สถิติ
เปิดเมื่อ21/09/2014
อัพเดท11/07/2015
ผู้เข้าชม1714579
แสดงหน้า2188719
บทความ
ประวัติ นายประพันธ์ เวารัมย์ (เจ้าของเว็บไซต์)
ประวัตินายประพันธ์ เวารัมย์ เจ้าของเว็บไซต์ แบ่งปันความรู้สู่ความก้าวหน้า
รู้จัก ด.ช.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านนิตยสารชัยพฤกษ์ ปี 2512
รู้จัก ด.ช.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านนิตยสารชัยพฤกษ์ ปี 2512
เปิดประวัติ พล.อประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 29
เปิดประวัติ พล.อประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 29
ข้อมูลเตรียมสอบปลัดอำเภอ
้ข้อมูลเตรียมสอบปลัด 2
แนวข้อสอบปลัดอำเภอ
คู่มือการดูแลรักษาและคุ้มครองที่สาธารณประโยชน์
เจ้าของเว็บไซต์
โครงสร้างเตรียมสอบปลัดอำเภอ ข้อสอบที่เคยออกปี 2548 และปี 51-55 (สำหรับผู้ใฝ่ฝัน เป็นปลัดอำเภอ)
เตรียมสอบปลัดอำเภอ
ตู้หนังสือ แบ่งปันความรู้สู่ความก้าวหน้า
คู่มือปฏิบัติงานกองอาสารักษาดินแดน
วันสถาปนากองอาสารักษาดินแดน
​หนังสือคู่มือการทะเบียนราษฎร
เตรียมสอบปลัดอำเภอ
หนังสือสั่งการต่างๆ เกี่ยวกับท้องถิ่น
ท้องถิ่นกำลังจะแก้ไขหลักเกณฑ์การสอบใหม่
เรื่องทั่้วไป
เว็บไซต์กระทรวงต่างๆ 20 กระทรวง
แบ่งปันความรู้สู่ความก้าวหน้า
ยังจำท่านได้ดี ท่านสิริรัฐ (สถาพร) ชุมอุปการ (นายอำเภอประโคนชัย ปี 2547)
สวัสดีวันพุธ ที่ 24 เดือน กันยายน พ.ศ. 2557 ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 11
เอกสารเตรียมสอบปลัดอำเภอ เนื้อหาเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล
เอกสารเตรียมสอบปลัดอำเภอ (ชุดที่ 2)
เอกสารเตรียมสอบปลัดอำเภอ (ชุดที่ 1)
หนังสือปฏิบัติงานกรมการปกครอง
คู่มือการปฏิบัติหน้าที่ของกรมการปกครอง ของปลัดอำเภอ
รวมกฎหมายปกครองที่เล่ม 5
รวมกฎหมายปกครองที่เล่ม 4
รวมกฎหมายปกครองเล่ม 3
รวมกฎหมายปกครอง เล่ม 1
รวมกฎหมายปกครอง เล่ม 2
ปฎิทิน
April 2025
Sun Mon Tue Wed Thu Fri Sat
  
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
   




ย่อตัวบท ตาม ป.พ.พ., ป.อ., ป.วิ.อ.เตรียมสอบปลัดอำเภอ และส่วนราชการอื่นๆ

ย่อตัวบท ตาม ป.พ.พ., ป.อ., ป.วิ.อ.เตรียมสอบปลัดอำเภอ และส่วนราชการอื่นๆ
อ้างอิง อ่าน 424 ครั้ง / ตอบ 1 ครั้ง

ประพันธ์ เวารัมย์
ย่อตัวบท ตาม ป.พ.พ., ป.อ., ป.วิ.อ. เตรียมสอบปลัดอำเภอ และส่วนราชการอื่นๆ

1. สภาพบุคคล : ม.15 สภาพบุคคลย่อมเริ่มตั้งแต่คลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก
2. ความสามารถของบุคคล ม.19 บุคคลบรรลุนิติภาวะเมื่อ อายุ 20 ปี บริบูรณ์
ม.20 เมื่อสมรส
3. ภูมิลำเนา (กรณีนอกเหนือจากที่มีชื่อในทะเบียนราษฎร เช่น ถูกจำคุกคดีถึงที่สุด เรือนจำถือเป็นภูมิลำเนาด้วย)
4. สาบสูญ กรณีปกติ 5 ปี ไม่ปกติ 2 ปี
5. ทรัพย์ หมายความว่า วัตถุมีรูปร่าง
6. ทรัพย์สิน หมายความรวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและถือเอาได้
7. ทรัพย์นอกพาณิชย์ หมายความว่า ทรัพย์ที่ไม่สามารถถือเอาได้ และทรัพย์ที่โอนแก่กันมิได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
8. ส่วนควบ ต้นไม้ยืนต้นถือเป็นส่วนควบของที่ดิน
9. นิติกรรม คือ การใดๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ
10. การแสดงเจตนา ทางโทรศัพท์ และทางโทรสาร มีผลเมื่อใด โทรศัพท์มีผลทันที โทรสารเมื่อได้รับหรือเห็นเอกสาร
11. อายุความการกู้ยืมเงิน ใช้ 10 ปี
12. กู้ยืมเงินตั้งแต่ 2,000 บาท ขึ้นไป ถ้าไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้กู้ยืม ฟ้องบังคับคดีไม่ได้
13. บุริมสิทธิ์คือ สิทธิของผู้ทรงที่จะได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้คนอื่นๆ เช่น จำนอง จำนำ
14. สัญญาเกิดเมื่อใด..คำเสนอและคำสนองถูกต้องตรงกัน 
15. มัดจำ คือ สิ่งที่ให้ไว้เป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำขึ้นแล้ว เพื่อเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้น
16. ลาภมิควรได้ คือ ทรัพย์สิ่งใดที่บุคคลอีกคนหนึ่งกระทำเพื่อการชำระหนี้ หรือได้มาด้วยประการอื่นโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งเสียเปรียบ
17. การคืนทรัพย์กรณีลาภมิควรได้ คืนตามสภาพที่มีและคงอยู่เหลืออยู่
18. ละเมิด คือ จงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ...ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
19. นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้าง กรณีกระทำไปในทางการที่จ้าง
20. เจ้าของสัตว์เลี้ยงหรือผู้ดูแลรักษาสัตว์ต้องรับผิดในผลละเมิดที่เกิดจากสัตว์เลี้ยง เว้นแต่จะได้ระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์ หรือตามพฤติการณ์อื่นๆ 
21. สัญญาแลกเปลี่ยน คือ สัญญาซึ่งคู่กรณีต่างโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่กันและกัน
22. สัญญาให้ คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่ง เรียกว่าผู้ให้ โอนทรัพย์สินของตนให้โดยเสน่หาแก่บุคคลหนึ่ง เรียกว่าผู้รับ และผู้รับยอมรับเอาทรัพย์สินนั้น
23. การเรียกคืนทรัพย์ที่ให้โดยเสน่หา เรียกได้เมื่อผู้รับประพฤติเนรคุณ ดังต่อไปนี้
- ถ้าผู้รับประทุษร้ายเป็นความผิดอาญาอย่างร้ายแรง
- ถ้าผู้รับทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทอย่างร้ายแรง
- ถ้าผู้รับบอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้และผู้รับยังสามารถให้ได้
24. เช่าทรัพย์เกินกว่า 3 ปี หากไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อผู้ที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงาน จะฟ้องบังคับได้เพียง 3 ปี 
25. ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ
- ห้างหุ้นส่วนสามัญ โดยหุ้นส่วนรับผิดไม่จำกัดจำนวน
- ห้างหุ้นส่วนจำกัด มีหุ้นส่วน 2 ประเภท คือ หุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด และประเภทไม่จำกัดความรับผิด ซึ่งมักจะเป็นกรรมการผู้จัดการของห้าง
- บริษัทจำกัด ต้องมีผู้ก่อตั้ง 3 คน ขึ้นไป 
26. ห้างหุ้นส่วน ร่วมกัน 2 คน ขึ้นไป มีจุดประสงค์เพื่อแบ่งผลกำไรที่ได้จากการประกอบกิจการห้างหุ้นส่วนนั้นๆ 
27. หุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดตาย ห้างเลิกกันเว้นแต่จะตกลงโอนหุ้นให้บุคคลอื่น
28. การได้อสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิทธิโดยนิติกรรม หากไม่ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน ไม่บริบูรณ์ 
29. ที่งอกริมตลิ่งเป็นทรัพย์สินของเจ้าของที่ดินแปลงนั้น
30. ครอบครองปรปักษ์ คือ ครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ กรณีมีเป็นอสังหาริมทรัพย์ 10 ปี สังหาริมทรัพย์ 5 ปี
31. ที่ดินมือเปล่าหรือที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครอง โอนแก่กันได้โดยสละการครอบครองและส่งมอบให้ผู้อื่นครอบครองแทน
32. ที่ดินของรัฐอ้างครอบครองปรปักษ์ไม่ได้
33. ภาระจำยอม คือ 
34. ทางจำเป็น
35. การหมั้นจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และได้รับความยินยอมของบิดามารดา บิดาหรือมารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง
36. การหมั้นสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่ฝ่ายหญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิง
37. การสมรสจะทำได้เมื่อชายและหญิงมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ แต่ถ้ามีเหตุสมควรศาลอาจอนุญาตให้สมรสได้
38. ตัวอย่างการสมรสที่เป็นโมฆะ
- ชายหรือหญิงเป็นบุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลมีคำสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถ
- ชายหรือหญิงเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมา เป็นพี่น้องร่วมบิดาหรือมารดา
- บุตรบุญธรรมและผู้รับบุตรบุญธรรม
- สมรสซ้อน
39. สินสมรส คือ ทรัพย์สินดังนี้
- ได้มาระหว่างการสมรส 
- ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส
- ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว
กรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือไม่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส
40. สินส่วนตัวได้แก่
- ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส
- ที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับกายตามสมควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
- ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา
- ที่เป็นของหมั้น
41. การจัดการสินสมรส คู่สมรสต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งดังต่อไปนี้
- ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง
- ก่อตั้งหรือกระทำให้สิ้นสุดลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาฯ
- ให้เช่าอสังหาเกินกว่า 3 ปี
- ให้กู้ยืมเงิน
- ให้โดยเสน่หา เว้นแต่ให้พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัว การกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ตามจรรยา
- ประนีประนอมยอมความ
- มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตฯ
- นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล
42. สามีหรือภริยาไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกสินสมรสเกินกว่าส่วนของตนให้แก่บุคคลใด
43. บุตรที่เกิดแต่หญิงที่มิได้มีการสมรสให้ว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น
44. บุตรที่เกิดจากการสมรสซ้อน ให้ถือว่าเป็นบุตรของชายที่สมรสครั้งหลัง
45. เด็กที่เกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายเมื่อ 
- บิดามารดาจดทะเบียนสมรสกันในภายหลัง
- บิดาจดทะเบียนว่าเป็นบุตร
- ศาลมีคำพิพากษาว่าเป็นบุตร
ทั้งนี้ ให้ถือว่าเป็นบิดาโดยชอบตั้งแต่เมื่อเด็กเกิด
46. หลักเกณฑ์การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม
1) ผู้รับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี
2) มีอายุแก่กว่าบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี
3) ต้องได้รับความยินยอมจากบุตรบุญธรรมกรณีเด็กอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี
4) ได้รับความยินยอมจากบิดามารดาของเด็ก
5) กรณีคู่สมรสจะจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรส
47. บุตรบุญธรรม ถือเป็นผู้สืบสันดานผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรม
48. ผู้รับบุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิได้รับมรดกของบุตรบุญธรรม
49. ทายายโดยธรรมผู้มีสิทธิได้รับมรดกของเจ้ามรดกได้แก่
1) ผู้สืบสันดาน
2) บิดามารดา
3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
4) พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน
5) ปู่ ย่า ตา ยาย
6) ลุง ป้า น้า อา
ทั้งนี้ กรณีคู่สมรสยังมีชีวิตนั้น ก็เป็นทายาทโดยธรรมเช่นกัน
50. คู่สมรสถือเป็นทายาทชั้นบุตร
51. ถ้าบุคคลผู้เป็นทายาท ผู้สืบสันดาน พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน ลุง ป้า น้า อา ถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดาน ก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ กรณีผู้สืบสันดานตายหรือถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทน และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆ สืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย
52. พินัยกรรมต้องมีพยานลงชื่ออย่างน้อย 2 คน 
53. พินัยกรรมที่เขียนเองทั้งฉบับไม่จำต้องมีพยาน
54. ทรัพย์มรดกของพระภิกษุซึ่งได้มาขณะเป็นพระภิกษุ ให้ตกเป็นของวัด
55. บุคคลผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกกรณีไม่มีผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม ได้แก่ ทายาทผู้มีส่วนได้เสียหรือเจ้าพนักงานอัยการ
อาญา
1. โดยทุจริต หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น
2. ทางสาธารณะ หมายความว่า ทางบกหรือทางน้ำสำหรับประชาชนใช้ในการจราจร และให้หมายความรวมถึง ทางรถไฟและรถรางที่มีรถเดินสำหรับประชาชนใช้โดยสารร่วมกัน
3. สาธารณสถาน หมายความว่า สถานที่ใดๆ ซึ่งประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้
4. เคหสถาน หมายความว่า ที่ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย เช่น โรงเรือน โรง เรือหรือแพ ซึ่งคนอยู่อาศัย และให้หมายรวมถึงบริเวณของที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยนั้นด้วย จะมีรั้วล้อมหรือไม่ก็ตาม
5. อาวุธ หมายความรวมถึง สิ่งซึ่งไม่เป็นอาวุธโดยสภาพ แต่ซึ่งได้ใช้หรือเจตนาจะใช้ประทุษร้ายร่างกายถึงอันตรายสาหัสอย่างอาวุธ
6. ใช้กำลังประทุษร้าย หมายความว่า ทำการประทุษร้ายแก่กายหรือจิตใจของบุคคล ไม่ว่าจะทำด้วยใช้แรงกายภาพหรือด้วยวิธีอื่นใด และให้หมายรวมถึงการกระทำใดๆ ซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาทำให้มึนเมา สะกดจิต หรือใช้วิธีอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน
7. เอกสาร หมายถึง กระดาษหรือวัตถอื่นใดซึ่งได้ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่น จะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพหรือวิธีอื่นอันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น
8. เอกสารราชการ หมายถึง เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ และให้หมายความรวมถึงสำเนาเอกสารนั้น ๆ ที่เจ้าพนักงานได้รับรองในหน้าที่ด้วย
9. เอกสารสิทธิ หมายถึง เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ
10. กลางคืน หมายความว่า เวลาระหว่างพระอาทิตย์ตกและพระอาทิตย์ขึ้น
11. บุคคลจะต้องรับโทษทางอาญาก็ต่อเมื่อ
1) กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้
2) โทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น เป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย
12. โทษในคดีอาญามี 5 สถาน ได้แก่
1) ประหารชีวิต
2) จำคุก
3) กักขัง
4) ปรับ
5) ริบทรัพย์
13. ประหารชีวิต ให้ดำเนินการด้วยวิธีฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย
14. กักขังแทนค่าปรับคำนวณได้วันละ 200 บาท แต่มิให้เกินกว่า 1 ปี เว้นแต่ความผิดที่มีโทษปรับตั้งแต่ 80,000 บาทขึ้นไป ให้กักขังแทนค่าปรับได้เกินกว่า 1 ปี แต่ไม่ให้เกิน 2 ปี
15. ทรัพย์ที่ศาลต้องริบ ได้แก่ ทรัพย์ที่ทำหรือมีไว้เป็นความผิด
16. ทรัพย์ที่ศาลอาจใช้ดุลพินิจให้ริบ ได้แก่ 
1) ทรัพย์ที่ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด
2) ทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิด
17. วิธีการเพื่อความปลอดภัย มีดังนี้
1) กักกัน
2) ห้ามเข้าเขตกำหนด
3) เรียกประกันทัณฑ์บน
4) คุมตัวไว้ในสถานพยาบาล
5) ห้ามการประกอบอาชีพบางอย่าง
18. กรณีเพิ่มโทษมิให้เพิ่มขึ้นถึงขั้นประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกเกิน 50 ปี
19. กรณีเพิ่มโทษหรือลดโทษ ให้ศาลตั้งกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยเสียก่อน แล้วจึงเพิ่มหรือ
ลด กรณีมีทั้งเพิ่มและลด ให้เพิ่มก่อนแล้วจึงลดจากผลที่เพิ่มเท่านั้น
20. บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้
- กระทำโดยเจตนา 
- กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท
- กระทำโดยไม่มีเจตนา ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด
21. กระทำโดยเจตนา ได้แก่ กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
22. กระทำโดยประมาท ได้แก่ กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่
23. การกระทำให้หมายรวมถึง การให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย เช่น มารดาไม่ยอมให้บุตรกินนมและปล่อยให้หิวจนเสียชีวิต เป็นต้น
24. กระทำความผิดด้วยความจำเป็น ถ้าไม่เกินสมควรแก่เหตุ ไม่ต้องรับโทษ
25. กระทำเพื่อป้องกัน ถ้าพอสมควรแก่เหตุ ไม่มีความผิด
26. กระทำโดยบันดาลโทสะ ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
27.เด็กอายุไม่เกิน 10 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ
28. เด็กกว่า 10 ปี ไม่เกิน 15 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ
29. เด็กกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิด เมื่อศาลจะลงโทษให้ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง
30. ผู้ใดอายุกว่า 18 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิด ถ้าศาลเห็นควรจะลดมาตราส่วนโทษลงหนึ่งในสาม
31. อายุความในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและยังไม่ได้ตัวมาศาล
1) 20 ปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุก 20 ปี
2) 15 ปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่า 7 ปีแต่ไม่ถึง 20 ปี
3) 10 ปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่า 1 ปีแต่ไม่ถึง 7 ปี
4) 5 ปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่า 1 เดือน แต่ไม่ถึง 1 ปี
5) 1 ปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนลงมา หรือต้องระวางโทษอย่างอื่น
32. อายุความในคดีอาญาเมื่อศาลมีคำพิพากษาคดีถึงที่สุด
1) 20 ปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุก 20 ปี
2) 15 ปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่า 7 ปีแต่ไม่ถึง 20 ปี
3) 10 ปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่า 1 ปีถึง 7 ปี
4) 5 ปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีลงมา หรือต้องระวางโทษอย่างอื่น
33. ความผิดลหุโทษ คือ ความผิดซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
34. โทษสำหรับข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตาม ม.288 ได้แก่ ประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 15 ปีถึง 20 ปี
35. อันตรายสาหัสนั้นคือ
1) ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือเสียฆานประสาท
2) เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถสืบพันธุ์
3) เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้วหรืออวัยวะอื่นใด
4) หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว
5) แท้งลูก
6) จิตพิการอย่างติดตัว
7) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต
8) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า 20 วัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20 วัน
36. เจตนาโดยพลาด : เจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการ กระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดย เจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น
37. พยายามกระทำความผิด : ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ต้องระวางโทษสองใน สามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
38. ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน : ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่หรือ เพราะได้กระทำการตามหน้าที่
39. แจ้งความเท็จ : แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานซึ่งอาจ ทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย
40. คนกลางเรียกรับสินบน : เรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นเป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจหรือ ได้จูงใจพนักงานสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐสมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล โดยวิธีอันทุจริตหรือผิดกฎหมาย หรือโดย อิทธิพลของตนให้กระทำการ หรือไม่กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณ หรือเป็นโทษแก่บุคคลใด
41. ให้สินบนเจ้าพนักงาน : ให้ ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์ อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภา จังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาล เพื่อจูงใจให้กระทำการไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่
42. แจ้งความเท็จในคดีอาญา : แจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา แก่พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มี อำนาจสืบสวนคดีอาญา ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย
43. แจ้งความเท็จว่าได้มีการกระทำความผิด : รู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แจ้งข้อ ความแก่พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดี อาญาว่าได้มีการกระทำความผิด
44. ฟ้องเท็จ : เอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่ากระทำ ความผิดอาญา หรือว่ากระทำความผิดอาญาแรงกว่าที่เป็นจริง
45. เบิกความเท็จ : ผู้ใดเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล ถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี กรณีเบิกความเท็จในคดีอาญา โทษหนักกว่าแพ่ง
46. ซ่อนเร้นศพ: ลอบฝัง ซ่อนเร้น ย้ายหรือทำลายศพหรือส่วนของศพเพื่อปิดบังการเกิด การตายหรือเหตุแห่งการตาย
47. อั้งยี่ : เป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการ และมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย
49. ซ่องโจร : สมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิด อย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้นมี กำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป
50. มั่วสุม : มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิด การวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง
51. วางเพลิงเผาทรัพย์ : วางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น
52. เหตุฉกรรจ์วางเพลิง : วางเพลิงเผาทรัพย์ดังต่อไปนี้
(1) โรงเรือน เรือ หรือแพที่คนอยู่อาศัย
(2) โรงเรือน เรือ หรือแพอันเป็นที่เก็บหรือที่ทำสินค้า
(3) โรงมหรสพหรือสถานที่ประชุม
(4) โรงเรือนอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นสาธารณสถาน หรือเป็นที่สำหรับประกอบพิธีกรรมตามศาสนา
(5) สถานีรถไฟ ท่าอากาศยานหรือที่จอดรถหรือเรือสาธารณะ
(6) เรือกลไฟ หรือเรือยนต์ อันมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป อากาศยาน หรือรถไฟที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะ
53. ปลอมเอกสาร : ทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง
ผู้ใดกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นนั้น ถ้าได้กระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน ให้ถือว่าผู้นั้นปลอมเอกสาร
54. ลักทรัพย์ : เอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต
55. วิ่งราวทรัพย์ : ลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า
56. กรรโชกทรัพย์: ข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้ หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญหรือของบุคคลที่สาม จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น
57. รีดเอาทรัพย์ : ข่มขืนใจผู้อื่น ให้ยอมให้ หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยขู่เข็ญว่า จะเปิดเผยความลับ ซึ่งการเปิดเผยนั้นจะทำให้ผู้ถูกขู่เข็ญหรือบุคคลที่สามเสียหาย จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น
58. ชิงทรัพย์ : ลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ
1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป
2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น
3) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้
4) ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือ
5) ให้พ้นจากการจับกุม
59. ปล้นทรัพย์: ชิงทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สามคนขึ้นไป
60. ฉ้อโกง : โดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และการหลอกลวงเช่นว่านั้น ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม
61. ยักยอก : ครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่น เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคล ที่สามโดยทุจริต
62. ยักยอกทรัพย์สินหาย : ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์ สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้
63. รับของโจร : ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระ ทำความผิดถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีด เอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอกหรือ เจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรับของโจร
64. ทำให้เสียทรัพย์ : ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
ป.วิ.อ
ภาค 1 ข้อความเบื้องต้น ลักษณะ 1 หลักทั่วไป
1. “ศาล” หมายความถึง ศาลยุติธรรมหรือผู้พิพากษา ซึ่งมีอำนาจทำการอันเกี่ยวกับคดีอาญา
2. “ผู้ต้องหา” หมายความถึงบุคคลผู้ถูกหาว่าได้กระทำความผิด แต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล
3. “จำเลย” หมายความถึงบุคคลซึ่งถูกฟ้องยังศาลแล้วโดยข้อหาว่าได้กระทำความผิด
4. “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา ๔,๕ และ ๖
5. “พนักงานอัยการ” หมายความถึงเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลทั้งนี้จะเป็นข้าราชการในกรมอัยการหรือเจ้าพนักงานอื่นผู้มีอำนาจเช่นนั้นก็ได้
6. “พนักงานสอบสวน” หมายความถึงเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวน
7. “คำร้องทุกข์” หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตามซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ
8. “คำกล่าวโทษ” หมายความถึงการที่บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ ว่ามีบุคคลรู้ตัวหรือไม่ก็ดี ได้กระทำความผิดอย่างหนึ่งขึ้น
9. “หมายอาญา” หมายความถึงหนังสือบงการที่ออกตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้สั่งให้เจ้าหน้าที่ทำการจับ ขัง จำคุก หรือปล่อยผู้ต้องหา จำเลย หรือนักโทษ หรือให้ทำการค้น รวมทั้งสำเนาหมายจับหรือหมายค้นอันได้รับรองว่าถูกต้อง และคำบอกกล่าวทางโทรเลขว่าได้ออกหมายจับหรือหมายค้นแล้ว ตลอดจนสำเนาหมายจับหรือหมายค้นที่ได้ส่งทางโทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่น ทั้งนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗๗
10. “การสืบสวน” หมายความถึงการแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานซึ่งพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจได้ปฏิบัติไปตามอำนาจและหน้าที่ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเพื่อที่จะทราบรายละเอียดแห่งความผิด
11. “การสอบสวน” หมายความถึง การรวบรวมพยานหลักฐานและการดำเนินการทั้งหลายอื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา เพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิดและเพื่อจะเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ
12. “การไต่สวนมูลฟ้อง” หมายความถึงกระบวนไต่สวนของศาลเพื่อวินิจฉัยถึงมูลคดีซึ่งจำเลยต้องหา
13. “ที่รโหฐาน” หมายความถึงที่ต่างๆ ซึ่งมิใช่ที่สาธารณสถานดั่งบัญญัติไว้ในกฎหมายลักษณะอาญา
14. “โจทก์” หมายความถึงพนักงานอัยการ หรือผู้เสียหายซึ่งฟ้องคดีอาญาต่อศาลหรือทั้งคู่ในเมื่อพนักงานอัยการและผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมกัน
15. “คู่ความ” หมายความถึงโจทก์ฝ่ายหนึ่งและจำเลยอีกฝ่ายหนึ่ง
16. “พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ” หมายความถึงเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ให้รวมทั้งพัศดี เจ้าพนักงานกรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กรมเจ้าท่า พนักงานตรวจคนเข้าเมือง และเจ้าพนักงานอื่นๆ ในเมื่อทำการอันเกี่ยวกับการจับกุมปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย ซึ่งตนมีหน้าที่ต้องจับกุมหรือปราบปราม
17. “สิ่งของ” หมายความถึงสังหาริมทรัพย์ใด ซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีอาญาได้ ให้รวมทั้งจดหมาย โทรเลขและเอกสารอย่างอื่น ๆ
18. “ถ้อยคำสำนวน” หมายความถึงหนังสือใดที่ศาลจดเป็นหลักฐานแห่งรายละเอียดทั้งหลายในการดำเนินคดีอาญาในศาลนั้น
19. “บันทึก” หมายความถึงหนังสือใดที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจดไว้เป็นหลักฐานในการสอบสวนความผิดอาญา รวมทั้งบันทึกคำร้องทุกข์และคำกล่าวโทษด้วย
20. “ควบคุม” หมายความถึงการคุมหรือกักขังผู้ถูกจับโดยพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในระหว่างสืบสวนและสอบสวน
21. “ขัง” หมายความถึงการกักขังจำเลยหรือผู้ต้องหาโดยศาล
22. อำนาจของผู้จัดการแทนผู้เสียหาย
1) ร้องทุกข์
2) เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา หรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ
3) เป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
4) ถอนฟ้องคดีอาญาหรือคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
5) ยอมความในคดีความผิดต่อส่วนตัว
23. ในคดีอาญาซึ่งผู้เสียหายเป็นหญิงมีสามี หญิงนั้นมีสิทธิฟ้องคดีได้เองโดยมิต้องได้รับอนุญาตของสามีก่อน
24. สามีมีสิทธิฟ้องคดีอาญาแทนภริยาได้ ต่อเมื่อได้รับอนุญาตโดยชัดแจ้งจากภริยา
25. บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้
1) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล เฉพาะแต่ในความผิดซึ่งได้กระทำต่อผู้เยาว์หรือผู้ไรความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแล
2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาเฉพาะแต่ในความผิดอาญา ซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้
3) ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นๆ ของนิติบุคคล เฉพาะความผิดซึ่งกระทำลงแก่นิติบุคคลนั้น
26. ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาซึ่งถูกควบคุมหรือขังมีสิทธิ ต่อไปนี้ด้วย
1) พบและปรึกษาผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว
2) ให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้ในชั้นสอบสวน
3) ได้รับการเยี่ยมหรือติดต่อกับญาติได้ตามสมควร
4) ได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็วเมื่อเกิดการเจ็บป่วย
27. นับแต่วันฟ้องจำเลยมีสิทธิ
1) ได้รับการพิจารณาคดีด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม
2) แต่งทนายความแก้ต่างในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณาในศาลชั้นต้นตลอดจนชั้นศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา
3) ปรึกษาทนายความหรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว
4) ตรวจดูสิ่งที่ยื่นเป็นพยานหลักฐาน และคัดสำเนาหรือถ่ายรูปสิ่งนั้นๆ
5) ตรวจดูสำนวนการไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาของศาล และคัดสำเนาหรือขอรับสำเนาที่รับรองว่าถูกต้องโดยเสียค่าธรรมเนียม เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมนั้น
6) ตรวจหรือคัดสำเนาคำให้การของตนในชั้นสอบสวนหรือเอกสารประกอบคำให้การของตนถ้าจำเลยมีทนายความ ทนายความนั้นย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกับจำเลยดังกล่าวมาแล้วด้วย
เมื่อพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้ว ให้ผู้เสียหายมีสิทธิตามวรรคหนึ่ง (๖) เช่นเดียวกับจำเลยด้วย
28. การ สอบสวน ไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณา ให้ใช้ภาษาไทย
หมวด 2 อำนาจสืบสวนและสอบสวน
29. พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีอำนาจทำการสืบสวนคดีอาญาได้
30.พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ดังต่อไปนี้
1) เป็นการไม่แน่ว่าการกระทำผิดอาญาได้กระทำในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้องที่
2) เมื่อความผิดส่วนหนึ่งกระทำในท้องที่หนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งในอีกท้องที่หนึ่ง
3) เมื่อความผิดนั้นเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่างๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป
4) เมื่อเป็นความผิดซึ่งมีหลายกรรม กระทำลงในท้องที่ต่างๆ กัน
5) เมื่อความผิดเกิดขึ้นขณะผู้ต้องหากำลังเดินทาง
6) เมื่อความผิดเกิดขึ้นขณะผู้เสียหายกำลังเดินทาง
โดยพนักงานสอบสวนต่อไปนี้ เป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวน
(ก) ถ้าจับผู้ต้องหาได้แล้ว คือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่จับได้อยู่ในเขตอำนาจ
(ข) ถ้าจับผู้ต้องหายังไม่ได้ คือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการกระทำผิดก่อนอยู่ในเขตอำนาจ
31. ในกรณีจำเป็น พนักงานสอบสวนต่อไปนี้มีอำนาจสอบสวนในระหว่างรอคำสั่งจากอัยการสูงสุด หรือผู้รักษาการแทน
1) พนักงานสอบสวนซึ่งผู้ต้องหาถูกจับในเขตอำนาจ
2) พนักงานสอบสวนซึ่งรัฐบาลประเทศอื่นหรือบุคคลที่ได้รับความเสียหายได้ร้องฟ้องให้ทำโทษผู้ต้องหา
หมวด 3 อำนาจศาล
32. ความผิดเกิดขึ้น อ้างหรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลใดให้ชำระที่ศาลนั้น แต่ถ้า
1) เมื่อจำเลยมีที่อยู่
2) ถูกจับในท้องที่หนึ่ง
เมื่อเจ้าพนักงานทำการสอบสวนในท้องที่หนึ่งนอกเขตของศาลดั่งกล่าวแล้ว จะชำระที่ศาลซึ่งท้องที่นั้นๆ อยู่ในเขตอำนาจก็ได้
33. ความผิดเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรไทยให้ชำระคดีนั้นที่ศาลอาญา ถ้าการสอบสวนได้กระทำลงในท้องที่หนึ่งซึ่งอยู่ในเขตของศาลใด ให้ชำระที่ศาลนั้นได้ด้วย
หมวด 1 การฟ้องคดีอาญา
34. บุคคลผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล
1) พนักงานอัยการ
2) ผู้เสียหาย
35. เมื่อผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องแล้วตายลง ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาจะดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปก็ได้
36. คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาล ชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้
37. คดีอาญาที่มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวซึ่งผู้เสียหายยื่นฟ้องแล้ว พนักงานอัยการจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดก่อนคดีเสร็จเด็ดขาด ก็ได้
38. คดีอาญาเลิกกันได้ ดังต่อไปนี้
1) ในคดีมีโทษปรับสถานเดียว เมื่อผู้กระทำผิดยินยอมเสียค่าปรับในอัตราอย่างสูงสำหรับความผิดนั้นแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนศาลพิจารณา
2) ในคดีความผิดที่เป็นลหุโทษหรือความผิดที่มีอัตราโทษไม่สูงกว่าความผิดลหุโทษ หรือคดีอื่นที่มีโทษปรับสถานเดียวอย่างสูงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือความผิดต่อกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรซึ่งมีโทษปรับอย่างสูงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท เมื่อผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามที่พนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบแล้ว
3) ในคดีความผิดที่เป็นลหุโทษหรือความผิดที่มีอัตราโทษไม่สูงกว่าความผิดลหุโทษ หรือคดีที่มีโทษปรับสถานเดียวอย่างสูงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งเกิดในกรุงเทพมหานครเมื่อผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามที่นายตำรวจประจำท้องที่ตั้งแต่ตำแหน่งสารวัตรขึ้นไป หรือนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรผู้ทำการในตำแหน่งนั้นๆ ได้เปรียบเทียบแล้ว
4) ในคดีซึ่งเปรียบเทียบได้ตามกฎหมายอื่น เมื่อผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบของพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว
39. สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดั่งต่อไปนี้
1) โดยความตายของผู้กระทำผิด
2) ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย
3) เมื่อคดีเลิกกันตามมาตรา ๓๗
4) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง
5) เมื่อมีกฎหมายออกใช้ภายหลังการกระทำผิดยกเลิกความผิดเช่นนั้น
6) เมื่อคดีขาดอายุความ
7) เมื่อมีกฎหมายยกเว้นโทษ
หมวด 2 การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
40. การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจะฟ้องต่อศาลซึ่งพิจารณาคดีอาญาหรือต่อศาลที่มีอำนาจชำระคดีแพ่งก็ได้ 
หรือแยกคดีแพ่งออกจากคดีอาญา และพิจารณาต่างหากโดยศาลที่มีอำนาจชำระ
41. คดีลัก วิ่ง ชิง ปล้น โจร กรร ฉ้อ ยักหรือรับ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่เขาสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดคืน เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา ก็ให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายด้วย
42. ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทน ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้โดยผู้เสียหายต้องยื่นคำร้องก่อนเริ่มสืบพยาน ในกรณีที่ไม่มีการสืบพยานให้ยื่นคำร้องก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี
43. ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา
ลักษณะ 4 หมายเรียก และหมายอาญา
44. หมายเรียกต้องทำเป็นหนังสือและมีข้อความดั่งต่อไปนี้
1) สถานที่ที่ออกหมาย
2) วันเดือนปีที่ออกหมาย
3) ชื่อและตำบลที่อยู่ของบุคคลที่ออกหมายเรียกให้มา
4) เหตุที่ต้องเรียกผู้นั้นมา
5) สถานที่ วันเดือนปีและเวลาที่จะให้ผู้นั้นไปถึง
6) ลายมือชื่อและประทับตราของศาล หรือลายมือชื่อและตำแหน่งเจ้าพนักงานผู้ออกหมาย
45. ผู้มีสิทธิรับหมายเรียกไว้แทนผู้ต้องหา 
1) สามีภริยา
2) ญาติหรือผู้ปกครองของผู้รับหมาย
หมวด 2 หมายอาญา
46. บุคคลซึ่งต้องขังหรือจำคุกตามหมายศาล จะปล่อยไปได้ก็เมื่อมีหมายปล่อยของศาล
47. ศาลจะออกคำสั่งหรือหมายจับ หมายค้น หรือหมายขัง ตามที่ศาลเห็นสมควรหรือโดยมีผู้ร้องขอก็ได้
48. หมายจับ หมายค้น หมายขัง หมายจำคุก หรือหมายปล่อย ต้องทำเป็นหนังสือและมีข้อความดังต่อไปนี้
1) สถานที่ที่ออกหมาย
2) วันเดือนปีที่ออกหมาย
3) เหตุที่ต้องออกหมาย
4) (ก) ในกรณีออกหมายจับ ต้องระบุชื่อหรือรูปพรรณของบุคคลที่จะถูกจับ
(ข) ในกรณีออกหมายขัง หมายจำคุก หรือหมายปล่อย ต้องระบุชื่อบุคคลที่จะถูกขัง จำคุก หรือปล่อย
(ค) ในกรณีออกหมายค้น ให้ระบุสถานที่ที่จะค้น และชื่อหรือรูปพรรณบุคคล หรือลักษณะสิ่งของที่ต้องการค้น กำหนดวันเวลาที่จะทำการค้น และชื่อกับตำแหน่งของเจ้าพนักงานผู้จะทำการค้นนั้น
5) (ก) ในกรณีออกหมายจับ หมายขัง หรือหมายค้นให้ระบุความผิด หรือวิธีการเพื่อความปลอดภัย
(ข) ในกรณีออกหมายจำคุก ให้ระบุความผิดและกำหนดโทษตามคำพิพากษา
(ค) ในกรณีออกหมายขังหรือหมายจำคุก ให้ระบุสถานที่ที่จะให้ขังหรือจำคุก
(ง) ในกรณีออกหมายปล่อย ให้ระบุเหตุที่ให้ปล่อย
6) ลายมือชื่อและประทับตราของศาล
49.ถ้าบุคคลที่ถูกจับตามหมายหลบหนีหรือมีผู้ช่วยให้หนีไปได้เจ้าพนักงานผู้จับมีอำนาจติดตามจับกุมผู้นั้นโดยไม่ต้องมีหมายอีก
ส่วนที่ 2 หมายจับ
50. เหตุที่จะออกหมายจับได้มีดังต่อไปนี้
1) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี หรือ
2) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น
3) ถ้าบุคคลนั้นไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือไม่มาตามหมายเรียกหรือตามนัดโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควร ให้สันนิษฐานว่าบุคคลนั้นจะหลบหนี
ส่วนที่ 3 หมายค้น
51. เหตุที่จะออกหมายค้นได้มีดั่งต่อไปนี้
1) เพื่อพบและยึดสิ่งของซึ่งจะเป็นพยานหลักฐานประกอบการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา
2) เพื่อพบและยึดสิ่งของซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาโดยผิดกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้หรือตั้งใจจะใช้ในการกระทำความผิด
3) เพื่อพบและช่วยบุคคลซึ่งได้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
4) เพื่อพบบุคคลซึ่งมีหมายให้จับ
5) เพื่อพบและยึดสิ่งของตามคำพิพากษาหรือตามคำสั่งศาล ในกรณีที่จะพบหรือจะยึดโดยวิธีอื่นไม่ได้แล้ว
52. ห้ามมิให้ออกหมายค้นเพื่อพบและจับบุคคล เว้นแต่จะมีหมายจับบุคคลนั้นด้วย
ส่วนที่ 4 หมายขัง หมายจำคุก หมายปล่อย
53. หมายขังคงใช้ได้อยู่จนกว่าศาลจะได้เพิกถอน โดยออกหมายปล่อยหรือออกหมายจำคุกแทน
54. ผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นมีอายุไม่ถึงสิบแปดปีหรือเป็นหญิงมีครรภ์หรือเพิ่งคลอดบุตรมาไม่ถึงสามเดือน หรือเจ็บป่วยซึ่งถ้าต้องขังจะถึงอันตรายแก่ชีวิต ศาลจะไม่ออกหมายขังหรือจะออกหมายปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งถูกขังอยู่นั้นก็ได้ แต่ทั้งนี้ไม่ห้ามศาลที่จะมีคำสั่งให้ผู้นั้นอยู่ในความดูแลของเจ้าพนักงานหรือบุคคลที่ยินยอมรับผู้นั้นไว้ หรือกำหนดวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
55. หมายปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งต้องขังอยู่ตามหมายศาล ให้ออกในกรณีต่อไปนี้
1) เมื่อศาลสั่งปล่อยชั่วคราว
2) เมื่อพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนขอให้ศาลปล่อย
3) เมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง
4) เมื่อพนักงานอัยการไม่ฟ้องผู้ต้องหาในเวลาที่ศาลกำหนด
5) เมื่อศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูลและสั่งให้ยก
6) เมื่อโจทก์ถอนฟ้องหรือมีการยอมความในคดีความผิดต่อส่วนตัว 
7) เมื่อศาลพิพากษาให้ลงโทษจำเลยอย่างอื่นซึ่งไม่ใช่โทษประหารชีวิต จำคุกหรือให้อยู่ภายในเขตที่อันมีกำหนด ถ้าโทษอย่างอื่นนั้นเป็นโทษปรับเมื่อจำเลยได้เสียค่าปรับแล้ว หรือศาลให้ปล่อยชั่วคราวโดยมีกำหนดวันเพื่อให้จำเลยหาเงินค่าปรับมาชำระต่อศาล
ลักษณะ 5 จับ ขัง จำคุก ค้น ปล่อยชั่วคราว
56. หมายจับให้ใช้ได้ทั่วราชอาณาจักร
57. การจัดการตามหมายจับนั้นจะจัดการตามเอกสารหรือหลักฐานอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ก็ได้
1) สำเนาหมายอันรับรองว่าถูกต้องแล้ว
2) โทรเลขแจ้งว่าได้ออกหมายแล้ว
3) สำเนาหมายที่ส่งทางโทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่น 
58.จับโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาล
1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า 
2) เมื่อพบบุคคลโดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าผู้นั้นน่าจะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นโดยมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำความผิด
3) เมื่อมีเหตุที่จะออกหมายจับบุคคลนั้น มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลนั้นได้
4) เป็นการจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หนีหรือจะหลบหนีในระหว่างถูกปล่อยชั่วคราว
59. ราษฎรจะจับผู้อื่นไม่ได้เว้นแต่จะเข้าอยู่ในเกณฑ์แห่งมาตรา ๘๒ หรือเมื่อผู้นั้นกระทำความผิดซึ่งหน้า และความผิดนั้นได้ระบุไว้ในบัญชีท้ายประมวลกฎหมายนี้ด้วย
60. ความผิดซึ่งหน้าได้แก่ 
1)ความผิดซึ่งเห็นกำลังกระทำ หรือพบในอาการใดซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าเขาได้กระทำผิดมาแล้วสดๆ
2) เมื่อบุคคลหนึ่งถูกไล่จับดั่งผู้กระทำโดยมีเสียงร้องเอะอะ
3) เมื่อพบบุคคลหนึ่งแทบจะทันทีทันใดหลังจากการกระทำผิดในถิ่นแถวใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุนั้นและมีสิ่งของที่ได้มาจากการกระทำผิด หรือมีเครื่องมือ อาวุธหรือวัตถุอย่างอื่นอันสันนิษฐานได้ว่าได้ใช้ในการกระทำผิด หรือมีร่องรอยพิรุธเห็นประจักษ์ที่เสื้อผ้าหรือเนื้อตัวของผู้นั้น
61. ห้ามมิให้จับในที่รโหฐาน เว้นแต่จะได้ทำตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน
62. การค้นนั้นจักต้องทำโดยสุภาพ ถ้าค้นผู้หญิงต้องให้หญิงอื่นเป็นผู้ค้น
63. ห้ามมิให้ใช้วิธีควบคุมผู้ถูกจับเกินกว่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันมิให้เขาหนีเท่านั้น
64.ห้ามมิให้ควบคุมผู้ถูกจับไว้เกินกว่าจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี
65. ในกรณีความผิดลหุโทษ จะควบคุมผู้ถูกจับไว้ได้เท่าเวลาที่จะถามคำให้การ และที่จะรู้ตัวว่าเป็นใครและที่อยู่ของเขาอยู่ที่ไหนเท่านั้น
66. ให้นำตัวผู้ถูกจับไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ถูกจับถูกนำ ตัวไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้
67. ฝากขัง
- อัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังได้ครั้งเดียวมีกำหนดไม่เกินเจ็ดวัน
- อัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินกว่าหกเดือนแต่ไม่ถึงสิบปี หรือปรับเกินกว่าห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติดๆ กันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกินสิบสองวัน และรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกินสี่สิบแปดวัน
- อัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป จะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติดๆ กันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกินสิบสองวัน และรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกินแปดสิบสี่วัน
- เมื่อศาลสั่งขังครบสี่สิบแปดวันแล้ว หากพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอขังต่อไปอีกโดยอ้างเหตุจำเป็น ศาลจะสั่งขังต่อไปได้ก็ต่อเมื่อพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนได้แสดงถึงเหตุจำเป็น และนำพยานหลักฐานมาให้ศาลไต่สวนจนเป็นที่พอใจแก่ศาล
68. ศาลอาจอนุญาตให้นำผู้ต้องหาหรือพยานหลักฐานไปยังสถานที่ทำการของทางราชการ หรือสถานที่แห่งอื่นที่ศาลเห็นสมควรซึ่งสามารถสอบถามผู้ต้องหาหรือทำการไต่สวน โดยจัดให้มีการถ่ายทอดภาพและเสียงในลักษณะการประชุมทางจอภาพได้ 
การไต่สวนดังกล่าวให้ถือเสมือนว่าเป็นการไต่สวนในห้องพิจารณาของศาล
69. คดีที่ราษฎรเป็นโจทก์เมื่อศาลประทับฟ้องและได้ตัวจำเลยมาศาลแล้ว หรือคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ เมื่อได้ยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ศาลจะสั่งขังจำเลยไว้หรือปล่อยชั่วคราวก็ได้
หมวด 2 ค้น
70. ห้ามมิให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นหรือคำสั่งของศาล เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้น และในกรณีดังต่อไปนี้
1) เมื่อมีเสียงร้องให้ช่วยมาจากข้างในที่รโหฐาน หรือมีเสียงหรือพฤติการณ์อื่นใดอันแสดงได้ว่ามีเหตุร้ายเกิดขึ้นในที่รโหฐานนั้น
2) เมื่อปรากฏความผิดซึ่งหน้ากำลังกระทำลงในที่รโหฐาน
3) เมื่อบุคคลที่ได้กระทำความผิดซึ่งหน้า ขณะที่ถูกไล่จับหนีเข้าไปหรือมีเหตุอันแน่นแฟ้น ควรสงสัยว่าได้เข้าไปซุกซ่อนตัวอยู่ในที่รโหฐานนั้น
4) เมื่อมีพยานหลักฐานตามสมควรว่าสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิดหรือได้ใช้หรือมีไว้เพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรืออาจเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์การกระทำความผิดได้ซ่อนหรืออยู่ในนั้น ประกอบทั้งต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้สิ่งของนั้นจะถูกโยกย้ายหรือทำลายเสียก่อน
5) เมื่อที่รโหฐานนั้นผู้จะต้องถูกจับเป็นเจ้าบ้าน และการจับนั้นมีหมายจับหรือจับตามมาตรา 78
71. การค้นในที่รโหฐานต้องกระทำระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและตก มีข้อยกเว้นดังนี้
1) เมื่อลงมือค้นแต่ในเวลากลางวัน ถ้ายังไม่เสร็จจะค้นต่อไปในเวลากลางคืนก็ได้
2) ในกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่ง หรือซึ่งมีกฎหมายอื่นบัญญัติให้ค้นได้เป็นพิเศษ จะทำการค้นในเวลากลางคืนก็ได้
3) การค้นเพื่อจับผู้ดุร้ายหรือผู้ร้ายสำคัญจะทำในเวลากลางคืนก็ได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตพิเศษจากศาลตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา
72, การค้นในที่รโหฐานนั้น ก่อนลงมือค้นให้เจ้าพนักงานผู้ค้นแสดงความบริสุทธิ์เสียก่อน และเท่าที่สามารถจะทำได้ให้ค้นต่อหน้าผู้ครอบครองสถานที่หรือบุคคลในครอบครัวของผู้นั้น หรือถ้าหาบุคคลเช่นกล่าวนั้นไม่ได้ ก็ให้ค้นต่อหน้าบุคคลอื่นอย่างน้อยสองคนซึ่งเจ้าพนักงานได้ขอร้องมาเป็นพยาน
หมวด 3 ปล่อยชั่วคราว
72. ประเภทคำร้องขอให้ปล่อย
1) ปล่อยชั่วคราวโดยไม่ต้องมีประกัน
2) มีประกัน 
3) มีประกันและหลักประกัน
73. การยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว
1) เมื่อผู้ต้องหาถูกควบคุมอยู่และยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล ให้ยื่นต่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี
2) เมื่อผู้ต้องหาต้องขังตามหมายศาลและยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล ให้ยื่นต่อศาลนั้น
3) เมื่อผู้ต้องหาถูกฟ้องแล้ว ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นที่ชำระคดีนั้น
4) เมื่อศาลอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์แล้ว แม้ยังไม่มีการยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา หรือมีการยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาแล้ว แต่ยังไม่ได้ส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นที่ชำระคดีนั้น
ในกรณีที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราว ให้ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตมิฉะนั้นให้รีบส่งคำร้องพร้อมสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาเพื่อสั่ง แล้วแต่กรณี
5) เมื่อศาลส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาแล้ว จะยื่นต่อศาลชั้นต้นที่ชำระคดีนั้น หรือจะยื่นต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณีก็ได้
74. หลักในการวินิจฉัยคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ต้องพิจารณาข้อเหล่านี้ประกอบ
1) ความหนักเบาแห่งข้อหา
2) พยานหลักฐานที่ปรากฏแล้วมีเพียงใด
3) พฤติการณ์ต่างๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร
4) เชื่อถือผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด
5) ต้องหาหรือจำเลยน่าจะหลบหนีหรือไม่
6) ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราวมีเพียงใดหรือไม่
7) ถ้ามีคำคัดค้านของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ โจทก์ หรือผู้เสียหาย แล้วแต่กรณี ศาลพึงรับประกอบการวินิจฉัยได้
75. ข้อยกเว้นไม่ให้ปล่อยชั่วคราว จะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้
1) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี
2) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
3) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น
4) ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ
5) การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล
76. ในคดีมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินห้าปีขึ้นไป ผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราวต้องมีประกันและจะมีหลักประกันด้วยหรือไม่ก็ได้
ในคดีอย่างอื่นจะปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกันเลย หรือมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันด้วยก็ได้
77. หลักประกันในการขอปล่อยตัวชั่วคราว มี 3 ประเภท
1) เงินสด
2) หลักทรัพย์อื่น เช่น โฉนดที่ดิน สมุดเงินฝากประจำ กรมธรรม์ประกัน พันธบัตรรัฐบาล สลากออมสิน เป็นต้น
3) บุคคล (ตำแหน่ง)
78. ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว 
1) ผู้ต้องหาหรือจำเลย
2) หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง
79.เพื่อประโยชน์ในการบังคับคดี ให้ศาลชั้นต้นที่พิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีนั้นมีอำนาจออกหมายบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของบุคคลซึ่งต้องรับผิดตามสัญญาประกันได้เสมือนว่าเป็นลูกหนี้ตาม คำพิพากษาและให้ถือว่าหัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมเป็นเจ้าหนี้ตามคำ พิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับหนี้ตามสัญญาประกันดังกล่าว
80. ในกรณีที่ศาลสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ผู้ร้องขอมีสิทธิยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ ดังต่อไปนี้
1) คำสั่งของศาลชั้นต้น ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์
2) คำสั่งของศาลอุทธรณ์ ให้อุทธรณ์ไปยังศาลฎีกา
81. คำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวยืนตามศาลชั้นต้นให้เป็นที่สุด แต่ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิที่จะยื่นคำร้องให้ปล่อยชั่วคราวใหม่
ภาค 2 สอบสวน
การสอบสวน
82. ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน
83. พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาทั้งปวง
แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ
84. พนักงานสอบสวนจะไม่ทำการสอบสวนในกรณีต่อไปนี้ก็ได้
1) เมื่อผู้เสียหายขอความช่วยเหลือ แต่ไม่ยอมร้องทุกข์ตามระเบียบ
2) เมื่อผู้เสียหายฟ้องคดีเสียเองโดยมิได้ร้องทุกข์ก่อน
3) เมื่อมีหนังสือกล่าวโทษเป็นบัตรสนเท่ห์ หรือบุคคลที่กล่าวโทษด้วยปากไม่ยอมบอกว่าเขาคือใคร หรือไม่ยอมลงลายมือชื่อในคำกล่าวโทษหรือบันทึกคำกล่าวโทษ
การสอบสวนสามัญ
85. ในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ การถามปากคำผู้เสียหายซึ่งเป็นหญิง ให้พนักงานสอบสวนซึ่งเป็นหญิงเป็นผู้สอบสวน เว้นแต่ผู้เสียหายนั้นยินยอมหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่น และให้บันทึกความยินยอมหรือเหตุจำเป็นนั้นไว้ ทั้งนี้ ผู้เสียหายจะขอให้บุคคลใดอยู่ร่วมในการถามปากคำนั้นด้วยก็ได้
86. คดีความผิดที่มีอัตราโทษจำคุก ซึ่งผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีร้องขอ การถามปากคำผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ให้พนักงานสอบสวนแยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วยในการถามปากคำเด็กนั้น และในกรณีที่นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เห็นว่าการถามปากคำเด็กคนใด หรือคำถามใด อาจจะมีผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจเด็กอย่างรุนแรง ให้พนักงานสอบสวนถามผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เป็นการเฉพาะตาม ประเด็นคำถามของพนักงานสอบสวน โดยมิให้เด็กได้ยินคำถามของพนักงานสอบสวนและห้ามมิให้ถามเด็กซ้ำซ้อนหลาย ครั้งโดยไม่มีเหตุอันสมควร
87. ให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องแจ้งให้นักจิตวิทยาหรือนักสังคม สงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการทราบ รวมทั้งแจ้งให้ผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กทราบถึงสิทธิตามวรรคหนึ่งด้วย
88. ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๑๓๙ การถามปากคำเด็กตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงการถามปากคำดังกล่าวซึ่ง สามารถนำออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้เป็นพยาน
89. ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่งซึ่งมีเหตุอันควรไม่อาจรอนักจิตวิทยาหรือนัก สังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำพร้อมกันได้ ให้พนักงานสอบสวนถามปากคำเด็กโดยมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งตามวรรคหนึ่งอยู่ร่วม ด้วยก็ได้ แต่ต้องบันทึกเหตุที่ไม่อาจรอบุคคลอื่นไว้ในสำนวนการสอบสวน และมิให้ถือว่าการถามปากคำผู้เสียหายหรือพยานซึ่งเป็นเด็กในกรณีดังกล่าวที่ ได้กระทำไปแล้วไม่ชอบด้วยกฎหมาย
90. คดีที่บังคับให้สอบถามเรื่องทนายความและต้องหาทนายความให้
1) คดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต
2) ผู้ต้องหามีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา
91. คดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและผู้ต้องหาต้องการทนายความ ให้รัฐจัดหาทนายความให้
92. เมื่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวน เห็นว่าการสอบสวนเสร็จแล้ว ให้จัดการอย่างหนึ่งอย่างใดดั่งต่อไปนี้
1) ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำความผิดและความผิดนั้นมีอัตราโทษจำคุกอย่าง สูงไม่เกินสามปี ให้พนักงานสอบสวนงดการสอบสวน และบันทึกเหตุที่งดนั้นไว้ แล้วให้ส่งบันทึกพร้อมกับสำนวนไปยังพนักงานอัยการ
2)ถ้าอัตราโทษอย่างสูงเกินกว่าสามปี ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการพร้อมทั้งความเห็นที่ควรให้งดการสอบสวน
3) ถ้ารู้ตัวผู้กระทำผิด แต่เรียกหรือจับตัวยังไม่ได้ เมื่อได้ความตามทางสอบสวนอย่างใด ให้ทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปพร้อมกับสำนวนยังพนักงาน อัยการ
4) ถ้าพนักงานอัยการเห็นชอบด้วยว่าควรสั่งไม่ฟ้อง ให้ยุติการสอบสวนโดยสั่งไม่ฟ้อง และให้แจ้งคำสั่งนี้ให้พนักงานสอบสวนทราบ
5) ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่าควรสั่งฟ้อง ก็ให้จัดการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้ได้ตัวผู้ต้องหามา ถ้าผู้ต้องหาอยู่ต่างประเทศ ให้พนักงานอัยการจัดการเพื่อขอให้ส่งตัวข้ามแดนมา
6) ถ้ารู้ตัวผู้กระทำความผิดและผู้นั้นถูกควบคุม หรือขังอยู่ หรือปล่อยชั่วคราวหรือเชื่อว่าคงได้ตัวมาเมื่อออกหมายเรียก ให้พนักงานสอบสวนทำความเห็นตามท้องสำนวนการสอบสวนว่าควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปยังพนักงานอัยการพร้อมด้วยสำนวน
93. ในกรณีที่เสนอความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง ให้ส่งแต่สำนวนพร้อมด้วยความเห็นไปยังพนักงานอัยการ ส่วนตัวผู้ต้องหาให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจปล่อยหรือปล่อยชั่วคราวถ้าผู้ต้อง หาถูกขังอยู่ ให้ขอเองหรือขอให้พนักงานอัยการขอต่อศาลให้ปล่อย
94. ในกรณีที่เสนอความเห็นควรสั่งฟ้อง ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนพร้อมกับผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ เว้นแต่ผู้ต้องหานั้นถูกขังอยู่แล้ว
95. เมื่อได้รับความเห็นและสำนวนจากพนักงานสอบสวนดั่งกล่าวในมาตราก่อน ให้พนักงานอัยการปฏิบัติดั่งต่อไปนี้
1) ในกรณีที่มีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง ให้ออกคำสั่งไม่ฟ้อง แต่ถ้าไม่เห็นชอบด้วย ก็ให้สั่งฟ้องและแจ้งให้พนักงานสอบสวนส่งผู้ต้องหามาเพื่อฟ้องต่อไป
2) ในกรณีมีความเห็นควรสั่งฟ้อง ให้ออกคำสั่งฟ้องและฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลถ้าไม่เห็นชอบด้วย ก็ให้สั่งไม่ฟ้อง
96. ในคดีฆาตกรรม ซึ่งผู้ตายถูกเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ฆ่าตาย หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการ ตามหน้าที่ อธิบดีกรมอัยการหรือผู้รักษาการแทนเท่านั้นมีอำนาจออกคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง
หมวด 2 การชันสูตรพลิกศพ
97. เมื่อปรากฏแน่ชัด หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดตายโดยผิดธรรมชาติ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ให้มีการชันสูตรพลิกศพ เว้นแต่ตายโดยการประหารชีวิตตามกฎหมาย
98. การตายโดยผิดธรรมชาตินั้น คือ
1) ฆ่าตัวตาย
2) ถูกผู้อื่นทำให้ตาย
3) ถูกสัตว์ทำร้ายตาย
4) ตายโดยอุบัติเหตุ
5) ตายโดยยังมิปรากฏเหตุ
99. ความตายผิดธรรมชาติเกิดมีขึ้น ณ ที่ใด ให้เป็นหน้าที่ของสามีภริยาญาติ มิตรสหายหรือผู้ปกครองของผู้ตายที่รู้เรื่องการตายเช่นนั้นจัดการดั่งต่อไปนี้
1) เก็บศพไว้ ณ ที่ซึ่งพบนั้นเองเพียงเท่าที่จะทำได้
2) ไปแจ้งความแก่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจโดยเร็วที่สุด
ภาค 3 วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น
การพิจารณา
100. การพิจารณาและสืบพยานในศาล ให้ทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย เว้นแต่บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
101. เมื่อโจทก์หรือทนายโจทก์และจำเลยมาอยู่ต่อหน้าศาลแล้ว และศาลเชื่อว่าเป็นจำเลยจริง ให้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และถามว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง คำให้การของจำเลยให้จดไว้ ถ้าจำเลยไม่ยอมให้การ ก็ให้ศาลจดรายงานไว้และดำเนินการพิจารณาต่อไป
102.ศาลมีอำนาจพิจารณาและสืบพยานลับหลังจำเลยได้ในกรณีดั่งต่อไปนี้
1) ในคดีมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสิบปี จะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม หรือในคดีมีโทษปรับสถานเดียว 
2) ในคดีที่มีจำเลยหลายคน ถ้าศาลพอใจตามคำแถลงของโจทก์ว่า การพิจารณาและการสืบพยานตามที่โจทก์ขอให้กระทำไม่เกี่ยวแก่จำเลยคนใด ศาลจะพิจารณาและสืบพยานลับหลังจำเลยคนนั้นก็ได้
3) ในคดีที่มีจำเลยหลายคน ถ้าศาลเห็นสมควรจะพิจารณาและสืบพยานจำเลยคนหนึ่งๆ ลับหลังจำเลยคนอื่นก็ได้
103. ห้ามมิให้ศาลรับฟังการพิจารณา และการสืบพยาน ที่กระทำลับหลังนั้นเป็นผลเสียหายแก่จำเลยคนนั้น
104. เว้นแต่ในกรณีที่จำเลยอ้างตนเองเป็นพยาน ในการสืบพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ให้ศาลจัดให้พยานอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก
105. ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่จำเลยมีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่ถูกฟ้องต่อศาล ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายความให้
106. ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความ ก็ให้ศาลตั้งทนายความให้
107. ศาลเห็นสมควรศาลอาจกำหนดให้มีวันตรวจพยานหลักฐานก่อนกำหนดวันนัดสืบพยานก็ได้ โดยแจ้งให้คู่ความทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบสี่วัน
108. ก่อนวันตรวจพยานหลักฐานตามวรรคหนึ่งไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ให้คู่ความยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลพร้อมสำเนาในจำนวนที่เพียงพอ 
109. ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ให้ยื่นต่อศาลก่อนการตรวจพยานหลักฐานเสร็จสิ้น
110. คดีที่มีจำเลยรับสารภาพและอัตราโทษจำคุก อย่างต่ำตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง (สืบพยานประกอบ)
111. เมื่อมีการพิจารณาเป็นการลับ บุคคลเหล่านี้เท่านั้นมีสิทธิอยู่ในห้องพิจารณาได้ คือ
1) โจทก์และทนาย
2) จำเลยและทนาย
3) ผู้ควบคุมตัวจำเลย
4) พยานและผู้ชำนาญการพิเศษ
5) ล่าม
6) บุคคลผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องและได้รับอนุญาตจากศาล
7) พนักงานศาลและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยแก่ศาลแล้วแต่จะเห็นสมควร
ลักษณะ 3 คำพิพากษา และคำสั่ง
112. คำพิพากษาหรือคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ได้อ่านในศาลโดยเปิดเผยเป็นต้นไป
113. ห้ามมิให้แก้ไขคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งอ่านแล้ว นอกจากแก้ถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาด
114. ห้ามมิให้พิพากษา หรือสั่ง เกินคำขอ หรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง
ภาค 4 อุทธรณ์ และฎีกา
115. อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ 
116. คดีที่ห้ามโจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ได้แก่ คดีซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
117. จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้
1) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกหรือให้ลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก
2) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก แต่ศาลรอการลงโทษไว้
3) ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด แต่รอการกำหนดโทษไว้ หรือ
4) จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษปรับเกินหนึ่งพันบาท
118. ในคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาล ชั้นต้นพิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาล อุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์หรืออธิบดีกรมอัยการหรือพนักงานอัยการซึ่งอธิบดี กรมอัยการได้มอบหมายลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่า มีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยก็ให้รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาต่อไป
119. ถ้ามีอุทธรณ์แต่ในปัญหาข้อกฎหมาย ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนั้นๆ ศาลอุทธรณ์จะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน
120. การยื่นอุทธรณ์ ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่าน หรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คู่ความฝ่ายที่อุทธรณ์ฟัง
121. ให้ศาลส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งแก้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาอุทธรณ์
ลักษณะ 2 ฎีกา 
122. ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ให้ฎีกาไปยังศาลฎีกา
121. คดีที่ห้ามโจทก์ฎีกา ได้แก่ 
1) คดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกเกิน 5 ปี
2) ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง
122. คดีที่ห้ามคู่ความ(โจทก์และจำเลย) ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ได้แก่ 
1) คดีที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอุทธรณ์พิพากษาไม่เกินกว่านี้
2) โทษคดีซึ่งอัตราโทษอย่างสูงจำคุกไม่เกินห้าปี และ ศาลลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
123. จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ได้แก่ จำเลยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกไม่เกินสองปี แต่ศาลศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก
124. ในคดีซึ่งต้องห้ามฎีกา ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลฎีกาและอนุญาตให้ฎีกาหรืออธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่า มีเหตุอันควรที่ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยก็ให้รับฎีกานั้นไว้พิจารณาต่อไป
125. การยื่นฎีกา ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่าน หรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คู่ความฝ่ายที่ฎีกาฟัง
121. ให้ศาลส่งสำเนาฎีกาให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งแก้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาฎีกา
************************************************
 
ประพันธ์ เวารัมย์ [101.51.51.xxx] เมื่อ 14/01/2017 13:57
1
อ้างอิง

ประพันธ์ เวารัมย์





****

 











           เว็บไซต์  http://pun2013.bth.cc               
       http://group.wunjun.com/valrom2012
       http://valrom.igetweb.com
       http://waoram.myreadyweb.com
เฟตบุ๊ค  https://www.facebook.com/prapun2523
ทวิสเตอร์ https://twitter.com/valrom2012
Line ID = pun2013
 
ประพันธ์ เวารัมย์ [101.51.51.xxx] เมื่อ 20/01/2015 04:04
ความคิดเห็นของผู้เข้าชม
รูปประกอบความคิดเห็น :
ชื่อผู้แสดงความคิดเห็น :
สถานะ : รหัสผ่าน :
อีเมล์ :
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง :
รหัสความปลอดภัย :