สรุปความรู้เรื่ององค์การบริหารส่วนจังหวัด (สอบให้ได้ครับ เป็นกำลังใจให้ทุกๆ คนครับ) |
|
อ้างอิง
อ่าน 251 ครั้ง / ตอบ 0 ครั้ง
|
ประพันธ์ เวารัมย์
|
สรุปความรู้เรื่ององค์การบริหารส่วนจังหวัด (สอบให้ได้ครับ เป็นกำลังใจให้ทุกๆ คนครับ)
พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 4 พ.ศ. 2552
การจัดตั้ง
กฎหมายกำหนดแต่เพียงว่า ในจังหวัดหนึ่งให้มีองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยให้เป็นนิติบุคคล และเป็นราชการส่วนท้องถิ่น โดยมีเขตพื้นที่เดียวกับจังหวัดตามราชการบริหารส่วนภูมิภาค
รูปแบบและการบริหาร
กฎหมายกำหนดให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดประกอบด้วย สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
สภาจังหวัด
ประกอบด้วยสมาชิกสภาจังหวัดซึ่งได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี จำนวนสมาชิกสภาจังหวัดของแต่ละจังหวัดแตกต่างกันไปตามจำนวนประชากร โดยถือเอาตามหลักฐานะการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง ตามหลักเกณฑ์ดังนี้
จำนวนราษฎร
สมาชิก
ไม่เกิน 500,000 คน
24 คน
มากกว่า 500,000 คน แต่ไม่เกิน 1,000,000 คน
30 คน
มากกว่า 1,000,000 คน แต่ไม่เกิน 1,500,000 คน
36 คน
มากกว่า 1,500,000 คน แต่ไม่เกิน 2,000,000 คน
42 คน
มากกว่า 2,000,000 คน
48 คน
ในอำเภอหนึ่งให้สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ 1 คน ถ้ารวมทั้งจังหวัดยังครบตามจำนวน ให้เอาจำนวนสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหารจำนวนราษฎรทั้งจังหวัด ได้ผลลัพธ์เท่าใด ให้ถือเป็นเกณฑ์สำหรับคำนวณสมาชิกเพิ่ม โดยเพิ่มจากอำเภอที่มีราษฎรมากที่สุดก่อน จนกว่าจะครบจำนวน
ประธานสภา
ให้สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลือก สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 คน และรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด 2 คน
ประธานสภาและรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ดำรงตำแหน่งจนครบอายุของสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือมีการยุบสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด
การประชุมสภา
ในปีหนึ่งให้มีสมัยประชุมสามัญ 2 สมัย ทั้งนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องกำหนดให้สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้มาประชุมเป็นการประชุมครั้งแรกภายใน 15 วัน นับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด
กรณีที่สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดไม่อาจจัดให้มีการประชุมครั้งแรกได้ตามกำหนดเวลา หรือมีแต่ไม่อาจเลือกประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจเสนอรัฐมนตรีให้มีคำสั่งยุบสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด
สมัยประชุมสามัญให้มีกำหนด 45 วัน แต่ถ้ามีกรณีจำเป็น ให้ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสั่งขยายสมัยประชุมสามัญออกไปอีกได้ตามความจำเป็นครั้งละไม่เกิน 15 วัน
นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดคนหนึ่ง ซึ่งมาจากการเลือกโดยตรงของประชาชน มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง
รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
ให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแต่งตั้ง รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งมิใช่สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดตามเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
สมาชิก
รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
24 คนและ 30 คน
2 คน
36 คนและ 42 คน
3 คน
48 คน
4 คน
การบริหารงานองค์การบริหารส่วนจังหวัด
ก่อนนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเข้ารับหน้าที่ ให้ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเรียกประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพื่อให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแถลงนโยบายต่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดโดยไม่มีการลงมติ ทั้งนี้ภายใน 30 วัน นับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดทำรายงานแสดงผลการปฏิบัติงานตามนโยบายได้แถลงไว้ต่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นประจำทุกปี
อำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด
องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการต่างๆ ดังต่อไปนี้
ก. การดำเนินการกิจการภายในเขตพื้นที่ตนเอง
(1) ตราข้อบัญญัติโดยไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมาย
(2) จัดทำแผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และประสานการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
(3) สนับสนุนสภาตำบลและราชการส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาท้องถิ่น
(4) ประสานและให้ความร่วมมือในการปฎิบัติหน้าที่ของสภาตำบลและราชการส่วนท้อถิ่นอื่น
(5) แบ่งสรรซึ่งตามกฎหมายจะต้องแบ่งให้แก่สภาตำบลและราชการส่วนท้องถิ่นอื่น
(6) อำนาจหน้าที่ของจังหวัดตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. 2498 เฉพาะในเขตสภาตำบล
(7) คุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
(7 ทวิ) บำรุงรักษา ศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
(8) จัดทำกิจการใดๆ อันเป็นอำนาจหน้าที่ของราชการส่วนท้องถิ่นอื่นที่อยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด และกิจการนั้นเป็นการสมควรให้ราชการส่วนท้องถิ่นอื่นร่วมกันดำเนินการหรือให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดทำทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
(9) จัดทำกิจการอื่นได้ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด
บรรดาอำนาจหน้าที่ใดซึ่งเป็นของราชการส่วนกลางหรือราชการส่วนภูมิภาค อาจมอบให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดปฏิบัติได้ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ข. การดำเนินกิจการนอกเขตพื้นที่ตนเอง
องค์การบริหารส่วนจังหวัดอาจจัดทำกิจการใดๆ อันเป็นอำนาจหน้าที่ของราชการส่วนท้องถิ่นอื่นหรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดอื่นที่อยู่นอกเขตจังหวัดได้ เมื่อได้รับความยินยอมจากราชการส่วนท้องถิ่นอื่นหรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
ค. การดำเนินกิจการแทนราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
อำนาจหน้าที่ใดซึ่งเป็นของราชการส่วนกลาง หรือราชการบริหารส่วนภูมิภาค อาจมอบให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดปฏิบัติได้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ง. การให้บริการแก่หน่วยงานอื่นๆ
องค์การบริหารส่วนจังหวัดอาจให้บริการแก่เอกชน ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น โดยเรียกค่าบริการได้ โดยตราเป็นข้อบัญญัติ
จ. การให้ส่วนราชการหรือเอกชนกระทำกิจการแทน
1. กิจการใดเป็นกิจการที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดพึงจัดทำตามอำนาจหน้าที่ ถ้าองค์การบริหารส่วนจังหวัดไม่จัดทำ รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีอาจมีคำสั่งให้ราชการส่วนกลางหรือราชการส่วนภูมิภาคจัดทำกิจการนั้นได้ โดยให้คิดค่าใช้จ่ายและค่าภาระต่างๆ ตามความเป็นจริงได้ตามอัตราและระยะเวลาที่เหมาะสม
2. องค์การบริหารส่วนจังหวัดอาจมอบให้เอกชนกระทำกิจการซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดและเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบริการหรือค่าตอบแทนที่เกี่ยวข้องแทนองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบองค์การบริหารส่วนจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัดเสียก่อน โดยให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด
ข้อบัญญัติจังหวัด
ข้อบัญญัติจะตราขึ้นได้ในกรณี ดังต่อไปนี้
1. เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
2. เมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดตราข้อบัญญัติหรือให้มีอำนาจตราข้อบัญญัติ
3. การดำเนินการพาณิชย์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดตามที่กฎหมายกำหนด
ในข้อบัญญัติจะกำหนดโทษผู้ละเมิดข้อบัญญัติไว้ด้วยก็ได้ แต่ห้ามมิให้กำหนดโทษจำคุกเกิน 6 เดือน หรือปรับเกิน 10,000 บาท เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
ผู้มีสิทธิเสนอร่างข้อบัญญัติจังหวัด ได้แก่
1. นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
2. สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด
3. ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด ตามกฎหมายเกี่ยวกับการเข้าชื่อให้สภาสภาท้องถิ่นพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่น
งบประมาณรายจ่ายขององค์การบริหารส่วนจังหวัดให้ทำเป็นข้อบัญญัติ ถ้าข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณออกไม่ทันปีงบประมาณใหม่ ให้ใช้ข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณที่แล้วนั้นไปพลางก่อน
การกำกับดูแล
1. ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติราชการขององค์การบริหารส่วน จังหวัดให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ และระเบียบข้อบังคับทางราชการ เพื่อการนี้ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด มีอำนาจสั่งสอบสวนข้อเท็จจริง หรือสั่งให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดชี้แจงแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดได้
2. ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่านายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปฏิบัติการในทางที่อาจนำมาซึ่งความเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย กฎ หรือระเบียบข้อบังคับของทางราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจยับยั้งการปฏิบัติการดังกล่าว ไว้เป็นการชั่วคราวได้ แล้วให้รายงานรัฐมนตรีภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ออกคำสั่ง
3. ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจสั่งเพิกถอนมติของสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดซึ่งมิใช่ข้อบัญญัติได้ ในกรณีที่ปรากฏว่ามตินั้นฝ่าฝืนกฎหมาย กฎ หรือระเบียบข้อบังคับของทางราชการ หรือเป็นมติที่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดภายในสามสิบวันนับแต่วันที่สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดมีมติ
4. ในกรณีที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ละเลยไม่ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้ว่าราชการจังหวัดจะดำเนินการสอบสวนก็ได้
ถ้าหากผลการสอบสวนปรากฏว่านายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด มีพฤติการณ์เช่นนั้นจริง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเสนอให้รัฐมนตรีใช้ดุลพินิจสั่งให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพ้นจากตำแหน่ง
|
|
ประพันธ์ เวารัมย์ [101.51.55.xxx] เมื่อ 14/01/2017 13:57
|