สถิติ
เปิดเมื่อ | 21/09/2014 |
อัพเดท | 11/07/2015 |
ผู้เข้าชม | 1714640 |
แสดงหน้า | 2189247 |
ปฎิทิน
|
Sun |
Mon |
Tue |
Wed |
Thu |
Fri |
Sat |
| | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 | | | |
|
วิอาญา ข้อสอบ 10 ข้อ จะออกตามลำดับ แยกเป็น
วิอาญา ข้อสอบ 10 ข้อ จะออกตามลำดับ แยกเป็น |
|
อ้างอิง
อ่าน 1082 ครั้ง / ตอบ 0 ครั้ง
|
ประพันธ์ เวารัมย์
|
วิอาญา ข้อสอบ 10 ข้อ จะออกตามลำดับ แยกเป็น
ข้อ 1 , 2 ,3 ภาค 1-2
ข้อ 4 ภาค 3
ข้อ 5 วิอาญาภาค 4
ข้อ 6 สิทธิมนุษยชน
ข้อ 7 พยานแพ่ง
ข้อ 8 พยานอาญา
ข้อ 9 ว่าความ
ข้อ 10 การจัดทำเอกสารทางกฎหมาย
*******************************************
วิอาญา ภาค 1-2
-คำว่าผู้เสียหายใน ม.2(4) ซึ่งบัญญัติว่า “หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นผู้มีอำนาจจัดการแทน ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4,5 และ6 “ จะออกข้อสอบบ่อยมาก หรือแทรกอยู่ในข้อสอบมาหลายสมัย นอกจากนั้น ม.3,4,5,6 ประกอบด้วย ซึ่งเป็นหลักทั่วไป นอกนั้นมีกฎหมายพิเศษเช่น พ.ร.บ.เลือกตั้งฯผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นผู้เสียหายได้ในหลายฐานความผิด คดีหมิ่นประมาทตาม ป.อาญา ม.333 เมื่อผู้เสียหายตายทายาทก็เป็นผู้เสียได้ทันทีร้องทุกข์หรือฟ้องได้โดยอัตโนมัติ
-บางคดีมีผู้เสียหายหลายคน เช่นเจ้าของรถ และผู้เช่ารถ ต่างก็เป็นผู้เสียหายเมื่อถูกคนร้ายลักรถไปขณะอยู่ในความครอบครองของผู้เช่า
-สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ใครเป็นผู้เสียหาย ดู ปพพ.ม.1303,1304 ซึ่งต้องดูเป็นเรื่องๆว่าอยู่ในความดูแลของหน่วยงานใดซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์ สาธารณสมบัติของแผ่นดินโอนกรรมสิทธิ์กันไม่ได้ แต่โอนสิทธิครอบครองกันได้
-ฎ.928/2520 เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ซื้อที่ดินเปล่าซึ่งเป็นที่ดินเกิดเหตุจากบุคคลอื่น ส่วนจำเลยได้เข้าครอบครองที่ดินเกิดเหตุซึ่งเป็นที่ดินริมคูเมืองและสร้างห้องแถวให้เช่า โดยจำเลยเช่าจากกรมธนารักษ์อันเป็นหน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาที่ดินสาธารณประโยชน์ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะฟ้องว่าจำเลยบุกรุกได้
-การฝากทรัพย์โดยทั่วไปเจ้าของและผู้รับฝากต่างก็เป็นผู้เสียหาย แต่การรับฝากเงินตาม ปพพ.ม.672 ผู้รับฝากไม่จำต้องคืนเงินอันเดียวกับเพียงแต่คืนให้ครบจำนวนเท่านั้น ผู้รับฝากเพียงผู้เดียวที่เป็นผู้เสียหายเกี่ยวกับเงินที่รับฝากนั้น
-เรื่องเช่าทรัพย์ การเช่าทรัพย์ก็เพื่อใช้ทรัพย์นั้น สิทธิครอบครองทรัพย์นั้นตกเป็นของผู้เช่า สิทธิครอบครองของเจ้าของผู้ให้เช่าขาดไปแล้ว ผู้เช่าก็เป็นผู้เสียหายจากการถูกแย่งหรือรบกวนการครอบครอง แม้แต่ผู้ให้เช้าก็ไม่มีสิทธิมารบกวนการครอบครอง กรณีเช่าบ้านแม้ผู้เช่าผิดสัญญาเช่า หรือติดค้างค่าเช่า เจ้าของบ้านก็ไม่มีสิทธิมารบกวนการครองครอง
-บางความผิดเอกชนไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมาร้องทุกข์หรือฟ้องได้ เจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น เช่นความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน พ.ร.บ.จราจร
-การละเมิดอำนาจศาล กฎหมายให้อำนาจศาลเท่านั้นที่จะลงโทษ ฎ.1142/2516 บุคคลอื่นไม่มีสิทธิฟ้องเพื่อให้ศาลลงโทษผู้อื่นเรื่องละเมิดอำนาจศาลได้
-ให้ความสนใจกับสิทธิของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาตาม ม.7/1 ซึ่งจะโยงกับหน้าที่ของผู้จับใน ม.83,84
และสิทธิของจำเลยตาม ม.8
-ฎ.1341/2509 เมื่อมีผู้แจ้งความต่อ พงส.กล่าวหาว่าจำเลยบุกรุกที่ดิน จำเลยย่อมตกเป็นผู้ต้องหาและอยู่ในฐานะผู้ต้องหาแล้ว จำเลยจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม
-ฎ.1405/2512 วันที่บิดายื่นฟ้อง บิดาไม่มีอำนาจเพราะเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ต่อมาจะไปจดทะเบียนสมรสกับมารดาผู้เสียหาย บิดาจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ต้องยกฟ้อง(ดู ม.5 อนุ 1 ต้องเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย เช่นบิดาที่จะทะเบียนสมรสกับมารดาผู้เสียหาย,บิดาที่จดทะเบียนรับรองบุตรแล้ว แต่กรณีบุตรถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่อาจจัดการแทนได้ตาม ม.5 อนุ 2 บิดามีอำนาจฟ้องแทนได้)
-ฎ.563/2517 แต่ถ้าเป็นกรณีความสามารถในการฟ้องบกพร่องตาม วิแพ่ง ม.56 ซึ่งนำมาใช้ในคดีอาญาได้ถูกแก้ไขก็มีอำนาจฟ้องได้
-ม.5 เรื่องอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายซึ่งไม่ว่าจะดำเนินคดีในชั้นใดในทุกเรื่อง แต่ ม.29 เป็นเรื่องการรับมรดกความในกรณีผู้เสียหายยื่นฟ้องแล้วตายลง
-ฎ.1003/2510 ในความผิดอันยอมความกันได้ผู้เสียหายยื่นฟ้องแล้วตายลง ไม่มีผู้ใดเข้ามาเป็นผู้เสียหายแทน ศาลสูงมีอำนาจพิจารณาและพิพากษาต่อไปได้
-จำเลย ม.2(3) บุคคลซึ่งถูกฟ้องยังศาลแล้วโดยข้อหาว่าได้กระทำความผิด
-แม้ศาลยังไม่ประทับรับฟ้องก็เรียกว่าจำเลยแล้ว แต่ยังไม่มีฐานะเป็นจำเลย จะมีฐานะเป็นจำเลยก็ต่อเมื่อศาลประทับรับฟ้องแล้ว(ม.165ก่อนศาลประทับฟ้องมิให้ถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะเช่นนั้น) และถ้ายังไม่ได้ถูกฟ้องมีฐานะเพียงเป็นผู้ต้องหา แต่ก็มีกฎหมายพิเศษให้สามารถร้องขอต่อศาลได้เช่นถูกศาลออกหมายขังระหว่างสอบสวนก็ร้องขอให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราวได้ และมีสิทธิ์โต้แย้งคำสั่งศาลในเรื่องที่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นแม้ยังไม่ได้เป็นจำเลยเพราะเป็นเรื่องพิเศษ คือ ม.119 ทวิ ซึ่งคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตหรือยืนตามศาลชั้นต้นเป็นที่สุดแต่ไม่ตัดสิทธิ์ที่จะยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวใหม่
-คำสั่งคดีมีมูลเด็ดขาดตาม ม.170 ไม่มีมูลโจทก์เท่านั้นอุทธรณ์ฎีกาได้
**ฎ.2151/2548 ก่อนศาลประทับฟ้องจำเลยยังไม่มีฐานะจำเลย ศาลอุทธรณ์สั่งให้มีการไต่สวนมูลฟ้องใหม่
จำเลยฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์ไม่ได้ การไต่สวนมูลฟ้องเป็นเรื่องของศาลชั้นต้นกับโจทก์เท่านั้น
-ดู ม.170,193 ทวิ,220 เกี่ยวโยงกัน
-คดีอัยการเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นไม่ประทับฟ้อง อัยการอุทธรณ์ได้ ถ้าศาลอุทธรณ์ให้ประทับฟ้อง จำเลยฎีกา
ได้หรือไม่
ตอบ-ฎีกาไม่ได้ เพราะ ม.165 ก่อนศาลประทับฟ้องจำเลยยังไม่ได้อยู่ในฐานะจำเลย ทั้งม.170 คำสั่งศาลคดีมีมูล(ประทับฟ้อง)ย่อมเด็ดขาด
-ในคดีอาญาตีความเคร่งครัด คำว่าคู่ความหมายถึงโจทก์และจำเลยเท่านั้น ทนายโจทก์ลงชื่อแทนโจทก์ในท้ายคำฟ้องไม่ได้ ลงชื่อได้เฉพาะอัยการและผู้เสียหายเท่านั้น และคดีอาญาฟ้องเท็จกฎหมายเอาโทษแต่คดีแพ่งไม่มีกฎหมายเอาโทษ ทนายลงชื่อแทนโจทก์ผู้เสียหายได้ เพราะคำว่าคู่ความในคดีแพ่งให้หมายรวมถึงผู้มีสิทธิ์ทำการแทนและทนายความด้วย
การฟ้องคดีอาญา
-คดีเช็ค สั่งจ่ายท้องที่ ก นำไปขึ้นเงินยังท้องที่ ข.และธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ถ้าจะดูเรื่องท้องที่ที่ พงส.มี
อำนาจรับคำร้องทุกข์ตาม ม.19 ก็ทั้งท้องที่ ก.และ ข. แต่ถ้าฟ้องยังศาลดูที่ ม.22 ต้องท้องที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน คือท้องที่ ข.เพราะความผิดจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้น
-ม.22 โดยหลักศาลที่มีอำนาจชำระคดีคือท้องที่ความผิดเกิด อ้างหรือเชื่อว่าเกิดในเขตศาลนั้น แต่การฟ้องยังศาลที่จำเลยมีที่อยู่ หรือถูกจับ เป็นการฟ้องตามข้อยกเว้น ส่วนความผิดที่เกิดนอกราชอาณาจักรฟ้องยังศาลอาญาหรือศาลแห่งท้องที่มีการสอบสวน ให้ดู พงส.ผู้รับผิดชอบในคดีที่เกิดนอกราชอาณาจักร ม.20 ประกอบ
-คดีหมิ่นประมาทด้วยการไขข่าว เช่นลง นสพ. ท้องที่เกิดคือท้องที่ที่ นสพ.ลงข้อความหรือจำหน่าย
-ม.30,31 การเข้าเป็นโจทก์ร่วม
ม.30 กรณีผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการ ยื่นก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา
ม.31อัยการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายได้เฉพาะความผิดอาญาแผ่นดินในระยะเวลาใดก็ได้ก่อนคดีเสร็จเด็ดขาด
-คำร้องขอเป็นโจทก์ร่วมตาม ม.30 ไม่ใช่คำฟ้องตาม ม.158(5) บรรยายเพียงว่าเป็นผู้เสียหายเพราะอะไร
ขอเป็นโจทก์ร่วมถือเอาคำฟ้องและพยานของอัยการ คำร้องนี้ทนายลงชื่อได้ แต่ถ้าถอนคำร้องขอเป็นโจทก์ร่วมถือว่าถอนฟ้องตาม ม.36 นำมาฟ้องใหม่ไม่ได้เว้นแต่เข้าข้อยกเว้นคืออัยการฟ้องคดีอาญาแผ่นดินแล้วถอนไม่ตัดสิทธิ์ผู้เสียหาย,อัยการถอนคดีส่วนตัวโดยผู้เสียหายไม่ยินยอมไม่ตัดสิทธิ์ผู้เสียหาย,ผู้เสียหายยื่นฟ้องคดีอาญาแผ่นดินแล้วถอนไม่ตัดสิทธิ์อัยการ
การถอนฟ้อง ม.35,36
-หลักใน ม.35
คำร้องขอถอนฟ้องคดีอาญาจะยื่นเวลาใดก็ได้ก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ศาลจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตก็ได้แต่ถ้าจำเลยยื่นคำให้การแล้วต้องถามจำเลยก่อนว่าจะคัดค้านหรือไม่ ถ้าจำเลยคัดค้าน
ให้ศาลยกคำร้องถอนฟ้อง
ความผิดต่อส่วนตัว ถอนฟ้องหรือยอมความก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ แต่ถ้าจำเลยคัดค้านให้ศาลยกคำร้อง
-หลักใน ม.36
คดีอาญาที่ได้ถอนฟ้องไปจากศาลแล้ว นำมาฟ้องใหม่ไม่ได้เว้นแต่.......
-คร.ฎ.142/2534 แม้ไม่ใช้คำว่าขอถอนฟ้อง แต่คำร้องแปลความหมายได้ว่าไม่ประสงค์ให้ดำเนินคดีกับจำเลยอีกต่อไป และจำเลยไม่คัดค้าศาลอนุญาตให้ถอนฟ้องได้
-ฎ.209/2531 ถอนเพื่อไปฟ้องยังศาลใหม่ให้ถูกต้อง ฟ้องใหม่ได้ไม่ต้องห้ามตาม ม.36
-ฎ.7241/2544 ถอนการเป็นโจทก์ร่วม แล้วมาเป็นโจทก์ร่วมใหม่หรือฟ้องใหม่เองไม่ได้ต้องห้ามตาม ม.36
-ฎ.568/2528 ในคดีความผิดต่อส่วนตัว โจทก์ถอนฟ้องขณะคดีอยู่ในศาลฎีกา ศาลฎีกาไม่จำเป็นต้องยกคำพิพากษาศาลล่าง เพราะการอนุญาตให้ถอนฟ้องย่อยลบล้างคำพิพากษาของศาลล่างโดยปริยาย
-ผลของการเป็นโจทก์ร่วม
1.ถือคำฟ้องเดิมเป็นหลัก คำฟ้องเดิมบกพร่องผู้เข้าเป็นโจทก์ร่วมเสียหายไปด้วย
2.ฟ้องของอัยการ ผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วมผู้เสียหายขอแก้ฟ้องไม่ได้
3.ผู้เสียได้เป็นโจทก์ร่วมกับอัยการแล้วคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาไม่พอใจที่คดีอัยการดำเนินการไปด้วยความล่าช้า นำมาฟ้งต่อศาลเองไม่ได้ ถือเป็นฟ้องซ้อนตาม วิแพ่ง ม.173(1)+วิอาญา ม.15
4.ผู้เสียหายที่เป็นโจทก์ร่วมกับอัยการขออ้างพยานเพิ่มเติมได้ สืบพยานได้ และยื่นพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้
5.ศาลสูงสามารถพิพากษาได้ว่าโจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหาย พยานหลักฐานที่สืบไว้นำมาฟังประกอบได้
6.ค่าธรรมเนียมศาล ผู้เสียหายที่เป็นโจทก์ร่วมไม่เสียค่าธรรมเนียมศาลเช่นเดียวกับอัยการ
7.ผลในเรื่องการขาดนัดพิจารณา ผู้เสียหายที่เป็นโจทก์ร่วมกับอัยการมีฐานะเป็นโจทก์แม้อัยการขาดนัดแต่ผู้เสียหายโจทก์ร่วมมาศาลศาลก็พิจารณาคดีต่อไปได้
-ม.30,31 ใช้หลักความเป็นผู้เสียหายด้วย ไม่ว่าเป็นผู้เสียหายโดยตรงหรือผู้มีอำนาจจัดการแทน
-เรื่องเป็นผู้เสียหายหรือไม่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบฯ พบในชั้นอุทธรณ์หรือชั้นฎีกา ศาลสูงยกขึ้นว่ากล่าวได้ ฎ.2794/2516
-ฎ.680/2545 เข้าร่วมเป็นโจทก์ได้เฉพาะข้อหาที่ตนเป็นผู้เสียหายเท่านั้น ฎ.2110/2548 ราษฎรขอเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการในข้อหาทำลายพยานหลักฐานไม่ได้ เพราะฐานดังกล่าวรัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย คงเข้าร่วมได้เฉพาะฐานฆ่าฯและชิงทรัพย์เท่านั้น
-ฎ.298-299/2510 เมื่อได้รับอนุญาตเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการแล้ว ถือว่าได้ฟ้องคดีอาญาแล้ว นำคดีความผิดฐานนั้นไปฟ้องจำเลยคนเดียวกันนั้นอีกไม่ได้เป็นฟ้องซ้อน ตาม วิแพ่ง ม.173 ว.2(1)+วิอาญา ม.15
-สังเกตการณ์ใช้ถ้อยคำในกฎหมาย ม.31 กรณีอัยการขอเป็นโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายได้ในระยะเวลาก่อนคดี
เสร็จเด็ดขาด – (หมายถึงคดีถึงที่สุด คือระยะระหว่างยังยังมีเวลาอุทธรณ์ ถือว่าคดียังไม่เสร็จเด็ดขาด
แต่ ม.39(4) นำคดีอาญามาฟ้องอีกไม่ได้เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว ซึ่งหมายถึงคำพิพากษาศาลชั้นต้นก็ได้
-ม.39 สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดังต่อไปนี้
1.โดยความตายของผู้กระทำผิด
2.ในคดีความผิดต่อส่วนตัวเมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย (ฎ.1403/2508 ข้อตกลงล่วงหน้าไม่ถือเป็นการยอมความ เป็นการยอมความตามาตรานี้ได้ต้องทำ
หลังความผิดเกิดขึ้นแล้วเท่านั้น)
3.เมื่อคดีเลิกกันตาม ม.37 (1.คดีโทษปรับสถานเดียว+ก่อนศาลพิจารณา+ยอมเสียค่าปรับขั้นสูง 2.ทั่วราชอาณาจักรยกเว้นกทม.ความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่โทษสูงกว่าลหุโทษ คดีอื่นโทษปรับอย่างเดียวไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทและรวมทั้งปรับตาม กม.ภาษีอากรซึ่งมีโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท พงส.ทำการเปรียบเทียบปรับ 3.ในกทม.เช่นเดียวกับข้อ 2.แต่ไม่มีคดีตามกม.ภาษีอากร นายตำรวจระดับ สว.ขึ้นไปเปรียบเทียบปรับ 4.ตามกม.อื่นที่พนักงานเจ้าหน้าที่เปรียบเทียบปรับ)
4.เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง(แพ่ง ตาม วิแพ่ง ม.148 ใช้คำว่าคดีถึงที่สุด ในคดีอาญา คำว่าเสร็จเด็ดขาด อาจไม่ถึงที่สุดก็ได้คือศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว ยังอยู่ในระยะเวลาอุทธรณ์ก็ถือวามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้ว)
5.เมื่อมีกฎหมายออกใช้ภายหลังการกระทำผิดยกเลิกความผิดนั้น
-ต้องเป็น พ.ร.บ.,พ.ร.ก..,พ.ร.ฎ.,กฎกระทรวง เท่านั้น และรวมถึง ประกาศหรือคำสั่ง คปค.,คณะปฏิวัติ,ปฏิรูปที่มีลักษณะเป็นกฎหมายด้วย ซึ่งมีศักดิ์เทียบเท่า พ.ร.บ.
-ฎ.31-32/2490 ประกาศหรือคำสั่งของกรมการจังหวัดที่ออกช่องสถานการณ์หนึ่งๆโดยออกอาศัยตามที่กฎหมายให้อำนาจก็ตามและยกเลิกไปเมื่อสถานการณ์หมดไป ไม่ใช่กม.ใหม่ที่ออกภายหลังยกเลิกการกระทำผิดนั้น
-ฎ.710/2520 ฟ้องให้ลงโทษจำเลยผิด พ.ร.บ.เลือกตั้ง สส.พ.ศ.2511 ม.75 เมื่อคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองยกเลิก พ.ร.บ.การเลือกตั้งเสียทั้งหมด ถือว่ามีกฎหมายออกใหม่ยกเลิกความผิดนั้น
-สรุปแล้วต่ำกว่ากฎกระทรวงไม่ถือเป็นกฎหมาย
6.เมื่อคดีขาดอายุความ
-อายุความในคดีอาญามี 2 ประเภท คือ
1) อายุความฟ้องคดี ตาม ม.95 แห่ง ป.อาญา ซึงมี 1 ปี,5ปี,10ปี และ 20 ปี ตามอัตราโทษสูงสุดแต่ละฐานความผิด ซึ่งตามหลักกฎหมายต้องได้ตัวมาฟ้องศาลในกำหนดอายุความ หากเกินอายุความก็ฟ้องร้องไม่ได้ หากได้ตัวมาฟ้องแล้ว หลบหนีระหว่างพิจารณา ก็ไม่ได้ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง หลบหนีไปจนขาดอายุความก็พิจารณาคดีต่อไม่ได้
2)อายุความร้องทุกข์ ในคดีความผิดต่อส่วนตัวตาม วิอาญา ม.95 ใน 3 เดือนนับแต่ทราบการกระทำผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด
-อายุความร้องทุกข์ อยู่ภายใต้อายุความฟ้องร้องด้วย
-ฎ.3312/2515 แม้ราษฎรฟ้องคดีเองในคดีความผิดต่อส่วนตัว ก็ต้องฟ้องภายในอายุความ 3 เดือนด้วย
-แต่เมื่อร้องทุกข์หรือฟ้องในอายุความ 3 เดือนแล้วกว่าจะเสร็จคดีเกิน 3 เดือนก็ไม่เป็นไร
-ปัญหาเรื่องอายุความเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยศาลยกขึ้นเองได้ แต่คดีแห่งหากจำเลยไม่ยกเรื่องอายุความขึ้นต่อสู้ ศาลยกไม่ได้ เพราะคดีแพ่งแม้ขาดอายุความหนี้ก็ยังอยู่
7.เมื่อมีกฎหมายกเว้นโทษ
-แม้คดีอาญาจะเสร็จสิ้นไป แต่ความรับผิดทางแพ่งก็ยังคงอยู่ ไม่เหมือนกรณีกฎหมายออกภายหลังไม่เป็นความผิดอีกต่อไป
-ฎ.1513/2532 การเปรียบเทียบปรับของ พงส.หากไม่ชอบ คดีอาญาก็ยังไม่เลิกกัน เช่นความผิดกรรมเดียวกันซึ่งโดยหลัก กม.ต้องลงโทษบทหนัก พงส.เปรียบเทียบปรับบทที่เบา ถือว่าเปรียบเทียบปรับที่ไม่ชอบ
-ฎ.354/2541 พงส.เข้าใจโดยสุจริตว่ามีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้ แต่ยังมีความผิดฐานอื่นอยู่ด้วย อัยการยังมีอำนาจฟ้องความผิดฐานอื่นนั้นด้วย เช่นเดิมแจ้งทำร้ายร่างกายไม่เป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจแล้วเปรียบเทียบปรับ ต่อมาแพทย์ลงความเห็นว่าสาหัส อัยการมีอำนาจฟ้องฐานทำร้ายร่างกายสาหัสได้
-ตาม ม.46 ซึ่งให้นำข้อเท็จจริงในส่วนอาญามาฟังในคดีแพ่งนั้น การเปรียบเทียบปรับนำมาใช้ไม่ได้ เพราะ ม.46 ต้องเป็นข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาเท่านั้น
-สรุปหลักเกณฑ์ตาม ม.39(4) 1)คดีไม่จำเป็นต้องถึงที่สุด เพียงมีคำพิพากษาแล้ว
2)แม้โจทก์ไม่ใช่คนเดียวกัน(อาจเป็นอัยการหรือผู้เสียหาย) แต่จำเลยคนเดียวกัน(หลักคนเดียวกันไม่สมควรถูกฟ้องหลายครั้งจากการทำครั้งเดียว)
3)ข้อหาเดียวกัน(กรรมหรือการกระทำเดียว)
-ฎ.1037/2501 อัยการฟ้องข้อหาประมาท ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว ผู้เสียหายนำคดีมาฟ้องฐานเจตนาจากการขับรถยนต์ชนครั้งเดียวกัน เป็นฟ้องซ้ำตามม.39(4)
-เรื่องฟองซ้ำคดีอาญาแตกต่างกับคดีแพ่ง ตรงที่คดีอาญาดูที่หลักตัวจำเลย แต่คดีแพ่งดูที่ตัวผู้เสียหาย เพราะผู้เสียหายต่างไดรับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยครั้งเดียวกัน เสียหายแตกต่างกันไปต่างคนต่างก็ฟ้องได้
-ฎ.6705/2546 ลักทรัพย์หลายเจ้าของคราวเดียวกันโดยแบ่งแยกหน้าที่กันทำระหว่างจำเลยที่ 1-3 ถือเป็นกรรมเดียวกัน เมื่อจำเลยที่ 1- 2 ถูกลงโทษแล้วจากการที่จำเลยที่ 1 ฟ้องแล้วผู้เสียหายที่ 2 จำคดีจากการกระทำครั้งเดียวกันนั้นมาฟ้องจำเลยที่ 1-2 อีกไม่ได้
-ฎ.54/2528 ความผิดฐานกระทำอาจาร กับข่มขืนกระทำชำเรา เป็นกรรมเดียวต่อเนื่องกัน แม้เป็นคนละฐาน
ความผิดกันก็ตาม
**ฎ.817/2548 อาวุธปืนขู่บังคับผู้ตายขึ้นรถยนต์กระบะ อันเป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขัง เมื่อถึงที่เปลี่ยวทำการชิงทรัพย์และยิงผู้ตาย เป็นความผิดกรรมเดียวคือชิงทรัพย์และฆ่า ต่อเนื่องกันไป
-กรณีค้นยาเสพติดที่ตัวจำเลยครั้งเดียวกัน พบยาเสพติดของกลางหลายชิ้นจากหลายแห่งที่ร่างกายจำเลยก็เป็น
กรรมเดียว
-ฎ.8922/2546 ลักทรัพย์เหรียญในโทรศัพท์สาธารณะหยอดเหรียญโดยทำให้ตู้โทรศัพท์เสียหายด้วย อัยการฟ้องฐานลักทรัพย์และทำให้เสียทรัพย์ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยมีจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อเอา
เหรียญ จึงเป็นกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท
-ฎ 8917/2546 การที่จำเลยกับพวกร่วมกันฉุดผู้เสียหายพาขึ้นรถยนต์ตู้ไปยังต่างจังหวัดในที่ต่าง ๆ หลายแห่งและหลายวัน โดยวันแรกระหว่างเดินทางจำเลยกับพวกได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงในรถยนต์ตู้คนละ 1 ครั้ง และระหว่างผู้เสียหายอยู่กับจำเลยที่ต่างจังหวัดตามลำพัง จำเลยได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายอีกหลายครั้ง โดยระหว่างนั้นผู้เสียหายพยายามหลบหนี 2 ครั้ง ก็ถูกจำเลยทำร้ายและข่มขู่ไม่ให้หลบหนี แม้การที่จำเลยพาผู้เสียหายไปยังต่างจังหวัดในที่ต่าง ๆ หลายแห่ง และหลายวัน จะเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องมาจากความประสงค์เดียวกับการข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายก็ตาม แต่การที่จำเลยพาผู้เสียหายไปยังที่ต่าง ๆ หลายวัน โดยได้ทำร้ายและข่มขู่บังคับไม่ให้ผู้เสียหายหลบหนีนั้น ถือได้ว่าเป็นความผิดอีกกระทงหนึ่งต่างหากจากความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา อันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง ซึ่งเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว หาใช่เป็นกรรมเดียวไม่
ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือหลายกรรมต่างกัน เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์มิได้ฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงกรรมหนึ่ง และฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังอีกกรรมหนึ่ง แต่โจทก์ก็มิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาเห็นสมควรปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้อง แต่ไม่อาจกำหนดโทษในความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังอีก เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225
-ข้อสังเกตุ ผิดฐานยักยอก (กม.ไม่มีคำว่าทรัพย์ เหมือนกับการลักทรัพย์)
คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา
-ม.40 การฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญาจะฟ้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาหรือศาลที่มีอำนาจชำระคดีแพ่งก็ได้
-ม.45 คดีเรื่องใดแม้ได้ฟ้องคดีอาญาไปแล้ว ก็ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะฟ้องในทางแพ่งอีก
-ม.46 การพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือเอาข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญา
(ฎ.695/40ข้อเท็จจริงจะต้องเป็นประเด็นโดยตรงและสำคัญไม่ใช่ประเด็นปลีกย่อย,ฎ.2839/40คดีอาญาที่จะฟังข้อเท็จจริงต้องถึงที่สุดก่อน,.176/38ข้อเท็จจริงที่ต้องถือจากคดีอาญาไม่รวมถึงคดีที่เพียงเปรียบเทียบปรับหรือข้อเท็จจริงที่ยุติโดยวิธีอื่นที่ไม่ใช่คำพิพากษาของศาล,ฎ.556/38คู่ความต้องเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีอาญา,ฎ.7283/41ส่วนอาญาศาลพิพากษาว่าจำเลยผิดฐานยักยอก คดีนี้โจทก์ฟ้องให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์
โดยอาศัยสัญญาเช่าซื้อ อันเป็นสิทธิเรียกร้องที่ไม่ได้อาศัยมูลความผิดฐานยักยอก จึงไม่เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญาที่จะนำ ม.46 มาใช้ได้)
-ม.43 ในคดีลักทรัพย์,วิ่งราว ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ โจรสลัด กรรโชก ฉ้อโก ยักยอกหรือรับของโจร ผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาทรัพย์เนื่องจากการกระทำผิดคืน ให้อัยการที่ยื่นฟ้องเรียกทรัพย์หรือราคาแทนผู้เสียหายด้วย
-ผู้เสียหายที่ฟ้องคดีอาญาเอง(ไม่ได้ร้องทุกข์)จะใช้มาตรานี้ขอท้ายฟ้องไม่ได้ ชอบที่จะฟ้องร้องทางแพ่งเป็นอีกส่วนหนึ่ง และและอัยการที่จะมีคำขอท้ายฟ้องไม่ต้องคำนึงว่าราคาทรัพย์จะเป็นเท่าใด เกินอำนาจศาลแขวงในทางแพ่งหรือไม่ก็ตาม
-ให้ความสนใจ ม.44/1,44/2 ซึ่งเพิ่มเติมโดยวิอาญา ฉ.24 ใช้เมื่อ 31 ธ.ค.48 ซึ่งมีการแก้ ม.253 ในเรื่องค่าธรรมเนียมด้วย แต่ถ้าเรียกค่าเสียหายสูงเกินความจริงศาลอาจกำหนดค่าธรรมเนียมศาลได้
-44/1 คดีที่อัยการเป็นโจทก์ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อเสียเสรีภาพในร่างกาย เสื่อมเสียชื่อเสียง หรือเสียหายในทางทรัพย์สินเนื่องจากการทำผิดของจำเลย ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้
ยื่นคำร้องก่อนเริ่มสืบพยาน กรณีไม่มีการสืบพยานให้ยื่นก่อนวินิจฉัยชี้ขาดคดี และคำร้องถือเป็นคำฟ้องในคดีแพ่ง
-ประเด็นอาญา จำเลยผิดหรือไม่ผิด/ค่าเสียหายมากน้อยเพียงใด ถ้าคดีอาญาศาลยกฟ้อง แล้วอัยการไม่อุทธรณ์ โจทก์ร่วมก็สามารถอุทธรณ์ได้ทั้งสองประเด็น และไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลถ้าอุทธรณ์ทั้งส่วนอาญาและส่วนแพ่ง
-ถ้ายื่นคำร้องตาม 44/1 โดยไม่ได้เป็นโจทก์ร่วมในคดีอาญา อุทธรณ์ในส่วนอาญาไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นโจทก์ในคดีอาญา
-หลัก ม.44/1 เหมือนหลักใน ม.30 เพราะผู้เสียหายที่เป็นโจทก์ร่วมจะไปแก้ไขฟ้องของอัยการไม่ได้ ต้องยื่นฟ้องเป็นคดีอาญาใหม่ซึ่งผู้เสียหายมีสิทธิ์ฟ้องตาม ม.28 และศาลจะรวมคดีเองตาม ม.33
-ม.50,51 ซึ่งแก้ไขใหม่ น่าออกสอบ
-มาตรา 50 ได้พูดถึงคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องคดีอาญาที่ศาลสั่งให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์สินถือว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ซึ่งจะมีผลถึงการบังคับคดีตามคำพิพากษาในส่วนแพ่ง
-มาตรา 51
1)กรณีไม่มีผู้ใดฟ้องคดีอาญา ต้องฟ้องคดีแพ่งภายในอายุความอาญา การที่ไม่มีผู้ใดฟ้องคดีอาญาอาจเป็นเพราะสืบสวนสอบสวนไม่แล้วเสร็จ หรืออัยการอาจอยู่ระหว่างสอบสวนเพิ่มเติม
2)ถ้าได้ตัวและยื่นฟ้องแล้วอายุความฟ้องทางแพ่งก็จะสดุดหยุดลงตาม ป.อาญา ม.95
3)ฟ้องคดีอาญาและศาลลงโทษจนคดีเสร็จเด็ดขาดก่อนฟ้องแพ่ง สิทธิฟ้องแพ่งอายุความตาม ปพพ.ม.193/32 คือบวกอีก 10 ปี
4)ฟ้องอาญาศาลยกฟ้องคดีเด็ดขาดแล้ว อายุวามฟ้องแพ่ง ตาม กม.แพ่ง
***ฎ.8380/22547 โจทก์ฟ้องคดีอาญาเมื่อ 10 ก.ย.39 กล่าวหาจำเลยผิดฐานยักยอก ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเมื่อเดือน ธ.ค.41 เพราะศาลเห็นว่าเป็นเรื่องทางแพ่งไม่ใช่ผิดทางอาญา โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นเมื่อเดือน ก.ค.43 ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ (ธ.ค.41-ก.ค.43) โจทก์ได้ยื่นฟ้องคดีแพ่งเมื่อ ก.ค.42 (ขณะฟ้องคดีแพ่งถือว่าคดีอาญายังไม่ถึงที่สุด อายุความสดุดหยุดลงตาม ม.
51 วรรค 2 จึงยื่นฟ้องได้ไม่ขาดอายุความ) แต่เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ยกฟ้องโจทก์ในคดีอาญา เมื่อ
ก.ค.43 จึงต้องด้วย ม.51 วรรค 4 อายุความคดีแพ่งย่อมต้องเป็นไปตาม ปพพ.ซึ่งมีอายุความเพียง 2 ปี คดีแพ่งจึงขาดอายุความทันที
-ฎ.383/2547 คดีที่นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างฐานละเมิดเพราะการประมาทของลูกจ้างขณะทำการงานที่จ้างนั้น ลูกจ้างเท่านั้นที่ทำผดอาญา จะฟ้องนายจ้างให้รับผิดทางแพ่งต้องใช้อายุความ 1 ปี
-สิทธิของผู้ถูกจับ (ม.7/1,83 ว.2)
-แจ้งหรือขอให้เจ้าพนักงานแจ้งญาติถึงเรื่องถูกจับและที่ควบคุม
-พบและปรึกษาผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว
-ให้ทนายความหรือผู้ไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำ
-ได้รับการเยี่ยมตามสมควร
-ได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเจ็บป่วย
-มีสิทธิให้การหรือไม่ให้การก็ได้และถ้อยคำของผู้ถูกจับอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้
***ผู้รับมอบตัวผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหามีหน้าที่แจ้งให้ทราบสิทธิในโอกาสแรก
-สิทธิของผู้ต้องหา (ม.7/1,83 ว.2,134,133 ทวิ,134/1.134/2,134/3,134/4)
-ตาม ม.7/1,83 ว.2
-ได้รับแจ้งข้อกล่าวหา และได้รับการสอบสวนด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่องและเป็นธรรม
-ผู้ต้องหาที่เป็นเด็กได้รับการสอบสวนที่แยกเป็นสัดส่วนในสถานที่เหมาะสม และต่อหน้า
สหวิชาชีพและจัดหาทนายความให้ในการสอบสวนปากคำ
-คดีประหารชีวิตต้องจัดหาทนายความให้,คดีอื่นที่มีโทษจำคุกถ้าไม่มีและต้องการจัดหาทนายความให้
-สิทธิของจำเลย ม.8,172,173
-ได้รับการพิจารณาคดีที่รวดเร็วต่อเนื่องและเป็นธรรม
-แต่งทนายในชั้นไต่สวนมูลฟ้องและชั้นพิจารณาตลอดถึงชั้นอุทธรณ์ฎีกา
-ปรึกษาทนายความหรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว
-ตรวจพยานหลักฐานถ่ายรูป
-ตรวจดูสำนวนและขอคัดโดยเสียค่าธรรมเนียม
-ตรวจหรือคัดสำเนาคำให้การของตนชั้นสอบสวน
***ทนายความที่แต่งตั้งแล้วมีสิทธิเช่นเดียวกับจำเลยในข้อข้างต้น
-ได้รับการพิจารณาและสืบพยานต่อหน้า ยกเว้นตาม ม.172 ทวิ
-ให้การหือไม่ให้การก็ได้
-คดีจำเลยเป็นบุคคลอายุไม่เกิน 18 ปีในวันถูกฟ้อง หรือคดีที่มีโทษประหารชีวิตต้องจัดหาทนายความให้,คดีอื่นที่มีโทษจำคุกถ้าไม่มีและต้องการจัดหาทนายความให้
-หมายเรียกและหมายอาญาต่างกันอย่างไร
-หมายเรียก – เป็นหนังสือเชิญตัว หรือหนังสือบงการให้บุคคลมาพบ
-หมายอาญา – เป็นหนังสือให้อำนาจในการดำเนินการในคดีอาญา มีหมายจับ หมายค้นในที่
รโหฐาน หมายขัง หมายจำคุก และหมายปล่อย
-หมายเรียก ให้ดู ม.52 (ใช้ได้กับทุกชั้นคือทั้ง พงส. , พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่,ศาล -อัยการไม่มี) เป็นเรื่องที่เนื่องในการสอบสวน การไต่สวนมูลฟ้อง การพิจารณา และ ม.52 ว.2 กรณี พงส.และพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ไปทำการสอบสวนด้วยตนเองไม่ต้องออกหมายเรียกแต่มีอำนาจเรียกบุคคลได้
-หมายอาญา ศาลเท่านั้นที่มีอำนาจออกหมายอาญา ดู ม. 57,58 ศาลออกหมายจับในเขตอำนาจของตนได้แต่เมื่อออกหมายจับแล้วการปฏิบัติการตามหมายนั้น ม.77 ให้ใช้ได้ทั่วราชอาณาจักร
-ผู้ที่จะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ออกหมายอาญาคือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่สืบสวนหรือสอบสวนในคดีอาญาคือระดับ 3 และร้อยตำรวจตรีขึ้นไป
-ก่อนออกหมายต้องมีพยานหลักฐานตามสมควรให้ศาลเชื่อว่ามีเหตุที่จะออกหมายนั้นๆได้
-ม.66 เหตุที่จะออกหมายจับ
-ม.69 เหตุที่จะออกหมายค้น
-ม.71 เหตุที่จะออกหมายขัง หมายจำคุก และหมายปล่อย
-ม.84 เน้นที่ ว.4 ที่ว่า ถ้อยคำใดๆที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นจับกุมและรับมอบตัว ถ้อยคำนั้นถ้าเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำผิดห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน ...... ถ้าคำอื่นรับฟังได้ถ้ามีการแจ้งสิทธิตาม 83 ว.2(แจ้งข้อหา ให้การหรือไม่ให้การก็ได้ ถ้อยคำที่ให้การอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ และมีสิทธิพบและปรึกษาทนายความและสิทธิที่จะแจ้งญาติทราบการถูกจับ
-ราษฎรจับ ไม่มีกฎหมายให้อำนาจค้นตัวผู้ถูกจับ มีแต่อำนาจควบคุมตัวเพื่อนำส่งเจ้าพนักงาน แต่กรณีเจ้าพนักงานเป็นผู้จับหรือรับมอบตัวมีอำนาจค้นตาม ม.85 และยึดสิ่งขงที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐาน การค้นต้องสุภาพ ค้นผู้หญิงต้องใช้ผู้หญิงค้น
-ม.90 กฎหมายใช้คำว่าคุมขัง ไม่ใช้คำว่าควบคุม หรือขัง เหมือนมาตราอื่น ซึ่งเป็นการคุ้มครองผู้อ้างว่าถูกคุมขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลจะต้องมีการไต่สวนฝ่ายเดียว ผู้ที่ยื่นคำร้องได้ได้แก่ผู้นั้น,อัยการ,พงส.,ผบ.เรือนจำหรือพัศดี,สามีภรรยาหรือญาติของผู้นั้น
การปล่อยตัวชั่วคราว
-แสดงว่ามีการจับ มีการควบคุม หรือมีการจำคุก การจับและการควบคุมเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องกัน
หลักทั่วไปของการสอบสวน
-ม.120 ต้องท่องจำให้ได้ เพราะจะใช้เป็นหลักทั่วไปและอ้างถึงในข้อสอบเกือบทุกเรื่องในเรื่องการสอบสวน
“ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน”
-คำว่ามิได้มีการสอบสวนรวมหมายถึงการสอบสวนที่ไม่ชอบ เช่นฟ้องจำเลยในข้อหาที่ พงส.ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา หรือสอบสวนโดย พงส.ที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ เป็นต้น
-มาตรา 120 ห้ามเฉพาะอัยการเท่านั้นไม่ได้ห้ามผู้เสียหาย เพราะผู้ที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลคือผู้เสียหายและอัยการตาม ม.28 และตาม ม.121 และในคดีความผิดต่อส่วนตัว พงส.ก็ไม่มีอำนาจสอบสวนหาไม่มีการ้องทุกข์ตามระเบียบ (คดีอาญาแผ่นดิน กม.ไม่ได้เขียนไว้ ดังนั้น พงส.ที่ทราบการกระทำผิดในเขตอำนาจมีอำนาจสอบสวนได้หากพบการกระทำผิดเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ใดมาร้องทุกข์แต่อย่างใด)
-ม.140 เมื่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวน เห็นว่าการสอบสวนเสร็จแล้ว ให้จัดการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้....
-พงส.ผู้รับผิดชอบให้ดูตาม ม.18,19,20,21 ว่าคือใคร
-การสอบสวนเสร็จแล้ว อยู่ในดุลยพินิจของ พงส.ผู้รับผิดชอบนั้น หากเห็นว่าสอบสวนเสร็จแล้ว และสรุปสำนวนการสอบสวนส่งอัยการแล้ว ก็หมดหน้าที่ที่จะสอบสวนได้ต่อไปอีกแล้ว เว้นแต่ อัยการจะสั่งให้ทำการสอบสวนเพิ่มเติมตาม ม.143 ว.2 ก.
-ม.140 เป็นมาตราที่เริ่มแยกระหว่างกระบวนการสอบสวนของ พงส.กับกระบวนการฟ้องคดีของอัยการ เว้นแต่ ม.20 การกระทำผิดนอกราชอาณาจักร พงส.ผู้รับผิดชอบคืออัยการสูงสุดหรือผู้รับมอบหมาย
-อ่าน ม.140,143 แล้ว แม้มีมูลอัยการก็สามารถสั่งไม่ฟ้องได้ โดยสั่งตามดุลยพินิจเพื่อประโยชน์สาธารณะ
หรือดำเนินคดีไปก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่ถ้าไม่มีมูลไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอก็ไม่ฟ้อง(ฟ้องไม่ได้เพราะจะกลายเป็นการกลั่นแกล้ง) โดยเปรียบเทียบระหว่างอำนาจอัยการดังกล่าวกับอำนาจศาลใน ม.185 ส่วนอำนาจของ พงส.ไม่มีเลยได้แต่เสนอความเห็นเท่านั้น จึงสรุปได้ว่าถ้าทำผิดกฎหมาย ไม่ได้บังคับให้อัยการฟ้องคดีเสมอไป เช่นผู้ต้องหาเจ็บป่วยเป็นอัมพาต แต่สำหรับศาลศาลต้องลงโทษเว้นแต่มีเหตุไม่ควรรับโทษ
-ม.143 ว.3 ในคดีฆาตกรรม(ประมาทหรือทำร้ายไม่เข้ามาตรานี้)ซึ่งผู้ตายถูกเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ฆ่าตาย หรือตายในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาราชการแทนเท่านั้นที่มีอำนาจสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง
ฎ.3100/2532 การอ้างว่าตนเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่แล้วฆ่าผู้ตาย ต้องอ้างตั้งแต่ชั้นถูกกล่าวหา
การที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนไปอย่างคดีธรรมดา เป็นการสอบสวนที่ชอบแล้ว มาอ้างในชั้นการพิจารณาไม่ได้พ้นขั้นตอนไปแล้ว
-สรุป ม.145
1.อัยการ(จังหวัด หรืออัยการที่ไม่ใช่อัยการสูงสุด) มีความเห็นสั่งฟ้อง-จบ (ไม่ว่า พงส.สั่งอย่างไร)
2..............................................................................มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง
2.1 ในเขต กทม.-ส่ง ผบ.ตร. หรือรอง ผบ.ตรงหรือผู้ช่วย ผบ.ตร.พิจารณา หากเห็นแย้ง
ส่งอัยการสูงสุดพิจารณาชี้ขาด(เว้นแต่จะขาดอายุความรีบฟ้องไปก่อน)
2.2 ต่างจังหวัด-ส่ง ผวจ.(มอบ รอง ผวจ.ไม่ได้เพราะเป็นอำนาจเฉพาะตัวตามกฎหมาย)
ผวจ.เห็นแย้ง-ส่งอัยการสูงสุดพิจารณาชี้ขาด(เว้นแต่จะขาดอายุความฟ้องไปก่อน)
***แย้ง แย้งเฉยๆไม่ได้ต้องมีเหตุผลประกอบด้วย***
***อัยการสูงสุด-เห็นฟ้องก็เด็ดขาด-เห็นไม่ฟ้งก็เด็ดขาด***
***หลักข้างต้นนำไปใช้กับการที่อัยการจะอุทธรณ์,ฎีกา,หรือถอนห้อง,ถอนอุทธรณ์,ถอนฎีกาด้วย***
-การชันสูตรพลิกศพ (ม.129,ม.143 วรรคท้าย148-156)
-ม.129 ให้ทำการสอบสวนรวมทั้งชันสูตรพลิกศพ ในกรณีความตายเป็นผลจากการกระทำผิดอาญาห้ามมิให้ฟ้องผู้ต้องหายังศาลถ้าการชันสูตรพลิกศพยังไม่เสร็จ
-ดังนั้นการชันสูตรพลิกศพจึงเป็นช่วงหนึ่งของการสอบสวน แต่ก็มีคำพิพากษาฎีกาว่าในกรณีการชันสูตรพลิกศพทำไม่ได้เลย จึงไม่มีการชันสูตรพลิกศพ ก็สามารถฟ้องร้องผู้ต้องหาได้ ความหมายของตอนท้าย ม.129 หมายถึงเมื่อเริ่มมีการชันสูตรพลิกศพแล้ว ต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นจึงจะฟ้องผู้ต้องหาได้
-ม.148 เมื่อมีเหตุแน่ชัดหรือเหตุสงสัย
1.ตายโดยผิดธรรมชาติ -ฆ่าตัวตาย
-ถูกผู้อื่นทำให้ตาย(ประมาท,ทำร้าย,เจตนาฆ่า)
-ถูกสัตว์ทำร้ายถึงตาย
-ตายเพราะอุบัติเหตุ
-ตายโดยยังไม่ปรากฏเหตุ
2.ตายในขณะอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน(จะตายโดยผิดธรรมชาติหรือไม่ก็ได้) ยกเว้นการ
ประหารชีวิตตามกฎหมาย
***ถูกเจ้าพนักงานฆ่าโดยอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ฯตาม ม.143 วรรคท้าย(ซึ่งผู้มีอำนาจสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคืออัยการสูงสุด) ก็ถือว่าตายผิดธรรมชาติ (ม.143 วรรคท้ายเป็นเรื่องฆาตกรรมคือเจตนาฆ่าเท่านั้น
-ม.150 กำหนดตัวบุคคลผู้ชันสูตรพลิกศพและวิธีการ หลักสำคัญตายที่ไหนพนักงานสอบสวนท้องทีนั้นเป็นผู้ชันสูตรพลิกศพ(ไม่ว่าที่เกิดเหตุจะเกิดที่ใด และพนักงานสอบสวนผู้ชันสูตรพลิกศพ ไม่
จำเป็นต้องเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในคดีนั้น) ร่วมกับแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์(แพทย์ลำดับถัดไป
คือแพทย์ประจำ รพ.ของรัฐ,แพทย์ประจำสาธารณสุขจังหวัด และแพทย์ประจำ รพ.เอกชน)ซึ่งขณะปฏิบัติ
หน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อาญา
ว.3 กรณีตามตายเกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ฯ ประมาทก็เข้ามาตรานี้ด้วย) ผู้ร่วมชันสูตรพลิกศพเพิ่มเติมอีกสองฝ่ายคือพนักงานอัยการและพนักงาน
ฝ่ายปกครอง
วันปิดคอสวิอาญาภาค 1-2
-บรรยายฟ้องไม่ถูกต้องถือว่าเป็นฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม ม.158 ศาลต้องยกฟ้อง ฎ.4807/2536
-ฎ.307/2549,330/2549 จำเลยไม่ได้ต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วย ม.158(5) ศาลยกขึ้นเองได้
-ม.195 ว.2 ข้อกม.เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยฯเท่านั้น ถ้าเป็นข้อเท็จจริงอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย เวลาตอบข้อสอบว่าศาลสูงยกขึ้นเองได้ต้องอ้าง วิแพ่ง ม.225หรือ249 ควบ วิอาญา ม.15
-ฎ.188/2549,298/2549 ฟ้องขาดองค์ประกอบความผิด ไม่ชอบด้วย ม.158(5) แม้จำเลยรับสารภาพก็ลงโทษจำเลยไม่ได้ ยกฟ้อง
-***คำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษคำขออื่นๆเช่นให้ริบของกลาง ถ้าศาลชั้นต้นลืมกล่าวในคำพิพากษา ทั้งโจทก์ก็
ไม่อุทธรณ์ จำเลยอุทธรณ์ฝ่ายเดียวในเรื่องไม่ได้ทำผิดตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงตามศาลชั้นต้นและพิพากษายืนและให้ริบของกลางได้ด้วยหรือไม่????(ดู ม.212 ซึ่งห้ามแต่การพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยเว้นแต่โจทก์อุทธรณ์ในทำนองเดียวกันนั้น)
-สำหรับการที่ศาลอุทธรณ์ให้ริบของกลางนั้นสามารถทำได้เพราะไม่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยแต่อย่าง
ใด เพราะแม้การริบทรัพย์สินจะเป็นโทษทางอาญาประการหนึ่งก็ตามแต่มุ่งในเรื่องทรัพย์สินไม่ใช่ตัวจำเลย
ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยแปลความหมายของ ม.212 ว่า การเพิ่มเติมโทษจำเลยนั้นคือการเพิ่มโทษที่ตัวจำเลยเท่านั้นไมรวมถึงทรัพย์สินด้วย และการริบของกลางนั้นเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยฯศาลสูงยกขึ้นเองได้เพราะการที่ศาลชั้นต้นไม่ได้พิพากษาเรื่องของกลางตามคำขอท้ายฟ้องเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบตาม ม.
186(9)
-***ฎ.102/2548 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษต่ำกว่าอัตราโทษที่กม.กำหนด ศาลอุทธรณ์สามารถปรับบทกม.ได้ แต่ละลงโทษเพิ่มจากที่ศาลชั้นต้นลงโทษไว้ไม่ได้
-***ฎ.366/2548 ศาลอุทธรณ์มีอำนาจปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้ ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยกระทำผิดโดยป้องกันเกินกว่าเหตุ จำเลยอุทธรณ์ว่าป้องกันพอสมควรแก่เหตุ ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าไม่เป็นการป้องกันตัว
พิพากษาลงโทษความผิดตามฟ้องได้โดยให้คงลงโทษเท่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาได้ไม่ขัด ม.212
-ม.37 คดีอาญาเลิกกัน โดยโยง กับ ม.39(3) เป็นเหตุให้สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องระงับไป(และรวมทั้งการดำเนินคดีต่อไปสิ้นสุดลงด้วย)
-***ฎ.354/2541และ5942/2548 ฟ้องความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย(ลหุ-โทษ) ซึ่งการกระทำครั้งเดียวกันนั้น พงสงเคยเปรียบเทียบปรับตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯไปแล้วโดยคู่กรณียินยอมให้เปรียบเทียบปรับและทั้งตัวผู้เสียหายก็ไม่ได้ร้องทุกข์แต่อย่างใด พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องตาม ม.390 ป.อาญา อีกหรือไม่(ทั้งไม่เข้ามาตรา 39 อนุ 4 เพราะคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดที่ฟ้องที่จะเป็นฟ้องซ้ำนั้นต้องเป็นคำพิพากษาของศาลเท่านั้น) ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงฟังว่าจำเลยผิด พ.ร.บ.จราจรฯและ ป.
อาญา ม.390 ซึ่งเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบาท ซึ่งจะต้องลงโทษตามบทหนัก คือ ป.อาญา ม.390
การที่ พงส.เปรียบเทียบปรับอันเป็นบาทเบานั้นเพื่อให้คดีเลิกกันตาม ม.37 แม้คู่ความจะยอมให้ปรับก็ตามและมิได้ร้องทุกข์แต่ความผิดตาม ป.อาญา ม.390 มิได้เป็นความผิดอันยอมความกันได้ดังนั้นพนักงาน
อัยการจึงยังมีอำนาจฟ้องคดีดังกล่าวได้
-เน้นเรื่องผู้เสียหายโดยนิตินัย
-ผู้เสียหายโดยตรง-ต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยไม่มีส่วนร่มหรือสนับสนุนให้เกิดการทำผิด
-ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย-ตาม ม.5-ผู้เสียหายโดยตรงต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยก่อน-ผู้
มีอำนาจจัดการแทนจึงจะเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาได้
-อำนาจฟ้องไม่ใช่มรดก หรืออีกนัยหนึ่งสิทธิการนำคดีอาญาฟ้องเป็นเรื่องเฉพาะตัวไม่ใช่มรดก
-เน้น ม.5(2)ผู้บพการี,ผู้สืบสันดานตามความเป็นจริง,สามีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายจัดการแทนผู้เสียหาย(ร้องทุกข์,ฟ้อง,เป็นโจทก์ร่วมตาม ม.30 )แทนผู้เสียหายโดยตรงเฉพาะกรณีผู้เสียหายโดยตรงถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้เท่านั้น
-ฎ.1596/2549 เมื่อบิดาไม่มีอำนาจจัดการแทน(ฟ้องเองไม่ได้) ก็ไม่สามารถขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการตาม ม.30 ก็ไม่ได้ด้วย จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์
-โจทก์เป็นนิติบุคคลที่ถูกฟ้องล้มละลายและถูกศาลพิทักษ์แล้วผู้แทนนิติบุคคลนั้นก็ยังมีอำนาจฟ้องคดีอาญาเพียงอย่างเดียวในเรื่องที่จำเลยบุกรุกได้เพราะไม่ได้ฟ้องในทางแพ่งด้วยแต่อย่างใด แต่หากเป็นกรณีร้องทุกข์ในคดีอาญา ซึ่งอยู่ในความผิด 9 ฐานตาม ม.43 อัยการก็สามารถขอท้ายฟ้องให้คืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์ได้ด้วย เวลาตอบข้อสอบจะต้องอ้างคำว่าผู้เสียหาย ม.2(4),ผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องตาม ม.3(2),ผู้แทนนิติบุคคลมีอำนาจจัดการแทนนิติบุคคลตาม ม.5(3) รวมตลอดทั้ง ม.28(2)
-***ฎ.3902/2549 บทบัญญัติของ พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22, 24 และ 25 เป็นบทบัญญัติที่จำกัดอำนาจในการจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของลูกหนี้แต่เฉพาะในทางแพ่งเท่านั้น หาได้รวมถึงการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีอาญาด้วยไม่ กรณีที่โจทก์เป็นผู้เสียหายฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในข้อหาบุกรุกโดยมิได้มีคำขอในส่วนแพ่งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายหรือขับไล่จำเลยออกจากที่ดินของโจทก์ แม้โจทก์จะถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องร้องคดีอาญาได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 (2) และมาตรา 5 (3) ประกอบมาตรา 28 (2) หรือจะมอบอำนาจให้ผู้อื่นฟ้องแทนก็ได้
-สรุปได้ว่าผู้เสียหายโดยตรงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย(ดูฎีกาเรื่องผู้เสียหายโดยนิตินัยประกอบ) ผู้มีอำนาจจัดการแทนตาม ม.5 จะไม่มีอำนาจตาม ม.3 ,28(2)ไปด้วย
-ถ้าผู้เสียหายไปร้องทุกข์ต่อ พงส. และ พงส.รับคำร้องทุกข์ไว้แล้วในความผิดต่อส่วนตัว และอัยการได้ยื่นฟ้องไปแล้ว ข้อเท็จจริงไปปรากฏในการพิจารณาของศาลว่าผู้เสียหายไปมีส่วนร่วมในการกระทำผิด จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยจึงไม่มีอำนาจร้องทุกข์แต่ต้น ทำให้ พงส.ไม่มีอำนาจสอบสวน จึงเป็นการสอบสวนไม่ชอบตาม ม.120 อัยการไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลสามารถยกฟ้องได้โดยไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดหรือไม่(เวลาตอบ อ้าง ม.2(4),120,185) แนวฎีกา 1343/2549
-*****คำพิพากษาฎีกาที่ 2529/2549 น่าออกสอบมาก*****
การสอบสวนที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 120 ต้องสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนที่ระบุไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 2 (6) ประกอบมาตรา 18 เมื่อเหตุที่อ้างว่าจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางแก่ ส. เกิดที่บ้านในอำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยกับ ส. ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายภายหลังจากนั้นอีกในประการใด ท้องที่ซึ่งจำเลยถูกจับก็อยู่ภายในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองกำแพงเพชร และไม่ปรากฏเหตุอื่นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่จะทำให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอปางศิลาทองมีอำนาจสอบสวนได้ ทั้งถือไม่ได้ว่าเป็นการทำการแทนพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 128 บัญญัติไว้ การสอบสวนจำเลยโดยพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอปางศิลาทองจึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นการสอบสวนตามที่ระบุไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 120 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ว่าจำเลยจะไม่ได้ยกขึ้นในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
*******ซึ่งฎีกานี้อาจตั้งตุ๊กตาตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่า ตำรวจ สภ.อ.ปางศิลาทอง จว.กำแพงเพ็ชร จับ ส.
พร้อมยาบ้าเป็นคดีหนึ่ง ส.ซัดทอดว่าของกลางที่ตำรวจยึดได้นั้นตนซื้อมาจาก จำเลยในคดีนี้จากบ้านจำเลยซึ่งตั้งอยู่ในท้องที่ อ.คลองลาน จว.กำแพงเพ็ชร ตำรวจ สภ.อ.ปางศิลาทอง จึงออกหมายจับจำเลยไว้ และจับกุมตัวได้ในเวลาต่อมาในท้องที่ สภ.อ.เมืองกำแพงเพ็ชร พงส.สภ.องปางศิลาทอง ได้ทำการสอบสวนคดีของ ส.และคดีของจำเลยนี้ การสอบสวนชอบหรือไม่
-เวลาตอบแยกประเด็น ส.เริ่มครอบครองยาบ้าของกลางมาตั้งแต่ซื้อที่ท้องที่สภ.อ.คลองลาน ตลอดมาถึงท้องที่ สภ.อ.ปางศิลาทอง ที่ถูกจับ ความผิดเกิด สภ.อ.ปางศิลาทอง พงส. สภ.อ.ปางศาลาทอง เป็นพนัก
งานสอบสวนผู้รับผิดชอบ มีอำนาจสอบสวน
-สำหรับจำเลยทำความผิดฐานจำหน่ายยาบ้า ที่บ้านพักของตน ความผิดเกิดท้องที่ สภ.อ.คลองลาน
แม้ พงส.สภ.อ.ปางศิลา ได้ทำการสอบสวน และจะจับกุมตัวได้ที่ อ.เมืองฯ พงส.สภ.อ.ปางศิลา และ สภ.อ.เมืองฯไม่ใช่ พงส.ผู้รับผิดชอบ เป็นเหตุให้การสอบสวนไม่ชอบ อัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลต้องยกฟ้อง และให้สรุปตอนท้ายเพิ่มว่าไม่ใช่เรื่องมอบหมายให้ทำการสอบสวนแทนตาม ม.128 และถ้าคำถามถามเพิ่มเติมเรื่องที่อำนาจสอบสวนนี้จำเลยไม่ได้ต่อสู้มาตั้งแต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกายกขึ้นพิจารณาเองได้ตาม ม.195 ว.2 ประกอบ 225 เพราะเรื่องอำนาจสอบสวนเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย
-เวลาสอบต้องอ้าง ม.2(6),18 ว.1,120,128,195 ว.2,225
-ม.90 ดูข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสังคมเรื่องนายแพทย์ประกิตเผ่า
-ดู ฎ.4752/2549 ประกอบ
-ม.90 สองกรณี คือ 1)การคุมขังในคดีอาญา 2)การคุมขังในกรณีอื่น หากมีผู้อ้างว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายก็สามารถร้องต่อศาลท้องที่ที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญาให้ปล่อยตัวได้ โดยศาลจะไต่สวน โดยผู้มีอำนาจการ
ร้องขอคือ ตัวผู้ถูกคุมขัง,อัยการ,พงส.,ผบ.เรือนจำหรือพัศดี,สามีภรรยา,ญาติหรือผู้อื่นเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขัง
-การควบคุมระหว่างชั้นจับกุม,สอบสวน กับชั้นศาล ต้องพิจารณาแยกเป็นคนละขั้นตอน และอย่าลืมหลัก
ฎีกายังวางแนวว่าแม้การจับกุมจะไม่ชอบก็ไม่ทำให้การสอบสวนเสียไป
-***ฎ.4752/2549 คดีหนึ่งฟ้องจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด จำเลยให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา(ซึ่งถูกจับกุมและถูกควบคุมตัวตั้งแต่ที่พนักงานสอบสวน ระหว่างอัยการฟ้อง ตามหมายขังของศาล) ระหว่างการพิจารณาในศาลชั้นต้น บิดาจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลอ้างว่าตำรวจจับกุมและคุมขังไม่ชอบด้วยกฎหมาย การควบคุมระหว่างพิจารณาของศาลก็ไม่ชอบ ให้ศาลไต่สวนและปล่อยตัวจำเลย ศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ปล่อยคดีขึ้นสู่ศาลฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าการจับกุมคุมขังโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ชอบ นั้นเมื่ออัยการยื่นฟ้องและศาลประทับฟ้องตาม ม.71 , 88 ศาลออกหมายขังจำเลยแล้ว เป็นคนละขั้นตอนแยกต่างหากจากการควบคุมชั้นพนักงานสอบสวน และชั้นศาล และพ้นระยะเวลาการควบคุมที่ไม่ชอบแล้ว
ระหว่างพิจารณาชั้นศาลมีการควบคุมโดยหมายขังของศาลที่ชอบ เหตุตาม ม.90 พ้นไปแล้วจึงยืนให้ยกคำร้อง จึงไม่ต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่น
วิอาญา ภาค 3
-ลักษณะของคำฟ้องคดีอาญา ต้องทำเป็นหนังสือและมีรายละเอียดเจ็ดข้อตาม ม.158 ศาลจะลงโทษได้ไม่เกินเพดานโทษตาม ป.อาญาม.91
-ม.158(5) เป็นหัวใจของการบรรยายฟ้อง ดู ฎ.1331/2493 ฟ้องเรื่องปล้นทรัพย์ โดยบรรยายฟ้องว่าจำเลยสมคบกับบุคคลอื่นที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง โดยไม่ได้ระบุให้เห็นว่าร่วมกันทำผิดตั้งแต่ 3 คน ขึ้นไป ศาลก็ลง
โทษฐานปล้นทรัพย์ไม่ได้ ลงได้แต่ฐานชิงทรัพย์แม้จากการพิจารณาได้ความว่าคนร้าย 5 คนก็ตาม(ม.158+
ม.192)
-ฎ.491/2534 ฟ้องไม่ระบุสถานที่ทำผิด แต่ปรากฏในคำร้องขอฝากขังของ พงส.ระบุสถานที่เกิดเหตุชัดเจน และได้ระบุการฝากขังไว้ในท้ายฟ้อง ก็เป็นฟ้องที่ชอบ
-ฎ.1290/2521 ฟ้องว่าลักทรัพย์โดยไม่ระบุชื่อเจ้าของทรัพย์ แต่ในชั้นฝากขังได้ระบุชื่อเจ้าของทรัพย์ไว้แล้ว
และท้ายฟ้องก็ได้ระบุเรื่องการฝากขังซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง ก็ถือว่าฟ้องสมบูรณ์แล้ว เพราะจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว
-ฎ.894-7/2506 คดีหมิ่นประมาท บุคคลที่ 3 ไม่จำเป็นต้องบรรยายฟ้องให้ละเอียดว่าเป็นใครอยู่ที่ใด เพียงระบุถ้อยคำที่หาว่าหมิ่นประมาทต่อบุคคลที่ 3 ก็เป็นฟ้องที่ชอบแล้ว
-ฎ.2757/2544 ศาลยกฟ้องเพราะฟ้องไม่ครบองค์ประกอบความผิด ฟ้องใหม่ไม่ได้เพราะถือว่าศาลได้วินิจฉัยเนื้อหาความผิดแล้ว เป็นฟ้องซ้ำตาม ม.39(4)
-ฎ.751/2520 ตาม ม.157(7) ลงชื่อโจทก์นั้นศาลฎีกาตีความเคร่งครัด ว่าคือตัวโจทก์เท่านั้นในคำฟ้องศาลชั้นต้นที่เริ่มต้นคดี ทนายความจะลงชื่อแทนไม่ได้ แต่ในชั้นอุทธรณ์ฎีกา ไม่มีกม.บังคับ จึงให้ทนายความลงชื่อแทนได้ ส่วนคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการ ทนายลงชื่อในคำร้องได้เพราะไม่ใช่คำฟ้อง
-ฎ.1743/2548 เรื่องของกองทุนหมู่บ้าน ได้มีการยักยอกเงินกองทุนหมู่บ้าน 27 ครั้ง ซึ่งเป็น 27 กรรม ได้มีการฟ้องคดี 26 กรรมเป็นคดีเดียวกัน โทษเกิน 20 ปี ศาลลงโทษได้ไม่เกิน 20 ปี ต่อมาอัยการฟ้องคดีกรรมที่27 เป็นอีกคดีหนึ่ง เป็นเรื่องเกี่ยวพันการนับโทษต่อซึ่งอาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ตาม วิอาญา ม.60 ว.1 แต่เป็นคดีเกี่ยวพันกับคดี 26 กระทง คดีใหม่แม้ฟังว่าจำเลยกระทำผิด ก็ลงโทษอีกไม่ได้เพราะติดเพดานโทษแล้ว
-การขอให้นับโทษต่อไม่อยู่ในบังคับ ป.อาญา ม.91 ถ้าฟ้องรวมกันมาศาลต้อดูม.91 ด้วยว่าจะนับโทษต่อได้หรือไม่
-ม.161 “ถ้าฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมายให้ศาลสั่งให้แก้ฟ้องให้ถูกต้อง หรือยกฟ้องหรือไม่ประทับฟ้อง
โจทก์ มีอำนาจอุทธรณ์คำสั่งเช่นนั้นของศาล”
-ฎ.374/2546 ชั้นตรวจฟ้องถ้าไม่ครบองค์ประกอบความผิดศาลยกฟ้องได้เลย ตรวจฟ้องแล้เห็นว่าไม่เป็นความผิดก็ยกฟ้องตาม 161 ได้เลย ฟ้องไม่ลงชื่อโจทก์และผู้เรียงฟ้อง ศาลสั่งให้แก้ฟ้องได้ เว้นแต่ล่วงเลยเวลาแก้ฟ้องแล้ว
สังเกต การให้อำนาจอุทธรณ์ กม.ให้อำนาจโจทก์เท่านั้น ไม่ให้อำนาจจำเลย เพราะจำเลยยังไม่อยู่ในฐานะจำเลย
คดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ม.162(1) บังคับให้ศาลต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อนจะมีคำสั่งประทับฟ้องหรือไม่(เว้นแต่อัยการได้ฟ้องจำเลยคนเดียวกันนั้นในข้อหาอย่างเดียวกัน ซึ่งต้องตีความอย่างเร่งครัด ให้ปฏิบัติตามอนุ 2 คือศาลจะสั่งไต่สวนหรือไม่ก็ได้)หากไม่มีการไต่สวนเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ การไต่สวนมูลฟ้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลยกขึ้นเองได้ ศาลฎีกาสามารถสั่งให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และย้อนสำนวนไปศาลชั้นต้นให้ไต่สวนมูลฟ้องใหม่ได้
การลงโทษชั้นไต่สวนมูลฟ้องทำไม่ได้แม้จำเลยรับสารภาพ ศาลได้แต่สั่งประทับฟ้อง แล้วให้ดำเนินการต่อไปตาม ม.172 และ 173 เท่านั้น
จำเลยต้องขังในคดีอื่น(ศาลเดียวกัน)อัยการฟ้องได้ศาลรับฟ้องได้ แต่จำเลยที่หลบหนีศาลรับฟ้องไม่ได้ ถ้าคุมตัวอยู่ที่ศาลอื่น ฎ.6321/2544 ศาลก็รับฟ้องได้ถือว่าอยู่ในอำนาจศาลแล้ว
ฟ้องอัยการบกพร่องศาลสั่งคืนให้ไปทำมาใหม่ถือว่าศาลสั่งตาม 161 เมื่อฟ้องมาใหม่ก็ต้องเอาตัวจำเลยมาใหม่ตาม 165 ว.1
คำสั่งคดีมีมูลย่อมเด็ดขาด แต่คำสั่งไม่มีมูลให้โจทก์อุทธรณ์ฎีกาได้ตามหลักทั่วไป แต่ต้องดูอัตราโทษตามหลักเกณฑ์ในลักษณะอุทธรณ์ฎีกาด้วย (คดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยยังไม่อยู่ในฐานะจำเลยศาลสั่งไม่มีมูลหรือยกฟ้อง จำเลยอุทธรณ์ฎีกาไม่ได้)ตาม ม.170 แต่ถ้ากรณีศาลยกฟ้องอัยการอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นคดีมีมูลให้ประทับฟ้องจำเลยมีฐานะเป็นจำเลยทันทีแล้ว แต่จำเลยก็ฎีกาไม่ได้เพราะตามหลัก ม.170 คำสั่งคดีมีมูลย่อมเด็ดขาด
ชั้นไต่สวนมูลฟ้องก็ต้องยื่นบัญชีระบุพยานด้วยตาม ม.173/1 (บัญชีพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง เมื่อศาลประทับฟ้อง ต้องยื่นในชั้นพิจารณาอีกครั้งหนึ่งตาม ฎ.ประชุมใหญ่ที่ 280/2505)
คำพยานชั้นไต่สวนมูลฟ้องนำมาอ้างชั้นพิจารณาก็ได้เพื่อฟังประกอบให้ศาลยกฟ้อง แต่นำมาฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อฟังลงโทษจำเลยไม่ได้เพราะเป็นการพิจารณาลับหลังจำเลย ตาม ฎ.644/2536
ชั้นไต่สวนแม้จำเลยไม่สามารถนำพยานมาเบิกความได้แต่ทนายจำเลยก็สามารถนำเอกสารมาประกอบการซักค้านพยานโจทก์แลยื่นเอกสารให้ศาลรับได้เพื่อประกอบการซักค้านพยานโจทก์ ไม่ถือว่าเป็นการอ้างพยานเอกสาร แต่เพื่อประกอบถ้อยคำพยานฝ่ายโจทก์ ตาม ฎ.904/2522 , ฎ.51/2524
ฎ.3123/2533 ชั้นไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์นำสืบข้อเท็จจริงให้ครบองค์ประกอบความผิดโดยประจักษ์ชัด ก็ถือว่าคดีมีมูลแล้ว ส่วนความจริงจะเป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องของชั้นพิจารณา
-ดู ม.173/1 ว.1,2 คู่ความร้องขอให้ศาลตรวจพยานหลักฐานก่อนกำหนดวันนัดสืบพยานก็ได้โดยแจ้งให้คู่ความทราบล่งหน้าไม่น้อยกว่า 14 วัน และก่อนวันตรวจพยานหลักฐานไม่น้อยกว่า 7 วัน ให้คู่ความยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลพร้อมสำเนาให้เพียงพอกับคู่ความอีกฝ่าย
-โจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัด(นัดไต่สวน และนัดพิจารณาม.181ก็ให้นำมาใช้ด้วย)ศาลยกฟ้องตาม 166 ว.1 แต่ถ้าคดีไม่มีมูลศาลยกฟ้องตาม ม.167
-ม.166 ในการไต่สวนมูลฟ้องก็เคร่งครัด “ถ้าโจทก์ไม่มาศาล(โจทก์ทราบนัดโดยชอบ และทนายโจทก์มาศาลก็ใช้ได้แล้ว)ตามกำหนดนัด(ไต่สวนมูลฟ้องและทุกนัดไม่เหมือนคดีแพ่ง)ให้ศาลยกฟ้อง(แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุอันสมควรจึงมาไม่ได้ให้ศาลสั่งเลื่อนคดีได้) กรณีศาลยกฟ้องดังกล่าวโจทก์ร้องใน 15 วันว่ามีเหตุอันสมควรก็ให้ศาลยกขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่
ศาลยกฟ้องแล้วจะมาฟ้องจำเลยใหม่ไม่ได้เว้นแต่คดีอาญาแผ่นดินราษฎรเป็นโจทก์ไม่ตัดอำนาจอัยการ
-ฎ.3754/2530 ป.โจทก์ขาดนัดศาลยกฟ้องได้ไม่ต้องคำนึงถึงจำเลย
-ฎ.3085/2547 แม้ส่งหมายจำเลยไม่ได้ ตามกฎหมายโจทก์ก็ยังมีหน้าที่มาในวันนัด
-ม.166 นำไปใช้ในชั้นพิจารณาด้วย ตามที่ ม.181 ระบุ และม.173/1,173/2 ในการตรวจพยานหลักฐานก็นำม.166 ไปใช้ด้วย
การแก้ไข เพิ่มเติมคำฟ้อง คำให้การ ม.163,164 ซึ่งไม่ได้ออกข้อสอบมาหลายสมัย สมัยนี้อาจออก
หลักเกณฑ์การแก้ไขฟ้อง 1.มีเหตุอันควร (เช่นพิมพ์ตก เป็นต้น)
2.ยื่นแก้ก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา
3ข้อที่แก้ไขเพิ่มเติมไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี (เสียเปรียบ
อย่างเดียว อย่าไปเข้าใจผิดกับเรื่องการหลงข้อต่อสู้)
-ม.163 ว.1 “เมื่อมีเหตุอันควร โจทก์มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น ถ้าศาลเห็นสมควรจะอนุญาตหรือจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องเสียก่อนก็ได้ เมื่ออนุญาตแล้วให้ส่งสำเนา
แก้ฟ้องหรือเพิ่มเติมแก่จำเลยเพื่อแก้ และศาลจะแยกสำนวนพิจารณาฟ้องเพิ่มเติมนั้นก็ได้”
-ม.164 “คำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องนั้นถ้าจะทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี ห้ามมิให้ศาลอนุญาต แต่การแก้ฐานความผิดหรือรายละเอียดซึ่งต้องแถลงในฟ้องก็ดี การเพิ่มเติมฐานความผิดหรือรายละเอียดที่มิได้กล่าวไว้ก็ดี ไม่ว่าจะทำเช่นนี้ในระยะเวลาใดระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น มิให้ถือว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบ เว้นแต่จำเลยได้หลงต่อสู้ในข้อที่ผิดหรือมิได้กล่าวไว้นั้น”
-ม.163 ว.2 “ เมื่อมีเหตุอันควร จำเลยอาจยื่นคำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การของเขาก่อนศาลพิพากษา
ถ้าศาลเห็นสมควรอนุญาต ก็ให้ส่งสำเนาแก่โจทก์”
-ก่อนศาลพิพากษาของ ม.163 ว.2 คือศาลชั้นต้นเท่านั้น
-ฟ้องที่ไม่ครบองค์ประกอบความผิด แก้ไม่ได้ ฎ.1062/2504 ฟ้องความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการใช้เช็คฯไม่ได้ระบุว่าธนาคารได้ปฏิเสธการใช้เงินตามเช็คนั้น แก้ฟ้องไม่ได้ (ถ้ามีในคำฟ้องว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้ว แต่ไม่ได้ระบุว่าเมื่อใด ก็เพียงไม่ระได้ระบุวันเวลาที่อ้างว่าจำเลยทำผิด ถ้าจำเลยไม่หลงข้อต่อสู้ก็ถือว่าไม่ได้ทำให้จำเลยเสียเปรียบ แก้ฟ้องได้)
-โจทก์ร่วม จะขอแก้ฟ้องของอัยการไม่ได้ เพราะโจทก์ร่วมไม่มีคำฟ้อง และไม่มีเหตุอันสมควร
-การแกฟ้องเป็นเรื่องที่ กม.บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ไม่เป็นกระบวนการพิจารณาซ้ำ นำ วิแพ่ง ม.144
มาใช้ไม่ได้
-ตราบใดที่ศาลชั้นต้นยังไม่ได้มีคำพิพากษาก็มีสิทธิ์ขอแก้ฟ้องได้ แต่ศาลจะอนุญาตหรือไม่เป็นดุลยพินิจของศาล เช่นพิจารณาคดีเสร็จแล้วรอพิพากษา ก็มีสิทธิตาม ม.163 แต่ศาลเห็นว่าไม่สมควรก็ไม่อนุญาต
และต่างกับคดีแพ่งที่แก้ได้ก่อนวันชี้สองสถาน ส่วนการแก้เรื่องการให้คืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์ซึ่งเป็นแพ่งเกี่ยวเนื่องในคดีอาญาก็ขอแก้ได้ก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาเพราะเป็นฟ้องในคดีอาญา
ข้อสำคัญในคดีอาญาที่อัยการเป็นโจทก์มีการแก้ฐานความผิดใหม่ ถ้ายังไม่ผ่านการสอบสวนเช่นยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหานั้นแก่จำเลยโดยพนักงานสอบสวนมาก่อน ถือว่ายังไม่มีการสอบสวน อัยการไม่มีอำนาจฟ้องตาม ม.120 ก็ขอแก้ไม่ได้แม้จำเลยไม่ได้หลงข้อต่อสู้ก็ตาม
-ฎ.3593/2529 การอนุญาตแก้ฟ้องอนุญาตโดยปริยายได้ ถ้าไม่อนุญาตต้อเป็นเหตุผลตาม ม.163,164 เท่านั้น
-ฎ.464/2531 ตาม ม.163 ว.2 จำเลยขอแก้ไขคำให้การได้ก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา แต่ต้องมีเหตุอันควรไม่ใช่ตามอำเภอใจจำเลย การแก้เพื่อประวิงคดีในการต่อสู้คดีศาลไม่อนุญาต
-ฎ.7531/2546 จำเลยขอแก้คำให้การจากปฏิเสธเป็นรับสารภาพไม่ถือเป็นการถอนฎีกา แต่ให้แก้คำให้การไม่ได้ เพียงแต่ถือว่ายอมรับข้อเท็จจริง สมควรได้รับการพิจารณาว่าจะลดโทษหรือไม่เท่านั้น
-อุทธรณ์ฎีกา ของจำเลย ที่ขัดต่อคำรับสารภาพของจำเลยในศาลชั้นต้น ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวมาแต่ศาลชั้นต้นตาม วิแพ่ง ม.225 ว.1 +วิอาญา ม.15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
สรุป
1.วันตรวจพยานหลักฐาน โจทก์ไม่มา ศาลยกฟ้องได้ อ้าง ม.166+173/2ว.1
2.วันนัดพิจารณา โจทก์ไม่มาศาล ศาลยกฟ้องได้ อ้าง ม.166+181
3.วันนัดไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์ไม่มาศาลยกฟ้องได้ อ้าง ม.166
4.วันนัดพร้อม ไม่ใช่กำหนดนัดพิจารณา โจทก์ไม่มา ยกฟ้องไม่ได้
5.วันนัดฟังประเด็นกลับ โจทก์ไม่มาฟัง ยกฟ้องไม่ได้เพราะไม่ใช่การสืบพยาน
-หลักในการพิจารณาและสืบพยานชั้นศาลใน ม.172 ว.1 คือ 1)กระทำโดยเปิดเผย และ2)ต่อหน้าจำเลย
(แต่มีข้อยกเว้นสืบลับหลังจำเลยได้ตาม ม.172 ทวิหลังสอบคำให้การจำเลยแล้ว)
และก่อนที่จะเริ่มพิจารณาคดี เมื่อโจทก์(หรือทนายโจทก์) และจำเลยอยู่ต่อหน้าศาลแล้ว และศาลเชื่อว่า
เป็นจำเลยจริงแล้ว มีขั้นตอนคือ
1)สอบถามเรื่องทนายความตาม 173 (คดีมีโทษประหารชีวิตและคดีที่จำเลยอายุไม่เกิน18ปีในวันฟ้องถ้าจำเลยไม่มีทนายศาลต้องจัดให้ ส่วนคดีมีโทษจำคุกอื่นถ้าไม่มีและจำเลยต้องการให้ศาลจัดให้
2) จากนั้น กม.บังคับให้ศาลสอบคำให้การจำเลย โดยการอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง แล้วถามว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริงหรือไม่ จำเลยให้การอย่างไรก็ให้ศาลจดไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ตาม 172 ว.2
-ฎ.872/2509 ศาลถามจำเลยเรื่องเคยต้องโทษมาก่อนหรือไม่ก่อนที่จะถามเรื่องทนายความ เมื่อจำเลยรับว่าเคยต้องโทษในคดีอื่นมาก่อน(ซึ่งใช่เรื่องที่ถูกกล่าวหา) คำรับของจำเลยดังกล่าวรับฟังได้การดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย
***เรื่องทนายความมีความสำคัญและเป็นเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย เพราะกฎหมายประสงค์ให้ความคุ้มครองจำเลยหากไม่ดำเนินการศาลจะสั่งย้อนสำนวนเสมอ เพราะถือว่าเป็นกระบวนการพิจารณาที่ไม่ชอบตาม ม.208(2)และเรื่องอายุความก็เช่นกันศาลยกขึ้นได้เสมอไม่ว่าชั้นใดโดยจำเลยไม่ต้องยกขึ้นต่อสู้ก็ได้
-ในคดีอาญาจำเลยจะปฏิเสธลอยๆก็ได้เพราะกฎหมายให้สิทธิจำเลยที่จะให้การหรือไม่ให้การหรือให้การอย่างใดก็ได้ ไมเหมือนคดีแพ่งปฏิเสธลอยๆถือว่าไม่มีประเด็นข้อต่อสู้
-ม.173 เคยออกข้อสอบมาแล้ว เน้นในเรื่องจำเลยอายุไม่เกินสิบแปดปีให้คิดวันที่ฟ้องเป็นหลัก ไม่เหมือนชั้นสอบสวนใช้วิธีการสอบสวนเด็กให้คิดในวันที่ทำการสอบสวนว่าอายุไม่เกิน 18 ปี และคดีที่ขึ้นศาลคดีเด็กและเยาวชนสำหรับเด็กหรือเยาวชนอายุไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ในวันกระทำผิด
***ฎ.6327/2548 เมื่อไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้ถามจำเลยเรื่องทนายความว่าจำเลยมีหรือไม่ ในวันสอบคำให้การ แม้ต่อมาจำเลยจะตั้งทนายความเข้ามาในวันที่ศาลมีคำพิพากษา ก็เป็นการดำเนินการในช่วงหลัง
เป็นกระบวนการพิจารณาที่ชอบไปแล้ว ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นเองได้ และสั่งให้ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ ชอบแล้ว ตาม ม.173,195,208(2)
-ฎ.9001/2547 ในคดีที่จำเลยถูกฟ้องมีโทษถึงประหารชีวิต ศาลเพียงถามว่าจำเลยมีทนายความหรือไม่อย่างเดียว และต่อมาจำเลยตั้งทนายความเองหลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว เป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ
คำพิพากษาและคำสั่ง
-ม.182 ว.1 เมื่อการพิจารณาเสร็จแล้ว ให้พิพากษาหรือสั่งตามรูปความ และ ว.2 ให้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่ง 1)ในศาล 2) โดยเปิดเผย 3)ในวันเสร็จการพิจารณาหรือใน 3 วันหลังจากนั้น ถ้าจะเลื่อนวันอื่นต้องจดรายงานเหตุไว้ 4)ต่อหน้าจำเลย (โจทก์ไม่ต้องก็ได้) ถ้าจำเลยไม่อยู่และไม่มีเหตุสงสัยว่าหลบหนีหรือจงใจไม่มาฟังให้ศาลเลื่อนไป แต่ถ้าหลบหนีก็ออกหมายจับไว้ ไม่ได้ตัวมาฟังใน 1 เดือนนับแต่ออกหมายจับก็อ่านลับหลังจำเลยได้ (ว.3)
-ฎ.1015/2541 อ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟังแล้วโดยไม่ได้แจ้งวันนัดให้ทนายจำเลยทราบ ถือว่าอ่านโดยชอบแล้ว
-ฎ.276/2504 ประชุมใหญ่ จำเลยหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษา ศาลออกหมายจับจำเลยไว้ แล้วอ่านลับหลังจำเลยตามกฎหมาย ต่อมาอีก 5 เดือนจับตัวจำเลยได้แล้วอ่านให้ฟังอีกครั้ง การอ่านครั้งหลังเพียงการแจ้งคำพิพากษาให้จำเลยทราบเท่านั้น ว่าจำเลยต้องโทษจำคุกกี่ปี การอ่านครั้งแรกชอบด้วยกฎหมายแล้ว การนับระยะเวลาอุทธรณ์ 1 เดือนนั้นนับแต่การอ่านครั้งแรก ขณะจับจำเลยได้พ้นระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ได้แล้ว
***ม.185 ถ้าศาลเห็นว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิดก็ดี การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดก็ดี คดีขาดอายุความแล้วก็ดี มีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยไม่ควรต้องรับโทษก็ดี ให้พิพากษายกฟ้องปล่อยจำเลยไป...............
สรุปสาเหตุที่ศาลพิพากษายกฟ้องได้ คือ
1.จำเลยไม่ได้ทำผิด (หรือคนที่ทำผิดไม่ใช้ตัวจำเลย)
2.การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด
3.คดีขาดอายุความ
4.มีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยไม่ควรต้องรับโทษ
นอกจากนั้นหากยังมีเหตุเคลือบแคลงสงสัยว่าจำเลยทำผิดหรือไม่ศาลจะยกประโยชน์ให้จำเลยโดยยกฟ้องตาม ม..............
-นำไปใช้ในชั้นอุทธรณ์ ม.185+215
-นำไปใช้ในชั้นฎีกา ม.185+215+225
สรุป หากศาลจะฟ้องก็จะอ้าง ม.185 แต่ถ้าศาลจะลงโทษก็มักอ้างว่าข้อหานั้นต้องห้ามฎีกาตาม ม.218,219 แล้วแต่กรณี ศาลสูงไม่รับวินิจฉัยให้ ม.185 สามารถนำไปใช้ในเหตุบรรเทาโทษหรือการลดโทษได้ จะลงโทษเบาหรือหนักก็เป็นดุลยพินิจของศาลซึ่งดุลยพินิจของศาลเป็นปัญหาข้อเท็จจริง
-ม.190 ห้ามมิให้แก้ไขคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งได้อ่านแล้วนอกจากแก้ถ้อยคำที่ผิดพลาด
ดังนั้นกรณีถือว่าอ่านแล้วจึงมีความสำคัญไม่น้อย การอ่านต้องอ่านโดยชอบเท่านั้น การจะแก้ไขคำพิพากษาก็โดยการโต้แย้งคำพิพากษาไปยังศาลสูงเท่านั้น แก้เรื่องการนับโทษต่อแก้ได้เพราะเป็นเรื่องการบังคับตามคำพิพากษาไม่ใช้แก้คำพิพากษา ลืมเขียนเรื่องรอการลงโทษทั้งๆในคำพิพากษานั้นพูดเรื่องนี้ไว้แล้ว แก้ให้ถูกต้องได้ และกรณีมีการพิมพ์โทษผิด จาก 1 ปี เป็น 1 เดือน แก้ได้
***ม.192 (ต้องท่องให้จำทั้ง 6 วรรค เพราะมักออกข้อสอบบ่อย)
ว.1 เป็นหลักห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือมิได้กล่าวไว้ในฟ้อง
ว.2-6เป็นข้อยกเว้น
ว.2 ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้องเว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นไม่ใช่ข้อสาระสำคัญและจำเลยไม่หลงข้อต่อสู้ ศาลจะลงโทษตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้
ว.3ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียดเช่นเกี่ยวกับเวลา สถานที่ที่กระทำผิด หรือแตกต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอก รับของโจรและทำให้เสียทรัพย์ หรือแตกต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนาหรือประมาท มิให้ถือว่าเป็นข้อแตกต่างกันในสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปนั้นเป็นเหตุให้จำเลยหลงข้อต่อสู้ แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยเกินกว่าอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้
ว.4ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงบางข้อดังกล่าวในฟ้อง และตามที่ปรากฏในทางพิจารณาไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ห้ามมิให้ศาลลงโทษจำเลยในข้อเท็จจริงนั้นๆ
ว.5ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงนั้นโจทก์สืบสมแต่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดไป ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้
ว.6ถ้าความผิดที่ฟ้องนั้นรวมการกระทำผิดหลายอย่างแต่ละอย่างเป็นความผิดได้ในตัวเอง ศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้
วิอาญา ภาค 4
-ระบบอุทธรณ์ฎีกาของศาลไทยคือเมื่อไม่พอใจคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น ก็โต้แย้งด้วยการอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ เว้นแต่ กม.บัญญัติให้เรื่องนั้นอุทธรณ์ไม่ได้หรือถึงที่สุด
-มาตรา 193 เป็นมาตราทั่วไปของการอุทธรณ์
ว.1 คดีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้(กม.ไม่ระบุว่าผู้ใดอุทธรณ์ได้ซึ่งก็หมายถึงคู่ความ และรวมถึงบุคคลภายนอกที่ถูกกระทบสิทธิ์ด้วย)อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ และ ว.2 อุทธรณ์ทุกฉบับต้องระบุข้อเท็จจริงโดยย่อหรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิง
-ในคดีอาญา จะนำวิแพ่ง ม.229 มาใช้ไม่ได้เพราะมีการเขียนไว้ชัดเจนแล้วในคดีอาญาการอุทธรณ์ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ จะกระโดดเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายไปศาลฎีกาเลยไม่ไดเหมือนคดีแพ่ง
-การยื่นฎีกาไม่ทันในกำหนด ยื่นคำร้องขอขยายเวลาฎีกา ศาลชั้นต้นไมอนุญาตให้ขยายเวลาฎีกา(เป็นคำสั่งของศาลชั้นต้นที่มีอำนาจยกคำร้องได้โดยตรง) เมื่อไม่พอใจคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกา ก็สามารถอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ได้(ตาลำดับชั้นศาล จะกระโดดไปศาลฎีกาไม่ได้(ถ้าทำแทนศาลฎีกาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งเช่นตรวจรับหรือไม่รับฎีกา ซึ่งมี ม.224 เขียนไว้โดยเฉพาะ)
-ม.193 ไม่ได้เขียนไว้ชัดเจนว่าใครบ้างอุทธรณ์ได้ เป็นการเขียนกฎหมายที่ยืดหยุ่นไม่ใช่เฉพาะคู่ความเท่านั้น บางครั้งบุคคลภายนอกถูกกระทบสิทธิ์เช่น นายประกัน หรือบุคคลภายนอกที่ถูกศาลสั่งริบของกลางแล้วอ้างว่าของกลางนั้นเป็นของตน คนภายนอกนั้นก็สามารถอุทธรณ์คำสั่งให้ริบของกลางได้
-ฎ.เก่าที่ 1838/2492 ยังใช้เป็นหลักได้ตลอด
ในร่างฟ้อง ท้ายฟ้อง ลงชื่ออัยการคนละคน ถือเป็นฟ้องที่ชอบเพราะต่างเป็นอัยการของสำนักงานอัยการสูงสุดซึ่งทำในหน้าที่ตำแหน่งราชการ อัยการผู้ช่วยก็มีอำนาจร่างฟ้องและลงชื่อเป็นโจทก์ นัดสืบพยานโจทก์ทุกครั้ง โจทก์อัยการเจ้าของสำนวนไม่ว่างอัยการคนอื่นก็มีอำนาจว่าความแทนได้ คือสับเปลี่ยนแทนกันได้เพราะเป็นการทำงานในหน้าที่ราชการในตำแหน่ง ไม่เหมือนทนายความที่สับเปลี่ยนกันไม่ได้ ว่าความได้ต้องมีใบแต่งทนายจากตัวความเท่านั้น
-ฎ.1010/2493 อัยการเป็นโจทก์ฟ้องเรื่องยักยอก จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง อัยการโจทก์ไม่อุทธรณ์ ยังอยู่ในระยะเวลาอุทธรณ์ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเป็นโจทก์ร่วมเพื่อใช้สิทธิ์อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกคำร้อง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าหลักใน ม.30 การขอเป็นโจทก์ร่วมต้องยื่นก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาเท่านั้น หลังพิพากษาแล้วยื่นขอเป็นโจทก์ร่วมเพื่ออุทธรณ์อย่างเดียวไม่ได้
****ฎ.2110/2548 โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิด 3 ฐาน คือฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ลักทรัพย์ และซ่อนเร้นเคลื่อนย้ายศพ เพื่อปิดบังการตาย ชั้นพิจารณาจำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา มีการสืบพยานในศาลประกอบคำรับสารภาพ ก่อนศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาบิดาผู้ตายขอเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาตามคำขอ(ศาลไม่ได้ระบุวามอนุญาตในความผิดฐานใด) ศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษจำเลยทั้ง 3 ฐาน อัยการ
ไม่อุทธรณ์ โจทก์ร่วมไม่พอใจว่าจำเลยรับสารภาพเพราะจำนนต่อหลักฐานไม่ควรลดโทษทั้ง 3 ฐานความผิด
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ศาลชั้นต้นอนุญาตเป็นโจทก์ร่วมโดยไม่ได้ระบุว่าอนุญาตฐานใด ถือได้ว่าได้อนุญาตเป็นโจทก์ร่วมในความผิดฐานฆ่า และลักทรัพย์เท่านั้น ในความผิดฐานซ่อนเร้นศพ โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหายตาม ม.2(4) การอนุญาตของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบ โจทก์ร่วมไม่มีอำนาจที่จะอุทธรณ์ตาม ม.193 ได้ ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยในความผิดฐานนี้ได้
**ฎ.7100/2540 อัยการฟ้องคดีอาญา ผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมจะขอแก้ฟ้องของอัยการไม่ได้เพราะจะต้องถือเอาคำฟ้องของอัยการเป็นหลัก แต่การแยกอุทธรณ์ต่างหาก ศาลอุทธรณ์พิพากษาอย่างไรโจทก์ร่วมฎีกาได้ถ้าไม่ต้องห้ามฎีกาตามกฎหมาย (ถ้าอัยการอุทธรณ์ฝ่ายเดียว โจทก์ร่วมจะฎีกาไม่ได้ ตาม ม.249 วิแพ่ง+15 วิอาญา เพราไม่ได้ว่ากล่าวมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น ม.249 “ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในฎีกานั้น จะต้องกล่าวโดยชัดแจ้งในฎีกาและจะต้องเป็นข้อที่ว่ากล่าวกันมาแล้วตั้งแต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์”)
-ฎ.7241/2544 เคยออกสอบ
เข้าเป็นโจทก์ร่วมแล้วขอถอน ศาลชั้นต้นอนุญาตแล้ว ถือเสมือหนึ่งเป็นการถอนฟ้อง จอขอเป็นโจทก์ร่วมอีกไม่ได้ เพราะเสมือนหนึ่งฟ้องคดีอาญาใหม่ ซึ่ง ม.36 บัญญัติว่าคดีอาญาซึ่งได้ถอนฟ้องไปจากศาลแล้วะนำมาฟ้องใหม่หาได้ไม่ เว้นแต่....
-ศาลแขวงจำกัดสิทธิ์เคร่งครัดสำหรับโจทก์ แต่ผ่อนคลายสำหรับจำเลย
-กฎหมายในเรื่องจำกัดสิทธิ์อุทธรณ์ฎีกาไม่จำต้องว่าอยู่แต่ในลักษณะอุทธรณ์ฎีกาเท่านั้น แต่ยังอยู่ในเรื่องอื่น
ด้วยเช่น ม.170 ศาลสั่งคดีมีมูลให้เป็นที่สุด เป็นต้น
-หลักอยู่ที่ ม.193 ทวิ , 218,219ทวิ,ตรี
-ม.193 ทวิ ห้ามอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริง ในคดีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
-โทษ 3 ปี คืออัตราโทษตามกฎหมายไม่ใช่โทษที่จะลง และเป็นอัตราโทษของบทที่โจทก์ฟ้อง
-ฎ.3170/2549 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ซึ่งต้องระวางโทษสองในสามของโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี ตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 แม้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 295 ประกอบมาตรา 83 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมิได้มีการอนุญาตหรือรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ตรี ก็ตาม จำเลยยังมีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ เพราะการอุทธรณ์คดีอาญาในปัญหาข้อเท็จจริงนั้น ศาลจะต้องพิจารณาอัตราโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายตามฟ้องว่าต้องห้ามหรือไม่ ไม่ใช่ความผิดที่พิจารณาได้ความ เมื่อจำเลยอุทธรณ์ว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังฟังไม่ได้ว่าจำเลยร่วมกับพวกทำร้ายผู้เสียหาย จำเลยมิได้กระทำผิดอันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง อุทธรณ์ของจำเลยไม่ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว
-ฎ.1996/2537,4766/2533 ต้องพิจารณาความผิดแต่ละกระทงว่ากระทงใดต้องห้ามหรือไม่ กรณีผิดหลายบทให้ดูที่บทหนักหากบทหนักไม่ต้องห้ามบทอื่นก็ไม่ต้องดู คือไม่ต้องห้ามไปด้วย
-หลักใน ม.193 ทวิมีข้อยกเว้นให้ จำเลยอุทธรณ์ได้ในกรณีดังนี้
1.จำเลยต้องคำพิพากษาให้จำคุกหรือกักขังแทนจำคุก
2.จำเลยต้องคำพิพากษาให้จำคุกแต่รอการลงโทษไว้
3.ศาลพิพากษาว่าจำเลยผิดแต่รอการกำหนดโทษไว้
4.จำเลยต้องคำพิพากษาให้ปรบเกินหนึ่งพันบาท
-เป็นคดีศาลแขวงซึ่งห้ามโจทก์อุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงแต่กับจำเลยไม่ห้ามในข้อยกเว้นทั้งสี่ข้อ แต่หากโจทก์จะอุทธรณ์จริงๆ มีช่องทางตาม ม.193ตรี 1)ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งไว้เห็นว่ามีปัญหาสำคัญควรสู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์ หรือ 2) อัยการสูงสุดหรืออัยการที่ได้รับมอบหมายลงชื่อรับรองให้อุทธรณ์
-สิทธิในการอุทธรณ์ที่มีหลายกรรมหรือหลายกระทง ต้องดูเป็นรายกระทงความผิด
-กรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทซึ่งศาลจะลงโทษบทที่หนัก ดังนั้นการพิจารณาว่าจะอุทธรณ์ได้หรือไม่ตาม ม.193 ทวิ ต้องดูบทที่หนักที่สุดเป็นหลัก ถ้าไม่ต้องห้ามอุทธรณ์แม้บทที่เบาจะมีอัตราโทษจำคุกต่ำกว่า 3 ปี
ก็ไม่ต้องห้ามไปด้วย
-**ฎ.3154/2543 ฟ้องฐานบุกรุกตั้งแต่สองคนขึ้นไปและทำให้เสียทรัพย์ แต่เป็นกรรมเดียวกันเพราะเข้าไป
ตัดต้นไม้ในที่ดินโจทก์ บุกรุกมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี แต่ทำให้เสียทรัพย์จำคุกไม่เกิน 3 ปี ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ทั้งสองฐานความผิด (ฐานทำให้เสียทรัพย์ตามอัตราโทษอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ ) ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่ออุทธรณ์โจทก์บทหนักฐานบุกรุกไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ม. 193 ทวิ ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ซึ่งเป็นบทเบากว่าจึงไม่ต้องห้ามไปด้วย เช่นเดียวกับแนวฎีกาที่ 1996/2537,4766/2533
-ม.193 ทวิ นำไปใช้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องด้วย คำสั่งมีมูลถึงที่สุด คำสั่งไม่มีมูลโจทก์อุทธรณ์ฎีกาได้ตาม
ม.170 วรรคแรก จึงนำ ม.193 ทวิ และ 220 มาใช้ด้วย
-คดีที่ต้องห้ามตาม ม.193 ทวิ หรือไม่เมื่อศาลชั้นต้นได้รับฟ้องอุทธรณ์ของคู่ความศาลชั้นต้นพิจารณา3ประการคือ
1.ยื่นอุทธรณ์ในกำหนดเวลาหรือไม่
2.ต้องห้ามอุทธรณ์หรือไม่
3.เป็นอุทธรณ์ที่โต้แย้งคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นหรือไม่
-หากไม่เข้าทั้งสามประการศาลชั้นต้นก็ปฏิเสธไม่รับอุทธรณ์ได้ ตาม 198 ทวิ คู่ความฝ่ายที่เสียหาย
อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ปฏิเสธไม่รับอุทธรณ์ได้ใน 15 วัน หากศาลชั้นต้นต้องรับแล้วส่งไปยังศาลอุทธรณ์พิจารณา หากศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้นที่ปฏิเสธไม่รับอุทธรณ์ เป็นที่สุด
-ฎ.7372/2544,2482/2527 ศาลชั้นต้นตรวจรับอุทธรณ์ที่ไม่ชอบเพราะต้องห้ามฎีกาข้อเท็จจริง ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกคำสั่งศาลชั้นต้นได้ เพราะถือเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบ การวินิจฉัยที่ไม่ชอบเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ จึงให้ยกอุทธรณ์ ย้อยสำนวนไปบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เพราะไม่ก่อให้เกิดสิทธิอุทธรณ์ฎีกา คดีจึงย่อมถึงที่สุดไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
-กรณีไม่อยู่ในบังคับของ ม.193ทวิ
1.ปัญหาข้อกฎหมายไม่อยู่ในบังคับมาตรา 193 ทวิ
(ดุลยพินิจของศาลในการเลือกรับฟังพยานหลักฐานว่าพอฟังลงโทษจำเลยได้หรือไม่ จำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ , โต้แย้งดุลยพินิจของศาลว่าลงโทษไม่เหมาะสม(หนักไปหรือน้อยไป) เป็นปัญหาข้อเท็จจริง
การตีความกฎหมาย,ฟังว่าฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ การนำข้อเท็จจริงไปปรับกับกฎหมาย เป็นปัญหาข้อกฎหมาย
2.อุทธรณ์ไม่ได้โต้แย้งประเด็นแห่งคดีหรือข้อเท็จจริงในคดี ก็ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริง
(นำไปใช้ในชั้นฎีกาด้วย)
***ฎ.1937/2537 โจทก์ฟ้องให้ลงโทษฐานรับรองเอกสารอันเป็นเท็จตาม ป.อาญา ม.269(อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี)วันพิจารณาทนายความมอบหมายให้เสมียนทนายมายื่นขอเลื่อนคดีอ้างว่าทนายป่วย จำเลยคัดค้านว่าประวิงคดี ศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีสั่งงดสืบพยานโจทก์ พิจารณาและพิพากษาในวันเดียวกันยกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ว่าไม่มีเจตนาประวิงคดี การสั่งงดสืบพยานโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ข้อพิพาทแห่งคดีหลัก จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงตาม ม.193ทวิ เช่นเดียวกับฎีกาที่ 1729/2528 อุทธรณ์ว่าขาดนัดพิจารณาหรือไม่เป็นอุทธรณ์ที่ม่ใช่ประเด็นหลัก จึงไม่เข้า ม.193 ทวิ
-พิจารณาคดีใหม่ อุทธรณ์ยืน ฎีกาได้ ไม่ต้องห้าม ม.220 เพราะไม่ได้วินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีหลักหรือประเด็นหลักว่ามีเหตุผลสมควรพิจารณาใหม่หรือไม่
-เรื่องริบของกลาง อ้างว่าไม่ได้รู้เห็นเป็นใจ ฎีกาได้ไม่ต้องห้ามม.220 ไม่ใช่อุทธรณ์ฎีกาในเรื่องข้อพิพาทคดีหลักแม้เป็นส่วนหนึ่งของคดีอาญาก็ตาม
-เรื่องศาลพิพากษาลงโทษเรื่องละเมิดอำนาจศาลเป็นเรื่องเกี่ยวกับบทบัญญัติพิเศษตามวิแพ่ง ไม่เกี่ยวกับการลงโทษทางอาญาทั่วไปไม่อยู่ในบังคับ ม.193ทวิ,218,219.220 จึงอุทธรณ์ฎีกาได้แม้เป็นปัญหาข้อเท็จจริงก็ตาม
-ม.195 หลักเกณฑ์ฟ้องอุทธรณ์ ข้อกม.ที่อ้างอิงในอุทธรณ์ต้องแสดงให้ชัดแจ้งในอุทธรณ์และเป็นข้อที่ว่ามาแต่ศาลชั้นต้น แต่ข้อกม.ที่เกี่ยวกับความสงบฯหรือข้อที่มิได้ปฏิบัติตามบทกฎหมายว่าด้วยอุทธรณ์ศาลยกขึ้นได้เอง
ตัวอย่างข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยฯ
-การทำผิดตามฟ้องเป็นกรรมเดียวหรือหลายกรรม , พิพากษาเกินคำขอหรือไม่ , ศาลปรับบทลงโทษถูกต้องหรือไม่ , เบิกความโดยมิได้สาบานหรือปฏิญานตน (นำวิแพ่ง ม.112 มาใช้คดีอาญาด้วย) , การสอบ
ถามเรื่องทนายความ , เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ , เกี่ยวกับอำนาจฟ้อง , ขาดอายุความหรือไม่ , มีเจตนาทำผิดหรือไม่ , คำนวณลดโทษถูกต้องหรือไม่ , เป็นฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ , ศาลชั้นต้นมีคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย , เป็นหรือไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย , เพิ่มโทษชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
แต่พอถึงชั้นฎีกาไม่ได้ดูที่อัตราโทษ แต่กลับดูที่ผลของคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ แยกเป็น 2 กรณี
1.ม.220 ห้าม คู่ ความ ฎีกา ในคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโจทก์ (ห้ามทั้งโจทก์และจำเลย และการยกฟ้องคือยกฟ้องในเนื้อหาของคดี)
-ฎ.ประชุมใหญ่ที่ 342/2519 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนที่ให้ยกคำร้อง ขอคืนทรัพย์ที่ศาลสั่งริบ
ของผู้ร้องโดยอาศัยข้อเท็จจริง ไม่มีบทกฎหมายห้ามฎีกา จึงฎีกาได้ไม่อยู่ในบังคับของ ม.220 ร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ ศาลอุทธรณ์ยืนนำมาตรา 220 มาใช้ไม่ได้(สั่งคำร้อง ฎ.1729/2537)
2.กรณีอื่นๆ ม.218,219,219ทวิ,219ตรี
218 ว.1ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลล่างหรือแก้ไขเล็กน้อย(กลับไม่ต้องห้าม)และให้จำคุกจำเลยไม่เกิน5ปีหรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับที่โทษจำไม่เกิน5ปี ห้ามคู่ความฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง
-แก้โทษจำคุกเพียงอย่างเดียวไม่แก้บทลงโทษเป็นการแก้เล็กน้อย ,ศาลชั้นต้นพิพากษาประหารอุทธรณ์จำคุกตลอดชีวิตเป็นการแก้ไขเล็กน้อย
-ถ้ามีการเพิ่มโทษต้องดูโทษที่ศาลจะลงก่อนเพิ่มโทษ แต่ถ้าลดโทษดูสุทธิตามที่ลดแล้ว (เพิ่มดูก่อนเพิ่มลดดูหลังลด)
218 ว.2 ยืนตามศาลล่างหรือแก้ไขเล็กน้อยและลงโทษจำคุกเกิน 5 ปี ห้ามโจทก์(และโจทก์ร่วม)ฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง
219 ศาลชั้นต้นจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลอุทธรณ์ก็ยังลงโทษไม่เกินนี้ ห้ามคู่ความ ฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง แต่ถ้าแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลยไม่ห้ามจำเลย
-ฎ.5898-5899/2540 ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก ศาลอุทธรณ์แก้เป็นให้ปรับอีกกระทงหนึ่ง แต่โทษจำคุกให้รอไว้ เป็นการแก้ไขมาก แต่ไม่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย จำเลยฎีกาไม่ได้
219 ทวิ ห้ามคู่ความฎีกาในเรื่องวิธีการเพื่อความปลอดภัยอย่างเดียว
219 ตรี คดีศาลชั้นต้นลงโทษหรือเปลี่ยนกักขังแทนจำคุก หรือกักขังแทนค่าปรับหรือกักขังเกี่ยวกับการริบทรัพย์สิน ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ห้ามคู่ความอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริง
-นำวิแพ่ง ม.223 เรื่องอุทธรณ์ต่ปัญหาข้อกฎหมายไปยังศาลฎีกาเหมือนคดีแพ่งไม่ได้
-ทางแก้ของ ม.218,219,220 คือตาม ม.221 1) 1)ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งไว้เห็นว่ามีปัญหาสำคัญควรสู่ศาลฎีกาและอนุญาตให้ฎีกา หรือ 2) อัยการสูงสุดลงชื่อรับรองให้ฎีกาได้
คำสั่งระหว่างพิจารณาในคดีอาญา
-วิอาญา ม.196 ใช้คำว่า คำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวน( เทียบกับคดีแพ่งในวิแพ่ง ม.226,227,228) ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นจนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในประเด็นสำคัญ และมีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นด้วย
-เคร่งครัดกว่าคดีแพ่ง เพราะคดีแพ่งโต้แย้งไว้ก็อุทธรณ์ได้ อาญาไม่ต้องโต้แย้งเหมือนคดีแพ่ง
-ความหมายของคำสั่งระหว่างพิจารณา
1. เป็นคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งที่ศาลประทับรับฟ้องไว้พิจารณา หรือรับไว้แล้วนัดไต่สวนมูลฟ้องแล้ว
2. คำสั่งก่อนศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งประเด็นสำคัญในคดี
3. เป็นคำสั่งที่ไม่ทำให้คดีเสร็จไปจากศาล
-ราษฎรฟ้องฐานฟ้องเท็จ ศาลยังไม่ประทับฟ้อง ศาลสั่งรอฟังคดีอาญาอีกเรื่องหนึ่งก่อน ที่จะรับไว้ไต่สวน ยังไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา อุทธรณ์ได้ทันที(ก่อนรับฟ้อง)
-ก่อนสืบพยานในคดีฆ่าหรือข่มขืนฯ ผู้เสียหายขอให้จำเลยชดใช้ทางแพ่ง คำสั่งที่ศาลสั่งให้ไปฟ้องเป็นคดีใหม่เพราะอาจทำให้คดีอาญาล่าช้านั้นถือเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา
-ไม่อนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องของโจทก์ เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา
-ศาลชั้นต้นไต่สวนที่ผู้ร้องขอคืนของกลาง แล้วสั่งให้รอคดีหลัก ผู้ร้องยังไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นเพราะเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา
-ฎ.3082/2537 ศาลชั้นต้นลงโทษตาม พ.ร.บ.เช็คฯ จำเลยยื่นคำร้องขอขยายเวลาอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นอนุญาตศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคำสั่งที่ให้ขยายเวลาอุทธรณ์ไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา
-คำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว เช่นจำเลยไม่มาตามนัด เพื่อรอออกหมายจับนำตัวจำเลยมาพิจารณา หรือเพื่อเลื่อนคดีไป(ไม่ใช่ถอนฟ้องไปเลย)เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา
บทสรุปข้อจำกัดสิทธิ์อุทธรณ์ฎีกา
โดยหลัก ม.193 คู่ความที่ไม่พอใจคำพิพากษาของศาลชั้นต้นโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ด้วยการฟ้องอุทธรณ์ทั้งปัญหาข้อเท็จจริง และปัญหาข้อกฎหมาย ทำไม่ได้ตามข้อยกเว้นเท่านั้น
ข้อห้าม
ชั้นอุทธรณ์ (หลัก ม.193 ทวิ ซึ่งไม่ได้ออกสอบมาหลายสมัยแล้ว ต้องดูให้แม่น ซึ่งดูต้องดูให้โยงไปถึงชั้นฎีกา เพราะข้อสอบจะออกโยงกันแน่นอน)*****************************************
1.หลักเกณฑ์ – ห้ามทั้งโจทก์,โจทก์ร่วมและจำเลย ในการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ในคดีที่อัตราโทษอย่างสูงตามกฎหมายจำคุกไม่เกิน 3 ปี (3 ปี ลงมา ) หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
-ไม่ห้ามอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายในอัตราโทษเท่าไรก็ตาม
-มาตรานี่เคร่งครัดต่อการตัดสิทธิโจทก์โดยเด็ดขาด ผ่อนคลายให้แก่จำเลยที่อุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงได้หากเข้า (1)-(4) เช่นฟ้อจำเลยผิดฐานยักยอกซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลย 6 เดือน จำเลยพอใจไม่อุทธรณ์ จำเลยไม่พอใจที่ศาลลงโทษลำเลยน้อย โจทก์
ไม่สามารถอุทธรณ์โต้แย้งดุลยพินิจในการลงโทษของศาลชั้นต้นได้เพราะดุลยพินิจว่าคงลงโทษจำเลยเท่าใดเป็นปัญหาข้อเท็จจริง หรือกรณีเดียวกันหากศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 6 เดือนแต่ให้รอการลงโทษจำเลยไว้ 2
ปี โจทก์ก็ไม่สามารถอุทธรณ์ได้ แต่จำเลยอุทธรณ์ได้เพราะอยู่ในข้อยกเว้นที่ผ่อนคลายให้แก่จำเลย หากโจทก์จะอุทธรณ์ให้ได้จริงๆก็ไปหาช่องทางอื่นเช่น ม.193 ตรี คือการให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งไว้รับรองหรือให้อัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ได้
-แต่กรณีจำเลยรับสรภาพในศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกโดยไม่รอการลงโทษ จำเลยก็อุทธรณ์ได้ตาม ข้อยกเว้นใน ม.193ทวิ (2) ในประเด็นควรรอการลงโทษ จำเลยจะไปอุทธรณ์ว่าไม่ได้ทำผิดไม่ได้ ซึ่งขัดกับคำรับสารภาพตามหลักใน ม.176 แต่ชั้นฎีกา กรณีศาลอุทธรณ์ยืน ก็ฎีกาไม่ได้เพราะไม่ได้ว่ากล่าวมาแต่ศาลชั้นต้น(เรื่องทำผิดหรือไม่)เพราะชั้นต้นรับไปแล้ว นำหลักวิแพ่ง ม.225 มาใช้ด้วยแต่ยังมีนักวิชาการโต้แย้งคัดค้านว่าการอุทธรณ์ว่าทำผิดหรือไม่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกายกขึ้นได้ จึงยังไม่ยุติ
-******ฎ.2063/2549 อัยการฟ้องให้ลงโทษจำเลยฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อาญา ม.318 และฐานบุกรุกตาม ม.362 ซึ่งทั้งสองฐานมีโทษจำคุกไม่เกินสามปี อยู่ในเกณฑ์ม.193 ทวิ ระหว่างพิจารณาผู้เสียหายขอเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการซึ่งศาลอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง อัยการไม่อุทธรณ์ โจทก์ร่วมอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ จึงยกคำร้องอุทธรณ์ โจทก์ร่วมฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าฎีกาโจทก์ร่วมไม่ต้องห้ามตาม ม.220 เพราะตามม.220 เป็นเรื่องการยกฟ้องในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ในเนื้อหาของฟ้อง จึงจะต้องห้ามฎีกา แต่กรณีนี้ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมโดยเห็นว่าต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จึงยกอุทธรณ์ ไม่ใช้การยกฟ้องในเนื้อหาอุทธรณ์แต่อย่างใด
******-ข้อสอบอาจออกใน ม.193 ทวิ ควบ ม.216 และ 220
-กรอบอัตราโทษตรงกับอำนาจของศาลแขวงและผู้พิพากษานายเดียวของศาลชั้นต้น
-แม้ศาลยกฟ้องหากอยู่ในกรอบอัตราโทษดังกล่าวอัยการ,โจทก์,และโจทก์ร่วมก็ถูกต้องห้ามตามม.นี้
-ตัวอย่าง
โจทก์ร่วมฎีกาว่าการที่ศาลอุทธรณ์อุทธรณ์โจทก์ว่าอุทธรณ์ต้องห้ามตาม ม.193 ทวิ นั้นไม่ชอบเพราะทางพิจารณาได้ความว่าข้อเท็จจริงจากการกระทำของจำเลยมีโทษจำคุกอย่างสูงเกินกว่าสามปีเพราะจำเลยบุกรุกโดยมีอาวุธติดตัว และการทำให้เสียทรัพย์นั้นเป็นทรัพย์อันเป็นพืชผลของการกสิกรรม จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง อย่างนี้โจทก์ฎีกาได้หรือไม่
คำตอบ ฎีกาไม่ได้ เป็นเรื่องไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยจะต้องรับโทษหนักขึ้นตาม ม.192 ที่โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยฐานบุกรุกโดยมีอาวุธหรือทำให้เสียทรัพย์อันเป็นพืชผลของการกสิกรรมแต่อย่างใด
-**ม.193 ทวิ ใช้เฉพาะชั้นอุทธรณ์ ชั้นฎีกามี ม.218-220 บัญญัติไว้ต่างหากแล้ว โดยชั้นอุทธรณ์ดูอัตราโทษ
ชั้นฎีกาดูการที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาอย่างไร ศาลอุทธรณ์แก้ไขโทษอย่างไร
****ต้องท่องจำมาตรา 218,219และ 220 ให้ได้****
1.ม.218 ถ้าศาลเพิ่มโทษตามที่มีกฎหมายบัญญัติให้เพิ่มเช่นฐานไม่เข็ดหลาบตาม ป.อาญา ม.93 ต้องดูโทษที่จะลงก่อนเพิ่มโทษเป็นหลักว่าฎีกาได้หรือไม่ เพราะการเพิ่มโทษดังกล่าวเป็นเรื่องที่กฎหมายบังคับ ไม่ใช่ดุลยพินิจของศาล(ฎ.5116/2547) แต่การลดโทษเป็นดุลยพินิจของศาลเอง ดังนั้นต้องดูโทษสุทธิหลังจากศาลลดแล้ว เช่นรับสารภาพลดให้กึ่งหนึ่งคงเหลือ.......ต้องดูหลังลดแล้ว
-อย่าลืมหลักใน ม.218 ดูโทษที่จะลงว่าเกินหน้าปีหรือไม่ ถ้าไม่เกินห้าปี ห้ามทั้งโจทก์และจำเลย
เกินห้าปีห้ามเฉพาะโจทก์(รวมทั้งโจทก์ร่วม)ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลอุทธรณ์ยืนหรือแก้ไขเล็กน้อย
ซึ่งถ้าแก้ไขมากไม่ว่าจะลงเท่าใดก็ไม่ห้ามฎีกาข้อเท็จจริง สำหรับข้อกฎหมายฎีกาได้เสมอ กรณีแก้ทั้งบทมาตราที่จะลง และโทษที่จะลง แม้ไม่ได้เพิ่มเติมโทษก็ถือว่าแก้มาก,แก้จากไม่รอการลงโทษเป็นรอการลงโทษถือว่าแก้มาก(เช่นศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก3ปี แต่โทษจำให้รอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุก3ปีแต่ไม่รอการลงโทษเป็นแก้มาก),ศาลชั้นต้นลงโทษให้ประหารชีวิต ศาลอุทธรณ์ให้จำคุกตลอดชีวิต เป็นการแก้ไขน้อย(จากตายเป็นไม่ตาย)
2.ม.219 โดยหลักถ้าศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกไม่เกินสองปีศาลอุทธรณ์ก็ยังคงลงโทษจำคุกไม่เกินสองปี(เปลี่ยนโทษ ถ้ายืนหรือแก้เล็กน้อยก็เข้า 218 ว.1) ห้ามทั้งโจทก์และจำเลยในการฎีกาข้อเท็จจริงซึ่งหลักนี้ไม่ว่าแก้ไขมากหรือแก้ไขน้อยก็ห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงยกเว้นจำเลยฎีกาข้อเท็จจริงได้ถ้าต้องด้วยสองประการคือ 1)แก้ไขโทษมาก 2) เพิ่มเติมโทษจำเลย(ลดโทษจำเลยไม่เข้าข้อยกเว้น)
3.ม.219 ทวิ ตามม.218,219 ไม่ให้นำเวลาที่ศาลกำหนดในวิธีการเพื่อความปลอดภัยมานับรวม และห้ามฎีกาข้อเท็จจริงในเรื่องวิธีการเพื่อความปลอดภัยเพียงอย่างเดียว
-*****ฎ.170/2549 ฟ้องจำเลยร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย(ป.อาญา ม.288+80)จำเลยปฏิเสธ ศาลชั้นต้นเห็นว่าไม่มีเจตนาฆ่าเพราะการใช้มีดฟันศรีษะเพียงหนึ่งครั้งโดยไม่มีโอกาสเลือกฟันเป็นเพียงเจตนาทำร้ายร่างกายเท่านั้น จึงลงโทษ ม.295 จำคุก 8 เดือน (ไม่เกินสองปี) และจำเลยก็ยังเป็นเด็กเปลี่ยนโทษเป็นส่งไปอบรมยังสถานพินิจเป็นเวลา 4 เดือน(ไม่เข้าหลักเกณฑ์ ม.193 ทวิอนุ1-4) จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ยกอุทธรณ์เพราะเห็นว่าไม่มีสิทธิอุทธรณ์ตาม ม.193 ทวิ จำเลยฎีกา(ซึ่งก็ฎีกาได้ไม่เข้า ม.220 เพราะเป็นการยกคำร้องฎีกา ไม่ได้ยกฟ้อง) ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าโจทก์ฟ้องฐานพยายามฆ่าซึ่งระวางโทษสองในสามของจำคุกตลอดชีวิต แม้ได้ความว่าทำร้ายร่างกายซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปี จำเลยอุทธรณ์ได้ เพราะการต้องห้ามอุทธรณ์หรือไม่ศาลต้องดูอัตราโทษตามฟ้องเป็นหลัก ไม่ใช่ดูอัตราโทษในความผิดฐานที่พิจารณาได้ความ จึงให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์รับอุทธรณ์ของจำเลย
******ดูฎีกานี้ให้ดีน่าออกข้อสอบ เกี่ยวโยงกันหลายมาตรา คือ ม.192 วรรคท้ายที่ว่าถ้าความผิดตามที่ฟ้องรวมการกระทำหลายอย่างเข้าด้วยกันแต่ละอย่างเป็นความผิดในตัวเองศาลจะลงโทษตามความผิดที่ได้ความก็ได้ ,มาตรา 193 ทวิ ที่ว่าห้าม(ทั้งโจทก์ทั้งจำเลย) อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีที่อัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดจำคุกไม่เกินสามปี.....และ ม.220
4.ม.219 ตรี ในเรื่องการกักขังถ้าศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษากลับ ห้ามคู่ความฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง
(เช่นลงโทษกักขังแทนจำคุก,เปลี่ยนกักขังเป็นจำคุก,กักขังแทนค่าปรับหรือกักขังเกี่ยวกับการริบทรัพย์)
การห้ามศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย
-หลักกฎหมายใน ม.212,213
-ม.212 คดีที่จำเลยอุทธรณ์ที่พิพากษาให้ลงโทษจำเลย ห้ามศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย เว้นแต่โจทก์อุทธรณ์ในทำนองเดียวกันนั้น
-ม.213 จำเลยคนหนึ่งอุทธรณ์คำพิพากษาที่ลงโทษจำเลยหลายคนในความผิดฐานเดียวกันหรือต่อเนื่องกัน
ถ้าศาลอุทธรณ์กลับหรือแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นไม่ลงโทษหรือลดโทษให้จำเลยแม้เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจพิพากษาไปถึงจำเลยที่ไม่ได้อุทธรณ์ให้ไม่ลงโทษหรือลดโทษเช่นเดียวกับจำเลยผู้อุทธรณ์ได้
-ฎ.6121/2548 โจทก์ฟ้องให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 2 เดือนปรับ 2 หมื่นบาท โทษจำรอลงอาญาไว้ 2 ปี โจทก์อุทธรณ์ให้ลงโทษจำเลยหนักขึ้นโดยไม่รอลงอาญา ศาลอุทธรณ์แก้โทษจำคุก 2 เดือน เป็น 9 เดือนโดยไม่รอลงอาญา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์การที่โจทก์เขียนอุทธรณ์ว่าให้ลงโทษหนักขึ้นโดยไม่รอลงอาญา มิได้อุทธรณ์เพิ่มโทษจำเลยให้สูงขึ้น การที่ศาลอุทธรณ์แก้โทษจากจำคุก 2 เดือน เป็น 9 เดือนโดยไม่รอลงอาญาไม่ได้ มีอำนาจเพียงแก้การลงโทษจำคุก 2 เดือนโดยไม่รอลงอาญาเท่านั้น และปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบฯ ศาลฎีกาแก้ได้ตาม ม.195 ว.2 และ 225 (จะเห็นว่าถ้อยคำในอุทธรณ์ก็มีความสำคัญ)
-หลักเกณฑ์ใน ม.212
-ทั่วไป
-ข้อยกเว้น
-กรณีไม่อยู่ในบังคับ ม.212
-ศาลอุทธรณ์ปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้โดยไม่เปลี่ยนแปลงโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ไม่อยู่ในบังคับ ม.212
-ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยเบาไป , คำพิพากษาผิดพลาด , ลงโทษต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด , โจทก์ต้องมีหน้าที่โต้แย้ง ถ้าไม่อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์จะไปแก้โทษให้ถูกต้องก็ไม่ได้เพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยทันทีตาม ม.212
-***ฎ.1472/2545 อัยการยื่นฟ้องจำเลย 3 ข้อหา คือมียาบ้าเพื่อจำหน่าย,จำหน่ายยาบ้า,และเสพยาบ้า จำเลยให้การรับเฉพาะข้อหาเสพ ศาลชั้นต้นลงโทษเฉพาะข้อเสพให้ลงโทษจำคุก 6 เดือนและปรับ 1 หมื่นบาท
โทษจำให้รอลงอาญาไว้ 1 ปี ข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์เฉพาะข้อหาที่ยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ฟังได้ว่าจำเลยผิดฐานจำหน่าย และครอบครองเพื่อจำหน่าย จึงพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยฐานจำหน่ายฯ 5 ปี,ฐานครอบครองเพื่อจำหน่าย 5 ปี , ฐานเสพฯจากจำคุก 6 เดือนปรับ 1 หมื่นบาทและรอการลงโทษแก้เป็น
ไม่ปรับและไม่รอการลงโทษ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าศาลอุทธรณ์แก้ไขโทษในข้อหาเสพฯไม่ได้ตาม ม.212
เพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยโดยโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ในข้อหาดังกล่าว และปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยฯ ตาม ม.195 และ 225 ศาลฎีกายกวินิจฉัยเองได้
-***ฎ.171/2547 จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม) , 66 วรรคสอง (เดิม) ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต จำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการ ซึ่ง พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 10 บัญญัติให้ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น แต่เมื่อบทบัญญัติของกฎหมายมีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิตแล้ว จึงไม่อาจวางโทษเป็นสามเท่าได้อีก ทั้งไม่อาจนำมาตรา 10 แห่งบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมาปรับด้วยได้ จำเลยที่ 1 คงมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม) , 66 วรรคสอง (เดิม) เท่านั้น คงวางโทษจำเลยที่ 1 ได้เพียงจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วางโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 50 ปี และที่ศาลล่างทั้งสองวางโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ในความผิดดังกล่าวมีกำหนด 45 ปี นั้น ไม่ต้องตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 วรรคสอง (เดิม) โดยลงโทษต่ำกว่าอัตราโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้ แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาในปัญหานี้ จึงไม่อาจแก้ไขกำหนดโทษให้เป็นไปตามบทกฎหมายดังกล่าวได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสอง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225
-ฎ.370/2542 ศาลลงโทษจำเลยให้จำคุก 4 เดือน ซึ่งต่ำกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้ว่า 6 เดือน
โจทก์ก็ไม่ได้อุทธรณ์ จำเลยอุทธรณ์ฝ่ายเดียวเพื่อให้ศาลรอการลงโทษ การที่ศาลอุทธรณ์แก้เป็นให้จำคุกจำเลย 6 เดือน ทำไม่ได้เป็นการฝ่าฝืน ม.212 อันเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย
-ข้อยกเว้นที่ไม่อยู่ในบังคับ ม.212
1.โจทก์ฟ้องบทหนัก ศาลลงโทษบทเบา โจทก์อุทธรณ์ให้ลงโทษบทหนักได้ ไม่อยู่ในบังคับ ม.212
2. ศาลปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ เช่นฟ้องจำเลยว่าวิ่งราวทรัพย์ ศาลชั้นต้นฟังว่าไม่ผิดฐาน
วิ่งราวทรัพย์ แต่ผิดฐานลักทรัพย์ธรรมดาให้จำคุก 1 ปี จำเลยฝ่ายเดียวอุทธรณ์ว่าไม่ผิด ศาลอุทธรณ์แก้ว่าผิดฐานวิ่งราวได้ ไม่อยู่ในบังคับ ม.212 แต่ศาลอุทธรณ์ลงโทษเป็น 2 ปีไม่ได้เพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยตาม 212
3.เรื่องริบของกลาง ฎ.7010/2548 คดีที่โจทก์ขอให้ริบของกลาง แต่ศาลชั้นต้นไม่พิพากษาเรื่องริบของกลาง โจทก์ก็ไม่ได้อุทธรณ์ในเรื่องการริบของกลาง ศาลอุทธรณ์พิพากษาเรื่องรบของกลางได้ อันเป็นการหยิบยกขึ้นตาม ม.195 ว.2
4.ในเรื่องการรอการลงโทษไว้ในคดีก่อน เมื่อจำเลยกระทำผิดในคดีนี้ เป็นกรณีที่ศาลบังคับให้นำ
โทษจำคุกในคดีก่อนที่รอไว้และยังอยู่ในระยะเวลาที่รอในคดีนี้ได้ ไม่เป็นการเกินคำขอใน ม.192 และไม่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยตาม 212
-ม.213 เหตุในส่วนคดี เช่น ฟ้องจำเลยที่ 1 ฐานลักทรัพย์และฟ้องจำเลยที่ 2 เรื่องรับของโจร ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ผู้เดียวอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยที่ 1 ไม่ผิดตามฟ้องจึงยกฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์เลยไปพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้อุทธรณ์ตาม ม.213 ได้ เพราะฐานรับของโจรเป็นเรื่องต่อเนื่องจากฐานลักทรัพย์ ซึ่งเป็นเหตุในลักษณะคดี
-กฏเกณฑ์ใน ม.213 นำไปใช้ไม่ได้ถ้าหากแยกฟ้องเป็นคนละคดี(สำนวน) แต่ถ้าหากโจทก์แยกฟ้องแล้วศาลใช้อำนาจตาม ม.33 นำมารวมพิจารณาด้วยกัน นำม.213 มาใช้ได้
-ฎ.217/2531 จำเลยสองคนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่คนหนึ่งต้องห้ามฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง แต่เมื่อศาลฎีกาพิจารณาแล้วพบว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิดเลย ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องเลยไปตลอดถึงจำเลยที่ต้องห้ามฎีกาด้วยเพราะเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี(อ้าง ม.213 ควบ ม.225) ซึ่งศาลฎีกาจะนำม. 185 มาล้วงลูกไปถึงจำเลยอื่นที่ไม่ฎีกาไม่ได้ แต่ ม.213 ให้อำนาจศาลทำได้ หรืออาจพูดได้ว่า ม.213 ปิดช่องว่าง ม.185
สรุปปิดคอส วิอาญา ภาค 3,4 ข้อสอบหนึ่งข้อคือ ม.218,219,220 อาจโยงกับ 193 ทวิ
(ต้องท่องตัวบท ม.218,219,220.193 ทวิ ให้ได้)
- ม.218 เป็นมาตราที่ห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โดยแยกเป็นดังนี้
-ว.1 ห้ามคู่ความ – ในกรณีศาลอุทธรณ์ยืนหรือแก้ไขเล็กน้อย(ไม่รวมการกลับคำพิพากษา)ให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับ (โทษปรับ กม.ไม่ได้กำหนดว่าเท่าใด)
-ว.2 ห้ามโจทก์(โจทก์ร่วมด้วย) – ถ้าศาลอุทธรณ์ยืนหรือแก้ไขเล็กน้อย ให้จำคุกเกิน 5 ปี (ไม่ว่าจะมี
โทษอย่างอื่นหรือไม่ก็ตาม)
-โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือเกิน 5 ปี ให้ดูที่โทษที่ศาลอุทธรณ์ลงเป็นเกณฑ์ไม่ดูที่อัตราโทษเหมือน 193 ทวิ และมีการตีความเคร่งครัดกับโจทก์
-ฎ.764/2536 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยผิดฐานพยายามฆ่าจำคุก 14 ปี 4 เดือน ศาลอุทธรณืแก้เป็นจำคุก
13ปี 4 เดือน จำเลยฎีกาว่าไม่ได้ทำผิดไม่ได้ทำผิดฐานพยายามฆ่าได้ไม่ต้องห้ามตาม ม.218 ว.2 แม้เป็นการแก้ไขเล็กน้อยก็ตาม เพราะ ว.2 ห้ามโจทก์เพียงฝ่ายเดียว
-จำคุกไม่เกิน 5 ปี และเกิน 5 ปี นั้นคืออย่างไร
-เช่นรวมโทษในคดีอื่นด้วยหรือไม่ คำตอบคือดูเฉพาะโทษที่ศาลอุทธรณ์ลงแก่จำเลยในคดีนั้นๆเท่านั้น ไม่เอาโทษในคดีอื่นที่รอไว้มารวมด้วยเพราะคดีอื่นพิพากษาแล้ว แล้วรอการลงโทษไว้เท่านั้นศาลในคดีปัจจุบันเพียงทำตามกฎหมายเท่านั้น
-ฎ.6242/2544 ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลย 5 ปี และนำโทษที่รออีก 6 เดือน มารวมเป็น 5 ปี 6 เดือน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกาข้อเท็จจริงได้เพราะเข้าวรรค 1 โทษที่รอ 6 เดือนเป็นโทษในคดีอื่น
-นำวิธีการเพื่อความปลอดภัยมารวมด้วยก็ไม่ได้เพราะวิธีการเพื่อความปลอดภัยไม่ใช่โทษและดู ม.219 ทวิ
วิธีการเพื่อความปลอดภัยอย่างเดียวฎีกาไม่ได้เช่นเดียวกับ ม.219 ตรี เรื่องกักขังห้ามฎีกาหากศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษากลับ
-กรณีมีเหตุบรรเทาโทษให้ลดโทษกึ่งหนึ่ง ต้องคิดโทษที่ลดแล้ว
-ฎ.5116/2547 ในกรณีที่ศาลเพิ่มโทษจำเลยอีกกึ่งหนึ่งตาม ป.อาญา ม.97 เป็นการเพิ่มตามที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่ใช่ดุลยพินิจของศาล คดีศาลลงโทษจำคุก 4 ปี แต่ต้องเพิ่มโทษอีกกึ่งหนึ่ง( 2 ปี) รวมเป็น 6 ปี
การเพิ่ม 2 ปี ไม่รวมกับ 4 ปี ในคดีปัจจุบัน ..................................................................................................
-ถ้าไม่มีโทษจำคุกมีแต่ปรับ แม้จะมากเท่าไหร่ก็ตามก็ห้ามคู่ความฎีกาตาม ว.1 ถ้าศาลอุทธรณ์ยืนหรือแก้ไขเล็กน้อย
-ม.219 ในคดีที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท แล้วศาลอุทธรณ์ลงโทษไม่เกินนี้อีกห้ามทั้งโจทก์และจำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ถ้ามีการแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลยก็ไม่ห้ามจำเลย
**********เวลาตอบโจทก์ในเรื่องนี้ต้องพิจารณา ม.218,219 ด้วยกันโดยนำ ม.218 มาพิจารณาก่อน
ถ้าไม่ผ่านและแก้มากจึงค่อยมาพิจารณา ม.219 สรุปวิธีปรับใช้เบื้องต้นต้องดูเรื่องโทษและแก้มากรือไม่
-ศาลชั้นต้นลงโทษวิ่งราวทรัพย์จำคุก 2 ปี อุทธรณ์ว่าเป็นลักทรัพย์ลงโทษจำคุก 1 ปี เป็นแก้มากไม่เข้า 218
จึงไปดู ม.219 แก้มากแต่ไม่เพิ่มเติมโทษจำเลย จำเลยก็ฎีกาไม่ได้ สรุปทั้งโจทก์และจำเลยฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้
-ต้น วิ่งราว จำคุก 3 ปี อุทธรณ์ ลัก จำคุก 1 ปี เป็นแก้มากไม่เข้า 218 และ 219 คู่ความฎีกาข้อเท็จจริงได้
-ต้น ลัก 1 ปี อุทธรณ์ วิ่งราว 3 ปี เป็นแก้มากไม่เข้า 218 และไม่เข้า 219 ด้วย เพราะอุทธรณ์เกิน 2 ปี คู่ความอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงได้
-ฟ้องลักทรัพย์ศาลต้นลงโทษจำคุก 2 ปี อุทธรณ์ก็เห็นว่าลัก แต่ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี ศาลฎีกาบอกว่าไม่ได้แก้ฐานความผิดจาก หนึ่งเป็นสองปี เป็นการแก้ไขเล็กน้อย คู่ความทั้งโจทก์ทั้งจำเลยฎีกาไม่ได้ตาม 218 ว.1
และยังต้องห้ามฎีกาข้อเท็จจริงตาม 219 ตอนต้นด้วย
-ฟ้องว่าลักทรัพย์ศาลต้นจำคุก 1 ปี ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเป็นวิ่งราวจำคุก 2 ปี ถือเป็นการแก้ไขมาก ไม่เข้า 218
แต่มาพิจารณาตาม 219 เป็นการแก้มากและเพิ่มเติมโทษจำเลย โจทก์จึงฎีกาข้อเท็จจริงไม่ได้ จำเลยฎีกาได้
-สรุป รอการลงโทษเป็นไม่รอ หรือไม่รอเป็นรอการลงโทษ เป็นการแก้ไขมาก
รอจำคุกและปรับ เป็นไม่รอการลงโทษ แก้มาก
ปรับ เป็นจำคุกหรือกักขัง แก้มาก
ประหาร เป็นจำคุกตลอดชีวิต เป็นแก้น้อย
แก้บทอย่างเดียว แก้น้อย
แก้บทและโทษ แก้มาก
แก้แต่โทษ แก้น้อย
-***ฎ.2695/2548 ความผิดฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นพนัน ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ให้ปรับสถานเดียว 1,000 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เฉพาะโทษเป็นจำคุกสถานเดียวมีกำหนด 1 เดือน แต่ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขังแทน เป็นกรณีแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลย ไม่ต้องห้ามจำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219
-ม.220 ห้ามคู่ความ ฎีกา(ทั้งข้อเท็จจริงและข้อ กม.)ถ้าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์(ยกฟ้องในเนื้อหาของคดี
-ม.220 ใช้ในชั้นตรวจคำฟ้อง ฎ.3294/2549 และไต่สวนมูลฟ้องด้วย
-ยกฟ้องเพราะขาดนัดพิจารณาตาม ม.166 หากศาลอุทธรณ์ยืน ก็อยู่ในหลักเกณฑ์ ม.220 ด้วย ฎ.1751/2548
-ม.221 เป็นทางออกคดีที่ต้องห้ามฎีกาข้อเท็จจริงใน ม.218,219.220 คือให้ผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์รับรอง หรืออัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
สัมมนาอาญา
-อ่านตัวบทให้มาก ตีตัวบทให้แตก อ่านฎีกาเฉพาะการแปลความกฎหมายเท่านั้น เวลาตอบข้อสอบต้องเน้นหลักกฎหมายก่อน โดยเฉพาะคำว่าแจ้งวาม หรือแจ้งความร้องทุกข์อย่าเขียน ให้ใช้คำว่าร้องทุกข์ก็พอ คือพยายามใช้ภาษาตัวบทเพียงอย่างเดียว
-คำว่าผู้เสียหายคือใคร กรณีตามโจทย์ต้องวินิจฉัยก่อนว่าเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายหรือไม่ ต้องเป็นผู้เสียหายจึงจะมีอำนาจร้องทุกข์ ฟ้องคดี และเป็นโจทก์ร่วม
-ฎ.2386/2541 เงินรับบริจาคของวัด กรรมการมีหน้าที่เก็บรักษา การที่กรรมการวัดคนหนึ่งยักบอกเสียกรรมการวัดอีกสามคนซึ่งมีหน้าที่ต้องคืนเงินให้วัดถือว่าได้รับความเสียหาย จึงมีอำนาจร้องทุกข์
-ม.20 การทำผิดนอกประเทศไทย หากมีโทษตามกฎหมายไทย อัยการสูงสุดเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ แต่ พงส.ที่ผู้ต้องหาถูกจับในเขต หรือผู้เสียหายหรือรัฐบาลประเทศอื่นนั้นร้องทุกข์ทำการ
สอบสวนไปพลางก่อนได้ ดู.ป.อาญา ม.4 ว.2,5,6,7,8,9 แยกได้ดังนี้
-ทำผิดนอกราชอาณาจักร
-การทำนั้นผิดกฎหมายไทยด้วย
-มีการร้องทุกข์กับ พงส.ไทย
-อัยการสูงสุดหรือผู้รับมอบหมายเป็น พงสงผู้รับผิดชอบ
-ผิดกฎหมายไทยนั้นต้องรับโทษในไทยได้ตามหลักของ ป.อาญา ม.4ว.2,5,6,7,8,9
-พงส.ที่ที่รับคำร้องทุกข์,ท้องที่จับผู้ต้องหาได้เป็น พงส.ไปพลางก่อนระหว่างรอ(แต่ต้องทำหนังสือแจ้งอัยการสูงสุด)
-การเป็นโจทก์ร่วมตาม ม.30,31
-ผู้เสียหาย จะขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายด้วยกันโดยอาศัย ม.30,31 ไม่ได้
-ฎ.728/2594 เมื่อผู้เสียหายร้องขอเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการแล้ว ไม่พอใจที่อัยการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาล่าช้า จะนำมาฟ้องเองอีกไม่ได้ เพราะจะกลายเป็นเรื่องผู้เสียหายมาฟ้องจำเลยสองครั้งในเรื่องเดียวกัน
-ฎ.1173/254 ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการ ศาลได้สั่งคำร้องว่า สำเนาให้ทุกฝ่าย ไว้พูดกันวันหลัง แสดงว่าศาลยังไม่ได้สั่งอนุญาตเป็นโจทก์ร่วม ครั้นถึงวันนัดผู้ต้องหารับสารภาพศาลพิพากษาลงโทษไปในวันนั้นเลย ผู้เสียหายยังไม่มีสิทธิ์อุทธรณ์ เพราะยังไม่ได้เป็นโจทก์
-ผลเป็นอย่างไรบ้างเมื่อเข้าเป็นโจทก์ร่วมอัยการ
1.อัยการสามารถสั่งห้ามผู้เสียหายกระทำหรืองดเว้นกระทำตาม ม.32 อย่างใดอย่างหนึ่งได้
2.ศาลยกฟ้อง มีผลของทั้งของอัยการและผู้เสียหาย
3.อัยการเท่านั้นมีสิทธิ์ขอแก้ฟ้อง
-ฎ.568/2513 ผู้เสียหายได้รับอนุญาตเข้าเป็นโจทก์ร่วม มีฐานะเป็นโจทก์ตาม ม.2(14) และย่อมเป็นคู่ความตาม ม.2(15) ผู้เสียหายจึงชอบที่จะระบุพยานหรือระบุพยานเพิ่มเติมได้
-คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ม.43 เมื่อศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาคดีนั้น แม้ค่าเสียหายทางแพ่งจะมีราคามากเท่าใดก็ตามไม่ต้องคำนึงถึง
-ความแตกต่างของคำสั่งฟ้องไม่ฟ้องของอัยการกับคำพิพากษาของศาล
-อัยการพิจารณาจากข้อเท็จจริงจากสำนวนการสอบสวนและข้อกฎหมายแล้วพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องตาม วิอาญา ม.143ว.1 โดยใช้ดุลยพินิจว่าควรนำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อพิสูจน์ความผิดหรือไม่
โดยไม่ใช่เห็นว่าผิดหรือไม่ผิด
-ขั้นตอนของอัยการยังไม่ใช่ขั้นตอนของการพิสูจน์ความผิด สำคัญที่พยานหลักฐานที่ พงส.รวบรวมหรือตามที่อัยการสั่งเพิ่มเติมเพียงพอที่จะนำเสนอให้ศาลพิจารณาหรือไม่ หลายคดีผู้ต้องหาเป็นคนร้ายกระทำผิดตามข้อกล่าวหาจริง แต่ไม่มีหลักการยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ถ้ายังมีโอกาสหรือข้อสงสัย อัยการสามารถสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมได้ สอบสวนแล้วยังสงสัยว่าผู้ต้องหาทำผิดหรือไม่ ยกผลประโยชน์ให้รัฐคือสั่งฟ้อง
-เหตุผลที่สั่งไม่ฟ้อง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐไว้ อาศัย ม.147 รื้อฟ้องใหม่ได้ ซึ่งถ้าฟ้องไปแล้วศาลยกฟ้องเนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอไม่สามารถฟ้องใหม่ได้เพราะจะเป็นฟ้องซ้ำ นอกจานกั้นก็
ยังเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาด้วย
-แต่คำพิพากษาของศาลเป็นขั้นตอนวินิจฉัยแล้วว่าผู้นั้นทำผิดหรือไม่
-ข้อสังเกต
1.ให้ดู ม.185 ซึ่งแตกต่างกับ ม.143 (ศาล-ใช้คำว่าจำเลยมิได้กระทำผิด ชั้นอัยการใช้คำว่ามีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง
2.ชั้นอัยการยุติคดีได้แม้ก่อนยื่นฟ้อง คือกลับคำสั่งฟ้องเดิม (สั่งฟ้องไว้แล้วแต่ยังไม่ได้ยื่นฟ้องต่อศาล) ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริงได้แก่ผู้เสียหายและพยานไม่ชี้ตัวผู้ต้องหาหรือไม่ยืนยันว่าเป็นคนร้ายที่ทำผิดหรือไม่ ข้อกฎหมายได้แก่กฎหมายยกเลิกความผิดนั้น ขาดอายุความ หรือกรณี
ฟ้องผู้ต้องหาไปหนึ่งคน อีกคนหลบหนี ต่อมาศาลยกฟ้องคนที่ถูกจับได้เพราะการประทำเป็นการป้องกันตัวโดยชอบ ย่อมมีผลต่อผู้ต้องหาอีกคนที่ร่วมกันทำผิดตามข้อกล่าวหาด้วย
-ศาลพิพากษาแล้วแก้ไขไม่ได้ เว้นแต่โดย พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีใหม่ พ.ศ.2526
-การพระราชทานอภัยทาตาม วิอาญา ม.265 ไม่เป็นเหตุให้จำเลยพ้นผิด เป็นเพียงแต่ไม่ต้องรับโทษเท่านั้น และยังมีผลให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์สินอยู่
-หลักการฟ้องคดีอาญาของอัยการโดยสากลมีสองหลักคือ
1.ฟ้องตามกฎหมาย จากการสอบสวนน่าเชื่อว่าผู้ต้องหากระทำผิดอัยการก็ฟ้องทุกกรณี เว้นแต่กฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจนว่าไม่ต้องฟ้อง ได้แก่ประเทาเยอรมัน ประเทศกลุ่มคอมมิวนิสต์ ผลดีคือการบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ ผู้ทำผิดเกลงกลัว ทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีความเสมอภาค ผลเสียคือเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่กระด้างเกินไปไม่มีความอ่อนตัว ทำให้อัยการไม่สามารถปรับใช้ดุลยพินิจให้เข้ากับสังคมที่เปลี่ยนแปลงได้
2.ฟ้องตามดุลยพินิจ ถือว่าพยานหลักฐานจากการสอบสวนน่าเชื่อว่าทำผิด แต่เมื่อพิจารณาจากอาวุธ สติปัญญา เพศ การศึกษาอบรม ผลดีผลเสียที่สังคมจะได้รับจากการฟ้องคดีนั้น ก็อาจมีคำสั่งไม่ฟ้องได้ เช่นประเทศอังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และไทย ผลดี ทำให้อัยการชุดุลยพินิจอย่างยืดหยุ่นได้ตามสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น ผลเสีย ทำให้การบังคับใช้กฎหมายหย่อนยานขาดประสิทธิภาพ ทำให้สังคมมีคามรู้สึกว่าการบังคับใช้กฎหมายไม่เสมอภาคกัน
-ตั้งข้อสังเกตุ คดีหมอประกิตเผ่า ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องต่อศาลให้ทำการไต่สวนการควบคุมตัว
หมอไว้ที่ รพ.ศรีธัญญา ตามที่ น.ส.เปมิกา แจ้งเหตุกับ พงส.ได้หรือไม่ ตาม วิอาญา ม.90 เพราะการก่อให้เกิดการควบคุมตัววที่รพ.ศรีธัญญา อยู่ในท้องที่ อ.เมือง จว.นนทบุรี แต่ พงส.ที่ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา คือ พงส.ท้องที่ สน.บางซื่อ
สิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม
-สิทธิของผู้เสียหาย -ม.8 ว.3 ตรวจคัดสำเนา
-ม.34 อัยการสั่งไม่ฟ้องไม่ตัดสิทธิ์
-ฟ้องคดีอาญา คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา อุทธรณ์ ฎีกา ถอนฟ้อง ร้องทุกข์
-สิทธิของผู้เสียหายในการฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา
-การกระทำผิดอาญาส่วนใหญ่ เป็นการละเมิดอยู่ในตัวเอง ซึ่งก่อให้เกิดการเรียกร้องค่าเสียหายได้
มาตรา 43 ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ 9 ฐาน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เสียหายเมื่ออัยการฟ้องร้อง
ผู้ต้องหากฎหมายกำหนดให้อัยการขอท้ายฟ้องให้จำเลยคืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์
-ผู้เสียหายฟ้องเองได้ทุกฐานความผิด ตามหลักทั่วไปของคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา ม.40 โดย
สามารถฟ้องยังศาลที่พิจารณาพิพากษาคดีอาญาได้
-ออกเช็คชำระหนี้ แม้ไม่ผิดอาญา ผู้ทรงเช็คก็สามารถฟ้องร้องทางแพ่งได้เลยโดยไม่ต้องคำนึงใน
คดีอาญา
-มีการเพิ่มเติมหลักในมาตรา 44/1 เพื่อเยียวยาผู้เสียหายในกรณีมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเพราะ
ได้รับอันตรายแก่ชีวิตร่างกายหรือเสื่อเสียเสรีภาพ โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีแพ่งใหม่ เพียงยื่นคำร้อง
เข้าไปในคดีอาญาแต่ต้องก่อนเริ่มสืบพยาน
-***ฎ.1449/2549 อัยการฟ้องจำเลยคดีอาญาฐานฉ้อโกงและตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครอง
แรงงาน และขอให้จำเลยคืนเงินที่ฉ้อโกงแก่ผู้เสียหาย โดยข้อกล่าวหาเรื่องฉ้อโกงหาว่าจัดหางานให้
ผู้เสียหายไปต่างประเทศ ผู้เสียหายได้เสียเงินให้จำเลย ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยผิดทั้งสองข้อหา
แต่เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท บทหนักคือ พ.ร.บ.จัดหางานฯ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลย
คืนเงินให้ผู้เสียหายทั้งสาม คดีขึ้นสู่ศาลฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าแม้จะเป็นการปรับบทลงโทษให้
จำคุกจำเลยตามบทหนัก ไม่ได้ลงโทษฐานฉ้อโกงตาม ป.อาญา ม.361 ก็ตาม ก็ยังถือว่าเข้าหลักในวิ
อาญา ม.43 อัยการมีอำนาจขอให้ศาลสั่งจำเลยคืนเงินที่ได้ไปจากผู้เสียหายได้ โดยพิจารณาจากคำ
ฟ้องเป็นหลัก ระหว่างฎีกาเมื่อผู้เสียหายที่ 1,2 ถอนคำร้องทุกข์ สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องเฉพาะ
ผู้เสียหายที่ 1,2 ระงับเฉพาะฐานฉ้อโกงเท่านั้น ส่วนเรื่องค่าเสียหายทางแพ่งที่ศาลอุทธรณ์ยืนตาม
ศาลชั้นต้นให้คืนเงินแก่ผู้เสียหายที่ 1,2 นั้นย่อมสิ้นสุดไปด้วย โจทก์จึงไม่มีอำนาจให้ผู้ต้องหาคืน
เงินให้ผู้เสียหายที่ 1,2 จึงฎีกาจึงพิพากษาแก้เป็นให้จำเลยคืนเงินให้ผู้เสียหายที่ 3 เพียงคนเดียว
-ฎ.3170/2549 ฟ้องฐานพยายามฆ่าตาม ม.288+80 ซึ่งมีโทษสองในสามของฐานฆ่า แต่พิจารณา
ได้ความว่าผิดฐานทำรายร่างกายตาม ม.295 กรณีเช่นนี้จะอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงได้หรือไม่
ต้องพิจารณาจากอัตราโทษตามคำฟ้อง ไม่ใช่ตามที่ศาลชั้นต้นพิจารณาได้ความ
-สิทธิของผู้ถูกจับผู้ต้องหา
-ได้รับการแจ้งสิทธิตาม ม.7/1
-ม.134 ว.3,4 ได้รับการสอบสวนด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่องและเป็นธรรม เปิด
โอกาสให้แก้ข้อกล่าวหา
-ม.134/1 ได้รับการจัดหาทนายความ
-ม.134/3 ให้ทนายความหรือผู้ไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำ
-ม.134/4 ได้รับแจ้งก่อนถามคำให้การ
-ม.135 ให้การด้วยความสมัครใจ
-ม.83 จะให้การหรือไม่ให้การก็ได้
-สิทธิของจำเลย -สิทธิตาม ม.8 (1)-(6)
-ม.172 ว.2 ให้การหรือไม่ให้การ หรือให้การอย่างไรก็ได้
-สิทธิของพยาน -พยานบางประเภทไม่ต้องสาบานตนก่อนให้การ
-ไม่ต้องมาศาล
-มาศาลไม่ต้องสาบาน
-ไม่ยอมตอบคำถามบางเรื่อง
ตาม ม.234
-เหตุที่จะออกหมายจับและหมายขัง เป็นอย่างเดียวกัน เพราะ ม.71 บอกว่าเมื่อได้ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาแล้วในระยะเวลาใดๆระหว่างการสอบสวนไต่สวนมูลห้องหรือพิจารณาคดี ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ก็ได้ตาม ม.87,88 และนำบทบัญญัติ ม.66(เรื่องเหตุที่จะออกหมายจับ)มาใช้ ซึ่งหมายความว่าจะออกหมายขังได้ต้องมีเหตุที่จะออกหมายจับได้
-กรณีมีการควบคุมตามระยะเวลาในมาตรา 87 ถ้ายังฟ้องผู้ต้องหาไม่ได้ ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ศาลต้องออกหมายปล่อย แต่บุคคลนั้นก็ยังเป็นผู้ต้องหาในคดีนั้นอยู่(ม.72 อนุ 4 ศาลจะออกหมายปล่อยเมื่ออัยการไม่ฟ้องผู้ต้องหาในเวลาที่ศาลกำหนด) แต่หากเมื่ออัยการต้องการฟ้องเมื่อใดก็สามารถนำตัวไปฟ้องได้และควบคุมได้เท่าเวลาที่จะนำตัวไปฟ้องเท่านั้น จะอ้างว่าสอบสวนไม่เสร็จหรือสอบสวนพยานเพิ่มเติมไม่ได้ เพราะเท่ากับเป็นการยืดระยะเวลาในการควบคุมผู้ต้องหาตามม.87 อันจะเป็นผลร้ายแก่ผู้ต้องหา
-ฎ.3502/2542 แม้เหตุผลที่ฝากขังแต่ละครั้งจะไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เมื่อศาลอนุญาตให้ฝากขังและออกหมายขังไปแล้ว จะร้องขอให้เพิกถอนการฝากขังไม่ได้
***ต้องท่องจำตัวบท เรื่องเหตุที่จะออกหมายค้น ม.69 และเหตุที่จะออกหมายจับตาม ม.66 ให้ได้
ม.69 เหตุที่จะออกหมายค้นได้มีดังต่อไปนี้
(1) เพื่อพบและยึดสิ่งของที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานประกอบการสอบสวนไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา
(2) เพื่อพบและยึดสิ่งของซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาโดยผิดกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้หรือตั้งใจจะใช้ในการกระทำความผิด
(3) เพื่อพบและช่วยเหลือบุคคลซึ่งได้ถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
(4) เพื่อพบบุคคลซึ่งมีหมายจับ
(5) เพื่อพบและยึดสิ่งของตามคำพิพากษาหรือตามคำสั่งศาล ในกรณีที่พบและยึดโดยวิธีอื่นไม่ได้แล้ว
ม.66 เหตุที่จะออกหมายจับได้มีดังต่อไปนี้
(1) เมื่อมีหลักฐานตามสมควร ว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีโทษจำคุกอย่างสูงสามปี หรือ
(2) เมื่อมีหลักฐานตามสมควร ว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น
ถ้าบุคคลนั้นไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งหรือไม่มาตามหมายเรียกหรือตามนัด โดยไม่มีข้อแก้ตัวตามสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นจะหลบหนี
-ถ้อยคำของผู้ถูกจับ
-ม.84 ว.4 น่าออกข้อสอบ เรื่องถ้อยคำใดๆของผู้ถูกจับที่ให้กับเจ้าพนักงานผู้จับ หรือรับมอบตัว ถ้าเป็นถ้อยคำรับสารภาพว่าทำผิด ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน
-อย่าลืมว่าชั้นจับและรับมอบตัวเท่านั้น แต่ชั้นสอบสวนที่รับกับพนักงานสอบสวน และในชั้นศาลรับฟังได้ และศาลชั้นต้นเท่านั้น เพราะถ้าปฏิเสธในศาลชั้นต้น แต่เปลี่ยนไปรับชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาไม่ได้เพราะจะเป็นการแก้ไขคำให้การซึ่งทำไม่ได้
-การห้ามรับฟังดังกล่าวเป็นการห้ามที่เด็ดขาดเพื่อตัดปัญหาในการบังคับให้รับสารภาพ แต่ที่จริงการรับด้วยความสมัครใจขณะถูกจับซึ่งยังไม่ได้มีเวลาปั้นแต่งน่าจะเป็นความจริงมากกว่า ส่วนถ้อยคำอื่นฟังได้ถ้ามีการแจ้งสิทธิ์แก่ผู้ถูกจับตาม ม.7/1 แล้ว
-ถ้อยคำของผู้ต้องหา ชั้นสอบสวนมีความสำคัญโดยเฉพาะที่แก้ไขใหม่
ถ้อยคำที่ให้ไว้กับพนักงานสอบสวนรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่มีหลักเกณฑ์เป็นอย่างไร
-ม.134/4 วรรคท้าย ถ้อยคำที่ผู้ต้องหาให้ไว้กับ พงส.ฟังไม่ได้ถ้าไม่มีการแจ้งสิทธิตาม ม.134/4ว.1
1)ให้การหรือไม่ให้การก็ได้ ถ้าให้การถ้อยคำใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาได้
2)มีสิทธิให้ทนายหรือผู้ไว้วางใจเข้าฟังการสอบสวนปากคำ
3)การจัดหาทนายความให้กับผู้ต้องหามีโทษประหารชีวิตและผู้ต้องหาอายุไม่เกิน 18ปี หรือคดี
ทั่วไปที่มีโทษจำคุกและจำเลยต้องการทนาย
4)การสอบสวนเด็กและการชี้ตัวบุคคล(ไม่รวมการชี้สถานที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ)ทำใน
สถานที่เหมาะสมและต่อหน้าสหวิชาชีพและบันทึกภาพ
-ม.87 จะควบคุมผู้ถูกจับเกินความจำเป็นไม่ได้ โดยเฉพาะคดีลหุโทษควบคุมไว้เท่าที่จะถามชื่อที่อยู่และคำให้การเท่านั้น และหลักเกณฑ์การควบคุม
1.ผู้ถูกจับไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว
2.มีเหตุจำเป็นเพื่อการสอบสวน หรือฟ้องคดี
3.นำผู้ถูกจับไปศาลใน 48 ชม.นับแต่ผู้ถูกจับมาถึงที่ทำการของ พงส.(เส้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุอันมิอาจก้าวล่วงได้เช่นน้ำท่วมทางขาดเป็นต้น)
4.เมื่อพาไปศาลให้ศาลออกหมายขัง 7 วันในโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน , ครั้งละ 12 วัน ไม่เกิน 48 วันในคดีโทษอย่างสูงจำคุกเกิน 6 เดือน ไม่ถึง 10 ปี , ครั้งละ 12 วัน ไม่เกิน 84 วัน ในคดีมีโทษจำคุก 10 ปี
ขึ้นไปและต้องนำพยานมาให้ศาลไต่สวนจนเป็นที่พอใจด้วยตั้งแต่ผลัดที่ 5 ไป
-ศาลอนุญาตให้ขังไม่เต็ม หรือไม่อนุญาตให้ขัง อุทธรณ์ไม่ได้เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้
ฎ.1125/2496 ตาม ม.87 ที่บัญญัติให้ศาลขังผู้ต้องหาตามระยะเวลาเป็นขั้นๆนั้นเพื่อคุ้มครองผู้ต้องหาไม่ให้ขังนานเกินสมควรแก่เหตุและความจำเป็น เมื่อศาลไมออกหมายขังให้อีกต่อไป และเจ้าพนักงานก็สามารถฟ้องร้องผู้ต้องหาได้อยู่แล้วถ้าคดีมีมูล เมื่อศาลไม่อนุญาตก็ต้องปล่อยผู้ต้องหาไป
ฎ.398/2531 การที่ พงส.รับตัวผู้ต้องหาไว้และควบคุมไม่ชอบด้วย ม.87 เป็นการควบคุมที่ผิดกฎหมาย บุคคลตาม ม.90 ยื่นคำร้องต่อศาลให้ปล่อยได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ต้องหาจะพ้นจากฐานะ
ผู้ต้องหา
ฎ.1991/2535 พงส.ยื่นคำร้องขอฝากขังต่อโดยอ้างว่ายังมีต้องสอบสวนปากคำพยานอีกหลายปาก
แต่ความจริงสอบปากคำไปหมดแล้ว และศาลอนุญาตให้ฝากขังและออกหมายขัง ก็เป็นเพียงรายละเอียดการยื่นคำร้อง ก็หาทำให้การขังไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใดไม่
บทคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกคุมขัง เมื่ออ้างว่าคุมขังโดยไม่ชอบ
-ม.90 เป็นเรื่องรวมทุกกรณีที่อ้างว่าถูกควบคุมหรือถูกขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าเป็นการกระทำของศาล เจ้าพนักงานอื่นหรือบุคคลใดก็ตาม ซึ่งบุคคลดังต่อไปนี้มีสิทธิร้องต่อศาลท้องที่ที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญาขอให้ปล่อยคือ
1.ผู้ถูกคุมขัง
2.อัยการ
3.พนักงานสอบสวน
4.ผบ.เรือนจำหรือพัศดี
5.สามี ภรรยา หรือญาติของผู้ถูกคุมขัง หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขัง
-คำว่าคุมขัง ไม่มีในบทวิเคราะห์ศัพท์ แต่หมายถึงการควบคุม หรือ ขัง หรือกักขัง หรือคุมตัวหรือจำขัง หรือจำคุก
-ศาลไต่สวนโดยด่วน/ผู้คุมขังต้องนำตัวผู้ถูกคุมขังมาศาลโดยพลัน/ได้ความตามคำร้องศาลสั่งปล่อยในทันที
-ฎ1200/2504 การควบคุมหรือขังตามม.90 การควบคุมอาจเกิดจากการกระทำของบุคคลธรรมดาก็ได้
-ฎ 155/2506 ศาลยุติธรรมตามพระธรรมนูญศาลฯและศาลทหารตามพระธรรมนูญศาลทหารต่างก็มีฐานะ
ใช้อำนาจตุลาการเช่นเดียวกัน จึงต่างไม่มีอำนาจเหนือกัน ฉะนั้นศาลอาญาจึงไม่มีอำนาจสั่งให้ปล่อยตัวบุคคลที่ศาลทหารในเวลาไม่ปกติได้ออกหมายขังไว้ได้ ผู้ลงชื่อในหมายขังของศาลหาใช่กระทำในนามส่วนตัวไม่ แต่กระทำในนามของศาลและใต้พระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ ถือว่าศาลเป็นผู้ก่อให้เกิดการขังนั้นขึ้น
ตาม ม.90 นั้น ให้ศาลหมายเรียกเจ้าพนักงานหรือบุคคลอื่นที่ก่อให้เกิดการควบคุมหรือขังที่อ้างว่าไม่ชอบเท่านั้น จะขยายความออกไปให้ศาลหมายเรียกศาลด้วยกันไม่ได้
-ตาม(5) ตอนท้ายบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขัง ที่จะร้องได้อันแสดงให้เห็นถึงกฎหมายเปิดกว้างมากไม่ใช่เฉพาะสามีภรรยาหรือญาติเท่านั้น ดังนั้นองค์กรสิทธิมนุษยชนก็ร้องขอตาม ม.90 ได้
-ฎ.7116/2544 ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้น จับและคุมขังผู้ร้องมิชอบด้วยกฎหมาย
ข้อเท็จจริงปรากฏว่าตัวผู้ร้องได้ร้องในเรื่องนี้หลังจากอัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้นในเรื่องที่ผู้ร้องถูกกล่าวหาในเรื่องนี้ ซึ่งศาลได้ออกหมายขังผู้ร้องไว้ระหว่างการพิจารณา แม้การคุมขังผู้ร้องที่ผ่านมาของตำรวจจะไม่ชอบ แต่ได้สิ้นสุดไปแล้ว การขังโดยชอบกระทำโดยศาลตั้งแต่วันเวลาที่ศาลประทับรับฟ้องไว้แล้ว เมื่อการคุมขังไม่ชอบล่วงพ้นไปแล้วคำร้องก็ตกไป
-ฎ.814/2522 การอ้างว่าบุคคลใดถูกคุมขังโดยมิชอบและขอให้ปล่อยนั้น บุคคลนั้นต้องถูกควบคุมหรือขัง
อยู่ถ้าได้รับการปล่อยตัวไปแล้วสิทธิในการร้องขอนั้นย่อมระงับสิ้นไป
การประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย
ไม่ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะกระทำผิดฐานใดมีโทษเท่าใดก็ตามก็มีสิทธิที่จะร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้โดยผู้นั้นเองหรือผู้อื่นก็ได้ ซึ่งมีการปล่อย 3 ประเภทด้วยกันคือ
1.ปล่อยโดยไม่มีประกัน (ไม่ทำสัญญาประกัน เพียงสาบานตนหรือปฏิญาณตนว่าจะมาตามนัดหรือตามหมายเรียก)
2.ปล่อยโดยมีประกัน(มีสัญญาประกัน)
3.ปล่อยโดยมีประกันและหลักประกัน(ทำสัญญาประกันและวางหลักทรัพย์เป็นประกัน หลักประกันมี 3 ประเภท ตาม ม.114 คือเงินสด,หลักทรัพย์และบุคคล
ม.110 คดีอาญามีโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 5 ปี ปล่อยชั่วคราวต้องมีประกัน ส่วนจะมีหลักประกันด้วยหรือไม่ก็ได้ แต่จะเรียนหลักประกันเกินสมควรไม่ได้
ยื่นต่อใคร
1.ผู้ต้องหาที่ยังไม่ได้ฟ้อง-ยื่นต่อ พงส.หรืออัยการแล้วแต่กรณี
2.ผู้ต้องหาที่ยังไม่ฟ้องแต่ถูกควบคุมตามหมายขังของศาล(อยุ่ระหว่างฝากขัง)-ยื่นต่อศาลที่ออกหมายขังนั้น
3.จำเลยที่ถูกฟ้องแล้ว-ยื่นต่อศาลที่ชำระคดี
4.อ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วแต่ยังไม่ยื่นอุทธรณ์-ยื่นต่อศาลชั้นต้นที่พิพากษานั้น
5.ถ้าศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปศาลสูงแล้ว-ยื่นต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา(ศษลชั้นต้นรับแล้วส่งต่อศาลสูง)
ม.107
1.ผู้รับคำร้องต้องสั่งอย่างรวดเร็ว
2.ผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคน พึงได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ถ้าไม่อนุญาตต้องมีเหตุผลพิเศษตาม ม.
108/1
3.คำสั่งให้ปล่อยผู้เกี่ยวข้องต้องดำเนินการตามคำสั่งโดยทันที
ม.119 ทวิ
-กรณีศาลสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ร้องขอมีสิทธิยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งได้
-คำสั่งศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตยืนตามศาลชั้นต้นเป็นที่สุด
-แต่ไม่ตัดสิทธิที่จะยื่นคำร้องใหม่
-ฎ.539/2536 ม.113 ว.1 มีความหมายว่าระหว่างสอบสวน พงส.,อัยการ มีอำนาจปล่อยชั่วคราวอย่างสูง
รวมกันไม่เกิน 6 เดือนนับแต่วันแรกที่มีการปล่อย เมื่อพ้นกำหนดเวลาหกเดือนแล้ว พงส.หรืออัยการแล้วแต่กรณีไม่มีอำนาจควบคุมผิต้องหาเท่านั้น หากสอบสวนเสร็จแล้วก็ดำเนินการต่อไปได้ แม้การที่ผู้ต้องหาพ้นจากการควบคุม ก็ไม่เป็นเหตุให้ พงส.,อัยการไม่มีอำนาจนำตัวมาศาลแล้วขอหมายขังต่อไป ไม่เกี่ยวกับการสอบสวนชอบหือไม่ชอบแต่อย่างใด การไม่ปฏิบัติตาม ม.113 ว.2 ก็ไม่มี กม.ห้ามอัยการฟ้องคดีแต่อย่างใด
-ชั้นสอบสวน และชั้นอัยการเมื่อมีการผิดสัญญาประกันต้องมีการฟ้องร้องบังคับตามสัญญาประกัน แต่ชั้นศาลไม่ต้องศาลมีอำนาจสั่งปรับตามสัญญาประกันไปได้เลย
-ถ้ามีการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาพ้นจากความรับผิดทางอาญาโดยสิ้นเชิง ซึ่งพนักงานอัยการต้องสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหานั้น แต่เมื่อนายประกันได้ผิดสัญญาประกัน ก็ยังต้องรับผิดทางแพ่ง หาพ้นความรับผิดไม่ (ดูฎีกา 4268/2523)
-ฎ.5476/2537 ล่ามไม่สาบานตนในชั้นสอบสวนผู้ต้องหา รับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้เท่านั้น มิทำให้
การสอบสวนผู้ต้องหาไม่ชอบ อัยการจึงมีอำนาจฟ้อง
สิทธิของผู้ต้องหา
1.ม.7/1 มีสิทธิ ก) แจ้งหรือขอให้แจ้งญาติทราบการถูกจับ และทราบสถานที่ควบคุม
ข) พบและปรึกษาผู้ที่จะเป็นทนาย,ให้ทนายเข้าฟังการสอบสวนปากคำ,ได้รับการเยี่ยมตามสมควร,ได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเจ็บป่วย การมอบตัวก็เช่นกัน
2.ได้รับการปล่อยชั่วคราว ม.106,107
3.ทนายความ ม.134/1,134/3,134/4,
4.ให้การหรือไม่ให้การก็ได้ ม.134/1(1)
5.สิทธิทีจะให้การด้วยการไม่ถูกบังคับขู่เข็ญหรือใช้กำลังบังคับตาม ม.135
6.ไม่ให้ พงส.เปรียบเทียบปรับ ม.38
7.ได้รับการสอบสวนด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่องและเป็นธรรมตาม ม.134 ว.3
8.รับทราบพยานหลักฐานพร้อมความเห็นของอัยการตาม 146ว.2
9.ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราว ม.90
การสอบสวนเป็นเงื่อนไขของการฟ้องร้อง
1.ไม่มีการสอบสวน มีการสอบสวนแต่สอบสวนไม่ชอบ เป็นเหตุให้อัยการไม่มีอำนาจฟ้องตาม ม.120
2.การสอบสวนโดยชอบ(ต้องครบทุกประการ)
2.1 ทำโดยเจ้าพนักงานที่ กม.ให้อำนาจและหน้าที่สอบสวนคดีอาญา-ม.2(6)
2.2 พงส.มีเขตอำนาจที่จะสอบสวนในคดีนั้นได้(เป็น พงส.ผู้รับผิดชอบด้วย) ม.18-21
2.3 การสอบสวนดำเนินการไปถูกต้องตาม ป.วิอาญา(อยู่ในดุลยพินิจของ พงส.ผู้รับผิดชอบว่าการสอบสวนเสร็จแล้วตาม ม.140 ซึ่งเมื่อใด กม.ไม่ได้ระบุ ว่าให้ทำการสอบสวนมากน้อยเท่าใด ดู ฎ.1907/2494 แม้ไม่มีการสอบสวนปากคำเจ้าทรัพย์ในคดีปล้น แต่ได้มีการสอบสวนปากคำพยานอื่น ผู้ต้องหา และจำนวนทรัพย์ที่เสียหายแล้ว ก็ถือว่าการสอบสวนที่ชอบแล้ว
-แต่ไม่ได้แจ้งข้อหา(ม.134) หรือสอบสวนปากคำผู้ต้องหาไม่ได้ทำ ไม่ถือว่าคดีนั้นมีการสอบสวนแล้ว กรณีความผิดหลายฐานก็ต้องมีการแจ้งข้อหาและสอบสวนผู้ต้องหาทุกฐาน อัยการจึงจะมีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหานั้นๆได้
-ฎ.4080/2540 การร้องทุกข์ ผู้เสียหายไม่จำเป็นต้องระบุฐานความผิด หรือระบุตัวผู้กระทำผิดเพียงอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดอาญาและประสงค์ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ อ้าง ม.121 ว.1,ว.2,123,14
-การสอบสวนจะทำที่ใดก็ได้ ตาม ม.130
-พงส.เคยถูกฟ้องอาญาฐานรับรองหรือทำเอกสารอันเป็นเท็จ กรณีเดินไปไปจดปากคำผู้บาดเจ็บที่ รพ.
แล้วมาพิมพ์ลงในแบบพิมพ์คำให้การโดยระบุว่าสอบสวนที่ สภ.อ.....ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริง หากฟังได้ว่า
พงส.ได้ไปซักถามปากคำที่ รพ.แล้ว การสอบสวนนั้นไม่เสียไป และ พงส.ก็ไม่มีความผิดตามฟ้อง
-การสอบสวนของ พงส.ไม่จำเป็นต้องมีผู้ต้องหาอยู่ด้วยในการอบสวน เหมือนการพิจารณาคดีชั้นศาล ดู วิอาญา ม.130 ว.ท้ายประกอบกับ ม.172 ว.1 แต่บางครั้งต้องมีผู้ต้องหาอยู่ด้วยเช่นการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ,การชี้ตัวผู้ต้องหา และการนำตัวผู้ต้องหาไปตรวจยึดของกลางในคดี เป็นต้น
-พนักงานตำรวจที่มีตำแหน่งหน้าที่สอบสวน สามารถทำการสอบสวนได้ตลอด 24 ชั่วโมงและไม่จำเป็นต้องเป็นช่วงที่ พงส.นั้นเข้าเวร และแบ่งเวรตามวันเวลาเป็นการบริหารงานภายในที่หัวหน้า พงส.จัดเมท่านั้น การที่ พงส.ในท้องที่นั้นรับคำร้องทุกข์ขณะที่ตนเองไม่ได้เข้าเวร การสอบสวนนั้นก็ชอบด้วยกฎหมาย
-อำนาจของ พงส.โดยเฉพาะ ดู ม.132,133
1.ตรวจตัวผู้เสียหายเมื่อผู้เสียหายยินยอม ตรวจตัวผู้ต้องหา(กม.ไม่ได้เขียนว่าต้องให้ผู้ต้องหายินยอมหรือไม่ ดังนั้นแม้ผู้ต้องหาไม่ยินยอมก็ทำได้) แต่จะบังคับให้ผู้ต้องหาเขียนหรือลงชื่อไม่ได้ ฎ.1368/2500
พงส.ไม่มีอำนาจบังคับผู้ต้องหาให้เขียนชื่อ เมื่อไม่เขียนก็ไม่ผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน
(2) ค้น ตามกฎหมายว่าด้วยการค้น
(3) หมายเรียกบุคคลเพื่อให้ส่งสิ่งของ
(4) ยึดสิ่งของฯ
-ดูประกาศ คปค.ฉบับที่ 25 ด้วย
โดยที่เป็นการสมควรกำหนดหน้าที่ของผู้ต้องหาในคดีอาญา ให้พิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดกฎหมาย คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีประกาศดังต่อไปนี้
ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา มีหน้าที่ต้องพิมพ์ลายนิ้วมือ ลายมือ หรือลายเท้า ตามคำสั่งของพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน ผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดฐานกระทำความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประกาศ ณ วันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2549
-การที่ พงส.ให้เจ้านักงานอื่นทำการแทน ม.128 และการส่งประเด็น ตาม ม………..
-สังเกต ม.133 ว.3 ห้าม พงส.ตักเตือนหรือพูดให้ท้อใจ หรือใช้อุบายเพื่อป้องกันมิให้บุคคลใดให้ถ้อยคำ
ด้วยความไม่สมัครใจ
-ย้ำว่าถ้าไม่ได้มีการสอบสวนผู้ต้องหาหรือแจ้งข้อหาถือว่าคดีนั้นไม่มีการสอบสวน อัยการไม่มีอำนาจฟ้องศาลต้นยกฟ้องในข้อหานั้นๆ อ้าง ม.120 และ134
-พงส.ต้องให้โอกาสผู้ต้องหาในการแก้ข้อกล่าวหา อ้างพยานหลักฐานฝ่ายตน ดู ม.131 และ 134 ว.4
-การสอบสวนต้องทำโดย 1)รวดเร็ว 2)ต่อเนื่อง 3)เป็นธรรม
-ฎ.430/2546 แม้รัฐธรรมนูญจบัญญัติว่าการสอบสวนต้องกระทำด้วยความรวดเร็วต่อเนื่องและเป็นธรรม ก็ตาม การที่ พงส.เพิ่งได้เริ่มทำการสอบสวนความผิดฐานมียาเสพติด ขณะผู้ต้องหาถูกขังอยู่ที่เรือนจำในคดีอื่นหลังเกิดเหตุเป็นเวลาหนึ่งปีครึ่ง การสอบสวนก็ยังชอบด้วยกฎหมาย
-ม.134 การแจ้งอธิบายข้อกล่าวหาให้ผู้ต้องหาได้เข้าใจนั้น เทียบเคียงกับการฟ้องให้พอที่ผู้ต้องหาไม่หลงข้อต่อสู้โดยไม่จำเป็นต้องอ้างเลขมาตราตัวบทและชื่อกฎหมายแต่อย่างใด และกรณีการกระทำของผู้ต้องหาเพียงครั้งเดียว แต่ผิดตามกฎหมายหลายฉบับเมื่อ พงส.ได้แจ้งและอธิบายกฎหมายหนึ่งแล้วก็ถือว่าชอบแล้ว ดูเทียบเคียง ฎ.7628/2541
-ม.134 ว.5 เมื่ออ่านให้ละเอียดและตีความให้ดี จะรู้และยืนยันได้ว่าการแจ้งข้อหา มิใช่การจับ เมื่อผู้ที่ถูกกล่าวหามามอบตัว หรือปรากฏตัวต่อพนักงานสอบสวน จะแจ้งข้อกล่าวหาได้ต้องเป็นกรณีมีพยานหลักฐานตามสมควรที่จะกล่าวหาผู้นั้นว่ากระทำผิดอาญา ตาม ม.134 ว.2 ด้วย แต่ถ้ามีเหตุที่จะออกหมายขังได้(กรณีไม่ใช่ผู้ถูกจับและยังไม่มีการออกหมายจับ) ตาม ม.71(ดู ม.66ประกอบ) พงส.มีอำนาจตาม ม.นี้และนำม.87มาใช้บังคับด้วย
-ม.135 คำให้การที่ได้จากคำมั่นสัญญาหรือการบังคับขู่เข็ญหรือทรมาน จะรับฟังไม่ได้ตาม ม.226 แม้การ
สอบสวนจะไม่เสียไปทั้งหมดก็ตาม ฎ.5294/2549 การฝ่าฝืน ม.133 ทวิ รับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้(การสอบสวนไม่เสีย)
วันปิดคอสสิทธิมนุษยชน
-ออกสอบ 1 ข้อ ในกลุ่มการค้นและการจับ
-ม.57 ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับ ม.78,79,80,92,94
-การค้นในที่รโหฐานต้องมีหมายหรือคำสั่งศาล การค้นเพื่อพบคนและสิ่งของ(ม.98)
-ม.81 ห้ามจับในที่รโหฐานเว้นแต่.........ปฏิบัติว่าด้วยการค้นที่รโหฐาน.........โยง ม.92
-ม.92 ห้ามค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายหรือคำสั่งศาล เว้นแต่......................พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ(ทุกระดับชั้น ดูความหมายใน ม.2 (16) ในกรณีดังต่อไปนี้ .....ดู ม.78,79,80 ประกอบ
-เมื่อมีเสียงร้องให้ช่วยมาจากในที่รโหฐาน.......
-เมื่อผิดซึ่งหน้ากำลังทำลงในที่รโหฐาน........(ซึ่งหน้าตำรวจผู้จับ)
-ซึ่งหน้าและกำลังถูกไล่จับหนีเข้าไป...................
-เมื่อมีพยานหลักฐานว่าสิ่งของมีไว้เป็นความผิด.................ทั้งเนิ่นช้าจะถูกโยกย้ายหรือทำลาย.....
-ที่รโหฐานผู้ถูกจับเป็นเจ้าบ้านแลการจับมีหมายจับหรือจับตาม ม.78
-ม.96 ค้นที่รโหฐานระหว่างพระอาทิตย์ขึ้น-พระอาทิตย์ตก เว้นแต่...
-ต่อเนื่อง
-ในกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่ง
-ค้นเพื่อจับผู้ดุร้ายหรือผู้ร้ายสำคัญและได้รับอนุญาตเป็นพิเศษตามข้อบังคับประธานศาลฎีกาให้ค้น
กลางคืนได้
-ม.93 ห้ามค้นที่สาธารณะเว้นแต่
-เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ และ
-มีเหตุอันควรสงสัย......
-ม.78 พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดไม่ได้เว้นแต่
-ความผิดซึ่งหน้าตาม ม.80
-พบโดยมีพฤติการณ์น่าสงสัยว่าก่อเหตุโดยมีเครื่องมืออาวุธหรือวัตถุ......
-มีเหตุจะออกหมายจับตาม ม.66(2) แต่มีความจำเป็นเร่งด่วน....
-นายประกันจับลูกประกันตาม ม.117
-เทียบข้อความ ม.78(2) กับ ม.80(2)
-ม.80 ความผิดซึ่งหน้าคือ
1.ความผิดที่เจ้าพนักงานผู้จับเห็นกำลังกระทำหรือในอาการที่แทบจะไม่สงสัยเลยว่าทำผิดมาสดๆ
2.ความผิดตามฐานต่างๆในท้ายวิอาญา โดย
-ถูกไล่จับดังผู้กระทำโดยมีเสียงร้องเอะอะ
-แทบจะทันทีทันใดหลังทำผิดในที่ใกล้เคียงนั้นโดยมีสิ่งของได้จากทำผิด มีเครื่องมือหรือ
อาวุธหรือร่องรอยพิรุธเห็นประจักษ์ที่เสื้อผ้าหรือเนื้อตัวผู้นั้น
-ม.66 เหตุที่จะออกหมายจับ เน้น (2) โยง 78(3)
-ราษฎรจับราษฎร ดู ม.79,82,78(4) ต้องเข้าเกณฑ์ ม.80 และความผิดซึ่งหน้านั้นต้องเป็นฐานความผิดท้าย
ป.วิอาญา
-ถ้าเจ้าของบ้านอนุญาตให้เจ้าพนักงานเข้าไป แล้วพบเห็นความผิดซึ่งหน้าก็จับได้โดยไม่ต้องมีหมายจับหรือหมายค้น และราษฎรก็จับได้ถ้าซึ่งหน้าในฐานตามบัญชีท้ายวิอาญา
-ม.90 ก็น่าออกสอบ
-รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ม.3 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคที่เคยได้รับความคุ้มครองตามจารีตประเพณีและตามพันธกรณีระหว่างประเทศย่อมได้รับความคุ้มครอง
ย่อ พยาน
1.วิแพ่ง ม.84 วิอาญา ม.226
2.พยาน กับพยานหลักฐานความหมายแตกต่างกัน พยานมี 3 ประเภท คือพยานบุคคล,พยานเอกสาร,พยานวัตถุ พยานใดที่จะเป็นพยานหลักฐานได้ต้องเป็นส่งที่พิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ ที่แยกเพราะต้องพิจารณากันว่าต้องสืบกันอย่างไร ชั่งน้ำหนักอย่างไร
3.ฎ.7155/2539 เครื่องบันทึกเสียง,ภาพ และภาพและเสียง เป็นพยานหลักฐานที่รับฟังได้ในฐานะเป็นพยานวัตถุ
4.ปัญหาข้อเท็จจริงต้องพิสูจน์ด้วยการนำสืบ ซึ่งศาลจะนำสืบเองหรือคู่ความนำสืบ คู่ความจะต้องมีการยื่นบัญชีระบุพยานก่อนตามกฎหมาย
5.กรณีที่ไม่ต้องนำพยานหลักฐานมาสืบ ตาม วิแพ่ง ม.84(1)
5.1 รู้กันอยู่ทั่วไป (คนในสังคมรู้กันอยู่ทั่วไป ชัดแจ้ง เป็นที่ยอมรับ หรือตรวจสอบแล้วถูกต้อง เช่นเดือน ก.พ.มีวันที่ 29 สี่ปีครั้ง น้ำขึ้นน้ำลง ภาษาไทยศาลต้องเข้าใจความหมายไม่ต้องนำสืบ แต่ภาษาถิ่นหรือภาษาแสลงต้องนำสืบ กฎหมายมีฐานะต่ำกว่ากฎกะทรวงเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ต้องมีการนำสืบศาลไม่รู้เอง แต่กม.ระหว่างประเทศต้องมีการนำสืบ ฯ)
-ไม่อาจโต้แย้งได้ (กรณี กม.ปิดปาก หรือสันนิษฐานเด็ดขาด , ป.อาญา ม.4 ว.2 ,ป.อาญา ม.60
-คู่ความรับแล้ว(คำรับ ใช้ในคดีแพ่งเท่านั้น มีผลต่อประเด็นข้อพิพาทหรือหน้าที่นำสืบ)
6.สถานะของคำรับมีผลให้ข้อเท็จจริงที่จะพิสูจน์ฟังได้เป็นที่ยุติ คำรับหมายถึงคำรับของคู่ความในศาลเท่านั้น นอกศาลฟังได้แค่เป็นพยานหลักฐาน ที่ต้องนำสืบอีกครั้งหนึ่ง ดู ม.177 ว.2 วิแพ่ง การนิ่งถือเป็นการยอมรับ ตรงข้ามกับคดีอาญาการนิ่งถือว่าปฏิเสธ เพราะคดีแพ่ง กม.บัญญัติว่าให้จำเลยแสดงโดยแจ้งชัดในคำให้การว่ารับหรือปฏิเสธทั้งหมดหรือบางส่วนรวมทั้งเหตุแห่งการนั้น ฎ.48/2536 จำเลยปฏิเสธว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม แต่ไม่ยกเหตุผลประกอบ จึงไม่มีประเด็นนำสืบว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ฎ.2661/2536 คดีแพ่งอายุความไม่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยเหมือนคดีอาญา หากไม่ต่อสู้หรือต่อสู้แต่ไม่อ้างเหตุใดห้องโจทก์ขาดอายุวามไม่มีประเด็นว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ .1078/2538 ,8844/2547 โจทก์บรรยายฟ้องเรื่องค่าเสียหาย แต่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นไว้โจทก์ก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน ถือว่าโจทก์สละประเด็นดังกล่าวแล้ว
7.การปฏิเสธความสมบูรณ์ของฟ้อง ถ้าจำเลยไม่ได้ยกเป็นข้อต่อสู้หรือว่าฟ้องสมบูรณ์
8.หลักคำรับในคดีอาญาที่รับฟังได้
8.1 กระบวนการสอบคำให้การต้องชอบด้วยกฎหมายเสียก่อน
8.2 คำรับสารภาพต้องชัดเจนว่าได้กระทำผิดอาญาตามฟ้อง ฎ.1318/2523 สารภาพว่าเพื่อไม่ให้ยุ่งยากแก่คดี ถือว่าไม่ได้รับสารภาพ
8.3 จำเลยรับสารภาพตามฟ้องแต่เมื่อฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่นขาดอายุความ คำฟ้องขาดองค์ประกอบความผิด เป็นต้น ศาลก็ต้องยกฟ้อง
8.4 จำเลยบอกว่ารับสารภาพแต่คำแถลงขัดแย้งกับคำรับ ต้องถือตามคำรับเพราะคำแถลงไม่ใช่คำให้การเป็นข้อเท็จจริงที่ยังไม่ยุติ
8.5 คำรับนอกศาลเป็นเพียงพยานหลักฐานเท่านั้นเช่นรับชั้นสอบสวน ชั้นจับกุม จะฟังได้ต้องมีการปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎหมายเสียก่อน เช่น วิอาญา ม.135,134/1-4,177,84 ว.4 ,83 ว.2
9.คำท้า เป็นคำรับประเภทหนึ่งที่ส่งผลให้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติ ไม่ต้องสืบพยานในประเด็นหรือข้อเท็จจริงนั้น แม้สืบไปก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ มีผลโยงใยไปสู่ภาระในการพิสูจน์ แต่ทั้งนี้ไม่ขัดกับศีลธรรมอันดี
-คำพิพากษาฎีกาที่ 7636/2543
ข้อความตามรายงานกระบวนพิจารณาฟังได้เพียงว่ามีการเสนอท้ากันในครั้งแรกจะถือให้เอาผลคดีอาญาของศาลชั้นต้นเป็นข้อแพ้ชนะกันในคดีโดยทนายจำเลยขอไปศึกษาข้อเท็จจริงจากทนายจำเลยในคดีอาญาดังกล่าวเสียก่อน ในวันนัดต่อมาคู่ความแถลงร่วมกันต่อศาลใหม่ว่าขอถือเอาข้อเท็จจริงที่ปรากฏในผลแห่งคดีอาญาของศาลชั้นต้น มาเป็นข้อเท็จจริงในคดีนี้ โดยไม่มีข้อตกลงให้ถือเอาผลคดีอาญาดังกล่าวมาเป็นข้อแพ้ชนะกันตามที่เคยเสนอท้ากันไว้ แสดงว่าคู่ความไม่ประสงค์จะถือเอาผลคดีอาญาดังกล่าวมาเป็นข้อแพ้ชนะกันในคดีนี้ คงเพียงแต่ให้ถือข้อเท็จจริงคดีนี้ตามข้อเท็จจริงในคดีอาญาเท่านั้น ข้อตกลงตามรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวจึงไม่ใช่คำท้า
-องค์ประกอบพิจารณาของคำท้า
(1) มีได้เฉพาะคดีแพ่ง
(2) ทำกันในศาลเท่านั้น
(3) คำรับหรือคำท้าเป็นกระบวนพิจารณาหลังกระบวนการพิจารณาคำคู่ความ
(4) ศาลต้องอนุญาตเสียก่อน ในทางปฏิบัติจะต้องให้ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณาด้วย
(5) คำท้าต้องชอบด้วยกฎหมาย และถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนพิจารณา ฎ.1333/2536 ท้ากันให้เอาคำสาบานของ ส.เป็นข้อแพ้ชนะ แม้ ส.ไม่รู้เห็นยินยอมด้วยก็ท้ากันได้
10.ข้อสันนิษฐานของกฎหมาย เหตุผลที่ กม.กำหนดบทสันนิษฐาน เพื่อคุ้มครองผู้สุจริต เพื่อสะดวกในการดำเนินกระบวนพิจารณา เพื่อขจัดปัญหาที่พิสูจน์ได้ยาก หรือไม่ได้ เพื่อความเป็นธรรมตามหลักรัฐประศาสนโยบาย ข้อสันนิษฐานไม่เด็ดขาดพิสูจน์ได้ แต่ฝ่ายได้รับประโยชน์ไม่ต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตามข้อ
สันนิษฐานเท่านั้น แต่มีข้อสันนิษฐานเด็ดขาดตาม กม.ปิดปากไม่ยอมให้นำสืบแก้ไข เช่น กม.เขียนว่า........
ให้ถือว่า......................นำสืบเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ข้อสันนิษฐานในคดีอาญาปกติถ้ากม.เขียนอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นไปสร้างข้อสันนิษฐานไมไม่ได้ เช่น พ.ร.บ.ศุลกากร,พ.ร.บ.การพนัน ผู้ร่วมในวงการพนัน,หรือใน พ.ร.บ.ยาเสพติดเพื่อฟังการลงโทษ ในคดีแพ่ง เช่นปพพ.ม.437 เรื่องครอบครองเครื่องจักรหรือทรัพย์อันตราย,การครอบครองทรัพย์ตาม ปพพ.ม.1357,1358,1363,1373
11.หน้าที่นำสืบ(ภาระการพิสูจน์เป็นคนละเรื่องการสืบก่อนหลัง ตองดูประเด็นผู้ใดกล่าวหาผู้นั้นต้องมีหน้าที่นำสืบ ในคดีอาญาปกติเป็นหน้าที่ของโจทก์ และโจทก์นำสืบก่อนเสมอ
12.ม.86
ว.1 พยานหลักฐานที่รับฟังไม่ได้ พยานหลักฐานที่รับฟังได้แต่ฝ่าฝืน เช่นฝ่าฝืน ม.88 ในการยื่นบัญชีระบุพยาน การไม่ส่งสำเนาตาม ม.90 ให้ศาลปฏิเสธที่จะรับฟังพยานหลักฐานนั้น
ว.2 พยานหลักฐานฟุ่มเฟือย ประวิงให้ชักช้า ไม่เกี่ยวกับประเด็น
ว.3 เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลสืบพยานเองได้
13. ม.87 หลักห้ามรับฟังพยานหลักฐานใดเว้นแต่
(1) เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่คู่ความจะต้องนำสืบ
(2) มีการยื่นบัญชีระบุพยานตามหลักเกณฑ์ใน ม.88 มีการส่งสำเนาตาม ม.90
ข้อยกเว้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม และเป็นประเด็นข้อสำคัญ
-ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้ว่าไม่จำเป็นต้องยื่นบัญชีระบุพยาน
-ไต่สวนคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ ไต่สวนคำร้องที่จะเลยอ้างว่าโจทก์ผิดสัญญา ประนีประนอมยอมความตามคำพิพากษาตามยอม
-ถามค้านโดยอ้างเอกสารเพื่อปนระกอบการถามค้าน
-ต้องอ้างว่าไม่ใช่การสืบพยานหลักฐานสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตนตาม ม.88 แต่เป็นการอ้างเพื่อโต้แย้งหรือทำลายน้ำหนักพยานฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น
14.ม.88 ว.1 อ้างพยาน(รวมทั้งตนเอง) ต้องระบุในบัญชีพยานส่งศาลก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน และพยานเอกสารต้องสำเนายื่นต่อศาลและส่งแก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่น้อยกว่า 7 วัน ตาม ม.90
-ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ภายใน 15 วันนับแต่วันสืบพยาน (เพิ่มเติม แสดงว่าต้องยื่นไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว จึงจะเพิ่มเติมได้)
-ระยะเวลาดังกล่าวหมดแล้วต้องขออนุญาตศาลก่อนพิพากษา แต่ต้องมีเหตุอันสมควรว่าไม่ทราบว่าต้องนำพยานหลักฐานนั้นมาสืบหรือไม่ทราบว่ามีพยานหลักฐานนั้นมีอยู่ หรือมีเหตุสมควรอื่นใด ถ้าศาลเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะให้การวินิจฉัยชี้ขาดคดีเป็นไปโดยเที่ยงธรรมจะอนุญาตก็ได้
-บัญชีระบุพยานใช้กับคู่ความไม่ได้บังคับศาล เพราะ ม.86 ว.3 ศาลเรียกมาถามหรือเรียกมาสืบเองได้
***ฎ.2500/2548 ประชุมใหญ่ แม้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมพ้นระยะเวลาตามกม.แล้ว โจทก์ยังมีสิทธิ์ยื่นบัญชีระบุพยานได้ไม่ว่าเวลาใดๆก่อนมีคำพิพากษาได้อีก หากโจทก์ขออนุญาตต่อศาล โดยแสดงเหตุผลอันสมควรที่ต้องยื่นบัญชีระบุพยานเช่นนั้นพร้อมสำเนาเอกสารที่อ้างในบัญชีระบุพยานมาด้วย เมื่อศาลใช้ดุลยพินิจสั่งรับ พยานของโจทก์จึงเป็นพยานหลักฐานที่รับฟังได้
-คำว่าก่อนวันสืบพยานตาม ม.88 นี้อย่าไปสับสนกับ ม.125 การคัดค้านพยานนั้นต้องคัดค้านต่อศาลก่อนการสืบพยานเอกสารนั้นเสร็จ
-คำสั่ง ตาม 88 ว.3 เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา
-84 ว.2 วิแพ่งนำไปใช้ในคดีอาญาได้ด้วย
-พยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญา นำมาใช้ในชั้นพิจารณาได้ด้วย
-ในคดีอาญา ข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไปไม่ต้องนำสืบเช่นตาม ฎ.6918/2540 ในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา จำเลยฎีกาว่าวันเกิดเหตุเป็นวันขึ้น 6 ค่ำ มีดวงจันทร์เพียงครึ่งเสี้ยว ซึ่งดวงจันทร์โผล่ที่ขอบฟ้าเวลา 23.00 น.ขณะเกิดเหตุเวลาแค่ 21.00 น.ดวงจันทร์จึงยังไม่ขึ้น ฎ.1876/2533 ความผิดใดร้ายแรงแก่ประชาชนหรือไม่ศาลย่อมรู้เอง สิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวันเช่นการส่งแฟ๊กซ์ ไม่ต้องนำสืบวิธีส่ง กระสุนปืนเป็นชนิดใด นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ได้หรือไม่ศาลไม่รู้เองต้องนำสืบ ถ้อยคำหยาบในภาษาไทย
เป็นสิ่งที่ศาลรู้ได้เองเช่นคำว่ามารศาสนา แต่ถ้าคำที่พิเศษไม่แพร่หลายต้องนำสืบ คำรับสารภาพไม่ชัดเจนว่ารับฐานใดโจทก์ไม่นำสืบศาลก็ลงโทษไม่ได้
15.การสืบพยานหลักฐานในคดีแพ่งต้องสืบตามประเด็น ตย.เช่น หากมีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินที่พิพาทหรือไม่ การที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยเคยเช่าที่พิพาทกับโจทก์ต่างหาก เป็นการนำสืบว่าจำเลยเคยครอบครองแทนโจทก์ตามสัญญาเช่าไม่ใช่ครอบครองเพื่อตน จึงไม่ได้สิทธิครอบครอง โจทก์ย่อมนำสืบได้ ไม่ใช่การนำสืบนอกประเด็นแต่อย่างใด
16.พยานเอกสาร เป็นพยานหลักฐานประเภทหนึ่งที่สำคัญต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ เป็นการแบ่งประเภทพยานเพื่อกำหนดวิธีการนำสืบของพยานแต่ละประเภท เช่นบุคคลต้องนำมาเบิกความต่อศาล ให้ซักถาม ให้ซักค้าน จำทำเป็นบันทึกถ้อยคำหรือนำบันทึกถ้อยคำที่ให้ไว้ตั้งแต่ชั้นสอบสวนมาเป็นพยานหลักฐานแทนไม่ได้ รับฟังได้เพียงเท่าเป็นพยานบอกเล่าเท่านั้น
17.***ม.94 เมื่อมีกฎหมายบังคับต้องมีพยานเอกสารมาแสดงห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบุคคลในกร๊ดังต่อไปนี้แม้อีกฝ่ายจะยินยอม
(1) สืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร
(2) สืบพยานบุคคลประกอบว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน แก้ไขเปลี่ยนแปลง
ข้อยกเว้น เรื่องเอกสารปลอม(แต่ต้องคัดค้านตาม ม.125ก่อน) ไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือบางส่วน สัญญาไม่สมบูรณ์หรือตีความหมายผิด
***คำพิพากษาฎีกาที่ 5239/2547 ศาลมีอำนาจเรียกสำนวนการสอบสวนจากพนักงานอัยการมาเพื่อประกอบการวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 175 การดำเนินการของศาลดังกล่าวมิใช่การพิจารณาและสืบพยานในศาล จึงไม่ต้องทำต่อหน้าจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง และเมื่อมิใช่การสืบพยาน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจถามค้านพยานตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 117 วรรคสอง ประกอบด้วย ป.วิ.อาญา มาตรา 15
18.ม.127 เอกสารมหาชนสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง (สำนวนการสอบสวนของ พงสงไม่ใช่เอกสารมหาชน)
19.ม.90 คู่ความที่อ้างพยานเอกสารต้องมีหน้าที่ยื่นต่อศาลและสำเนาให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน มีข้อยกเว้นตาม ข้อ 1-3 ฝ่ายที่รับถ้าคัดค้านเอกสารต้องดำเนินการตาม ม.125
20.ถ้าต้นฉบับเอกสารไม่อยู่ที่ฝ่ายเรา ฝ่ายที่อ้างก็ไม่ต้องนำส่ง
(1) อยู่ที่ฝ่ายตรงข้าม ไม่ต้องส่งสำเนา ไม่ต้องนำสืบต้นฉบับ บังคับให้ฝ่ายตรงข้ามนำส่ง ไม่ส่งก็ถูกลงโทษตาม ม.124(ถือว่ายอมรับแล้ว)
(2) อยู่ที่บุคคลภายนอก ม.123 ว.2 หรือของทางราชการ ถือข้อเท็จจริงยุติไม่ได้ เพราะไม่ใช่เรื่องระหว่างคู่ความ คู่ความฝ่ายอ้างมีหน้าที่ขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกมา ถ้าไม่ได้มาจะถือว่าข้อเท็จจริงยุติไม่ได้ ทางแก้ กรณีบุคคลภายนอกเพิกเฉย ทางออกตาม ม.93(2) คือนำสำเนาหรือยานบุคคลมาสืบได้(ต้นฉบับต้องมาก่อน ม.93(2) โยงกับ ม.94 ว.2
21.ม.94 จะตอบข้อสอบ ม.94 วิแพ่งได้ ต้องรู้ กม.สาระบัญญัติ เช่น เช่าซื้อ,กู้เงินเกินสองพันบาทรวมทั้งการนำสืบการชำระหนี้เงินกู้เกินสองพันบาทที่มีการชำระเป็นตัวเงิน(ชำระด้วยทรัพย์อย่างอื่นไม่ต้อง),ซื้อขายแลกเปลี่ยนให้อสังหาหรือสังหาชนิดพิเศษหรือสัญญาจะซื้อจะขายอสังหาฯหรือสังหาชนิดพิเศษ,จำนอง,โอนสิทธิเรียกร้อง,การบอกกล่าวบังคับจำนอง,พินัยกรรม,โอนหุ้นระบุชื่อ,สัญญาเช่าอสังหาฯ,สัญญาประนีประนอมยอมความ,สัญญาประกันภัย ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงชื่อฝ่ายรับผิด,ทำเป็นหนังสือ,หรือทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นต้น บางเรื่อง กม.ไม่ได้บังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดงเช่นการรับสรภาพหนี้,จะซื้อจะขายอสังหาริมทรัพย์ชนิดที่วางเงินมัดจำหรือชำระหนี้บางส่วน,จำนำ,จ้างทำของ,มอบที่ดินทำกินต่างดอกเบี้ย,ชำระหนี้เงินกู้ด้วยข้าวเปลือก,ชำระหนี้ดอกเบี้ย,การโอนเงินทางธนาคาร,ทางโทรศัพท์ เป็นต้น
22.ม.94 ห้ามมิให้รับฟังพยานบุคคล(รับฟังพยานหลักฐานอย่างอื่นได้)แม้อีกฝ่ายยินยอมในสองกรณีคือ ก.นำสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสารเมื่อไม่สามารถนำพยานเอกสารมาแสดงได้ ข.สืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม,ตัดทอน,เปลี่ยนแปลงแก้ไขในเอกสารอีก ข้อยกเว้นการนำสืบว่าเอกสารปลอม,ไม่ถูกต้องหรือหนี้ไม่สมบูรณ์และตาม ม.93(2)เรื่องเอกสารนั้นสุญหายถูกทำลายด้วยเหตุสุดวิสัยรับฟังสำเนาได้(แต่ต้องเคยมีต้นฉบับอยู่ก่อนแล้ว) ให้ศึกษาม.94(ก.) และม.93(2) อาจออกสอบเกี่ยวพันกันได้
กรณีหนี้ไม่สมบูรณ์ นิติกรรมอำพราง ตีความหมายผิด ทำสัญญากู้กันหลอกๆไม่ได้กู้กันจริงทำไว้ป้องกันการเบี้ยวหนี้ค่าแชร์ นำสืบพยานบุคคลประกอบได้แต่ต้องตั้งประเด็นข้อพิพาทไว้ก่อน หรือกรณีนำสืบให้เห็นความเป็นมาของมูลหนี้ก็สืบพยานบุคคลได้ นำสืบข้อตกลงพิเศษนอกเหนือจากสัญญา เช่นตกลงกันส่วนที่ดินที่แบ่งแยกเป็นสาธารณะก็นำสืบพยานบุคคลได้ แต่ถ้านำสืบข้อตกลงเพิ่มเติมในเรื่องค่าธรรมเนียมการโอน ดอกเบี้ย ระยะเวลาที่ต้องชำระเช่นนี้นำสืบบุคคลแทนไม่ได้
23.วิแพ่ง ม.97 ให้ศึกษาเปรียบเทียบกับวิอาญา ม.232,233 อาจออกข้อสอบได้
-ทางแพ่ง อ้างคู่ความฝ่ายอื่นเป็นพยานได้ อ้างตนเองเป็นพยานได้ (แต่ต้องยื่นบัญชีระบุพยานตนเองด้วย ฎ.3130/2532)
-อาญา ห้ามโจทก์อ้างจำเลยเป็นพยาน(ในคดีเดียวกันเท่านั้น,จำเลยซักทอดจำเลยอื่นด้วยกันก็รับฟังได้ซึ่งจำเลยที่ถูกซัดทอดสามารถซักค้านได้อยู่แล้วทั้งไม่มี กม.ห้ามแต่อาจรับฟังได้น้อย) ,จำเลยอ้างตนเองได้
24.สรุป พยานบอกเล่า,พยานซัดทอด ระมัดระวังในการชั่งน้ำหนักพยานตาม 95(2) และวิอาญา ม.232
25.ดู วิอาญา ม.172 การพิจารณาและการสืบพยานต้องทำโดยเปิดเผยและต่อหน้าจำเลย และข้อยกเว้นสืบพยานลับหลังจำเลยได้ตาม 172 ทวิ ฎ.1066/2526 จำเลยแถลงต่อศาลว่าไม่ตามประเด็นไป ศาลที่สืบประเด็นย่อมพิจารณาคดีไปได้ไม่ถือว่าเป็นการสืบพยานลับหลังจำเลย ฎ.3872/2535 วันเดินเผชิญสืบหากเป็นนัดแรกของการนัดพิจาณาถือเป็นวันสืบพยาน
26.พยานนำคือพยานที่คู่ความนำมาศาลเอง พยานหมาย คือพยานที่คู่ความให้ศาลออกหมายเรียก ดูวิแพ่ง ม.106 พยานที่ไม่จำเป็นต้องไปศาล คือ1)ในหลวงราชินีฯ2)พระภิกษุสามเณร(แม้ไปก็ไม่เบิกความหรือตอบคำถามก็ได้ และไม่ต้องสาบานตน) 3)คนเจ็บป่วย แต่ต้องแจ้งศาลก่อนตาม ม.111 ฎ.918/2503 การออกหมายจับพยานที่ไม่ไปศาล เป็นอำนาจของศาลคู่ความไม่ต้องไปขอให้ศาลออกหมายจับ ดูวิอาญา ม.55,55/1,56 ด้วย
27.พยานบุคคล 1)ต้องมาศาลและเบิกความด้วยวาจาต่อหน้าศาล ม.113 ซึ่งเป็นสาระสำคัญของการตรวจสอบพยาน 2)ซักถามเพื่อให้ได้ข้อความของพยานผู้นั้น
28.บุคคลที่ไม่ต้องสาบานตนคือ อายุต่ำกว่าสิบสี่ปี,พระภิกษุสามเณร,ผู้ที่คู่ความตกลงกัน ล่ามต้องสาบานตนด้วยจึงจะชอบ
29.ดู ม.113 พยานบุคคลต้องให้การด้วยวาจายกเว้นคนหูหนวกเป็นใบ้ซึ่งสามารถตอบคำถามได้ บุคคลได้รับอนุญาตจากศาล และพยานผู้เชี่ยวชาญ
30.การซักถามพยาน ห้ามใช้คำถามนำ ข้อจำกัดในการห้ามถามตาม ม.118 ว.3 ห้ามถามที่มาเกี่ยวกับประเด็นในคดี,คำถามที่ต้องทำให้พยานคู่ความหรือบุคคลภายนอกต้องรับโทษ(คำถามที่อาจทำให้พยานเสียหายหรือต้องรับโทษไม่ต้องตอบได้)
วิชาว่าความ 1 ข้อ อาจเป็นร่างฟ้องอาญา (ต้องครบองค์ประกอบความผิด มีคำขอท้ายฟ้องและอ้างบาทมาตรา ร่างฟ้องแพ่ง ตามประเด็นข้อพิพาทให้ครบ หรืออาจเป็นให้ตอบการซักถามพยานการถามค้านและการถามติงพยาน
วิชาการจัดทำเอกสารทางกฎหมาย 1 ข้อ อาจเป็นการร่างสัญญากู้ยืมเงินโดยมีสัญญาค้ำประกันในฉบับเดียวกันเป็นสัญญา 3 ฝ่าย หรือสัญญาจะซื้อจะขายหรือเช่าอสังหาริมทรัพย์ อย่าลืมให้รบถ้วนในสัญญา เชื่อชื่อสัญญา สถานที่ทำสัญญา วันเดือนปีที่ทำ คู่สัญญาถ้าเป็นนิติบุคคล ต้อโดยใคร หรือกรณีมอบอำนาจก็เช่นกัน วัตถุแห่งหนี้ แยกเป็นข้อๆให้ชัดเจน รวมทั้งข้อตกตามสัญญา การคิดดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมการโอนระบุให้ชัดใครรับผิดชอบ รวมทั้งเรื่องค่านายหน้าถ้ามี ถ้าเช่าระบุให้ชัดเรื่องทรัพย์ที่เช่า หน้าที่ดูแลบำรุงรักษาระหว่างการเช่า วิธีการและเวลาชำระค่าเช่าเป็นต้น และลงท้ายก่อนการลงชื่อต้องระบุว่าจัดทำต้นฉบับหรือคู่ฉบับจำนวนกี่ฉบับให้ผู้ใดบ้างข้อความตรงเป็นอย่างเดียวกัน และลงชื่อพยาน 2 คน
*********************************
|
|
ประพันธ์ เวารัมย์ [101.51.53.xxx] เมื่อ 14/01/2017 13:57
|
|
|