรับผิดฐานทำให้ ข เสื่อมเสียสิทธิเสรีภาพหรือไม่ การที่ ข ถูกจับเสื่อมเสียสิทธิเสรีภาพเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของ ก หรือไม่ จะเห็นว่าเป็นผลโดยตรงนะครับ แต่เรื่องนี้ ก ไม่ต้องรับผิดฐานทำให้ ข เสื่อมเสียสิทธิเสรีภาพ เนื่องจากการที่ตำรวจจับ ข เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายของบุคคลที่สาม จึงตัดความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล เช่นเดียวกับเหตุแทรกแซง
ตัวอย่าง เรื่องของการป้องกันโดยพลาด เช่น ถ้า ก ต้องการ ฆ่า ข แต่ ค เดินผ่านมา เห็น ก กำลังจะยิง ข ค ก็เลยป้องกัน ข โดยการยิง ก ซึ่งทำได้ มาตรา ๖๘ ให้อำนาจไว้ ค ก็เลยยกปืนขึ้นยิง ก เพื่อป้องกัน ข บังเอิญกระสุนพลาดไปถูก ข ถึงแก่ความตาย ไปถูก ข บุคคลซึ่ง ค ประสงค์จะป้องกัน ค นั้นเนื่องจากเป็นการกระทำโดยพลาด จึงอ้างป้องกันต่อ ข ได้ คำถามคือว่า ก จะต้องรับผิดในความตายของ ข หรือไม่ ความตายของ ข เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของ ก ผู้ก่อภัยในตอนแรกหรือไม่ เป็นใช่ไหมครับ ความตายของ ข เป็นผลโดยตรง แต่ในกรณีนี้ ก ไม่ต้องรับผิดในความตายของ ข เพราะว่าการที่ ข ตายนั้นเกิดจากการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายของ ค มันก็เลยตัดความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล ถามว่า ข ตายฟรีหรือไม่ คำตอบก็คือว่า ป้องกันอ้างได้เฉพาะการกระทำโดยพลาด แต่ถ้าการกระทำโดยพลาดนั้นเกิดขึ้นจากความประมาทอ้างป้องกันไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้า ค ประมาทก็ต้องรับผิด แต่ในพฤติการณ์อย่างนั้น โอกาสที่ ค จะประมาทเป็นไปได้หรือไม่
ตัวอย่างข้อสอบ นาย ก เมาสุราขับรถยนต์ส่ายไปมากำลังจะชนเด็กชาย ข ซึ่งกำลังนั่งเล่นอยู่ริมถนน นาย ค เห็นเข้าเกรงว่าเด็กชาย ข จะถูกรถยนต์ชนจึงกระโดดเข้าอุ้ม แต่ด้วยความรีบร้อนได้สะดุดขาของตนเองล้มลง ล้อรถยนต์ทับหลังเท้านาย ค บาดเจ็บ เด็กชาย ข หลุดมือจากนาย ค กระแทกริมฟุตบาท กระดูกข้อมือของเด็กชาย ข แตก ต้องตัดมือ ดังนี้ นาย ก และและนาย ค จะมีความผิดฐานใดหรือไม่
คำตอบ นาย ก มีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นาย ค ได้รับอันตรายแก่กายตามมาตรา ๓๙๐ และนาย ก จะต้องรับผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้เด็กชาย ข ได้รับอันตรายสาหัส เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักก็คือตามมาตา ๓๐๐ การกระทำของนาย ค ที่เข้าไปช่วยเด็กชาย ข เป็นเหตุแทรกแซงที่คาดหมายได้ เมื่อเป็นเหตุแทรกแซงที่คาดหมายได้ นาย ก ต้องรับผิดต่อนาย ค ด้วย นาย ค ไม่มีความผิดเพราะตามวิสัยและพฤติการณ์ ไม่อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ นาย ค ไม่ประมาท กรณีนี้เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล
ประเด็นต่อไป เรื่องของการกระทำโดยป้องกัน มาตรา ๖๘
การป้องกันก็จะพิจารณาดังนี้
๑.มีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย ภยันตรายนั้นใกล้จะถึงและมีเจตนาพิเศษเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองหรือของผู้อื่น
๒.จะต้องไม่เกินขอบเขต เกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน
ภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย หมายถึง ไม่มีอำนาจตามกฎหมายให้กระทำได้ เช่น ถ้าเป็นกรณีบิดาลงโทษบุตรผู้เยาว์ตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน กรณีนี้ทำได้ เป็นอำนาจของบิดาต่อบุตรตามประมวลกฎหมายแพ่งฯ เพราะฉะนั้น บุตรไม่มีสิทธิกระทำการตอบโต้ต่อบิดาโดยอ้างป้องกัน หรือการที่ตำรวจไล่จับกุมคนร้ายโดยใช้ปืนยิงขู่ คนร้ายจะยิงกลับมาโดยอ้างป้องกันทำไม่ได้ เพราะว่าตำรวจแค่ยิงขู่ แต่ถ้าตำรวจไม่ได้ยิงขู่ แต่ยิงคนร้ายหวังจะเอาชีวิตคนร้าย อย่างนี้ คนร้ายอ้างป้องกันได้ ถ้าเป็นการป้องกันจริงๆ
กรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ต้องสงสัย โดยมีเหตุอันควรสงสัย แต่ว่าในทางความเป็นจริงคนที่ถูกจับ ไม่ได้กระทำความผิดอย่างนี้คนที่ถูกจับจะอ้างป้องกันไม่ได้ แม้คนที่ถูกจับไม่ได้ทำผิดจริงๆก็ตาม เพราะตำรวจมีอำนาจตามกฎหมายที่จับกุมตัวผู้ต้องสงสัย
นอกจากนี้ถ้ามีกฎหมายยกเว้นความผิดให้ ก็อ้างป้องกันกลับไม่ได้ ถ้ามีกฎหมายยกเว้นความผิดให้ ก็เท่ากับไม่มีภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมาย เพราะฉะนั้น ผู้ถูกกระทำจะอ้างป้องกันกลับไม่ได้ เช่น ก ต้องการฆ่า ข ใช้ปืนเล็งไปที่ ข เมื่อ ข รู้ตัวจึงใช้ปืนยิง ก เพื่อป้องกันตนเอง มาตรา ๖๘ บอกว่าถ้าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้กระทำไม่มีความผิด เพราะฉะนั้น ก ผู้ก่อภัยแต่แรกจะอ้างป้องกันต่อ ข ไม่ได้ เพราะว่าสิ่งที่ ข ทำนั้นไม่ใช่ภัยอันตรายอันละเมิดต่อกฎหมาย
มีข้อสังเกต ถ้าเป็นเรื่องป้องกัน คือถ้าผู้ป้องกัน ป้องกันกลับมาเกินสมควรแก่เหตุ ถ้า ก จะชก ข จึงยกปืนขึ้นยิง ก อย่างนี้เป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ
กรณีอำนาจจับกุมของตำรวจ กรณีที่ตำรวจมีอำนาจจับกุมตาม ปวิอ. ผู้ถูกจับกุมอ้างป้องกันไม่ได้ แม้จะไม่ใช่ผู้กระทำผิดจริงๆก็ตาม แต่ถ้าหากตำรวจไม่มีอำนาจจับกุมตามกฎหมาย แต่ไปสำคัญผิดว่าตนเองมีอำนาจจับกุม เช่น ตำรวจมีหมายจับ ก แต่เผอิญว่าไปจับ ข คู่แฝดของ ก โดยเข้าใจว่า ข เป็น ก อย่างนี้ตำรวจไม่มีอำนาจจับ ถามว่าตำรวจจะต้องรับผิดในการกระทำให้ ข เสื่อมเสียสิทธิเสรีภาพหรือไม่ คำตอบคือไม่ต้องรับผิด เพราะตำรวจอ้างความสำคัญผิดตามมาตรา ๖๒ วรรคแรกเพื่อปฏิเสธความรับผิดได้ แต่คำถามก็คือว่า ข ซึ่งมิใช่บุคคลตามหมายจับสามารถป้องกันตนเองไม่ได้ถูกจับได้หรือไม่ คำตอบก็คือได้ เพราะเป็นกรณีตำรวจไม่มีอำนาจจับ เพราะฉะนั้น ข สามารถอ้างป้องกันได้
ข้อสังเกต เรื่องของการป้องกัน คือการละเมิดกฎหมายแพ่ง การที่จะอ้างป้องกันได้ ภัยอันตรายอันละเมิดต่อกฎหมายนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นกฎหมายอาญา กฎหมายแพ่งก็อ้างป้องกันได้ เช่น การเป็นชู้ เป็นการละเมิดกฎหมายแพ่ง การที่สามีฆ่าภริยาหรือชายชู้ตายขณะร่วมประเวณีกัน ก็อ้างป้องกันได้ แต่ถ้าเป็นสามีภริยาไม่ชอบด้วยกฎหมายก็อ้างป้องกันไม่ได้
ภยันตรายอันตรายนั้นใกล้จะถึง ไม่จำเป็นต้องถึงขนาดลงมือ เช่น การชักปืนออกมายังไม่ทันเล็งถือว่าภัยใกล้จะถึงแล้ว ก็สามารถป้องกันได้
ข้อสังเกต เรื่องของประมาท เช่น ก ขับรถส่ายไปส่ายมายังไม่ชนใคร ถ้ารถนั้นกำลังจะชน ข ค ยิงล้อรถยนต์ของ ก อ้างป้องกันได้หรือไม่ อย่าลืมว่าการขับรถส่ายไปส่ายมายังไม่ชนใครยังไม่เป็นความผิด ประกอบกับความผิดฐานพยายามประมาทไม่มีนะครับ เพราะฉะนั้น การขับรถส่ายไปส่ายมายังไม่เป็นความผิด ในเรื่องนี้การขับรถส่ายไปส่ายมา การที่ ค ยิงยางรถคันนั้นเพื่อหยุดหยุด ถือว่าเป็นการป้องกันภัยอันใกล้จะถึงแล้ว แม้การกระทำของ ก ยังไม่เป็นความผิดด้วยซ้ำ
การกระทำโดยป้องกันนั้นจะต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อป้องกันสิทธิของตนเอง ปกติแล้วการป้องกันนั้นจะต้องเป็นการกระทำโดยเจตนา ถ้าไม่ใช่เจตนาอ้างป้องกันไม่ได้ เช่น ก ทำความสะอาดปืนของตนเอง ปรากฎว่าปืนลั่น ขณะนั้น ข ต้องการจะฆ่า ก กำลังจ่อปืนเล็งไปที่ ก ขณะกำลังทำความสะอาดอยู่ ขณะเดียวกันปืนของ ก ลั่นกระสุนถูก ข ถึงแก่ความตาย อย่างนี้ ก จะอ้างป้องกันต่อ ข ได้หรือไม่ คำตอบคือไม่ได้ เพราะว่าการกระทำโดยป้องกันจะต้องกระทำโดยเจตนา แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องของการกระทำโดยประมาท
อีกกรณีหนึ่ง การวางสายไฟฟ้าป้องกันยุ้งข้าวของตนเอง ปรากฎว่าไปถูกโจรมาขโมยข้าว ถามว่าอ้างป้องกันได้หรือไม่ คำตอบคือไม่ได้ เพราะว่าไม่มีเจตนาพิเศษเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองหรือผู้อื่น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๖๙/๒๕๕๐
เว็บติวเนติออนไลน์ www.tuinationline.com
|
|
ประพันธ์ เวารัมย์ [101.51.51.xxx] เมื่อ 14/01/2017 13:57
|