สรุป PS 702 ระเบียบวิธีวิจัยทางรัฐศาสตร์ |
|
อ้างอิง
อ่าน 799 ครั้ง / ตอบ 0 ครั้ง
|
ประพันธ์ เวารัมย์
|
สรุป PS 702 ระเบียบวิธีวิจัยทางรัฐศาสตร์
ประเด็นที่สำคัญที่ต้องเตรียม
1.การเขียนเค้าโครงการวิจัย
2.องค์ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับงานวิจัย
3.อธิบายกระบวนการวิจัยในแต่ละหัวข้อ
วิชาวิจัยเป็นวิชาที่สอนให้นักศึกษารู้จักเครื่องมือในการนำไปใช้ในการแสวงหาความรู้ เนื่องจากเชื่อว่าความรู้ที่ดีและน่าเชื่อถือจะต้องมีวิธีการในการได้มาซึ่งความรู้ (Methodology) ที่น่าเชื่อถือด้วย
วิธีการแสวงหาความรู้ที่น่าเชื่อถือ คือวิธีการที่มีกระบวนการที่เป็นระบบ มี แบบแผนขั้นตอนที่ชัดเจน
การวิจัยเป็นวิธีการในการแสวงการหาความรู้อย่างหนึ่งในบรรดาวิธีการหาความรู้หลายๆวิธี แต่เป็นวิธีการที่มีระเบียบ มีแบบแผน มีกระบวนการที่ชัดเจน ที่ทำให้คนธรรมดาๆ สามารถเข้าถึงความรู้ได้
สิ่งที่นักศึกษาต้องเข้าใจในวิชา 702 คือ
ประเด็นที่ 1 การเขียนเค้าโครงการวิจัยหรือแบบเสนอโครงร่างการวิจัย (Research Proposal)
โครงร่างการวิจัย หมายถึง ข้อเสนอของนักวิจัยที่จะบอกกับผู้อ่านว่า จะทำวิจัยเรื่องอะไร ทำไมต้องทำเรื่องนี้ ทำแล้วมีประโยชน์อะไร วิธีการทำเป็นอย่างไร
โครงร่างการวิจัยประกอบด้วยหัวข้อสำคัญๆคือ
1.ชื่อเรื่อง
2.ปัญหาและความสำคัญของปัญหา
3.วัตถุประสงค์
4.สมมุติฐาน (ถ้ามี)
5.ขอบเขตการวิจัย
6.กรอบแนวคิดที่ใช้ในการศึกษา
7.ระเบียบวิธีวิจัย
ตรงนี้นักศึกษาจะต้องบอกให้ได้ว่าเรื่องที่จะศึกษานั้นควรจะวิจัยเชิงคุณภาพหรือวิจัยเชิงปริมาณ ถ้าเลือกคุณภาพก็ต้องใช้วิธีการวิจัยแบบคุณภาพ ถ้าเลือกปริมาณก็ต้องตอบวิธีการวิจัยเชิงปริมาณ
7.1 ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณ จะต้องบอกถึง
-รูปแบบของการวิจัย เช่นการวิจัยสำรวจ
-วิธีการเก็บข้อมูลหรือเครื่องมือในการวิจัย เช่นออกแบบถาม แบบทดสอบ แบบวัดทัศนคติ
-ประชากรที่ศึกษา
ถ้าเป็นการศึกษาประชากรขนาดใหญ่และต้องสุ่มตัวอย่างจะต้องบอกถึงวิธีการสุ่มตัวอย่างด้วย
7.2 ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณ
-รูปแบบของการวิจัย เช่นการวิจัยเอกสาร การวิจัยชาติพันธุวรรณา การวิจัยสนาม
-วิธีการเก็บข้อมูลและเครื่องมือในการวิจัย เช่นการสังเกตการณ์ การสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม การสัมภาษณ์เจาะลึก
-ประชากรที่ศึกษา
8.การวิเคราะห์ข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลก็จะแตกต่างกันระหว่างการวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยคุณภาพ
-การวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงปริมาณ มักจะใช้สถิติมาเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์
-การวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงคุณภาพ มักจะใช้วิธีพรรณนาความ ตีความหมาย เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์
ที่สำคัญที่สุด ทุกหัวข้อที่อยู่ในเค้าโครงการวิจัยจะต้องมีความสัมพันธ์กันทั้งหมดตั้งแต่ชื่อเรื่อง วัตถุประสงค์ ขอบเขตการวิจัย ระเบียบวิธี และการวิเคราะห์ข้อมูล
ประเด็นที 1 องค์ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับระเบียบวิธีวิจัย
องค์ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการวิจัยจะมีมาก และโจทย์จะหยิบเรื่องอะไรมาถามก็ได้ ในที่นี้ข้อนำเสนอเรื่องที่สำคัญ คือ
1.วิธีการแบบ Deductive และ Inductive
หลักนิรนัย (Deductive) หลักการนี้มีอยู่ว่าเราจะมีคำอธิบายอยู่แล้วในเรื่องที่เราจะศึกษา จากนักวิชาการในอดีตที่มีการศึกษา และคำตอบของนักวิชาการนั้นได้รับการยอมรับว่าเป็นทฤษฎี แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป สภาพสังคมอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง เราอาจจะมีความสงสัยว่าทฤษฎีที่มีอยู่แล้วนั้น หรือคำตอบที่มีอยู่แล้วนั้นยังเป็นจริงหรืออยู่ไม่ ยังยอมรับต่อไปได้หรือไม่ เราจึงต้องการทดสอบทฤษฎีดังกล่าวนั้นว่ายังถูกต้องหรือไม่ ก็จะอาศัยตรรกะแบบนิรนัยมาใช้ในการวิจัย
การวิจัยที่ใช้ตรรกะแบบนิรนัยจึงเป็นการวิจัยเพื่อทดสอบทฤษฎี
หลักอุปนัย (Inductive) การวิจัยโดยใช้ตรรกะอุปนับนัยจะไม่นำเอาคำอธิบายหรือทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับอยู่แล้วมาเป็นกรอบจำกัดในการศึกษา เรื่องที่จะศึกษา หรือปัญหาที่จะศึกษาอาจจะมีคนอื่นศึกษาเอาไว้แล้ว แต่ผู้ศึกษาจะไม่เอาทฤษฎีเอามาเป็นกรอบ
การวิจัยแบบอุปนัยจะมองว่าเมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลง อาจจะมีอะไรใหม่ๆที่คนในรุ่นก่อนคิดไม่ถึงดังนั้นทฤษฎีที่คนรุ่นก่อนๆได้สร้างเอาไว้นั้นอาจจะไม่เพียงพอที่จะอธิบายปรากฎการณ์หรือสิ่งใหม่ๆที่เกิดขึ้น
นักวิชาการที่มีแนวคิดอย่างนี้จึงมองว่าจำเป็นจะต้องมีการสร้างทฤษฎีใหม่หรือสร้างคำอธิบายใหม่ที่สามารถอธิบายโลกปัจจุบันได้ นักวิชาการที่สนใจในแนวนี้ก็จะพยายามเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกิดขึ้นทั้งหมด จากนั้นก็จะมีข้อสรุปจากการศึกษา
ทั้งนี้เมื่อมีข้อสรุปที่ได้จากศึกษาในแบบ Inductive อาจจะยังไม่ใช่ข้อสรุปที่ได้รับการยอมรับ แต่อาจจะเป็นข้อสรุปชั่วคราว ก็อาจจะต้องมีการวิจัยซ้ำๆในเรื่องเดียวกัน ที่อาจจะทำในสถานที่ต่างๆน ในแต่ละสถานการณ์กัน
ถ้าคำตอบหรือข้อสรุปที่ได้จากการวิจัยซ้ำกันหลายครั้งพบว่ามีความสอดคล้องต้องกันข้อสรุปชั่วคราวนั้นก็จะถูกนำไปประมวลเพื่อสร้างทฤษฎีขึ้นมาใหม่
ดังนั้น ตรรกะในการวิจัยแบบอุปนัย เป็นตรรกะที่ใช้การวิจัยเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทฤษฎีหรือสร้างทฤษฎีขึ้นมาใหม่
2.ความแตกต่างของการการวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพ จะมีความแตกต่างในประเด็นต่างๆคือ
2.1 ลักษณะของข้อมูล ข้อมูลของการวิจัยเชิงปริมาณจะเป็นข้อมูลเชิงตัวเลขที่สามารถวัดได้ เช่นถ้าวัดความรู้ก็จะต้องมีการกำหนดได้มีความรู้ระดับใด ขณะที่การวิจัยเชิงคุณภาพข้อมูลจะเป็นเรื่องของความรู้สึกนึกคิด ข้อมูลจะอยู่ในรูปของการบรรยาย การพรรณนาสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น
2.2 วัตถุประสงค์ การวิจัยเชิงปริมาณจะมีวัตถุประสงค์สำคัญคือ
-การทดสอบทฤษฎี การวิจัยเชิงปริมาณจะต้องมีทฤษฎีอยู่ก่อนแล้ว จากนั้นก็นำเอาทฤษฎีหรือกรอบแนวคิดนั้นมาทดสอบว่าเป็นจริงกับกรณีที่เราศึกษาหรือไม่
-การวิจัยเชิงปริมาณใช้เพื่อการสรุปข้อมูลที่มีจำนวนมาก เพื่อให้เห็นภาพทั่วไปของสิ่งที่เกิดขึ้นได้
-การวิจัยเชิงปริมาณมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการแสดงความถูกต้องของสิ่งที่เกิดขึ้น
ขณะที่การวิจัยเชิงคุณภาพจะมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ
-ต้องการสร้างทฤษฎีใหม่ หรือการสร้างองค์ความรู้ใหม่ขึ้นมา
-เป็นการวิจัยที่ต้องการวิเคราะห์ข้อมูลในระดับลึก
-การวิจัยเชิงคุณภาพมีความต้องการที่จะทำความเข้าใจกับความหมายในสิ่งที่จะศึกษา ซึ่งบางครั้งเป็นเรื่องที่ต้องตีความ เช่นเราเห็นคนใส่เสื้อแดงกับใส่เสื้อเหลืองในอดีตอาจจะเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเป็นในช่วงปี 2549 ถึงปัจจุบันเสื้อแดงอาจจะหมายถึงคนที่อยู่ตรงข้ามกับฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งสะท้อนถึงความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันด้วย
ดังนั้นการวิจัยเชิงคุณภาพไม่ใช่เรื่องง่ายๆ การทำวิจัยคุณภาพจะต้องมีการกำหนดประเด็นให้ชัดเจนเสียก่อน จากนั้นจึงเอาข้อมูลมาอธิบายให้เห็นความสัมพันธ์ และต้องมีความเข้าใจในสิ่งที่อธิบายว่ามีความสำคัญอย่างไร
ในขณะการวิจัยเชิงปริมาณจะง่ายตรงที่เราสามารถตีความจากข้อมูลที่เป็นตัวเลขที่เก็บได้จากกลุ่มตัวอย่าง
ขณะที่การตีความหมายของปรากฏการณ์ในการวิจัยเชิงคุณภาพจะยากตรงที่หากเราใช้กรอบคิดหรือทฤษฎีต่างกันการตีความหมายของปรากฎการณ์ก็จะต่างกันด้วย
2.3 วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล จะแตกต่างกันตรงที่การวิจัยเชิงปริมาณจะใช้สถิติเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ ขณะการวิจัยเชิงคุณภาพจะใช้การสรุปในแบบอุปนัยในการวิเคราะห์
สภาพของข้อมูลของวิจัยเชิงคุณภาพ
1.ข้อมูลมีความยืดหยุ่น ขณะวิจัยเชิงปริมาณข้อมูลจะไม่ยืดหยุ่น เช่นถ้าเราตอบแบบสอบถามเราก็จะต้องตอบตามข้อเลือกที่นักวิจัยกำหนดออกมา ขณะในการวิจัยเชิงคุณภาพผู้ตอบสามารถตอบได้อย่างหลากหลาย นั่นคือคำตอบของคำถามจะขึ้นอยู่กับผู้ตอบ
เช่นถ้านักวิจัยถามว่าชอบนายกทักษิณหรือไม่ ถ้าเป็นเชิงปริมาณ เราอาจจะตอบได้แค่ ชอบ ไม่ชอบ ชอบมาก ชอบมากที่สุด แต่ถ้าเป็นวิจัยเชิงคุณภาพผู้ตอบจะตอบได้กว้างขวาง ข้อมูลของการวิจัยเชิงคุณภาพจึงมีความยืดหยุ่น
2.เป็นข้อมูลเชิงอุปนัย อุปนัยหมายถึง เวลาเก็บข้อมูลผู้วิจัยจะเข้าไปสังคมและเก็บตัวอย่างทีละคน ทำให้มองเห็นข้อมูลหรือความจริงที่เก็บมาอย่างลึกซึ้ง ส่วนจะเก็บข้อมูลจำนวนมากน้อยแค่ไหนจึงจะพอนั้นขึ้นอยู่กับว่าความจริงที่เราพบนั้นมีความมั่นใจแค่ไหน นั่นคือผู้วิจัยจะประเมินเพียงพอที่จะเชื่อได้ว่าจริงแล้วหรือไม่
แต่การวิจัยเชิงคุณภาพจะเพียงพอหรือจะยืดหยุ่นหรือไม่ผู้วิจัยจะต้องลงไปฝังตัวอยู่ในสนามการวิจัย ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจธรรมชาติของสิ่งที่เราศึกษาอย่างลึกซึ้ง
3.ข้อมูลต้องอิ่มตัวเพียงพอ นั่นคือการฝังตัวและเก็บข้อมูลจะต้องเก็บจนข้อมูลอิ่มตัว
4.ข้อมูลที่รอบด้าน ถ้าเราไปฝังตัวในสนามจะได้รับข้อมูลที่รอบด้าน ขณะการวิจัยเชิงปริมาณจะได้ข้อมูลหรือความจริงของสังคมบางด้านเท่านั้น
ข้อมูลจากการวิจัยคุณภาพจึงต้องการการบรรยาย การอธิบาย
6.หน่วยข้อมูล การวิจัยคุณภาพศึกษาที่ Subject หรือศึกษาจิตใจของมนุษย์ ศึกษาความหมายและความรู้จากคน ดังนั้นจึงไม่มีหน่วยวัดแบบวิจัยเชิงปริมาณ
ตัวเลขไม่สำคัญสำหรับวิจัยคุณภาพ แต่วิจัยคุณภาพบางครั้งก็มีตัวเลขได้
7.การวิจัยคุณภาพต้องเรียนรู้เรื่องของคนเป็นหลัก เพียงแต่จะศึกษามุมไหนเท่านั้น แต่ข้อมูลจากคนนั้นจะขึ้นอยู่กับอารมณ์ เช่นถ้าเราคุยกับคนที่เพิ่มตื่นนอน หรือถามในตอนกลางวัน ข้อมูลที่ได้มาจะต่างกัน
ดังนั้นข้อมูลที่ได้จากมนุษย์จึงถูกกำหนดด้วยเวลาและสถานที่ (Time and Space) หรือขึ้นอยู่กับกาละและเทศะ ดังนั้นผู้วิจัยต้องรู้ว่าควรจะเก็บข้อมูลในเวลาและสถานที่ใด
นั่นคือความแตกต่างระหว่างวิจัยเชิงคุณภาพและวิจัยเชิงปริมาณ แต่การจะใช้วิธีการแบบไหนในการศึกษาขึ้นอยู่กับ สภาพปัญหา เพราะปัญหาบางอย่างเหมาะสำหรับการวิจัยเชิงปริมาณ สภาพปัญหาบางอย่างเหมาะกับการวิจัยเชิงคุณภาพก็ต้องใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ
ประเด็นที่ 3 การอธิบายกระบวนการวิจัย
รายละเอียดของบางหัวข้อในเค้าโครงการวิจัยที่ต้องทำความเข้าใจ
1.ชื่อเรื่อง หมายถึงการเอาประเด็นปัญหามาตั้งชื่อ โดยชื่อเรื่องที่ดีจะต้องมีความกระชับ และสะท้อนให้เห็นถึงประเด็นในการวิจัย ขอบเขตในการวิจัยทั้งด้านเวลาและสถานที่
ชื่อเรื่องที่ดีจะเป็นประโยคบอกเล่า ไม่ใช่ประโยคคำถามหรือประโยคปฏิเสธ
2.ประชากรและการสุ่มตัวอย่าง
ประชากร (Population) หมายถึงการเลือกกลุ่มประชากรที่เราจะศึกษา เช่นถ้าศึกษาเรื่อง ความคิดทางการเมืองของนักศึกษาปริญญาโทรามคำแหงส่วนภูมิภาค ประชากรในที่นี้คือนักศึกษาปริญญาโทในภูมิภาคทั้งหมด
หากประชากรมีขนาดใหญ่เกินไปเราไม่สามารถศึกษาประชากรทั้งหมดได้ ก็จะมีการสุ่มตัวอย่าง (Sampling) เพื่อเลือกตัวอย่าง (Sample) ของประชากรบางส่วนมาศึกษา
วิธีการสุ่มตัวอย่าง จะแบ่งออกเป็น
-Non Probability การสุ่มแบบไม่อาศัยความน่าจะเป็น หมายถึงการสุ่มตัวอย่างที่เราไม่รู้ว่าโอกาสที่ประชากรจะถูกเลือกให้เป็นกลุ่มตัวอย่างนั้นมีเท่าไหร่
-แบบ Probability เป็นการสุ่มตัวอย่างที่สามารถคำนวณหาค่าโอกาสในการที่จะเลือกเป็นตัวอย่างได้
วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบ Non Probability Sampling
-การสุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญ เช่นเจอใครก็เลือกคนนั้น แต่ก็มีกรอบว่าคนที่สัมภาษณ์ต้องเป็นคนที่รู้เรื่องนั้นๆมากที่สุด เช่นถ้าหัวข้อบอกว่าบทบาทพระสงฆ์ในการพัฒนาสังคม ก็จะต้องไปถามคนที่มีความรู้และเกี่ยวกับเรื่องของพระสงฆ์
-แบบตามวัตถุประสงค์ คือมีการเจาะจงไปเลยว่าจะเลือกใครเป็นกลุ่มตัวอย่างเช่นทำเรื่องอรรถประโยชน์ของรถ 2000 ซีซี ว่ายี่ห้อไหนดีที่สุด เราก็ต้องไปดูคนที่เกี่ยวของกับรถ เช่นช่างซ่อม คนขายรถ คนใช้รถ
-แบบแบ่งโควต้า เราจะต้องกำหนดว่าเราจะเลือกประชากรประเภทต่างๆเท่าไหร่
-แบบการกำหนดผู้ตัดสิน
-แบบรายชื่อ Snow Ball Sample เช่นเราไปถามคนคนหนึ่งแล้วให้คนคนนั้นแนะนำคนต่อไปเรื่อยๆ
วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบอาศัยความน่าจะเป็น (Probability Sampling) มีหลายวิธีเช่น
1.การสุ่มตัวอย่างแบบง่าย Simple Random
-แบบการจับฉลากจะจับแบบเอาเข้าที่เดิมกับจับแบบเอาเข้าที่เดิม
-การใช้ตารางสุ่ม
2.การสุ่มตัวอย่างแบบ Stratified จะต้องลำดับตัวอย่างทั้งหมดมาลำดับว่าอะไรเป็นชั้นบน อะไรเป็นชั้นล่าง เช่นการทำเรื่องการไฟฟ้า ตอนแรกแบ่งเป็นเหนือ กลาง ใต้ อีสาน นี่คือชั้นที่ 1 จากนั้นก็เอาจังหวัดมาแบ่ง แยกเป็นจังหวัดใหญ่เล็ก จังหวัดใหญ่ จังหวัดขนาดกลาง
ในการสุ่มตัวอย่างนั้นอาจจะใช้หลายวิธีผสมกันก็ได้
3.รูปแบบการวิจัย แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่
1.การวิจัยทดลอง
2.การวิจัยที่ไม่ใช่การทดลอง ในทางสังคมศาสตร์จะใช้การวิจัยแบบไม่ใช่การทดลองเป็นส่วนใหญ่ซึ่งจะแบ่งออกเป็นหลายประเภทคือ
1.การวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Design) จะมุ่งเน้นการศึกษาทัศนคติ พฤติกรรมต่างๆของสังคม แต่เราไม่สามารถที่จะศึกษาทั้งสังคมได้ จึงศึกษาผ่านทางกลุ่มตัวอย่างที่เราสุ่มมา โดยอาศัยเครื่องมือที่เรียกว่าแบบสอบถาม การวิจัยสำรวจนั้นแบ่งออกเป็นสองชนิดคือ
1.1 Correlational Design คือการวิจัยสำรวจที่อาศัยพื้นที่เป็นหลัก อาจจะเรียกว่า Cross Sectional Design คือเวลาเราศึกษานั้นเราสามารถที่จะศึกษาพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งหรือหลายพื้นที่ก็ได้ เช่นต้องการศึกษาว่าคนไทยคิดอย่างไรในประเด็นปัญหาการเมืองในปัจจุบัน การทำโพลนั้นจะเป็นการวิจัยในรูปแบบนี้
1.2 Longtitudenal Design คือการวิจัยสำรวจที่อาศัยเวลาเป็นหลัก คือมีการเก็บข้อมูลในเวลาหนึ่ง เช่นศึกษาว่าในช่วง ร.ส.ช.ปี 34 ว่าคนไทยคิดอย่างไร
2. การวิจัยสนาม (Filed Research) การวิจัยสนามหมายถึงการไปเกาะติดสถานการณ์ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งโดยใช้การสังเกตการณ์เป็นหลัก
3.การวิจัยแบบ Unobtrusive Research ซึ่งคำว่า Unobtrusive แปลว่ามนุษย์ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวข้องกระบวนการสิ่งนั้น Unobtrusive ก็คือตัวหนังสือทั้งหมด จะแบ่งออกเป็น
-การวิจัยเอกสาร หรือ Document research
-การวิเคราะห์เนื้อหาสาระ Content analysis เช่นการเปรียบเทียบสุนทรพจน์ของฮิตเลอร์ กับสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีรุสเวลส์ โดยการนับคำพูดฮิตเลอร์ว่าพูดคำว่าอำนาจกี่ครั้งพูดคำว่าเสรีกี่ครั้ง ก็จะแสดงทิศทางความคิดของเขาฮิตเลอร์ได้ การวิเคราะห์เอกสารจึงเป็นการวัดความถี่ของคำที่ปรากฏในเอกสาร
4.การวิจัยประเมินผล (Evaluation Research) หรือการวิจัยโครงการ การวิจัยแบบนี้จะต้องมีตัวนโยบายหรือโครงการ จะดูว่าตัวนโยบายหรือโครงการที่นำไปปฏิบัตินั้นได้ผลแค่ไหน
4.การรวบรวมข้อมูล ในการวิจัยทางสังคมศาสตร์ส่วนมากจะใช้เครื่องมือในการเก็บข้อมูลดังต่อไปนี้
-แบบทดสอบ (Test Form) จะใช้ในการสอบ ซึ่งแบบทดสอบจะต่างจากแบบสอบถามตรงที่ แบบทดสอบใช้วัดความรู้ แบบสอบถามจะใช้วัดทัศนคติ
-แบบสัมภาษณ์ (Interviewing Form) แบบสัมภาษณ์จะใช้การถามและผู้ถามเป็นคนจด ต่างจากแบบสอบถามที่ผู้จะต้องตอบเอง
-แบบสังเกต (Observation Form) นักชีวะวิทยาจะใช้มากที่ศึกษาเกี่ยวกับสัตว์
-แบบสอบถาม หรือ Questionnaire มีชื่อเต็มว่า -Self Administering Questionnaire คนที่ร่างแบบสอบถามจะต้องเก่งเพราะให้คนตอบตอบเอง ต้องอ่านแล้วรู้เรื่อง สิ่งที่สอบถามไม่ควรจะลึกซึ้งเกินไปและตรงไปตรงมา แต่แบบสอบถามจะตอบคำถามได้ไม่ลึกซึ้ง
**การวิจัยทางรัฐศาสตร์จะใช้รูปแบบการวิจัยสำรวจมาก ซึ่งต้องอาศัยแบบสอบถามเป็นเครื่องมือวัด ถ้าโจทย์ให้อธิบายถึงวิธีการเก็บข้อมูลจะต้องบอกข้อดีข้อเสียในแต่ละวิธีด้วย ***
|
|
ประพันธ์ เวารัมย์ [101.51.55.xxx] เมื่อ 14/01/2017 13:57
|