สรุปพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 แก้ไขถึงฉบับที่ 5 พ.ศ. 2550 |
|
อ้างอิง
อ่าน 1272 ครั้ง / ตอบ 0 ครั้ง
|
ประพันธ์ เวารัมย์
|
สรุปพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 แก้ไขถึงฉบับที่ 5 พ.ศ. 2550
กรุงเทพมหานคร
ระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 แก้ไขถึงฉบับที่ 5 พ.ศ. 2550
การจัดตั้ง
กรุงเทพมหานคร มีวิวัฒนาการมาจากการวมจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีเข้าด้วยกันเป็น “นครหลวงกรุงเทพธนบุรี” ตามประกาศของคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 24 และ 25 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2514 รูปแบบการปกครองนครหลวงกรุงเทพธนบุรีแบ่งเป็น 2 ระดับ ระดับภูมิภาคนั้นถือว่านครหลวงกรุงเทพธนบุรี เป็นจังหวัดหนึ่ง ระดับท้องถิ่นเป็นการรวมเอาเทศบาลนครกรุงเทพและเทศบาลนครธนบุรีเป็นเทศบาลนครหลวง
ต่อมาได้มีประกาศของคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 335 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 เปลี่ยนรูป นครหลวงกรุงเทพธนบุรีเป็นกรุงเทพซึ่งยังคงเป็นจังหวัด แต่ในขณะเดียวกันก็มีสภากรุงเทพมหานครเป็นลักษณะของหน่วยการปกครองท้องถิ่น ได้มีการปรับปรุงแก้ไขการปกครองในรูปกรุงเทพมหานครอีก 2 ครั้ง ตามระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 และพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ซึ่งเป็นฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันและกำหนดให้กรุงเทพมหานครเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นแต่เพียงอย่างเดียว มิได้เป็นจังหวัดอีกต่อไป
รูปแบบและการบริหาร
กรุงเทพมหานครประกอบด้วยสภากรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
(1) สภากรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งได้รับเลือกตั้งจากราษฎรตามเกณฑ์ราษฎร 100,000 คน ต่อสมาชิก 1 คน วาระ 4 ปี
สภากรุงเทพมหานครจะเลือกตั้งสมาชิกเป็นประธานสภา 1 คน และรองประธานสภาไม่เกิน 2 คนดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี
(2) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากราษฎร อยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี และมีรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่เกิน 4 คน โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้แต่งตั้ง
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและบริหารราชการกรุงเทพมหานครให้เป็นไปตามกฎหมาย บริหารราชการตามที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย วางระเบียบเพื่อให้งานของกรุงเทพมหานครเป็นไปโดยเรียบร้อย รักษาการให้เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครและอำนาจหน้าที่อื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด
กรุงเทพมหานคร ได้มีการจัดระเบียบการบริหารราชการในพื้นที่กรุงเทพมหานครโดยการแบ่งเป็น “สำนักงานเขต” (ปัจจุบันมี 50 สำนักงานเขต)
สำนักงานเขต จะมีผู้อำนวยเขตและสภาเขต สภาเขตประกอบด้วยสมาชิกซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากราษฎรเขตละอย่างน้อย 7 คน สำหรับเขตที่มีราษฎรเกิน 100,000 คน ให้มีสมาชิกสภาเขตเพิ่มขึ้นโดยถือเกณฑ์ราษฎร 100,000 คนต่อสมาชิกหนึ่งคน สมาชิกอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี
อำนาจหน้าที่
กรุงเทพมหานครมีอำนาจหน้าที่ดังนี้ คือ การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน การทะเบียน การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง การผังเมือง การจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบกน้ำ และทางระบายน้ำ การวิศวกรรม จราจร การขนส่ง การจัดให้มีและควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ ท่าข้ามและที่จอดรถ การดูแลรักษา ที่สาธารณะ การควบคุมอาคาร การปรับปรุงแหล่งชุมชนแออัดและจัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย การจัดให้มีและบำรุงรักษาสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ การป้องกันและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การสาธารณูปโภค การสาธารณสุข การจัดศึกษา การส่งเสริมการศึกษา การส่งเสริมการประกอบอาชีพ การพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร และหน้าที่อื่นๆ ตามที่กฎหมายระบุเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เทศบาลนครหรือตามที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย หรือมีกฎหมายระบุเป็นหน้าที่ ของกรุงเทพมหานคร
ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร
ส่วนอำนาจนอกเหนือจากนี้ ดูที่ พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2549
กรุงเทพมหานครอาจตราข้อบัญญัติขึ้นในกรณีดังนี้
(1) เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร
(2) มีกฎหมายบัญญัติให้กรุงเทพมหานคร มีอำนาจตราเป็นข้อบัญญัติ กรุงเทพมหานคร
(3) การดำเนินการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร
(4) การคลัง งบประมาณ การเงิน การทรัพย์สิน การจัดหาผลประโยชน์จาก ทรัพย์สิน การจ้างและการพัสดุ
จะกำหนดโทษผู้ละเมิดข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครไว้ด้วยก็ได้เป็นโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท
การควบคุมส่งเสริม
1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแล การปฏิบัติราชการของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งมีอำนาจในการสั่งยุบสภากรุงเทพมหานครโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี หรือโดยข้อเสนอของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสั่งให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพ้นจากตำแหน่ง ตามมติคณะรัฐมนตรี
2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยควบคุมส่งเสริมการบริหารงานบุคคลของกรุงเทพมหานครในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (ก.ก)
3. กระทรวง ทบวง กรมอาจส่งข้าราชการมาประจำกรุงเทพมหานคร เพื่อปฏิบัติราชการในหน้าที่ของกระทรวง ทบวง กรมนั้น โดยทำความตกลงกับกรุงเทพมหานคร หรืออาจจะมอบอำนาจให้กรุงเทพมหานครปฏิบัติก็ได้
4. รัฐบาลจัดสรรเงินอุดหนุนให้กรุงเทพมหานครโดยตรง
5. สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบการเงินและการบัญชีของกรุงเทพมหานคร
*************
|
|
ประพันธ์ เวารัมย์ [101.51.55.xxx] เมื่อ 14/01/2017 13:57
|