ความภูมิใจของใบปริญญาจากรามคำแหงในต่างแดน |
|
อ้างอิง
อ่าน 272 ครั้ง / ตอบ 0 ครั้ง
|
ประพันธ์ เวารัมย์
|
บัณฑิต มหาบัณฑิตจากรามคำแหงทั่วทุกมุมโลกยังคงบินลัดฟ้ามาเพื่อเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรภายหลังใช้ความมุมานะพยายามเรียนในต่างแดนคว้าใบปริญญาได้สมความตั้งใจ พร้อมฝากคำขอบคุณมหาวิทยาลัยสำหรับ “โอกาสและความรู้” ที่มีให้คนไทยทั่วโลก
นางเมทิณี วาลด์ มหาบัณฑิตสาขารัฐประศาสนศาสตร์เจ้าของธุรกิจสปา ณ เมือง Baden-Wurttembergประเทศเยอรมนี กล่าวว่าทำธุรกิจที่เมืองบาเดน บาเดนมา 15 ปี ได้รู้จักมหาวิทยาลัยรามคำแหงตั้งแต่ยังอยู่เมืองไทยแต่ไม่มีโอกาสได้สมัครเรียน จนกระทั่ง มีรุ่นน้องที่ไปศึกษาต่อที่เยอรมันแจ้งข่าวการเปิดรับสมัครระดับปริญญาโท จึงเลือกสมัครเรียนที่ศูนย์แฟรงค์เฟิร์ตทันที
“รู้สึกประทับใจรูปแบบการเรียนของโครงการฯ มาก
ทั้งการเรียน e-Learning ที่สามารถเรียนได้ที่บ้าน
อาจารย์ให้คำปรึกษาดีมาก การส่งข้อมูลข่าวสารจาก
โครงการฯ การจัดส่งหนังสือเรียน ที่สำคัญ มีการ
กำหนดเวลาเรียนและช่วงการสอบล่วงหน้าชัดเจน
ทำให้สามารถบริหารชีวิต จัดเวลาเรียน เวลาทำงาน
และเวลาสำหรับครอบครัวได้ จึงไม่เคยประสบปัญหา
ระหว่างเรียนเลย อีกทั้ง เจ้าหน้าที่โครงการฯ ดูแล
ดีมาก การเรียนต้องมีความรับผิดชอบ มีความมานะ
พยายาม ขยันอ่านหนังสือ หมั่นหาข้อมูลเพิ่มเติม
แลกเปลี่ยนข้อมูลการเรียนในระหว่างกลุ่มเพื่อน
ความรู้จากที่เรียนได้นำมาใช้ในการทำงาน ทั้งกับ
ลูกน้องและลูกค้า สำหรับปัญหาอุปสรรคในการเรียนคือ
การเขียนสอบเป็นภาษาไทยที่ภาษาอาจจะมีพลาดบ้าง
รู้สึกภูมิใจในความสำเร็จครั้งนี้ ขอบคุณโอกาส
จากรามคำแหงที่ให้กับคนไทยในต่างประเทศ ถ้าไม่มี
รามคำแหง คนที่อยู่ไกลบ้านคงยากที่จะได้ศึกษาต่อ
รามคำแหงจุดประกายให้กับคนที่มีฝันที่อยากจะศึกษาต่อ
ได้ทำให้ฝันเป็นจริง”
นายอำพล พรประทานเวช บัณฑิตสาขารัฐศาสตร์บัณฑิตผู้พิการไม่สามารถเดินได้ ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนภาษาไทยให้แก่ผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นในกรุงโตเกียวและเป็นอาสาสมัครสอนภาษาญี่ปุ่นให้กับคนไทย
ในญี่ปุ่น กล่าวว่า สมัครเรียนที่รามคำแหงเป็นครั้งที่ 2ภายหลังจากที่เี่คยสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงหัวหมาก เมื่อหลายปีมาแล้ว การตัดสินใจกลับมาเรียนในครั้งนี้ เพราะต้องการเป็นตัวแทนผู้พิการในการสร้างโอกาสให้กับคนพิการในประเทศไทย
“ผมเคยสมัครเรียนที่รามคำแหง หัวหมาก
เมื่อหลายปีมาแล้ว แต่ในสมัยก่อนยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการเท่าในปัจจุบัน อีกทั้งการเดินทางมาสอบแต่ละครั้งค่อนข้างยุ่งยาก ดังนั้น
เมื่อได้ทราบข่าวการเปิดรับสมัครนักศึกษาของราม
คำแหงจากหนังสือพิมพ์ไทยในญี่ปุ่น ที่เปิดโอกาส
ทางการศึกษาให้แก่คนไทยทั่วโลก และประเทศญี่ปุ่น
ผมจึงตั้งใจ มุ่งมั่นกลับมาเรียนอีกครั้ง โดยสมัครเรียน
และสอบที่ศูนย์กรุงโตเกียวซึ่งได้รับความสะดวก
หลายด้าน ทั้งการจัดเวลาเรียนควบคู่กับการทำงาน
พร้อมทั้งสามารถเทียบโอนหน่วยกิตเดิมที่สะสม
จากที่เคยเรียนมาและสามารถสำเร็จการศึกษาด้วย
ระยะเวลา 4 ปี”
นายอำพล กล่าวถึงการเรียนว่า การเรียนที่โครงการฯ มีการจัดตารางสอนและตารางสอบล่วงหน้าทำให้สามารถแบ่งเวลาอ่านหนังสือและจัดวันสอบได้โดยไม่ต้องลางาน ในการเรียนได้อ่านตำราโดย
จับประเด็นและฝึกทำข้อสอบเพื่อประเมินตนเองก่อนสอบ ตนตั้งเป้าว่าอยากเรียนด้านวิเคราะห์นโยบายรัฐเพราะปัจจุบันผู้พิการไทยค่อนข้างขาดโอกาสในสังคม
“ผมเคยเข้าร่วมอบรมแลกเปลี่ยนทุนสำหรับ
คนพิการ Duskin ในนามหน่วยงานย่อยของ JICA
ระหว่างคนพิการใน 10 ประเทศเอเชียแปซิฟิก เมื่อปี
2001 และเป็นผู้ประสานงานมูลนิธิพระมหาไถ่พัทยา
รณรงค์สื่ออำนวยความสะดวก สวัสดิการของคนพิการ
ทั้งนี้ เพราะคนพิการกลายเป็นคนชายขอบ ส่วนมาก
มักมีการกล่าวถึงคนพิการเฉพาะในช่วงท้ายของกฎหมาย
ฉะนั้น การศึกษาด้านรัฐศาสตร์จะเป็นการศึกษาบทบาท
ของผู้บริหารระดับประเทศ บทบาทของผู้ปฏิบัติงาน
ภาครัฐแต่ละประเทศทำให้ได้รู้ว่า หากมีการกำหนด
นโยบายที่ดีสำหรับผู้พิการ สิ่งนี้จะเป็นสิ่งสำคัญที่จะ
เปิดโอกาสให้คนพิการในประเทศไทยออกสู่อาเซียน
ใน 2 ปีข้างหน้า
... การศึกษาเป็นกุญแจไปสู่สังคมภายนอก
โดยเฉพาะผู้พิการ ที่ออกสู่สังคมภายนอกได้ โอกาส
ค่อนข้างน้อย การได้รับการศึกษาจะเป็นสะพานเชื่อม
ระหว่างสังคมภายนอก การที่รามคำแหงเปิดโอกาส
ให้ศึกษาข้ามประเทศ เป็นการเปิดโอกาสให้คนพิการ
ได้พัฒนาตนเอง”
นายอำพล กล่าวเพิ่มเติมว่า อยากให้มหาวิทยาลัยเพิ่มช่องทางการสื่อสารระหว่างอาจารย์ เจ้าหน้าที่และนักศึกษา เพื่อให้สามารถติดต่อได้อย่างรวดเร็วเช่น skype เพิ่มเติมจากเดิมที่ใช้โทรศัพท์ แฟกซ์ หรืออีเมล ด้านบทเรียนขอให้เพิ่มช่องทางการดาวน์โหลดให้เข้าถึงได้ง่ายอย่างไรก็ตามเพื่อนๆ ที่ศูนย์สอบฯ ญี่ปุ่นทุกคนช่วยเหลือกันดีมาก
มีความผูกพัน และเป็นเพื่อน มีการส่งข้อมูล ช่วยกันอ่านหนังสือทำให้การเรียนประสบความสำเร็จต่างจากสถาบันอื่น
นางมาริสา จารุศิริกุล มหาบัณฑิตสาขารัฐประศาสนศาสตร์ ปัจจุบันตำแหน่ง Personal Specialist สำนักงานฝ่ายช่าง ประจำท่าอากาศยาน
สุวรรณภูมิ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า เดิมทำงานในฝ่าย HR ทำให้มองว่า อยากศึกษาเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาศักยภาพตนเองให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน
“ดิฉันตั้งใจจะเรียนต่อระดับปริญญาโทแต่ด้วยข้อจำกัดด้านเวลา ครอบครัว และงานประจำที่ไม่สามารถแบ่งเวลาได้ลงตัว จนกระทั่ง มีรุ่นพี่ที่สำเร็จการศึกษาจากโครงการฯ นี้ ได้แนะนำให้สมัครเรียน จึงเป็นจุดเริ่มต้นพัฒนาตนเองอย่างจริงจัง”
นางมาริสา กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่เรียนทำให้เข้าใจเทคนิคในการบริหารงาน ได้กรอบแนวคิดในการทำงานเหมือนได้รับรู้ประสบการณ์ในองค์กร ทำให้มุมมองการทำงานเปลี่ยนไป โดยในอนาคตต้องมีความรู้กว้าง และพร้อมเปิดรับสิ่งใหม่เสมอ
“หลักสูตรรัฐศาสตร์มีเนื้อหาตรงกับงานใน
ปัจจุบันมาก ทั้งด้านการบริหารองค์กร ทำให้การเรียน
เป็นเรื่องไม่น่าเบื่อ เพราะได้พัฒนาตนเอง ขอชื่นชม
โครงการฯ และขอบคุณมหาวิทยาลัยรามคำแหง
ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องการโอกาสทางการศึกษา
แต่มีข้อจำกัดด้านเวลา ได้พัฒนาศักยภาพตนเอง
ประทับใจผู้ประสานงานโครงการฯที่ติดตามนักศึกษา
เตรียมสถานที่ให้อย่างดี อยากให้โครงการฯนี้พัฒนา
และก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป”
นางสุภาวดี อูรูซีบาตะ บัณฑิตสาขาศึกษาศาสตร์(ภาษาไทย) กล่าวว่า อยู่ญี่ปุ่นที่เมืองคะนะงะวะมา 12 ปี โดยย้ายติดตามสามีชาวญี่ปุ่นที่ทำงาน Siam NEC (ประเทศไทย) กลับประเทศญี่ปุ่น ได้ทราบข่าวการรับสมัครนักศึกษาของโครงการฯ จากเว็บไซต์ของสถานทูตไทยประจำกรุงโตเกียว โดยวัตถุประสงค์การเรียนครั้งนี้คือ ต้องการสอนให้ลูกที่กำลังเติบโตในสังคมญี่ปุ่น สามารถพูด-เขียนภาษาไทยได้อย่าง
ถูกต้องเป็นระบบ มีความเป็นไทยทั้งสำเนียงและความเป็นไทย
“สามีชาวญี่ปุ่นทำงานที่เมืองไทยเป็นเวลานาน
รักเมืองไทย และพูดภาษาไทยได้ โดยจะพูดภาษาไทย
กับลูกทั้ง 2 คน และอยากให้ลูกพูดภาษาไทยได้ แต่
ไม่รู้ว่าจะเริ่มสอนอย่างไรให้ถูกวิธี ดังนั้น เมื่อเจอข่าว
เปิดรับสมัครในสาขาภาษาไทยเมื่อปีพ.ศ. 2548 จึงสมัคร
เรียนทันที ในการเรียนทำให้รู้ว่าต้องเริ่มต้นจากการสอนอ่าน
พยัญชนะ สระ และผสมคำ”
นางสุภาวดี กล่าวต่อไปว่า ในขณะที่เรียน แม้จะเป็นแม่บ้านแต่ต้องจัดสรรเวลาอ่านหนังสือ ปัญหาในการเรียนคือ ข้อจำกัดในการติดต่ออาจารย์ผู้สอนที่ใช้ได้เพียงอีเมลกับโทรศัพท์เท่านั้น อยากให้เพิ่มช่องทางอื่นเช่น skype นอกจากนี้ เรื่องระยะทางไปสอบที่โตเกียวต้องเดินทางจากจังหวัดคานากาวาเปลี่ยนรถไฟหลายขบวนและในเทอมที่ใกล้จบการศึกษาต้องสอบวิชาร้อยกรองหลายครั้ง อาจารย์ตั้งใจอยากให้เราสามารถเขียนกลอนได้จริงมีการส่งรายงานฝึกสอน ต้องเขียนแผนการสอนโดยลูกสาวคนโตที่ขณะนั้นเรียนอยู่ชั้นประถม 5 ที่ญี่ปุ่นให้ความร่วมมือในการเป็นผู้เรียนเป็นอย่างดีใช้เวลาเรียน
ทั้งสิ้น 6 ปี จึงสำเร็จการศึกษา
“ในวันนี้รู้สึกตื้นตันใจ ที่ลูกทั้ง 2 คน พูดภาษาไทย
ได้ชัดเจน อ่านหนังสือสำหรับเด็กได้บ้างและเริ่มสนุกกับ
ภาษาไทย กำลังคิดว่าจะให้ไปสอบวัดระดับภาษาไทยที่สถาบัน
ของญี่ปุ่น เมื่อโรงเรียนญี่ปุ่นปิดเทอมฤดูร้อนเดือนสิงหาคม
จะพาลูกมาเข้าโรงเรียนช่วงสั้นๆที่เมืองไทย ตอนนี้สำเร็จ
การศึกษาแล้ว ได้เริ่มเป็นอาสาสมัครสอนภาษาไทยให้ชาวญี่ปุ่น
อย่างมั่นใจ เพราะมีเพื่อนที่อยากให้ลูกอ่านภาษาไทยได้
อาจจะฟรี ส่วนมากรุ่นพี่จะไม่พูดภาษาไทยแต่ฟังภาษาไทย
รู้เรื่อง ถ้ามีโอกาสก็อยากจะสอน ตอนนี้ได้รับเชิญไปสอน
นักเรียนเด็กเล็กบ้าง ทำงานในฐานะตัวแทนคนไทยบ้าง
อยากเสนอให้โครงการฯ เปิดสอนสาขาภาษาไทยหรือ
จิตวิทยาผู้สูงอายุ ในระดับปริญญาโท เพราะอยากเรียนต่อ
เพื่อนำไปใช้งานได้จริง”
|
|
ประพันธ์ เวารัมย์ [101.51.54.xxx] เมื่อ 14/01/2017 13:57
|