สรุปความรู้เรื่องเทศบาล (เตรียมสอบให้ได้ ) |
|
อ้างอิง
อ่าน 1887 ครั้ง / ตอบ 0 ครั้ง
|
ประพันธ์ เวารัมย์
|
สรุปความรู้เรื่องเทศบาล (เตรียมสอบให้ได้ )
ความเป็นมา
เทศบาลจัดตั้งขั้นครั้งแรกตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2476 ต่อมาได้มีการปรับปรุงแก้ไข กฎหมายเทศบาลอยู่หลายครั้งจนครั้งสุดท้ายได้มีการตราพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ซึ่งยังบังคับอยู่ในปัจจุบัน
ระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 13 พ.ศ. 2552
การจัดตั้ง
การจัดตั้ง เปลี่ยนแปลงเขต หรือยุบเลิกเทศบาล ต้องกระทำโดย ประกาศกระทรวงมหาดไทย การจัดตั้งเทศบาลกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ดังนี้
1. เทศบาลตำบล
กฎหมายกำหนดไว้แต่เพียงว่าเทศบาลตำบลได้แก่ ท้องถิ่นซึ่งมีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาล
2. เทศบาลเมือง
การจัดตั้งเทศบาลเมืองกฎหมายกำหนดไว้ 2 ลักษณะ คือ
1) ท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัด
2) ท้องถิ่นชุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่ 10,000 คนขึ้นไป และมีรายได้พอสมควรที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย
3. เทศบาลนคร
ได้แก่ ท้องถิ่นชุมชนที่ราษฎรตั้งแต่ 50,000 คนขึ้นไป และมีรายได้พอสมควรที่จะปฏิบัติหน้าที่
รูปแบบและการบริหาร
องค์การเทศบาลประกอบด้วย สภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี
สภาเทศบาล
จำนวนสมาชิกของสภาเทศบาลจะมีจำนวนตั้งแต่ 12 – 24 คน ดังนี้
- สภาเทศบาลตำบลประกอบด้วยสมาชิกสภาเทศบาล
จำนวน 12 คน
- สภาเทศบาลเมืองประกอบด้วยสมาชิกสภาเทศบาล
จำนวน 18 คน
- สภาเทศบาลนครประกอบด้วยสมาชิกสภาเทศบาล
จำนวน 24 คน
สมาชิกสภาเทศบาลได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน อยู่ในตำแหน่งได้คราวละ 4 ปี
สมาชิกสภาเทศบาลมีประธานและรองประธานสภา ตำแหน่งละ 1 คน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจากสมาชิกสภาเทศบาลตามมติของสภาเทศบาล อยู่ในตำแหน่งจนครบอายุของสภาเทศบาล
ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องกำหนดให้สมาชิกสภาเทศบาลได้มาประชุมสภาเทศบาลครั้งแรกภายใน 15 วันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล และให้ที่ประชุมเลือกประธานสภาเทศบาลและรองประธานสภาเทศบาล
กรณีที่สภาเทศบาลไม่อาจจัดให้มีการประชุมครั้งแรกได้ตามกำหนดเวลาได้ หรือมีการประชุมสภาเทศบาล แต่ไม่อาจเลือกประธานสภาเทศบาลได้ ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้มีคำสั่งยุบสภาเทศบาล
ในปีหนึ่งให้สมัยประชุมสามัญสองสมัยหรือหลายสมัย แล้วแต่สภาเทศบาลจะกำหนดแต่ต้องไม่เกินสี่สมัย สมัยประชุมสามัญสมัยหนึ่งๆ ให้มีกำหนดไม่เกิน 30 วันแต่ถ้าจะขยายเวลาออกไปอีก จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด
นายกเทศมนตรี
ให้เทศบาลมีนายกเทศมนตรีคนหนึ่ง ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และมีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง
นายกเทศมนตรีอาจแต่งตั้งรองนายกเทศมนตรีซึ่งมิใช่สมาชิกสภาเทศบาล เป็นผู้ช่วยเหลือในการบริหารราชการของเทศบาลตามที่นายกเทศมนตรีมอบหมายได้ ตามเกณฑ์ดังต่อไปนี้
เทศบาลตำบล
มีรองนายกเทศมนตรีได้ไม่เกิน 2 คน
เทศบาลเมือง
มีรองนายกเทศมนตรีได้ไม่เกิน 3 คน
เทศบาลนคร
มีรองนายกเทศมนตรีได้ไม่เกิน 4 คน
นายกเทศมนตรีอาจแต่งตั้งที่ปรึกษานายกเทศมนตรีและเลขานุการนายกเทศมนตรี ซึ่งมิใช่สมาชิกสภาเทศบาลได้ โดยในกรณีเทศบาลตำบลให้แต่งตั้งได้จำนวนรวมกันไม่เกิน 2 คน ในกรณีเทศบาลเมืองให้แต่งตั้งได้จำนวนรวมกันไม่เกิน 3 คน และในกรณีเทศบาลนครให้แต่งตั้งได้จำนวนรวมกันไม่เกิน 5 คน
ก่อนนายกเทศมนตรีเข้ารับหน้าที่ ให้ประธานสภาเทศบาลเรียกประชุมสภาเทศบาลเพื่อให้นายกเทศมนตรี แถลงนโยบายต่อสภาเทศบาลโดยไม่มีการลงมติ ทั้งนี้ภายใน 30 วัน นับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี และให้นายกเทศมนตรีจัดทำรายงานแสดงผลการปฏิบัติงานตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อสภาเทศบาลเป็นประจำปี
สหการ
เทศบาลตั้งแต่ 2 แห่งขึ้นไป อาจร่วมกันจัดตั้งเป็นองค์การขึ้นเรียกว่า สหการ มีสภาพเป็นทบวงการเมือง เพื่อดำเนินกิจการอยู่ภายในอำนาจหน้าที่ของเทศบาลให้เกิดประโยชน์ยิ่ง มีคณะกรรมการ ประกอบด้วย ผู้แทนของเทศบาลที่เกี่ยวข้อง การจัดตั้งหรือยุบเลิกสหการให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
หน้าที่ของเทศบาล
เทศบาลมีหน้าที่ 2 ประเภท คือ หน้าที่ต้องทำ และหน้าที่อาจจัดทำในเขตเทศบาลซึ่งแตกต่างกันไปตามประเภทของเทศบาล ดังนี้
เทศบาลตำบล
1.รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน
2. ให้มีและบำรุงทางบกและทางน้ำ
3.รักษาความสะอาดของถนน หรือทางเดินและที่สาธารณะ รวมทั้งการกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
4. ป้องกันและระงับโรคติดต่อ
5. ให้มีเครื่องใช้การดับเพลิง
6. ให้ราษฎรได้รับการศึกษาอบรม
7. ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุและผู้พิการ
8. บำรุงศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรม อันดีของท้องถิ่น
9. หน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ ให้เป็นหน้าที่ของเทศบาล
เทศบาลเมือง
มีหน้าที่เช่นเดียวกับเทศบาลตำบล ตามข้อ 1 - 9 และมีหน้าที่เพิ่มเติมอีกดังนี้
1. ให้มีน้ำสะอาดหรือการประปา
2. ให้มีโรงฆ่าสัตว์
3. ให้มีและบำรุงสถานที่ทำการ พิทักษ์ และรักษาคนไข้
4. ให้มีและบำรุงทางระบายน้ำ
5. ให้มีและบำรุงส้วมสาธารณะ
6. ให้มีและบำรุงการไฟฟ้าหรือ แสงสว่างโดยวิธีอื่น
7. ให้มีการดำเนินกิจการโรงรับ จำนำ หรือสถานสินเชื่อท้องถิ่น
เทศบาลนคร
มีหน้าที่เช่นเดียวกันกับเทศบาลตำบลตามข้อ 1-9 และเทศบาลเมืองตามข้อ 1-7 และมีหน้าที่เพิ่มเติมอีก ดังนี้
1. ให้มีและบำรุงการสงเคราะห์มารดาและเด็ก
2. กิจการอย่างอื่นซึ่งจำเป็นเพื่อการสาธารณสุข
3. การควบคุมสุขลักษณะและอนามัย ในร้านจำหน่ายอาหาร โรงมหรสพและสถานบริการอื่น
4. จัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและการปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรม
5. จัดให้มีและควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ ท่าข้ามและที่จอดรถ
เทศบัญญัติ
เทศบาลมีอำนาจตามเทศบัญญัติโดยไม่ขัดหรือแย้งต่อบทกฎหมายได้ในกรณีดังต่อไปนี้
1. เพื่อปฏิบัติการให้เป็นตามหน้าที่ของเทศบาลที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติเทศบาล
2. เมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้เทศบาลตราเทศบัญญัติ หรือให้มีอำนาจตราเทศบัญญัติ
ในเทศบัญญัตินั้นจะกำหนดโทษปรับผู้ละเมิดเทศบัญญัติไว้ด้วยก็ได้ แต่ห้ามมิให้กำหนดเกินกว่า 1,000 บาท
การกำกับดูแลเทศบาล
1. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลเทศบาลในจังหวัดนั้น ให้ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่โดยถูกต้องตามกฎหมาย ในการนี้ให้มีอำนาจหน้าที่ชี้แจงแนะนำตักเตือนเทศบาล และตรวจสอบกิจการ เรียกรายงานและเอกสารหรือสถิติใดๆจากเทศบาลมาตรวจ ตรวจจนเรียกสมาชิกสภาเทศบาลหรือพนักงานเทศบาลมีชี้แจงหรือสอบสวนก็ได้
ให้นายอำเภอมีหน้าที่ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัดควบคุมเทศบาลตำบลในอำเภอนั้น ให้ปฏิบัติการตามหน้าที่โดยถูกต้องตามกฎหมายในการนี้ให้มีอำนาจหน้าที่ชี้แจงแนะนำตักเตือนเทศบาลตำบลและตรวจสอบกิจการ เรียกรายงานและเอกสารหรือสถิติใดๆ จากเทศบาลมาตรวจ ตลอดจนเรียกสมาชิกสภาเทศบาลหรือพนักงานเทศบาลมาชี้แจงหรือสอบสวนก็ได้
2. เมื่อนายอำเภอ ในกรณีแห่งเทศบาลตำบลในอำเภอนั้น หรือผู้ว่าราชการจังหวัด ในกรณีแห่งเทศบาลเมือง และเทศบาลนครเห็นว่า นายกเทศมนตรี หรือรองนายกเทศมนตรีผู้ใดปฏิบัติการของเทศบาลไปในทางที่อาจเป็นการเสียหายแก่เทศบาล หรือเสียหายแก่ราชการ และนายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณีได้ชี้แจงแนะนำตักเตือนแล้วไม่ปฏิบัติตาม
นายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี มีอำนาจที่สั่งเพิกถอนหรือสั่งให้ระงับการปฏิบัติของนายกเทศมนตรีหรือรองนายกเทศมนตรีนั้นไว้ก่อนก็ได้ แล้วให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรีบรายงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยทราบภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่มีคำสั่ง เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยวินิจฉัยสั่งการตามสมควร
3. ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่า นายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี ประธานสภาเทศบาลหรือรองประธานสภาเทศบาล ปฏิบัติการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน ละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือมีความประพฤติในทางจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ตำแหน่ง หรือแก่เทศบาล หรือแก่ราชการ ให้เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีพร้อมด้วยหลักฐาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอาจใช้ดุลพินิจสั่งให้นายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี ประธานสภาเทศบาล หรือรองประธานสภาเทศบาลพ้นจากตำแหน่งก็ได้
|
|
ประพันธ์ เวารัมย์ [101.51.55.xxx] เมื่อ 14/01/2017 13:57
|