แบบอย่าง ‘เรียนก่อน-จบก่อน’ วัยเพียง 18 บัณฑิต Pre-degree รับเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง |
|
อ้างอิง
อ่าน 187 ครั้ง / ตอบ 0 ครั้ง
|
ประพันธ์ เวารัมย์
|
แบบอย่างความสำเร็จของบัณฑิตคณะมนุษยศาสตร์ จบปริญญาตรี จากการเรียนระบบ Pre-degree อายุเพียง 18 ปี เป็นบัณฑิตอายุน้อยที่สุด ที่คว้าเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง
นายณัฐพงศ์ ลาภบุญทรัพย์ หรือต้นคูน บัณฑิตคณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ เพื่อการท่องเที่ยวเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง จบการศึกษาจากการเรียนระบบ Pre-degree ด้วยวัยเพียง 18 ปี
บัณฑิตณัฐพงศ์ เล่าถึงก้าวแรกที่เข้ามาเรียน รามคำแหงว่า ตนเข้าศึกษาระบบ Pre-degree ขณะเรียน อยู่ชั้น ม.4 ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พอจบชั้น ม.6 มาเทียบโอนหน่วยกิต ตามระเบียบของมหาวิทยาลัยได้ 138 หน่วยกิต แล้วเรียนต่ออีก 6 หน่วยกิต โดยใช้ เวลาเรียนเพิ่ม 1 เทอม รวม 3 ปีครึ่งก็สำเร็จการศึกษา
“ผมมองว่าชีวิตของนักเรียนคนหนึ่งควรมองการณ์ไกล การเข้ามาเรียนระบบ Pre-degree ทำให้ผมได้ประสบการณ์เพิ่ม รู้จักการแบ่งเวลา รู้จักระเบียบวินัย ทำให้ผมเลือกทำสิ่งที่ชอบไปพร้อมกับทำในสิ่งที่ทางครอบครัวหวังไปพร้อมๆกัน นั่นคือการเรียนสายวิทย์-คณิตและเรียนปริญญาตรีอีกหนึ่งใบที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะที่บ้านอยากให้เป็นเภสัชกร”
บัณฑิต Pre-degree บอกว่า สิ่งที่ได้จากการเรียนระบบ Pre-degree คือผมรู้ระบบ ระเบียบการเรียนในมหาวิทยาลัยมาก่อนเพื่อนรุ่นเดียวกัน เมื่อเข้าสู่ รั้วมหาวิทยาลัยอีกแห่งพร้อมกับเพื่อนๆ แม้จะเป็นมหาวิทยาลัยปิด แต่ก็สามารถ ที่จะเข้าใจระเบียบการต่างๆได้เร็ว และกลุ่มเพื่อนในคณะเภสัชศาสตร์ ส่วนใหญ่ เป็นเด็กซิ่วมาจากคณะอื่น เวลาคุยกันทุกคนก็จะมีเรื่องเก่าของตัวเองมาเล่า ส่วนผม จะเล่าเรื่องสมัยเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง
นอกจากนั้นแล้ว ระบบ Pre-degree ยังทำให้ความฝันของผมที่เคยอยากเรียน ประวัติศาสตร์ในระดับอุดมศึกษาเป็นจริง ซึ่งทางบ้านก็สนับสนุนให้เรียน ผมมองว่า ความรู้จะทำให้เราองอาจ เพราะคนที่มีความรู้ก็เหมือนกับมีทรัพย์สินอันมีค่า อยู่กับตัว ซึ่งไม่มีใครจะมาขโมยไปจากเราได้ Pre-degree เป็นระบบที่เปิดโอกาส ให้เด็ก ม.ปลาย ได้เดินตามความฝันของตัวเอง และเป็นเสมือนการทดสอบว่าตัวเอง ชอบเรียนคณะนี้จริงๆหรือไม่ เพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจก่อนที่จะแอดมิชชั่น หรือสอบตรงเข้ามหาวิทยาลัยปิดด้วย
“มาถึงวันนี้...สิ่งที่มีค่ามากที่สุดต่อความรู้สึก คือ ความภูมิใจ มันไม่ใช่ แค่ความภูมิใจของตัวผมที่เป็นบัณฑิตอย่างเดียว แต่คือความภูมิใจของครอบครัว ที่เลี้ยงผมมา ทำให้ท่านได้เห็นความสำเร็จในวันนี้ ผมว่าทุกคนคงจะมีความสุข และสิ่งเหล่านี้ก็ยังเป็นแรงผลักดันที่จะทำให้ผมสู้ต่อไปข้างหน้า และใช้ความรู้ ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเอง สังคม และประเทศชาติ
ขณะเดียวกัน ผมเพิ่งผ่านการคัดเลือกศึกษาต่อระดับปริญญาโท คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งผมอยากทำงานด้านสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะ สื่อโทรทัศน์ เพราะมีแง่มุมที่น่าสนใจ จากการที่เราได้เป็นพิธีกรตามงานต่างๆ ทั้งของโรงเรียน และงาน eventอื่นๆ ผมรู้สึกว่านี่แหละใช่ตัวผม และยิ่งช่วง 4-5 ปีหลังมานี้มีการได้ออกรายการโทรทัศน์เรื่อยๆ ผมยิ่งรู้สึกว่าสื่อโทรทัศน์ เป็นอะไรที่พิเศษ ผมเป็นคนชอบคนเยอะๆ มีความสุขในการแสดงออก และมี ความกล้าต่อหน้าคนจำนวนมาก ก็เลยคิดถึงงานพิธีกรเป็นหลักเอาไว้”
บัณฑิต Pre-degree คนเก่ง ยังเผยด้วยว่ามีหลายคนถามว่าเรียนประวัติศาสตร์ เพื่อการท่องเที่ยวกับวิชาโทภาษาไทยมาทำไม ผมมองว่าความรู้ที่ได้จากในรามคำแหง ตรงนี้มีประโยชน์ ถ้าสมมติผมได้ทำงานอยู่ในสื่อจริงๆ ภาษาไทยก็มีความจำเป็น คำๆหนึ่ง วรรคตอนผิด ใช้ผิดความหมายก็ผิด สื่อสารไปแล้วผู้รับสารก็ตีความผิดๆ ไปได้ ส่วนการเรียนประวัติศาสตร์นั้นก็ช่วยฝึกกระบวนคิดเราให้สืบเสาะหา เหตุปัจจัยต่างๆอย่างมีเหตุผล และยังเป็นความรู้รอบตัวที่ติดตัวเราอยู่ด้วย ผมคิดว่า ความรู้ ทุกๆแขนงต้องนำมาบูรณาการกันเพราะศาสตร์หนึ่งศาสตร์ไม่เพียงพอต่องานหนึ่งชิ้นแน่นอน
“ก้าวมาถึงความสำเร็จในชีวิต...อธิบายเป็นคำพูดยาก สำหรับวินาทีนี้ ผมว่า ชีวิตของคนเราสั้นนะ ตอนนี้ผมอายุจะ 20 แล้ว ฟังเหมือนจะน้อยแต่ถ้าเทียบกับ ชีวิตหนึ่งมันก็มาหนึ่งในสี่แล้ว อยากทำอะไรก็รีบๆทำครับ มีความฝันอะไรรีบทำ ให้สำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย จะได้มีเวลานำความสำเร็จและประสบการณ์ของเราไปช่วย เหลือผู้อื่นได้บ้าง...
เมื่อเข้ามาเรียนรามคำแหง เคยได้ยินคำพูดที่ว่า ‘รามฯเข้าง่ายจบยาก’ แต่ถ้า นักศึกษาแบ่งเวลาเป็นและเคารพในวินัยของตัวเอง ผมว่านี่เป็นปัจจัยที่ทำให้บัณฑิต ทุกคนประสบความสำเร็จ และคุณสมบัติเหล่านี้ไม่ได้ช่วยเฉพาะเวลาเรียนเท่านั้น แต่ยังช่วยเราต่อไปเมื่อเราจบการศึกษาออกไปใช้ชีวิตอยู่ในโลกภายนอกด้วย”
ต้นคูน ฝากข้อคิดสั้นๆถึงเพื่อนๆชาวรามคำแหงว่า อยากให้ทุกคนมีความภูมิใจ แล้วก็มั่นใจในตนเองครับ ผมว่าทุกๆคนมีเรื่องน่าภูมิใจที่ดีๆด้วยกันทั้งนั้นลองหา มันให้เจอครับ ถ้าเรารู้สึกว่าท้อ หมดศรัทธา หมดคุณค่าในตนเอง วันนั้นความล้มเหลว จะมาถึง แต่ถ้าเรารู้สึกศรัทธาและตระหนักถึงคุณค่าในตัวของเราเอง เราจะมีพลัง ที่จะก้าวต่อไป ลองนึกถึงคนที่คุณรัก อย่างคนในครอบครัว เพื่อนๆ และคนรัก ทุกคนรอคอยความสำเร็จของคุณอยู่
“ในฐานะบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์เพื่อการท่องเที่ยว ขอเปรียบเทียบว่าชีวิตคนก็เหมือนมีประวัติศาสตร์กันมาด้วยกันทุกคน ประวัติศาสตร์ ของแต่ละคนจะเป็นอย่างไรก็ตามแต่ แต่ประวัติศาสตร์ของวันพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับสองมือของเราในวันนี้ครับ” บัณฑิตคณะมนุษยศาสตร์กล่าว
|
|
ประพันธ์ เวารัมย์ [101.51.54.xxx] เมื่อ 14/01/2017 13:57
|