สรุปวิชา Plan C การบริหารรัฐกิจ |
|
อ้างอิง
อ่าน 628 ครั้ง / ตอบ 0 ครั้ง
|
ประพันธ์ เวารัมย์
|
สรุปวิชา Plan C การบริหารรัฐกิจ
ประเด็นที่ต้องเตรียม
1.พัฒนาการของแนวคิดในการบริหารรัฐกิจ
2.แนวคิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
3.ทฤษฎีองค์การ 3 ยุค
4.กระบวนการนโยบายสาธารณะ 3 กระบวนการ พร้อมทั้งตัวแบบในการวิเคราะห์นโยบายสาธารณะทั้ง 3 กระบวนการ
1.พัฒนาการของแนวคิดการบริหารรัฐกิจ
ในภาพรวมแนวคิดการบริหารรัฐกิจจะมีพัฒนาการดังรูป
พาราไดม์ 1-5
กล่าวคือแนวคิดทางการบริหารรัฐกิจสามารถแบ่งออกเป็นพาราไดม์ได้ 5 พาราไดม์ จากนั้นในปัจจุบันนี้พาราไดมที่ 5 ได้พัฒนาเข้ามาสู่ New PA. และพัฒนาต่อมาในปัจจุบันเป็น NPM และการบริหารจัดการที่ดี (Good Govermamve) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ครอบงำวงการบริหารในปัจจุบัน
สรุปสาระสำคัญของแต่ละช่วงของแนวคิด
พาราไดม์ในการบริหารรัฐกิจ
นิโคลัส เฮนรี่ ที่แบ่งพาราไดม์การบริหารรัฐกิจออกเป็น 5 พาราไดม์คือ
พาราไดม์ที่ 1 การแยกการเมืองและการบริหารแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด พาราไดม์นี้เกิดจากแนวคิดของวูดโรว์ วินสัน ที่ต้องการให้แยกการเมืองออกจากการบริหารอย่างเด็ดขาด โดยให้ฝ่ายการเมืองทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและฝ่ายบริหารทำหน้าที่นำนโยบายไปปฏิบัติ
พาราไดม์ที่ 2 หลักการบริหาร พาราไดม์นี้พิจารณาว่าการจะมีการบริหารงานที่ดี เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและการประหยัดนั้นจะต้องมีหลักการในการบริหารที่มีการกำหนดขึ้นอย่างชัดเจน ดังนั้นในช่วงพาราไดม์นี้นักวิชาการจึงมีการนำเสนอหลักเกณฑ์ในการบริหารงานขึ้นมา โดยมุ่งจะให้หลักเกณฑ์เหล่านี้นำมาซึ่งประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และเกิดความประหยัดในการบริหารงาน
หลักการบริหารที่ถูกนำเสนอในช่วงพาราไดม์นี้เช่น หลักการ POSCORB ของกุลลิคและเออร์วิค หลักการ POCCC ของเฮนรี่ฟาโย
พาราไดม์ที่ 3 การเมืองคือการบริหาร เป็นพาราไดม์ที่คัดค้านพาราไดม์ที่ 1 โดยมองว่าการบริหารคือการเมือง และชี้ให้เห็นว่าการแยกการเมืองออกจากการบริหารนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ
พาราไดม์ที่ 4 ศาสตร์การบริหาร เป็นพาราไดม์ที่คัดค้านพาราไดม์ที่ 2 นั่นคือบอกว่าหลักในการบริหารที่พาราไดม์ที่ 2 นำเสนอนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะหลักในการบริหารเป็นเพียงสุภาษิตทางการบริหารเท่านั้น พาราไดม์ที่ 4 จึงเสนอว่าการบริหารรัฐกิจนั้นคือศาสตร์แห่งการบริหาร
ในช่วง 4 พาราไดม์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าการศึกษาการบริหารรัฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งในแง่ของการยอมรับ การรับรู้ และจุดสนใจในการบริหาร ทำให้ดูเหมือนว่าการศึกษาวิชาการบริหารรัฐกิจนั้นขาดความเป็นเอกลักษณ์ในตัวของมันเองทำให้ในพาราไดม์ที่ 5 จึงมีความพยายามที่จะค้นหาเอกลักษณ์ของวิชาการบริหารรัฐกิจ
พาราไดม์ที่ 5 การบริหารรัฐกิจคือการบริหารรัฐกิจ พาราไดม์นี้มุ่งหวังที่จะให้วิชาการบริหารรัฐกิจมีเอกลักษณ์ของตนเอง และมุ่งหวังให้วิชาการบริหารรัฐกิจมีลักษณะที่สอดคล้องกับสภาพของสังคมที่เป็นอยู่ในเวลานั้นๆ
เราจะเห็นว่าพาราไดม์หรือกระบวนทัศน์ของการบริหารรัฐกิจจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ในช่วงที่มีการยอมรับพาราไดม์ใดพาราไดม์หนึ่งในช่วงเวลาหนึ่งๆ ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เราเรียกการยอมรับตรงนี้ว่าภาวะปกติหรือ Normal Science แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในพาราไดม์เราจะเรียกว่า Paradigm Crisis หรือการเกิดวิกฤติการณ์ทางด้านเอกลักษณ์ หรือตำราบางเล่มอาจจะใช้คำว่า Sciencetific Revolution นั่นคือเกิดความคิด หรือเกิดการคัดค้านการยอมรับในพาราไดม์เดิมว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องอีกต่อไป
วิกฤติการณ์ด้านเอกลักษณ์ที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่การเกิดพาราไดม์ใหม่ถ้าสามารถทำให้การคัดค้าน หรือการนำเสนอประเด็นใหม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
ซึ่งทั้ง 5 พาราไดม์ที่นำเสนอโดยนิโคลัส เฮนรี่นั้น จะพบว่าได้เกิดวิกฤติการณ์ทางด้านเอกลักษณ์ 2 ครั้งด้วยกันคือ
วิกฤติการณ์ด้านเอกลักษณ์ครั้งที่ 1 เป็นการคัดค้าน พาราไดม์ที่ 1 และพาราไดม์ ที่ 2 เป็นการคัดค้านว่าการเมืองไม่สามารถแยกออกจากการบริหารได้ และการคัดค้านพาราไดม์ ที่ 2 ว่าในการบริหารงานภาครัฐนั้นไม่สามารถมีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนในการบริหารได้อย่างเป็นสากล
วิกฤติการณ์ทางด้านเอกลักษณ์ครั้งที่ 1 นี้นำไปสู่การเกิดพาราไดม์ที่ 3 คือการบริหารคือการเมือง และเกิดพาราไดม์ที่ 4 คือศาสตร์แห่งการบริหาร
วิกฤติการณ์ทางด้านเอกลักษณ์ครั้งที่ 2 เป็นช่วงที่การศึกษาการบริหารรัฐกิจได้รับอิทธิพลจากการศึกษาด้านพฤติกรรมศาสตร์ จึงทำให้เกิดการประชุมร่วมกันระหว่างนักวิชาการสมัยใหม่ร่วมกันประมาณปี 1968 และนำเสนอแนวคิดที่เรียกว่า New Public Administration หรือ New PA. ขึ้นมา และเป็นแนวคิดที่นำไปสู่การเกิดพาราไดม์ที่ 5 ขึ้นมา
แนวคิดแบบ New PA. นั้นเป็นแนวคิดที่มุ่งหวังให้วิชาการต่างๆทางด้านบริหารรัฐกิจเป็นวิชาที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคมมากขึ้น
หลักการของ New PA. ที่สำคัญๆคือ
-การคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในการบริหาร
-การยึดถือความเท่าเทียมกันและความเสมอภาคในการได้รับบริการจากรัฐของประชาชน
-รวมทั้งหลักการของการมีส่วนร่วม การกระจายอำนาจในการบริหารงาน
แนวคิดการบริหารงานสมัยใหม่
1.การจัดการภาครัฐแนวใหม่ New Public Management (NPM) สาเหตุที่สำคัญในการทำให้แนวคิดในการบริหารงานภาครัฐปรับจาก New PA.มาเป็น NPM เนื่องจาก
1.อิทธิพลของกระแสโลกาภิวัตน์ ที่ทำให้แต่ละประเทศมีการเชื่อมโยงติดต่อซึ่งกันและกันอย่างรวดเร็ว ทำให้การบริหารงานภาครัฐต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อก้าวให้ทันประเทศอื่นๆ
2.สภาพการแข่งขันระหว่างประเทศ ทำให้ประเทศพยายามลดต้นทุนการผลิตของตนเองให้เหลือน้อยที่สุด ทำให้มีการย้ายฐานการผลิตของประเทศในโลกตะวันตกมาสู่ตะวันออก ก่อให้เกิดการว่างงานจำนวนมากในประเทศตะวันตก ทำให้ประชาชนเรียกร้องให้รัฐบาลมีการปรับเปลี่ยนเพื่อแก้ปัญหา
ขณะเดียวกันอิทธิพลของเทคโนโลยีที่นำเครื่องจักรมาใช้แรงงานคนยิ่งทำให้ปัญหาการว่างงานมีความรุนแรงมากขึ้น
ปัญหาเหล่านี้ทำให้ภาครัฐต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการทำงานใหม่
3.วิกฤติการณ์ทางด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก การเกิดวิกฤติการณ์ทางด้านเศรษฐกิจส่งผลให้ภาครัฐหันมาทบทวนการใช้จ่ายภาครัฐ เช่น มีการปรับเปลี่ยนให้มีกำลังคนในภาครัฐมีจำนวนน้อยลง
4.การผูกขาดในภารกิจต่างๆของรัฐบาล ตามหลักการของ NEW PA ที่เริ่มต้นขึ้นในปี 1968 ต้องการให้ภาครัฐเข้าไปสร้างบริการสาธารณะอย่างทั่วถึง ทำให้รัฐมีบทบาทและภารกิจมากขึ้น และพบว่าหลายภารกิจไม่สามารถทำให้ดีได้ โดยเฉพาะบทบาทในทางเศรษฐกิจของประเทศ
จึงต้องมีการทบทวนเพื่อปรับลดบทบาทของภาครัฐ โดยดูว่าภารกิจที่รัฐยังต้องทำเอง และภารกิจใดที่ต้องปล่อยให้เอกชนเข้ามาดำเนินการแทน
5.การเติบโตของภาคเอกชนและองค์การประชาสังคม ทำให้รัฐต้องหันมาปรับบทบาทของตนเอง
6.ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในหน่วยงานภาครัฐ ที่แพร่หลายและทวีความรุนแรงก็เป็นสาเหตุสำคัญทีก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการบริหารงานภาครัฐ
7.การไม่มีประสิทธิภาพของระบบราชการ ที่ทำให้เกิดความล่าช้า มีการรวมอำนาจในการตัดสินใจ เน้นกฎระเบียบมากจนเกินไป
จากสภาพดังกล่าวทำให้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงแนวคิดในการบริหารรัฐกิจทำให้เกิดการบริหารรัฐกิจแนวใหม่อีกช่วงหนึ่ง ที่เป็นแนวคิดที่มีอิทธิพลในปัจจุบัน ซึ่งเรียกว่ากระแส New Public Management (NPM) และเป็นแนวคิดที่สำคัญที่อยู่เบื้องหลังการปฏิรูประบบราชการไทย
หลักการของ New Public Management (NPM)
1.การสร้างการบริการที่มีคุณภาพแก่ (Quality Service) ประชาชน นั่นคือภาครัฐจะต้องหันมาทบทวนว่าการดำเนินงานของรัฐจะทำอย่างไรที่จะให้บริการต่อประชาชนได้ดีขึ้น รวดเร็ว โปร่งใส ตรวจสอบได้
สำหรับหลักการสร้างบริการที่มีคุณภาพให้กับประชาชนเกิดขึ้นในเมืองไทยตั้งแต่ปี 2532 โดยมีการประกาศใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้ของรัฐปี 2532 เช่นมีการกำหนดว่าในการบริการประชาชนในแต่ละเรื่องจะต้องใช้เวลาเท่าไหร่ แต่ไม่ค่อยมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบมากนัก
2.สนับสนุนให้ลดการควบคุมจากส่วนกลางและเพิ่มอิสระในการบริหารงานให้แก่หน่วยงานมากขึ้น หรือเน้นการกระจายอำนาจ ผ่อนคลายกฎระเบียบให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ
การลดการควบคุมจากส่วนกลางเป็นที่มาของการจัดตั้งองค์การมหาชนในเมืองไทย และรวมถึงการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ส่วนท้องถิ่น
3.New PM ให้ความสำคัญกับผลการปฏิบัติงาน ดังนั้นแนวทางในการประเมินผลการปฏิบัติงานจึงได้รับความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ และทำให้เกิดการกำหนดการวัดผลงานที่ชัดเจนทั้งในระดับบุคคลและระดับองค์การ เพื่อนำผลการปฏิบัติงานไปเชื่อมโยงกับการให้รางวัลและค่าตอบแทน ทั้งในระดับบุคคลและระดับหน่วยงาน
แนวคิดนี้ทำให้ปัจจุบันทุกหน่วยราชการจะต้องมีการสร้างตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงานของทั้งบุคคลและหน่วยงาน และในอนาคตจะมีการนำ Balance Scorecard มาใช้ในการประเมินการปฏิบัติงานในระดับองค์การ
4.การสร้างระบบสนับสนุนด้านการพัฒนาบุคลากรเพื่อให้บุคคลากรได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา และยังสนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงานมากขึ้น
ในเมืองไทยก็มีการนำระบบสำนักงานอัตโนมัติมาใช้ การทำระบบ E-Gard ที่ทำให้เกิดความรวดเร็วในการติดต่อระบบราชการ
5.การจัดการภาครัฐแนวใหม่สนับสนุนให้มีการเปิดกว้างในการแข่งขัน หลักการในข้อนี้เกิดจากการที่รัฐบาลมีภารกิจมากจนเกินไป เข้าไปมีบทบาทในระบบเศรษฐกิจมากเกินไปและไม่มีประสิทธิภาพ New PM จึงเสนอว่ารัฐจะต้องยอมรับเรื่องของการแข่งขัน
การแข่งขันในที่นี้จะต้องมีความเสรี เป็นการแข่งขันที่จะให้เอกชนเข้ามาปฏิบัติงานในส่วนที่รัฐเคยทำและไม่มีประสิทธิภาพ เช่นการจ้างเหมา การให้เช่า หรือแม้กระทั้งการแปรรูป
การแข่งขันในส่วนนี้จะเป็นการแข่งขันระหว่างภาครัฐด้วยกัน หรือระหว่างรัฐกับเอกชนก็ได้
ตัวอย่างของการให้บริการโทรศัพท์เดิมที่รัฐเป็นผู้ดูและการให้บริหารจะมีปัญหามาก มีความล่าช้า แต่พอเปิดให้เอกชนเข้ามาแข่งขันทำให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีขึ้น รวดเร็วขึ้น
เมื่อมีการแข่งขันก็จะมีการนำกลไกการตลาดจะมาเป็นตัดสินว่าหน่วยงานใดดำเนินงานได้มีประสิทธิภาพมากกว่ากัน เพราะถ้าหน่วยงานใดบริหารจัดการได้ดีประชาชนก็จะเข้าไปใช้บริการจำนวนมาก
ขณะที่ภาครัฐเองก็มีการแข่งขันกัน เช่นมหาวิทยาลัยของรัฐก็มีการแข่งขันกันอย่างมากในแง่ของการให้การศึกษา
2.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
สำหรับแนวคิดในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นั้นความคิดเดิมคือการเน้นการลงทุนในตัวมนุษย์เพื่อให้มนุษย์กลายเป็นทุนทางด้านการผลิตเพื่อสร้างความเติบโตในทางเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบันการพัฒนามนุษย์เน้นการสร้างให้มนุษย์มีความมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจและจิตใจ รวมทั้งพัฒนาให้มนุษย์ความสุข ใช้ชีวิตโดยปรับตัวให้เข้ากับสังคมได้
นอกจากนี้ยังเน้นการลงทุนด้านการศึกษาเพื่อให้มนุษย์มีศักยภาพในการแข่งขันในการสร้างนวตกรรม
โดยเฉพาะทรัพยากรมนุษย์ในภาครัฐ หรือพนักงานของรัฐหรือข้าราชการในยุคใหม่จะแตกต่างไปจากข้าราชการยุคเดิม โดยเฉพาะทัศนคติในการทำงานราชการมีการปรับเปลี่ยนให้ทำงานเหมือนเอกชนมากขึ้น เน้นให้ประชาชนเป็นลูกค้า สร้างและผลิตนวัตกรรมเพื่อการบริการให้มากขึ้น
ความสำคัญของคนทำให้การบริหารทรัพยากรบุคคลปัจจุบันเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษยในเชิงกลยุทธ์ คือการเอาคนเป็นศูนย์กลาง การมองว่าคนเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดขององค์กร สำคัญกว่าทรัพยากรตัวอื่นๆ จึงต้องพัฒนาศักยภาพ (Competency) ให้มีความโดดเด่น เพื่อให้คนเป็นพลังนำไปสู่เป้าหมายขององค์กร
เนื่องจากทุกวันนี้เป็นยุคเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร องค์การแต่ละองค์การสามารถเรียนรู้ได้แทบจะเท่าเทียมกัน การทำงานขององค์กรทุกองค์กรแทบจะไม่มีอุปสรรคเกี่ยวกับสถานที่และเวลาอีกต่อไป ความสามารถในการแข่งขันขององค์การจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าองค์การตั้งอยู่ ณ ที่ใด หรือมีเทคโนโลยีเหนือกว่าอีกต่อไป แต่ ขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กรในยุคใหม่ขึ้นอยู่กับว่า องค์การไหนมีคนที่มีคุณภาพมากกว่ากัน
การพัฒนาคนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดขององค์การ และการพัฒนาคนที่ดีจะต้องพัฒนาในเชิงกลยุทธ์ด้วย โดยกลยุทธ์ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ขององค์กร
ลักษณะเช่นนี้ฝ่ายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ขององค์การที่เรียกว่า HR จะต้องเป็นนักยุทธศาสตร์ที่ต้องทำงานร่วมกับ CEO ขององค์การหัวหน้าฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ หรือ CHR (Chief Human Resource)ในองค์กรสมัยใหม่จะไม่ได้เป็นแค่งานธุรการที่ทำงานเฉพาะ เรื่องเงินเดือนและสวัสดิการพนักงานอีกต่อไป แต่ HR ในองค์กรเชิงกลยุทธ์จะต้องเป็น HR มืออาชีพหรือ HR Professional ที่ต้องคิดว่าจะสร้างและพัฒนาคนเพื่อให้คนมีขีดความสามารถ (Capabilities) ในการทำงาน มีการทุ่มเทในการทำงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายขององค์การได้อย่างไร
ทั้งนี้แนวคิดเชิงกลยุทธ์เป็นแนวคิดที่เริ่มต้นในวงการทหาร แต่ภาคเอกชนนำมาใช้ในการบริหารจัดการมานานแล้ว รวมทั้งในปัจจุบันที่ภาคเอกชนให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนเชิงกลยุทธ์ ส่วนภาคราชการเพิ่งนำมาปรับใช้ โดยเฉพาะประเทศไทยเราเริ่มใช้แนวคิดการบริหารองค์การราชการเชิงกลยุทธ์อย่างจริงจังในสมัยรัฐบาลทักษิณ
3.องค์การและการจัดการ
1.ทฤษฎีองค์การ
ทฤษฎีองค์การจะมีพัฒนาการคล้ายกับพัฒนาการของทฤษฎีการบริหารรัฐกิจ
เราสามารถแบ่งทฤษฎีองค์การออกเป็น 3 ยุคคือ
1.ทฤษฎีองค์การในยุคคลาสสิก (Classical Organization Theory) เป็นยุคเริ่มต้นของการศึกษาองค์การ แนวคิดหลักของยุคนี้คือความพยายามในการแสวงหาหลักการทำงานและหลักการบริหารที่ดีที่สุด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหาร
ทฤษฎีสำคัญๆในยุคนี้ เช่น
-การจัดการแบบวิทยาศาสตร์ของเฟดเดอริก ดับเบิลยู เทเลอร์
-หลักการบริหารของกุลลิค-เออร์วิค
-องค์การตามระบบราชการของแมกซ์ เวเบอร์
2.ทฤษฎีองค์การยุคนีโอคลาสสิก (Neoclassical Organization Theory) เป็นยุคที่นักวิชาการออกมาวิจารณ์แนวคิดในยุคแรก เนื่องจากแนวคิดยุคแรกให้ความสำคัญกับ หลักการทำงานและการการบริหารงานมากเกินไป โดยละเลยคนในองค์การ
ยุคนีโอคลาสสิกจึงเสนอว่า การจะให้องค์การมีการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพจะต้องให้ความสำคัญกับคนในองค์การทั้งในเรื่องของจิตใจ ความต้องการ และพฤติกรรมของบุคคลและกลุ่มในองค์การ
ทฤษฎีองค์การในยุคนี้จะมีจุดหลักอยู่ที่นักทฤษฎีในกลุ่มมานุษยนิยม (Humanism) เช่น เอลตัน เมโย /อับราฮัม มาสโลว์ /เฮอร์เบิร์ต ไชม่อน/แมรี่ ปากเกอร์ ฟอลลเลต และคนอื่นๆอีกมาก
โดยทฤษฎีที่นำเสนอส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของคน
3.ทฤษฎีองค์การยุคใหม่ (Modern Organization Theory) เป็นแนวคิดที่มองว่าทฤษฎีใน 2 ยุคแรกเป็นการมององค์การในระบบปิด (Closed Perspective) คือไม่สนใจสิ่งแวดล้อมภายนอกองค์การ
ทฤษฎีองค์การยุคใหม่มองว่าองค์การนั้นอยู่ภายใต้สภาวะแวดล้อมและสิ่งแวดล้อมมีผลอย่างยิ่งต่อองค์การและการบริหารงานในองค์การ ดังนั้นการศึกษาองค์การจึงควรศึกษาในระบบเปิด (Open Perspective)
ทฤษฎีองค์การในยุคใหม่เช่น
-ทฤษฎีการมององค์การเชิงระบบ (Systems Approach)
-ทฤษฎีองค์การตามสถานการณ์ (Situation or Contingency Approach)
-ทฤษฎีองค์การที่เน้นการกระทำ (The Action Approach)
กล่าวคือทฤษฎีองค์การยุคใหม่จะเน้นองค์การที่ไม่เป็นทางการ มีความยืดหยุ่นสูง ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็ว
2.โครงสร้างองค์การ
โครงสร้างองค์การจะสอดคล้องกับทฤษฎีองค์การ นั่นคือในยุคแรกโครงสร้างขององค์การก็จะมีความเป็นทางการ ส่วนปัจจุบันโครงสร้างขององค์การมีลักษณะยืดหยุ่นสูง ปรับตัวได้ง่าย
สำหรับรูปแบบโครงสร้างองค์การที่สำคัญประกอบด้วย
1.โครงสร้างแบบราชการของเวบเบอร์ มีหลักการคือ
1.1 เหมาะกับองค์การขนาดใหญ่ ที่มีคนมาก ภารกิจมา ซึ่งเป็นองค์การที่มีภารกิจหน่วยงานย่อยๆหลายหน่วยงาน
1.2 มีการกำหนดสายการบังคับบัญชาที่ชัดเจน (Hierarchy)
1.3 มีความเป็นทางการสูง มีการกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงานที่ชัดเจน มีการจัดทำคู่มือในการทำงานเอาไว้อย่างชัดเจน
1.4 สภาพแวดล้อมมีความคงที่
2.โครงสร้างแบบ Matrix
จะเป็นโครงสร้างที่อยู่ภายใต้ระบบราชการเช่นกัน แต่โครงสร้างแบบนี้จะใช้ในกรณีมีภารกิจใหม่ และจะนำคนที่อยู่ภายในหน่วยงานย่อยต่างๆมาทำงานร่วมกันในภารกิจใหม่ โดยมีหัวหน้าที่ดูแลรับผิดชอบงานตามภารกิจใหม่ และคนในหน่วยงานย่อยที่มาทำงานในภารกิจพิเศษก็จะมีหัวหน้า 2 คน แต่หัวหน้าที่รับผิดชอบในภารกิจพิเศษจะใช้วิธีการสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นกับทีมงาน อาจจะใช้บารมี แต่ไม่มีอำนาจโดยตรงต่อทีมงานที่เข้ามาร่วมงาน
การจัดโครงสร้างแบบนี้จะเป็นการใช้ประโยชน์จากกำลังคนอย่างเต็มที่
ผู้ว่าราชการจังหวัดถือว่าทำงานภายใต้โครงสร้างแบบ Matrix เนื่องจากต้องทำหน้าที่ประสานงานให้หน่วยงานที่เป็นตัวแทนของกรม หรือกระทรวงต่างๆภายในจังหวัดมาทำงานเพื่อผลประโยชน์ของคนในจังหวัดได้
3.โครงสร้างแบบโครงการหรือแบบคณะกรรมการ
โครงสร้างองค์การแบบคณะกรรมการอาจจะเป็นแบบถาวรหรือชั่วคราวก็ได้ ตัวอย่างที่ถาวรเช่นคณะกรรมการอาหารและยา
โครงสร้างแบบนี้จะนำเอาผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขามาทำงานร่วมกันในรูปแบบขององค์การแนวราบ (Flat) จะมีหัวหน้า 1 คนเช่นมีเลขาธิการ 1 คน ส่วนคนอื่นๆก็จะเป็นกรรมการ
โครงสร้างแบบคณะกรรมการจะเน้นการบริหารงานแบบมีส่วนร่วม และอาจจะมีขึ้นภายในองค์การที่มีโครงสร้างแบบราชการดำรงอยู่แล้ว และเมื่อมีภารกิจใหม่หรือโครงการใหม่ก็จะจัดโครงสร้างขึ้นมาใหม่ เมื่อจบภารกิจก็จะยุบเลิกไป
คนที่เข้ามาอยู่ในทีมงานจะมาจากบุคคลภายนอกหากต้องหาศัยผู้เชี่ยวชาญมาทำงาน เป็นการจ้างแบบชั่วคราว เมื่อจบภารกิจก็ยุบเลิกไป
4.โครงสร้างแบบเครือข่าย
จะเป็นโครงสร้างที่มีหน่วยงานหลายหน่วยงานที่มีโครงสร้างในแบบต่างๆมาทำงานร่วมกัน เช่นบริษัทเสื้อผ้าจะมีหน่วยงานสนับสนุน เช่นจ้างบริษัทสำรวจตลาด จ้างบริษัทออกแบบ จ้างบริษัทตัดเย็บ และจ้างบริษัทจัดจำหน่าย โดยมีบริษัทเจ้าของแบรนด์เนมเป็นผู้บริหารจัดการ
ความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานจะไม่มีสายการบังคับบัญชา มีความยืดหยุ่นสูง การบอกเลิกจ้างทำได้ง่าย
การจัดโครงสร้างแบบนี้ทำให้หน่วยงานหลักไม่ต้องไปทำงานทุกอย่างด้วยตนเอง
5.โครงสร้างองค์การตามสถานการณ์ (Contingency Organization) เป็นโครงสร้างที่ถูกนำมาใช้มากในปัจจุบัน
สมมุติฐานของโครงสร้างองค์การตามสถานการณ์
-โครงสร้างองค์กรแต่ละแบบ จะไม่มีแบบใดดีที่สุดที่ใช้ได้ตลอดเวลาหรือทุกสถานที่ (เหมือนกับไม่มียาใดที่รักษาได้ทุกโรค)
-โครงสร้างแต่ละแบบมีประสิทธิผลไม่เท่ากัน
-การจัดโครงสร้างองค์การจึงควรขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและบริบทขององค์การ
เช่นถ้าคนในองค์การไม่มีความรู้ด้านเทคโนโลยี องค์การก็ไม่สามารถจัดโครงสร้างองค์การแบบเสมือนจริงได้
-องค์การจะต้องเป็นระบบเปิด องค์การสมัยใหม่จึงต้องเปิดรับเทคโนโลยีเพื่อทำให้องค์การมีความสามารถในการปรับตัว เพื่อให้อยู่รอด (Survival) และนำมาองค์การไปสู่ความเป็นเลิศ (Excellence)
-การตัดสินในในองค์การต้องอาศัยหลักการตัดสินใจแบบมีเหตุผล
จากรูปแบบโครงสร้างหลายรูปแบบ สามารถแบ่งโครงสร้างองค์การออกเป็น 2 กลุ่มคือ
1.โครงสร้างองค์การแบบเครื่องจักร (Mechanistic Organization) จะเป็นโครงสร้างที่ตายตัว มีความคงที่ เหมาะสำหรับงานประจำ มีสภาพแวดล้อมที่นิ่ง มีความชัดเจน เช่นโครงสร้างตามระบบราชการของเวเบอร์
2.โครงสร้างองค์การแบบสิ่งมีชีวิต ( Organic Organization ) เป็นโครงสร้างที่มีความยืดหยุ่น เหมาะสำหรับสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลง งานที่มีโครงสร้างไม่ชัดเจน และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตลอดเวลา
นโยบายสาธารณะ (Public Policy)
ประเด็นสำคัญที่เราต้องเข้าใจในเรื่องนโยบายคือ กระบวนการนโยบาย (Policy Process) ซึ่งประกอบด้วย
1.การกำหนดนโยบาย (Policy Formulation)
2.การนำนโยบายไปปฏิบัติ (Policy Implementation)
3.การประเมินผลนโยบาย (Policy Evaluation)
สำหรับการศึกษานโยบายในเชิงการเมือง หรือในฐานะที่เป็นนักรัฐศาสตร์มักจะมุ่งตอบคำถามว่านโยบายเกิดขึ้นได้อย่างไร หรือเบื้องหลังของนโยบายของรัฐบาล
แต่ละนโยบายนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร ทำให้เราต้องเข้าใจถึงตัวแบบในการกำหนดโนบาย
ตัวแบบในการกำหนดนโยบาย (ตามแนวคิดของโทมัส ดาย) ประกอบด้วยตัวแบบที่สำคัญๆคือ
1.ตัวแบบผู้นำ (Elite Model) มองว่านโยบายสาธารณะนั้นเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นความต้องการของผู้นำ หรือ Policy as Elite Preference
2.ตัวแบบกลุ่ม (Group Model) คือตัวแบบที่มองว่านโยบายคือดุลยภาพระหว่างกลุ่ม (Policy as Group Equilibrium) กลุ่มใดที่มีอิทธิพลมากนโยบายก็จะค่อนไปทางกลุ่มนั้น
3.ตัวแบบสถาบัน (Institutional Model) มองว่านโยบายสาธารณะนั้นคือกิจกรรมของสถาบันของรัฐ ดังนั้นสถาบันของรัฐจะมีบทบาทในการกำหนดนโยบายโดยสถาบันที่ว่านี้จะมีทั้งสถาบันหลัก (Official Policy Maker) และสถาบันรอง (Un-Official Policy Maker)
4.ตัวแบบกระบวนการ (Process Model) มองว่านโยบายสาธารณะคือกิจกรรมทางการเมือง (Policy as Political Activities)นั่นคือมองว่าในทุกขั้นตอนของกระบวนการนโยบายจะมีการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องเสมอ ไม่ว่าจะเป็นขั้นการกำหนดนโยบายที่ฝ่ายการเมืองเป็นผู้ที่กำหนดนโยบาย ขั้นการนำนโยบายไปปฏิบัติฝ่ายการเมืองก็จะเข้าไปดูแลกำกับการนำนโยบายไปปฏิบัติ ในขั้นการประเมินผลนโยบายฝ่ายการเมืองก็จะนำเอาข้อมูลเหล่านี้ไปพิจารณาว่าจะนโยบายนั้นควรจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องหรือควรจะยกเลิกนโยบาย
5.ตัวแบบระบบ (System Model) มองว่านโยบายคือผลผลิตของระบบ (Systems Outputs)
6.ตัวแบบมีเหตุผล (Rational Model) เป็นตัวแบบที่มองว่านโยบายหมายถึง (Policy as Maximum Social Gain)**ตัวแบบนี้มักจะถูกนำมาออกข้อสอบเสมอ โดยมักจะถามว่าความมีเหตุผลของนโยบายนั้นดูจากอะไร และอะไรที่เรียกว่า Social Gain หรือผลประโยชน์ตอบแทนทางสังคมสูงสุด การจะตอบคำถามนี้เราจะต้องเข้าใจขั้นตอนการกำหนดนโยบายตามตัวแบบมีเหตุผลว่ามีการพิจารณาอย่างไรบ้างที่แสดงให้เห็นว่านโยบายนั้นๆใช้ตัวแบบ Rational Model ในการกำหนด
กล่าวคือเราจะต้องทำความเข้าใจตั้งแต่ต้นว่าในการกำหนดปัญหาจะต้องดูว่าเป็นปัญหาหรือความต้องการของที่แท้จริงของประชาชนและต้องดูว่าปัญหาหรือความต้องการนั้นมีทางเลือกในการแก้ไขหรือดำเนินการกี่ทางเลือก จากนั้นต้องดูว่าแต่ละทางเลือกมีข้อดีข้อเสียอย่างไร และจะต้องเลือกทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด
ดังนั้นตาม Rational Model จึงเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงเหตุผลในการกำหนดนโยบายว่านโยบายนั้นจะต้องเป็นนโยบายที่ทำให้เกิดผลตอบแทนกับสังคมส่วนรวมสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายต่างๆที่จะต้องเสียไปในการดำเนินนโยบาย
7.ตัวแบบส่วนที่เปลี่ยนแปลงหรือตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป (Incremental Model) เป็นตัวแบบที่ใช้ตัวแบบในอดีตมาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดนโยบาย โดยมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในบางส่วน หรือ Policy as Variation on the Past
8.ตัวแบบทฤษฎีเกมส์ (Game Theory Model) เป็นตัวแบบที่มองว่านโยบายคือทางเลือกที่มีเหตุมีผลในท่ามกลางสถานการณ์ที่มีการแข่งขัน ซึ่งตัวแบบนี้จะเน้นในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวกับการป้องกันประเทศ
ถ้าข้อสอบออกเรื่องนโยบาย แล้วให้เราวิเคราะห์สาเหตุของการเกิดนโยบายเราจะต้องเอาตัวแบบเหล่านี้ไปวิเคราะห์ ถ้าออกให้เราวิเคราะห์ผลของนโยบายเราอาจจะต้องนำเอาแนวคิดทฤษฎีในส่วนของการการนำนโยบายปฏิบัติและการประเมินผลนโยบายไปวิเคราะห์ เพราะในแต่ละขั้นของกระบวนการนโยบายจะมีทฤษฎีที่นำไปวิเคราะห์ได้
ตัวแบบในการนำนโยบายไปปฏิบัติ
1.ตัวแบบที่ยึดหลักเหตุผล (Rational Model) เชื่อว่า ความสำเร็จของการนำนโยบายไปปฏิบัติอยู่ที่ประสิทธิภาพของการวางแผนวางโครงการที่ดีและการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ เหตุผลที่ดีของการนำนโยบายไปปฏิบัติการทำให้นโยบายบรรลุความสำเร็จ
และการจะทำให้นโยบายบรรลุเป้าหมายได้ต้องมีกระบวนการต่อไปนี้
-นโยบายต้องกำหนดวัตถุประสงค์และภารกิจที่ชัดเจน
-มอบหมายงานและกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติให้แก่หน่วยย่อยอย่างชัดเจน
-มีระบบการวัดผลการปฏิบัติงานที่ชัดเจน
-มีการให้คุณให้โทษ
2.ตัวแบบด้านการจัดการ (Management Model) มองว่า ความสำเร็จของการนำนโยบายไปปฏิบัติอยู่ที่สมรรถนะขององค์การ ทั้งนี้ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จของนโยบายขึ้นอยู่กับ
-การเป็นองค์การที่มีความรับผิดชอบ
-เป็นองค์การมีความสามารถ
-มีโครงสร้างเหมาะสม
-บุคลากรมีความรู้ความสามารถทางการบริการและเทคนิค
-มีการวางแผนเตรียมความพร้อมได้แก่
-วัสดุอุปกรณ์
-สถานที่
-เครื่องมือเครื่องใช้
-งบประมาณ
3. ตัวแบบด้านการพัฒนาองค์การ (Organization Development Model) เชื่อว่า องค์การทำงานได้ก็โดยอาศัยคน สมรรถนะขององค์การจึงขึ้นอยู่กับความสามารถของคนเป็นสำคัญ นโยบายจะสำเร็จเพราะคนในองค์การมีความร่วมมือกัน ปัจจัยที่อยู่ภายใต้ตัวแบบนี้ได้แก่
-การสร้างความผูกพันและการยอมรับ
-เน้นการมีส่วนร่วมภายในองค์การเป็นหลัก โดยให้ความเชื่อว่าการมีส่วนร่วมจะทำให้เกิดการทำงานเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพ
-มีการจูงใจ แบ่งได้ 2 ประเภทคือวัตถุสิ่งของ(การให้สิ่งของวัตถุ) และไม่ใช่วัตถุสิ่งของเช่นชื่อเสียง เกียรติยศ การมีโอกาสดีกว่าคนอื่น การเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่ง
-การใช้ภาวะผู้นำที่เหมาะสม
-การสร้างการยอมรับและความผูกพันของสมาชิก
-การสร้างทีมงาน
4. ตัวแบบกระบวนการราชการ (Bureaucratic Process Model) ตัวแบบนี้มองว่าผลของการนำนโยบายไปปฏิบัติขึ้นอยู่กับปัจจัยสองประการคือ
1. ระดับความเข้าใจสภาพความเป็นจริงในการให้บริการของผู้กำหนดนโยบายหรือผู้บริหารโครงการพัฒนา
2. ระดับการยอมรับนโยบายเข้าเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่ประจำวันของผู้ปฏิบัติ
5. ตัวแบบทางการเมือง (Political Model) มองว่าความสำเร็จของการนำนโยบายไปปฏิบัติอยู่ที่คนที่เกี่ยวข้องกับการนำนโยบายไปปฏิบัติ ได้แก่
-บุคคลที่เป็นตัวแทนขององค์การ
-กลุ่มหรือสถาบัน
-ความสัมพันธ์กับปัจจัยภายนอก
การเจรจาต่อรองจึงเป็นหัวใจสำคัญของตัวแบบนี้ ความสำเร็จของการเจรจาต่อรองขึ้นอยู่กับ
-ความสามารถในการเจรจา
-สถานะอำนาจ ถ้ามีอำนาจจะทำให้เกิดความมั่นใจในการตัดสินใจมากขึ้น การเจรจาต่อรองทำได้สำเร็จเร็วขึ้น
-ทรัพยากร คนที่มีทรัพยากรมากกว่าย่อมต่อรองได้ดีกว่า
-คนที่เกี่ยวข้องในการเจรจาต่อรอง ยิ่งมีคนมากก็ยิ่งเจรจากันได้ยาก
-การสนับสนุนจากฝ่ายอื่น ๆ ได้แก่ สื่อมวลชน นักการเมือง หัวหน้าหน่วยงาน กลุ่มผลประโยชน์ บุคคลสำคัญ
6. ตัวแบบทั่วไป เป็นการผสมผสานปัจจัยจากหลายตัวแบบเข้าด้วยกัน ตัวแบบนี้ซึ่งให้ความสำคัญกับ
-กระบวนการสื่อความ
-สมรรถนะขององค์การ
-ความร่วมมือสนับสนุนของผู้ปฏิบัติ
-ลักษณะของหน่วย
-ความรู้ความสามารถของบุคคล
-ความพร้อมที่จะร่วมมือ
-สมรรถนะขององค์การ
-ลักษณะของหน่วยงานที่นำนโยบายไปปฏิบัติ
-หัวหน้าหน่วย
-ทรัพยากรเพียงพอ
-กิจกรรมจูงใจให้ปฏิบัติ
-คุณภาพของบุคลากร
-ภาวะทางเศรษฐกิจ สังคม ความร่วมมือทั่วไป
-ความร่วมมือกันเองของผู้ปฏิบัติ
-ความภักดีต่อองค์กร
-ผลประโยชน์ส่วนตัว
ตัวแบบในการประเมินผลนโยบาย
1.ตัวแบบ CIPP มองว่าในการประเมินผลจะต้องประเมินปัจจัยต่างๆ คือ
-Context หรือสภาพแวดล้อม ซึ่งก็คือการประเมินสภาพแวดล้อมหรือประเมินวัตถุประสงค์ของนโยบาย
- Inputs การประเมินปัจจัยเบื้องต้นหรือทรัพยากรที่เรานำมาใช้ ว่ามีเพียงพอและมีคุณภาพพอที่จะดำเนินโครงการอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่
-Process การประเมินกระบวนการ เป็นการประเมินปัญหา อุปสรรค จุดเด่นจุดด้อยและปัญหาของโครงการ
-Products การประเมินผลได้จากนโยบายหรือโครงการ หรือประเมินผลที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ
การประเมินนโยบายตาม CIPP ถือว่าเป็นการประเมินนโยบายครบวงจร ทั้งก่อนดำเนินโครงการ ระหว่างดำเนินโครงการ และหลังการนำนโยบายไปปฏิบัติ แต่ส่วนใหญ่ที่ทำกันคือประเมิน Product
2.การประเมินตามเกณฑ์
ส่วนมากจะให้ความสำคัญกับเกณฑ์ 2 ตัวหลักคือ
1.การประเมินประสิทธิผล (Effectiveness) เป็นการประเมินเพื่อดูว่านโยบายประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์หรือไม่ ถ้านโยบายบรรลุตามวัตถุประสงค์แสดงว่านโยบายนั้นมีประสิทธิผล
2.การประเมินประสิทธิภาพ (Efficiency) เป็นการประเมินว่าผลของนโยบายมีความคุ้มค่ากับต้นทุนที่ลงไปหรือไม่ ต้นทุนในที่นี้มีทั้งต้นทุนด้านเวลา ต้นทุนด้านงบประมาณ และต้นทุนด้านอื่นๆ เช่นด้านสังคม
แต่ต่อมาการประเมินผลนโยบายได้เพิ่มเกณฑ์อื่นคือ
3.ความเสมอภาค
4.ความยุติธรรม
5.ความพึงพอใจ
6.ผลที่เกิดขึ้นในทางสังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต
7.ผลที่เกิดขึ้นในด้านสิ่งแวดล้อม
(การที่จะใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการประเมินขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการประเมิน ซึ่งวัตถุประสงค์ในการประเมินก็ควรจะสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของนโยบาย)
โดยสรุป ปัจจุบันการบริหารงานภาครัฐ ได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดการทำงานจากการทำงานแบบดั้งเดิมที่เน้นความเป็นระบบราชการ มาเป็นการจัดการภาครัฐที่ยิบยืมแนวคิดแบบเอกชนมาใช้
เราจึงพบว่ามีการเปลี่ยนจากคำว่า Public Administration มาเป็น Public Management
ความแตกต่างระหว่างคำว่า “การบริหาร” (Administration) กับคำว่า “การจัดการ” (Management) จะอยู่ที่ “วิธีการ” กล่าวคือการบริหารจะเกี่ยวข้องกับการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นขั้นตอนตามลำดับโดยต้องทำตามระเบียบปฏิบัติที่กำหนดไว้แล้ว ส่วนการจัดการจะเกี่ยวข้องกับการใช้ดุลยพินิจในการจัดสรรทรัพยากรเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
ยุคโลกาภิวัตน์นี้ สภาพการณ์ต่างๆได้บีบบังคับให้ภาครัฐและเอกชนต้องทำงานอย่างประสานร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวมให้สูงขึ้นการร่วมมือกันนี้ทำให้เกิดการถ่ายโอน “เทคนิคและวิธีการบริหารจัดการ” ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อให้เกิดการดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดได้
การที่ภาครัฐและเอกชนต้องทำงานร่วมกันเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเช่นนี้ ทำให้เกิดความจำเป็นในการต้องลดค่าใช้จ่ายต่างๆ (ลดต้นทุนการผลิต) ที่เกิดจากการติดต่อประสานงานกันให้เหลือน้อยที่สุด
แต่อุปสรรคสำคัญในเรื่องของการลดต้นทุนนี้ก็คือมาตรการควบคุม(ตามระเบียบกฎเกณฑ์) ของภาครัฐ และการใช้ดุลยพินิจ (อย่างไม่แน่นอนและไม่ชัดเจน) ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
ดังนั้น ปัญหาที่ภาครัฐและภาคเอกชนต้องร่วมกันแก้ไขก็คือจะทำอย่างไรให้มาตรการควบคุมของภาครัฐผ่อนคลายลง (โดยมีความยืดหยุ่นมากขึ้น) พร้อมๆ กับการลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ลงด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจในการประกอบธุรกิจได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น (เพราะการใช้ดุลยพินิจ อาจทำให้เกิด Double Standards ที่ทำให้ภาคเอกชนบางรายเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกัน และส่งผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม)
ผู้นำของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจึงต้องอาศัย “เทคนิคและวิธีการบริหารจัดการ” ต่างๆ มากมาย เพื่อให้สามารถดำเนินการบรรลุเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลง (ที่ได้มีการวางแผนไว้ล่วงหน้าแล้ว) และที่สำคัญที่สุดก็คือผู้นำในการบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Leader) ควรจะต้องอยู่ในอำนาจหน้าที่นั้นนานเพียงพอที่จะดำเนินการจนบรรลุผลสำเร็จด้วย
ดังนั้นทุกวันนี้การจัดการภาครัฐ จึงเป็นบริหารรัฐกิจยุคใหม่ โดย
-บริหารคนโดยยึดคนเป็นเป็นศูนย์กลาง พัฒนาคน ทั้งกาย จิตใจ สติปัญญา
-บริหารงาน โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อม บริหารงานท่ามกลางเงื่อนไขที่ยืดหยุ่น บริหารงานในลักษณะงานเฉพาะกิจ องค์การต้องเป็นองค์การแบบ Organic ไม่ใช่ Mechanic
-บริหารเงิน โดยโปร่งใส กระจายอำนาจ
***ที่สำคัญกระแสที่มาแรงมากคือการ บริหารงาน บริหาร และบริหารเงิน ในเชิงคุณธรรม จริยธรรม แต่ ยังไม่ทิ้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล ในการบริหารงาน
ทฤษฎีในการบริหารรัฐกิจยุคใหม่นั้นจะเรียกว่า Public Management หรือ Mangerialism เป็นแนวคิดเชิงปฏิรูป บริหารราชการในอนาคตรัฐยังเป็นเจ้าของแต่จะต้องบริหารเชิงธุรกิจเอกชน
การปฏิรูประบบราชการ
ประมาณปี 2523 (1980) ได้เกิดแรงผลักดันที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มีทั้งแรงผลักดันที่มาจากทั้งภายนอกและภายใน
แรงผลักดันภายนอกที่สำคัญๆได้แก่
-อิทธิพลของโลกาภิวัตน์และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่มีอิทธิพลต่อการทำงานในระบบราชการมากขึ้น
-สภาพการแข่งขันระหว่างประเทศ ทำให้หน่วยราชการต้องปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อรองรับการแข่งขัน
-วิกฤติทางด้านเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้ระบบราชการถูกทบทวน โดยเฉพาะในเรื่องของงบประมาณ โดยเฉพาะงบประมาณในด้านค่าตอบแทนและเงินเดือนข้าราชการที่พบว่ามีสูงมากแต่ประสิทธิภาพในการทำงานยังต่ำ ดังนั้นจึงต้องมี
-แนวคิดในการปรับลดบทบาทภาครัฐ เนื่องจากการที่รัฐมีบทบาทมากในช่วงก่อนหน้านั้นได้ก่อให้เกิดปัญหามากกมาย โดยเฉพาะการขาดประสิทธิภาพในการทำงาน ทำให้ต้องมีการลดบทบาทของภาครัฐลง
-การเติบโตและความเข้มแข็งของภาคเอกชน รวมทั้งความเข้มแข็งขององค์การประชาสังคม ทำให้ภาครัฐซึ่งมีสภาพที่อ่อนแอจะต้องหันมามองตนเอง และถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลง
แรงผลักดันที่เกิดจากภายในตัวระบบราชการเอง คือ
-ความเสื่อมของระบบราชการ (Bureaucratic Pathology) ซึ่งเกิดจาก
/ การไม่มีประสิทธิภาพ
/การขยายอำนาจของระบบราชการ
/เกิดการทำงานที่ล่าช้า
/ข้าราชการต่อต้านการเปลี่ยนแปลง
/การทำงานเน้นกฎระเบียบจนขาดการคำนึงถึงความเป็นมนุษย์
-เกิดสิ่งที่เรียกว่า Dirty Government เกิดจาก
/การขาดการมีส่วนร่วม ของข้าราชการ แต่การตัดสินใจอยู่ที่ผู้บริหาร
/มีการทุจริต
/ขาดความโปร่งใสและการตรวจสอบ
เหล่านี้คือปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบราชการไทย และแรงผลักดันเหล่านี้เป็นแรงผลักดันที่ผู้บริหารประเทศมองเห็นและยอมรับว่าระบบราชการควรจะมีการเปลี่ยนแปลง แต่ยังไม่มีการตัดสินใจที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ความต้องการในการเปลี่ยนแปลงยังคงมีอยู่โดยมีเป้าหมายที่สำคัญเพื่อให้ระบบราชการเกิดสิ่งต่อไปนี้คือ
1.ความโปร่ง (Transparency)
2.เกิดคุณภาพในการบริหารจัดการ (Quality)
3.การบริหารงานที่มีประสิทธิผล (Effectiveness)
4.การบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ (Efficiency)
เดือนตุลาคม 2545 ก็ได้มีการปฏิรูประบบราชการอย่างเป็นรูปธรรม โดยตรารบ.บริหารราชการแผ่นดินฉบับที่ 5 ขึ้น และในมาตรา 3/1 มีการบัญญัติว่าการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการจะต้องทำโดยการบริหารจัดการที่ดี เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน และมีความคุ่มค่าในการใช้งบประมาณของรัฐ มีประสิทธิภาพ การลดขั้นตอนการปฏิบัติ
จากนั้นรัฐบาลก็ได้ออกกฎหมายปฏิรูปโครงสร้าง กระทรวง ทบวงกรม 2545 มาใช้ในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของกระทรวง เพื่อนำไปสู่การปฏิรูประบบราชการ
เป้าหมายของการปฏิรูป
1.การจัดส่วนราชการใหม่
2.ต้องการพัฒนาการจัดองค์การในระบบราชการใหม่
3.การกำหนดแบบแผนในการปฏิบัติราชการเพื่อให้เกิด Good Governance
หลังจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหน่วยราชการเวลานี้การปฏิรูประบบราชการกำลังอยู่ในขั้นของการปฏิรูปพฤติกรรมของข้าราชการ ดังจะพบว่ารัฐบาลพยายามออกโครงการต่างๆเพื่อให้ข้าราชการทำงานอย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น เช่นการทำโครงการระยะ 3 ที่ต้องการพัฒนาข้าราชการถ้าพัฒนาไม่ได้ก็ต้องออกจากระบบ หรือการให้ข้าราชการแต่ละคนประเมินงานของตนเอง
สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งในปัจจุบันคือการปฏิรูประบบราชการของเราที่เดินมาตั้งแต่ปี 2545 ตอนนี้ไปถึงไหนแล้ว
|
|
ประพันธ์ เวารัมย์ [101.51.55.xxx] เมื่อ 14/01/2017 13:57
|