การใช้ภาษาที่ไม่รัดกุม |
|
อ้างอิง
อ่าน 201 ครั้ง / ตอบ 0 ครั้ง
|
ประพันธ์ เวารัมย์
|
การใช้ภาษาที่ไม่รัดกุม
คำในภาษาไทยแม้จะเป็นคำไทยแท้ ๆ แต่เวลาเขียนหรือพูดแล้วอาจก่อให้เกิดเป็นปัญหาในด้านภาษา ซึ่งอาจถือว่าเป็น “ภาษากำกวม” ก็มีอยู่มากมาย
ในการใช้ภาษานี้จำเป็นจะต้องนึกถึงผู้ฟังหรือผู้อ่านให้มากสักหน่อย เพราะบางเรื่อง ถ้าเข้าใจผิดหรือตีความผิด อาจเป็นอันตรายได้ เช่น หมอหรือคนขายยาบรรจุยาใส่ซอง แล้วเขียนบอกวิธีรับประทานไว้ที่ซองว่า “รับประทาน 1 เม็ด 3 เวลา” แทนที่จะเขียนว่า “รับประทานครั้งละ 1 เม็ด 3 เวลา” หรือ “รับประทาน 3 เวลา (ก่อนหรือหลังอาหาร) ครั้งละ ๑ เม็ด” คนไข้อ่านแล้วก็เข้าใจว่า ยา 1 เม็ด ให้แบ่งกินเป็น 3 เวลา ถ้ากินยาอย่างนี้ โรคคงไม่หายแน่
อีกรายหนึ่ง เขียนบอกว่า “รับประทาน 3 เวลา หลังอาหารและก่อนนอนทุกครั้ง ครั้งละ 1 เม็ด” คนไข้ไม่เข้าใจ พอจะเข้านอนก็กินยาไป 1 เม็ด พอนอนไปได้พักใหญ่ เกิดนึกอะไรขึ้นมาได้ ก็ลุกขึ้นมาจดไว้ พอจะล้มตัวลงนอนอีก ก็กินยาไปอีก 1 เม็ด พอดึก ๆ เกิดปวดปัสสาวะ ลุกขึ้นมาถ่ายปัสสาวะ พอจะกลับไปนอน ก็กินยาไปอีก 1 เม็ด อย่างนี้ดีไม่ดีแทนที่โรคจะหาย อาจตายเสียก่อนก็ได้ ทั้งนี้เพราะข้อความ “ก่อนนอนทุกครั้ง” เป็นเหตุ ทำให้ตีความว่า ถ้าจะล้มตัวลงนอนทีไรก็ต้องกินยา 1เม็ด ทุกครั้งเสมอไป
สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้เราอ่านกันผิด ๆ ก็เพราะภาษาไทยเราเวลาเขียน เรามักจะเขียนติดกันไปเป็นพืดอย่างกับขบวนรถไฟทีเดียว ผิดกับภาษาอังกฤษที่เขาแยกเป็นคำ ๆ ไป เราจะเขียนแยกเป็นคำ ๆ ก็เฉพาะในระดับอนุบาลหรือประถมศึกษาปีที่ 1-2 เท่านั้น ต่อจากนั้นเราก็เขียนติดกันไปหมด คำบางคำเขียนเหมือนกัน แต่อาจอ่านได้ต่างกัน และความหมายก็ต่างกันด้วย เช่น ประโยคว่า “ในเพลาเช้า เพลารถขาด” อย่างนี้เราก็ต้องใช้สามัญสำนึกว่าคำ “เพลา” คำหน้าจะต้องอ่านว่า “เพ-ลา” เพราะมีคำว่า “เช้า” ตามหลัง อันหมายถึง “เวลาเช้า” แปลง ว เป็น พ “เวลา” จึงกลายเป็น “เพลา” ไป ส่วน “เพลา” (เพฺลา) คำหลังนั้นประกอบกับคำว่า “รถ” ก็จะต้องหมายถึง “เพฺลา” รถ เพราะ “เพ-ลา” รถไม่มี จะมีก็เวลารถเข้า-เวลารถออก เท่านั้น
หรือประโยคว่า “เขาไปยืน ตากลม อยู่ที่ระเบียง” อย่างนี้ ข้อความที่ว่า “ตากลม” อาจจะอ่านว่า “ตาก-ลม” หรือ “ตา-กลม” ก็ได้ ทั้งนี้ก็ต้องพิจารณาข้อความแวดล้อมอีกเช่นกัน เช่น ถ้าตอนนั้นลมสงัด แม้แต่ใบไม้ก็ไม่กระดิก อย่างนี้คงจะไปยืน “ตาก-ลม” ไม่ได้ เพราะไม่มีลมให้ตาก อย่างนี้ก็ควรจะเป็นยืน “ตา-กลม” แต่ถ้าปรากฏว่าในห้องอากาศร้อนอบอ้าว ข้างนอกมีลมพัดมาเฉื่อยฉิว อย่างนี้ก็ไปยืน “ตาก-ลม” ได้
ผู้เขียน : ศ.จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม
ที่มา : ภาษาไทยไขขาน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แพร่พิทยา. ๒๕๒๘. หน้า ๓๑๔.
|
|
ประพันธ์ เวารัมย์ [101.51.48.xxx] เมื่อ 14/01/2017 13:57
|