บัณฑิตเกียรตินิยมเหรียญทองวิศวะย้ำ คิดบวก – มองบวกชีวิตเปลี่ยน |
|
อ้างอิง
อ่าน 297 ครั้ง / ตอบ 0 ครั้ง
|
ประพันธ์ เวารัมย์
|

บัณฑิตเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง พลิกชีวิต จากผู้ป่วยโรค SNSA เคลื่อนไหวร่างกายลำบาก หมดหวังในชีวิต สู่การคว้าเกียรตินิยม สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ แต่เพียงผู้เดียว
นายนัฐพล เพริศพรายวงศ์ บัณฑิตเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เกรดเฉลี่ย 3.75 ปัจจุบัน เป็นนักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ e-commerce เผยถึงจุดพลิกผันจากผู้ป่วยซึมเศร้า สู่การคว้าดีกรีบัณฑิตเกียรตินิยมเพียงคนเดียวในสาขาวิศวกรรม คอมพิวเตอร์ ม.ร. โดยกล่าวว่า ตนตั้งใจสมัครเข้าเป็นนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ร.ในปี 2552 แต่เนื่องจากตนป่วยเป็นโรค SNSA (กลุ่มอาการของโรค การอักเสบของข้อต่อแบบตรวจไม่พบอาการของรูมาตอยด์) ตั้งแต่เด็ก และอาการกำเริบในปี 2551 จึงต้องเข้ารับ การรักษาเป็นเวลาเกือบ 1 ปี
“โรคนี้ตามสถิติจะพบ 3 ใน 1 พันคน มีอาการของระบบภูมิคุ้มกันทำลายเนื้อเยื่อตนเอง สามารถเกิดได้ทั่วร่างกาย สำหรับผมเป็นที่ข้อต่อ ทำให้กระดูกเชื่อมติดเป็นท่อนเดียวกัน เมื่อเอกซเรย์จะไม่เห็นรอยต่อของกระดูก ทำให้เคลื่อนไหวลำบาก เริ่มแรกผมเป็นที่สะโพกขวา ต่อมาเป็นที่หลังและไหล่ขวา เมื่อเคลื่อนไหวได้น้อยลง จึงต้องใช้กล้ามเนื้อส่วนอื่นทดแทน ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ดังนั้นสิ่งที่ผมทำได้ดีที่สุด คือต้องทานยารักษาร่างกายให้สมดุล ระวังเรื่องอาหารพักผ่อนให้เพียงพอ และทำกายภาพซึ่งช่วยบรรเทาอาการได้ระดับหนึ่ง”
นายนัฐพล กล่าวต่อไปว่า อาการป่วยส่งผลให้ท้อแท้กับสุขภาพ หมดหวังในชีวิต จนคนในครอบครัวคิดว่าตนเป็นโรคซึมเศร้า
แต่แล้ววันหนึ่งผมพบจุดเปลี่ยน ผมมีโอกาสได้อ่านหนังสือเรื่อง The Last Lecture เขียนโดย Dr.Randy Pausch หนังสือเรื่องนี้มีผู้เขียนหลายคน โดยแต่ละคนจะได้รับเชิญให้เขียน จะต้องมีคุณสมบัติคือ มีความสามารถ และเป็นผู้รู้ชะตาชีวิตของตนเอง ศาสตราจารย์แรนดี้ป่วยเป็นมะเร็งตับ และเหลือเวลาเพียง 6 เดือน ในขณะที่ลูกทั้ง 3 ของเขายังเด็ก เขาจึงต้องการสร้างผลงานให้ลูกได้รู้ว่าพ่อเป็นใคร โดยใช้เวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้น
เมื่ออ่านจบ ผมเกิดแรงบันดาลใจ โดยมี Dr.Randy เป็นบุคคลต้นแบบ เป็นแรงผลักดันว่า ผมต้องทำได้ จากจุดด้อยกลายเป็นจุดหักเห เกิดความมุ่งมั่น ตั้งใจ ไม่มีข้ออ้างว่าทำไม่ได้ ในระหว่างที่เรียน แน่นอนว่าต้องพบเจออุปสรรค แต่ผมพยายามมองบวก พยายาม ทำปัญหาต่างๆ ให้เป็นเรื่องเล็ก เปลี่ยนอุปสรรคให้ไม่เป็นอุปสรรคอีกต่อไป
ดังนั้น เมื่อร่างกายแข็งแรง และคุณหมออนุญาตให้เริ่มเรียนได้ ผมจึงตั้งใจมาสมัครเข้าเรียนที่คณะวิศวะ ในปีพ.ศ. 2552 โดยดูแลสุขภาพตัวเอง หลีกเลี่ยงปัจจัยที่เสี่ยงกับสุขภาพ ใช้สติเตือนตัวเองไม่ให้เครียด ในขณะเดียวกันผมยึดหลักว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับเป้าหมาย หากเรามีแรงผลักดันมากพอ ผมเชื่อว่าอะไรก็เป็นไปได้ ตอนเข้าเรียน ผมไม่เคยตั้งเป้าว่าจะต้องเรียนให้ได้เกียรตินิยม เพราะไม่เคยคิดว่าเป็นคนเรียนดี คิดแต่เพียงว่าต้องไปให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทำได้หรือไม่ได้ต้องตั้งเป้าหมายไว้ก่อน ทำให้ผลสอบเทอมแรกผมได้ A ทุกวิชา ทั้งที่คะแนน ม.ปลายได้เกรดเฉลี่ยแค่ 2.4 เท่านั้น”
นายนัฐพล เผยถึงเคล็ดลับการเรียนว่า สิ่งสำคัญคือ การอ่านอย่างสม่ำเสมอ มีวินัยในตนเอง มีทัศนคติที่ดีต่อการเรียน เพิ่มพูนความรู้และทักษะอยู่เสมอ มุ่งมั่น และอย่าพอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ ต้องมองให้สูง ฝันให้ไกล แล้วไปให้ถึง ควบคุมตนเอง จัดลำดับความสำคัญ การเรียน กิจกรรม งานอดิเรก หาบุคคลที่เป็นแบบอย่าง ฝึกสมาธิ ทบทวนการเรียน
“ผมถนัดการเรียนด้านตรรกะการใช้เหตุผล ประกอบกับปัญหาทางสุขภาพจึงเลือกเรียนสาขาคอมพิวเตอร์ เพราะเสี่ยงกับสุขภาพน้อยที่สุด ถ้าสาขาโยธา หรือโรงงานอุตสาหการน่าจะไม่ไหว โดยปกติความจำระยะสั้นจะหายไป 50 เปอร์เซ็นต์ทุกๆ 24 ชั่วโมง ดังนั้น ผมจะอ่านทบทวนหลังเรียนทันที และหาความรู้นอกห้องเรียนมาเสริมเติมส่วนที่ขาดไป หากทำได้อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ก่อนสอบไม่ต้อง ครียดเกินไป นอกจากนี้ต้องหมั่นทำข้อสอบเก่า เพราะการเรียนแล้วเข้าใจไม่ได้แปลว่าจะทำข้อสอบได้ การทำข้อสอบแบบจับเวลาจะทำให้เห็นจุดอ่อนในตัวเอง และยังช่วยวางแผนในการทำข้อสอบจริงได้
บัณฑิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวถึงความภาคภูมิใจ ที่สำเร็จการศึกษาจากรามคำแหง มหาวิทยาลัยที่มีรูปแบบการเรียนแบบตลาดวิชาว่า เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เลือกเรียนในสาขาที่สนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่เปิดรับนักศึกษาทั่วไปไม่เฉพาะ ผู้ที่จบการศึกษาสายสามัญวิทย์คณิตเท่านั้น แต่เปิดโอกาสให้นักเรียนทุกคนที่สำเร็จการศึกษาชั้น ม. 6 หรือเทียบเท่าที่สนใจอีกด้วย
“ขอขอบคุณรามคำแหงที่ให้โอกาสผมได้เข้าศึกษาต่อในเส้นทางที่ต้องการ ขอบคุณคณาจารย์ทุกท่านที่มีความเมตตา และสอนนักศึกษาให้สามารถเดินไปสู่โลกภายนอกได้ ขอบคุณเพื่อนๆที่ให้ความช่วยเหลือ ถ้าหากไม่มีบุคคลเหล่านี้ ผมอาจไม่มีโอกาสในชีวิต โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ร่างกายไม่มีความพร้อมเช่นผมและขอขอบคุณครอบครัวและบุคคลรอบข้างทุกคน ที่ทำให้ผมประสบความสำเร็จ ผมเองไม่คิดว่าจะทำได้ แต่กลับกลายเป็นคนรอบข้างที่คาดหวังและเชื่อมั่นในตัวผม สิ่งนี้กลายเป็นแรงผลักดันให้ผมมุ่งมั่นพยายาม อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นไม่มีตัวตน แต่เป็นสิ่งที่เรายึดเหนี่ยวไว้ให้เดินไปถึงจุดหมายได้ครับ”
|
|
ประพันธ์ เวารัมย์ [101.51.54.xxx] เมื่อ 14/01/2017 13:57
|