สรุป Plan A การเมืองการปกครอง สอบประมวล ม.รามคำแหง |
|
อ้างอิง
อ่าน 312 ครั้ง / ตอบ 0 ครั้ง
|
ประพันธ์ เวารัมย์
|
สรุป Plan A
การเมืองการปกครอง
(ปีนี้เป็นปีแรกที่อาจารย์วุฒิศักดิ์บรรยาย Plan A สลับกับอาจารย์สิทธิพันธ์ที่ไปบรรยาย 701)
Plan A ประกอบด้วย 710 สังคมวิทยาการเมือง และ 712 การมีส่วนร่วมทางการเมืองของมหาชนไทย
ประเด็นสำคัญที่ต้องอ่านทำความเข้าใจ คือ
1.สาระสำคัญของวิชา 710
1.1 ความคิดรวบยอดของสังคมวิทยาการเมือง
1.2 ทฤษฎีที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ประกอบด้วย
-แนวความคิดเกี่ยวกับความทันสมัย (Modernization)
-ตัวแบบความทันสมัยกับความไร้เสถียรภาพทางการเมืองของแซมมวล พี. ฮันติงตัน
-ตัวแบบการพัฒนาสังคมที่มีผลต่อการเมืองของคาร์ล ดอยท์
-ตัวแบบความไร้เสถียรภาพทางการเมืองของมาร์ติน ลิบเซ็ท
-แนวคิดอื่นๆ เช่นแนวคิดชนชั้นกลาง แนวคิดโลกาภิวัตน์ แนวคิดชนชั้นนำ (เป็นแนวคิดที่มีพื้นฐานที่มองมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งสิ้น)
2.สาระสำคัญของวิชา 712
2.1 ความคิดรวบยอดของการมีส่วนร่วมทางการเมือง
2.2 รูปแบบของการมีส่วนร่วมทางการเมือง
2.3 จุดอ่อน (ข้อจำกัด) ของการมีส่วนร่วมทางการเมือง
3.อ่านเหตุการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน
สาระสำคัญของวิชา 710
ความคิดรวบยอด
สังคมวิทยาการเมือง เป็นวิชาที่มองว่าปัจจัยทางสังคมมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และปัจจัยทางการเมืองมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่สำคัญปัจจัยทางสังคมเป็นปัจจัยที่มองไม่เห็น แต่จะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่มีผลต่อเหตุการณ์ทางการเมืองที่เรามองเห็น เป็นเสมือนภูเขาน้ำแข็งที่อยู่ใต้น้ำจะเป็นก้อนใหญ่มหึมามากกว่าส่วนที่อยู่พ้นน้ำ (ตามทฤษฎีถูเขาน้ำแข็ง หรือ Iceberg)
ดังนั้นวิชา 710 จึงให้ความสนใจกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมือง
ทฤษฎีหรือแนวคิดที่ใช้ในการอธิบายการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
1.แนวคิดเกี่ยวกับความทันสมัย (Modernization)
ความหมาย
ความทันสมัยหมายถึงกระบวนการในการเปลี่ยนแปลงจากภาวะดั้งเดิมไปสู่ภาวะที่ทันสมัย
ทาร์คอต พาร์สัน บอกว่ากระบวนการทันสมัยเป็นเรื่องความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนสภาพการณ์ใน 4 ประการ ซึ่งเป็นสภาพการณ์หลักที่ปรากฎในสังคมดั้งเดิมที่จะต้องปรับให้เป็นสภาพการณ์ใหม่คือ
1.ต้องปรับเปลี่ยนจาก Particularistic ให้เป็น Universalistic หมายถึงการที่กฎหมายระเบียบต่างๆที่เคยออกมาบังคับใช้เฉพาะกลุ่ม เฉพาะบุคคล ต้องปรับเปลี่ยนให้บังคับใช้กับทุกคน หรือบุคคลจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันอัน
2.เปลี่ยนจากสภาพ Diffuse ให้เป็น Specific หมายบทบาทที่คนคนเดียวต้องทำหน้าที่หลายอย่างที่เรียกว่า Diffuse Function ต้องถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นลักษณะที่แต่ละคนทำหน้าที่เฉพาะอย่างเพื่อเกิดความชำนาญเฉพาะด้านหรือ Specific
3. ต้องเปลี่ยนจาก Ascriptive มาเป็น Achievement หมายถึงการสืบทอดตำแหน่งในสังคมดั้งเดิมจะเป็นไปตามสายเลือด แต่ในสังคมสมัยใหม่จะต้องใช้ หลักแห่งสัมฤทธิผลและหลักแห่งความยุติธรรมเป็นสำคัญ
ปัจจัยที่ทำให้เกิดความทันสมัย จะมี 2 ปัจจัยคือ
1.การพัฒนาเศรษฐกิจ (Economic Development )
2.การพัฒนาสังคม ซึ่งในที่นี้ทำโดยการพัฒนาการศึกษา และกระบวนการกล่อมเกลาคนในสังคมให้เปลี่ยนจากเดิมไปสู่สภาวะที่ดีขึ้นที่เรียกว่า Social Mobilization (ที่อาจารย์สิทธิพันธ์เรียกว่ากระบวนการของเก่าถอดทิ้ง)
ทั้ง Economic Development และ Social Mobilization จะมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
นักศึกษาจะต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่า การพัฒนาเศรษฐกิจ กระบวนการ Social Mobilization มีผลต่อการเมืองอย่างไร
2.ตัวแบบของ คาร์ล ดอยช์ นำเสนอว่า Social Mobilization ที่มีต่อการเมือง
คาร์ล ดอยช์ บอกว่าในสังคมที่มีระดับของ Social Mobilization สูงจะมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง 3 ประการ คือ
1.ทำให้คนที่มีระดับ Social Mobilization สูงทิ้งแบบแผนการดำเนินชีวิตแบบเก่า เพราะคนพวกนี้จะมีความรู้ความเข้าใจสูงขึ้น และจะเข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมืองมากขึ้นอันมีผลมาจากการคาดหวัง ความทะเยอทะยานสูงขึ้น
2.ทำให้สถาบันทางการเมืองมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการที่คนเข้าไปเรียกร้องทางการเมืองมาขึ้น รัฐจะดำรงอยู่ได้อย่างมีเสถียรภาพก็ต่อเมื่อสร้างสถาบันทางการเมืองที่เข้มแข็งมารองรับ
3.Social Mobilization ส่งผลให้ที่มาของผู้นำทางการเมืองจะแปรเปลี่ยนไป คือในสังคมแบบดั้งเดิมผู้นำทางการเมืองจะมาจากฐานของความชอบธรรมทางประเพณี แต่ในสังคมที่ทันสมัยผู้นำจะมีกฎหมายมารองรับความชอบธรรม (Legal-Rational)
ปัจจัยที่ใช้วัดระดับของ Social Mobilization
1.จำนวนคนที่มีความเป็นอยู่ที่ทันสมัย
2.วัดจากคนที่สัมผัสสื่อสารมวลชนในรูปแบบต่างๆว่ามีมากน้อยแค่ไหน
3.วัดจากจำนวนคนที่เปลี่ยนที่อยู่อาศัยไปสู่ที่ดีกว่าเก่า
4.ดูจากการขยายตัวของสังคมเมือง เพราะการที่เมืองขยายตัวทำให้คนรับสิ่งใหม่ๆ
5.วัดจากจำนวนคนที่เปลี่ยนอาชีพจากกสิกรเป็นอาชีพอย่างอื่น
6.วัดจากจำนวนผู้รู้หนังสือ
7.วัดจากรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อคน
ผลกระทบของการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่มีต่อการเมือง
1.Identity Crisis ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ด้านความผูกพันเช่น ในสังคมแบบเก่าคนจะมีความผูกพันกันสูง คนจะเชื่อผู้นำ แต่ในสังคมสมัยใหม่ต้องให้คนหันมายอมรับสถาบันและกฎหมายใหม่ๆ ปัญหาความผูกพันก็จะเกิดขึ้น
2.Legitimacy Crisis หมายถึงวิกฤตแห่งความชอบธรรม ผู้นำที่มาจากฐานความชอบธรรมแบบเก่าๆ ก็จะไม่ได้รับการยอมรับอีกต่อไป
3.Political Participation Crisis วิกฤตการณ์ในด้านการมีส่วนร่วมทางการเมือง เพราะสังคมที่ทันสมัยสูงขึ้น คนจะมีการเคลื่อนย้ายทางสังคมสูง คนมีความคิดอ่านมากขึ้น คนมีความรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญทางการเมืองมากขึ้น
4.Penetration Crisis วิกฤตการณ์ในการเข้าถึงประชาชน ในยุคก่อนนั้นรัฐจะขยายการบังคับบัญชาได้ในแวดวงที่จำกัด แต่เมื่อสังคมมีทันสมัยมากขึ้น รัฐจะเข้ามายุ่งเกี่ยวกับประชาชนมากขึ้นไปก็จะก่อให้เกิดปัญหาขึ้นได้
5. Distribution Crisis วิกฤติการณ์ในเรื่องการแจกแจงบ่งสรรทรัพยากร เพราะในสังคมที่ทันสมัยคนจะความต้องการต่างๆมากขึ้น แต่รัฐบาลมีทรัพยากรที่จำกัด
6. Integration Crisis วิกฤติการณ์ในเรื่องความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งก็เกิดมาจากการที่รัฐไม่สามารถสนองตอบความต้องการได้เท่าเทียมกัน
3.ตัวแบบของฮันติงตัน
แซมมวล พี. ฮันติงตัน กล่าวว่าการพัฒนาเศรษฐกิจว่ามีผลความไร้เสถียรภาพทางการเมือง โดยมองว่าในสังคมที่ระดับการพัฒนาเศรษฐกิจสูงจะมีระดับความทันสมัยสูง ซึ่งส่งผลให้ระดับของ Social Mobilization สูง จะทำให้คนในสังคมมีความกระตือรือร้นทางการเมืองสูง มีความสำนึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่รัฐบาลจะต้องหันมาเหลียวและ คนในสังคมจะมีความทะยานอยากที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง
ถ้าสังคมนั้นไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการจากการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองได้ คนจะเกิดความคับข้องใจทางสังคม หรือมีระดับ Social Frustration สูง แต่หากสังคมนั้นเป็นสังคมที่มี Mobility Opportunity หรือเป็นสังคมที่เปิดโอกาสให้คนมีการขยับขยายฐานนะทางสังคมได้สูง ก็จะไม่มีปัญหาผลกระทบทางการเมืองแต่อย่างใด
แต่ถ้าสังคมที่คนมีขับข้องใจ แต่ความขับข้องใจดังกล่าวไม่ได้รับการตอบสนอง หรือสังคมนั้นเป็นสังคมปิดไม่เปิดโอกาสให้มีการขยับขยายทางสังคมจะทำให้คนเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political Participation) เป็นจำนวนมาก
สังคมใดที่คนเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองจำนวนมากและในรูปแบบที่รุนแรงเช่นการประท้วง การเรียกร้องความต้องการแต่สถาบันทางการเมืองไม่มีประสิทธิภาพมากเพียงพอก็จะเกิดสภาพความไร้เสถียรภาพทางการเมือง และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง (Political Change) ในที่สุด
ตัวอย่าง การนำเอาตัวแบบของฮันติงตันมาอธิบายการเมืองไทย
1.การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475
2.เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 16 ตุลาคม 2519
3.เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535
4.เหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549
ทั้ง 4 เหตุการณ์ล้วนเป็นผลที่มาจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมในช่วงก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ทั้งสิน ดังจะได้อธิบายทีละเหตุการณ์ดังนี้
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปี 2475
ถ้าพิจารณาตามแนวคิดของฮันติงตัน เหตุการณ์ปี 2475 เกิดจากความไม่สมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมกับการพัฒนาการเมือง
กล่าวคือในสมัยของรัชกาลที่ 5 ทรงมีนโยบายพัฒนาประเทศโดยการสร้างความทันสมัย ทั้งนี้เพื่อป้องกันการล่าอาณานิคมจากชาติตะวันตก เช่นการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในการนี้ทำให้พระองค์มีความจำเป็นในการส่งคนไทยไปเรียนในต่างประเทศเพื่อรองรับงานด้านต่างๆที่เกิดจากการปฏิรูปประเทศ
ผลที่เกิดขึ้นจากนโยบายนี้ทำให้คนไทยที่ไปเรียนต่างประเทศรับแนวคิดตะวันตกเข้ามา ต่อเนื่องมาจนถึงรัชกาลที่ 6 และสุดท้ายคนเหล่านี้ก็มีความต้องการที่จะเข้ามีส่วนร่วมในทางการเมือง แต่ระบบการเมืองยังไม่มีการพัฒนา ระบบกษัตริย์ไม่สามารถตอบสนองความต้องการทางการเมืองของปัญญาชนที่ไปศึกษาต่อในต่างประเทศได้ ในที่สุดก็นำมาซึ่งการรวมตัวของนายทหารลุกขึ้นมายึดอำนาจจากกษัตริย์และเปลี่ยนแปลงการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นประชาธิปไตย
เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 16 ตุลาคม 2519
เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 16 ตุลาคม 2519 ก็เป็นผลมาจากการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆมาตั้งแต่ปี 2505 ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ โดยเฉพาะการพัฒนาทางด้านการศึกษาและการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่นมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยในภูมิภาค ส่งผลให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจทางการเมืองมากขึ้น นักศึกษาตามมหาวิทยาลัยมีความคิดความอ่านที่ได้รับรู้จากการศึกษา
ขณะที่การเมืองยังเป็นเผด็จการ สถาบันการเมืองที่อยู่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของนักศึกษาและประชาชนได้ เกิดสิ่งที่เรียกว่าการแช่แข็งทางการเมือง ทั้งยังมีปิดกั้นการเข้ามีส่วนร่วมของประชาชน มีการห้ามชุมนุมกันทางการเมือง ห้ามผู้ใช้แรงงานรวมตัวกันเป็นสมาพันธ์ ลักษณะดังกล่าวทำให้นักศึกษาและประชาชนเกิดความขับข้องใจ
ทำให้เกิดการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองครั้งใหญ่ด้วยการออกมาชุมนุมประท้วงของนักศึกษาและประชาชน จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและมีการขับไล่รัฐบาลเก่าให้ออกจากตำแหน่งในที่สุด
ตรงนี้เป็นความไม่สมดุลระหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม และการพัฒนาทางการเมือง สุดท้ายก็นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงและการล่มสลายทางการเมือง
เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535
แนวคิดการพัฒนาที่ไม่สมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาการเมืองยังสามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 เนื่องจากก่อนจะเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เป็นช่วงที่เศรษฐกิจของไทยมีการเติบโตสูงมาก จากนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลพลเอกชาติชาย การเติบโตทางเศรษฐกิจทำให้ชนชั้นกลางในสังคมไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว พร้อมๆกับระบบการติดต่อสื่อสารที่ทันสมัยมากขึ้น โอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนมีมากขึ้น แต่เมื่อเกิดเหตุการ์ณ รสช. ที่นายทหารที่นำโดยพลเอกสุนทร คงสมพงศ์ ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเอกชาติชาย และมีการสืบทอดอำนาจโดยการให้พลเอกสุจินดา คราประยูรเป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้ชนชั้นกลางซึ่งเป็นคนที่มีทั้งความรู้ มีฐานะทางเศรษฐกิจ และเป็นกลุ่มคนที่มีความตระหนักในความสำคัญของตนเองในทางการเมือง (Self Political) จึงเข้าร่วมชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาลที่มาจาก รสช. จนทำให้ม๊อบปี 2545 ถูกเรียกว่าม๊อบชนชั้นกลางหรือม๊อบมือถือ
การที่ทหารพยายามทำให้การเมืองกลับไปสู่การเมืองแบบเก่า จึงเป็นภาวะที่ไม่สมดุลกับความต้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง อันเกิดจากคนมีการศึกษาและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทำให้ความขัดแย้งระหว่างทหารและประชาชนลุกลามจนกลายเป็นการนองเลือดในที่สุด
เหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549
การรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน ยิ่งสะท้อนให้เห็นการพัฒนาที่ไม่สมดุล ระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม เทคโนโลยี และการเมือง
ทั้งนี้เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เป็นเหตุการณ์ที่นำมาสู่การปฏิรูปการเมืองในปี 2540 เป้าหมายของการปฏิรูปการเมืองก็เพื่อให้การเมืองเป็นการเมืองของพลเมืองแทนที่จะเป็นการเมืองของ ส.ส. ทุกวันนี้การเมืองไทยจึงเป็นขั้นตอนของความพยายามที่จะเปลี่ยนประชาธิปไตยแบบมีตัวแทน (Representative Democracy) มาเป็นการเมืองแบบมีส่วนร่วมหรือ Participatory Democracy
รัฐธรรมนูญปี 2540 มีผลทำให้คนไทยตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น เกิดการรวมตัวในรูปประชาสังคมมากมาย และความพร้อมในการมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น
แต่ปรากฏว่าในทางการเมืองรัฐบาลที่นำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ กลับใช้อำนาจในการบริหารประเทศอย่างเบ็ดเสร็จ อันเนื่องจากการมีอำนาจทุนอยู่ในมือ และใช้อำนาจในการแทรกแซงองค์กรทางการเมืองอื่นๆ จนทำให้องค์กรหรือสถาบันการเมืองต่างๆไม่ได้ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็น เช่น
-สภาผู้แทนเป็นสถาบันที่ไม่ทำหน้าที่ของตนเอง เนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ส่วนใหญ่สังกัดพรรครัฐบาล ส.ส.จึงทำหน้าที่สนับสนุนรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีจนลืมทำหน้าที่นิติบัญญัติ หรือหน้าที่ตัวแทนประชาชน
-วุฒิสภา วุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นวุฒิสภาที่ไม่ทำหน้าที่ของตนเองในการตรวจสอบและกรั่นกรองการใช้อำนาจรัฐ ทั้งยังปฏิบัติตนไม่เป็นไปตามกฎหมาย เช่นกฎหมายสั่งห้ามไม่ให้สังกัดพรรค แต่ ส.ว.หลายคนขายตัวให้กับพรรคการเมือง
-องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เช่นกกต.เป็นองค์กรอิสระที่อื้อฉาวที่สุดถึงการไม่ทำหน้าที่จนทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาและ กกต.หลายคนต้องถูกฟ้องร้องและถูกจำคุก
-พรรคการเมือง ตามหลักการแล้วพรรคการเมืองจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำเสนอนโยบายตามความต้องการของประชาชน แต่พรรคไทยรักไทยในฐานะพรรครัฐบาลกลับนำเสนอนโยบายหลายอย่างที่เป็นการตอบสนองความต้องการของนายทุนพรรคตนเอง จนกลายเป็นที่มาของปัญหาคอรัปชั่นเชิงนโยบาย
ในขณะที่รัฐบาลทักษิณพยายามจะทำให้การเมืองไทยเป็นการเมืองแบบเผด็จการโดยทุนนิยม ซึ่งขัดแย้งกับการตระหนักถึงความสำคัญของการเมืองภาคพลเมืองของประชาชน ในทางสังคมกลับมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะการพัฒนาของสื่อสารโทรคมนาคม โดยเฉพาะความทันสมัยของระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีผลทำให้ประชาชนรับรู้ข่าวสารทางการเมืองได้อย่างรวดเร็ว
ประเด็นดังกล่าวสะท้อนให้เห็นการพัฒนาที่ไม่เท่ากันระหว่างการเมือง กับการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจและเทคโนโลยี สุดท้ายเมื่อประชาชนรับรู้พฤติกรรมในทางไม่ชอบของรัฐบาลจึงออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวผ่านการสื่อสาร สุดท้ายก็ทำให้เกิดวิกฤติการเมือง และนำมาสู่การล่มสลายของระบอบประชาธิปไตย และทำให้ทหารเข้ามามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง
จากตัวอย่างที่กล่าวมาทั้งหมด สะท้อนให้เห็นถึงผลของการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจที่มีผลต่อการพัฒนาทางการเมือง และหากการพัฒนาทั้ง 2 ด้านไม่มีความสมดุลกันความล่มสลายทางการเมืองก็จะเกิดขึ้น
4.ตัวแบบของมาร์ติน ลิบเซ็ท
Seymour Martin Lipset มองว่าเสถียรภาพทางการเมืองของระบบการเมืองขึ้นอยู่กับตัวแปร 2 ตัวคือ (1) ประสิทธิผล (Efficiency) และ (2) ความชอบธรรมของระบบการเมือง (Ligitimacy) ซึ่ง Lipset จะใช้ตัวแปรทั้งสองตัววัดแนวโน้มของเสถียรภาพทางการเมือง
ถ้าสังคมใด Legitimacy เป็นบวก คือสังคมที่รัฐบาลมีความชอบธรรมทางการเมืองสูง มาจากการเลือกตั้ง และประชาชนให้การยอมรับมาตั้งแต่แรก
ถ้า Legitimacy เป็น ลบ คือสังคมที่มีรัฐบาลที่ประชาชนไม่ให้การยอมรับมาตั้งแต่แรก อาจมาจากการการปฏิวัติหรือยึดอำนาจจากคนอื่นมา
ส่วน Effectiveness จะคำนึงถึงผลระยะยาว มีเป้าหมาย มีการวางแผน และมีขั้นตอนที่ชัดเจน รัฐบาลที่ดำเนินการไปทีละขั้นตอนที่วางแผนเอาไว้เพื่อทำให้เกิดความกินดีอยู่ดีของประชาชน ถือว่าเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ เช่นการสร้างเขื่อน
ส่วนประสิทธิภาพ จะมุ่งผลสัมฤทธิ์ในเป้าหมายระยะสั้น เช่นนโยบายช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน เช่นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลประชิปัตย์กำลังดำเนินการในขณะนี้
จากแนวคิดของลิปเซ็ททำให้แบ่งรัฐบาลออกเป็น 4 กลุ่มคือ
A คือรัฐบาลที่มีความชอบธรรมสูง มาจากการเลือกตั้ง มีการวางแผนงานและดำเนินการตามแผนเพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน รัฐบาลกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะมีเสถียรภาพสูงสุด
B คือรัฐบาลที่ประชาชนไม่ได้ให้การต้อนรับมาตั้งแต่แรก แต่เมื่อได้เป็นรัฐบาลแล้วก็สามารถวางแผนงาน กำหนดนโยบาย และพยายามดำเนินการตามแผนต่างๆ เป็นอย่างดีและมีประสิทธิภาพ รัฐบาลกลุ่มนี้จะมีเสถียรภาพทางการเมืองสูง เช่น รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
C คือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ไม่มีโครงการหรือแผนงานใดเลย อยู่ไปวันๆ รัฐบาลกลุ่มนี้ค่อนข้างจะไร้เสถียรภาพ
D คือรัฐบาลที่เข้ามาสู่อำนาจจากการแย่งชิง เมื่ออยู่ในอำนาจก็ไม่ได้ทำอะไรใหม่ ไม่สามารถสร้างอะไรให้ประชาชนเลย เป็นรัฐบาลกลุ่มที่ไร้เสถียรภาพค่อนข้างสูง
เช่นในระยะแรกของรัฐบาลทักษิณถือว่าเป็นรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพสูงและมีความชอบธรรมสูงด้วย เพราะมาจากการเลือกตั้งจากประชาชนจำนวนมหาศาล รวมทั้งมีผลงานเป็นที่ถูกใจประชาชน ทำให้ฐานะรัฐบาลค่อนข้างมั่นคงโดยเฉพาะในสมัยแรกของการเป็นรัฐบาล
แต่ในสมัยที่ 2 แม้จะยังได้รับการเลือกตั้งแต่เริ่มขาดความชอบธรรมเนื่องจากมีการคอรัปชั่นเชิงนโยบาย แก้ไขกฎหมายเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของตนเองและครอบครัว ตัวนายกรัฐมนตรีถูกมองว่าทำธุรกิจไปพร้อมกับการทำหน้าที่ผู้นำประเทศ สุดท้ายทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่พรรคการเมืองที่ได้รับเสียงข้างมาก ความไร้เสถียรภาพของรัฐบาลจึงมีอยู่ตลอดเวลา ขณะที่มาของการเป็นรัฐบาลก็ถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรมจากบางฝ่าย (ฝ่ายที่ต่อต้านพันธมิตรประชาชนและประชาธิปัตย์) แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากบางฝ่าย เสถียรภาพของรัฐบาลประชาธิปัตย์จึงขึ้งอยู่กับผลงานของรัฐบาล
(แต่ตอนที่อาจารย์วุฒิศักดิ์บรรยายจะบอกว่ามาร์ติน ลิปเซ็ทเสนอว่าการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ก็จะน่าจะถูกต้องเช่นกัน)
รูปแบบของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
1.การปฏิวัติ (Revolution) เป็นการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานภายในสังคมที่ใช้ความรวดเร็วและรุนแรง มีการเปลี่ยนแปลงค่านิยม เปลี่ยนความเชื่อที่สำคัญๆของสังคม เปลี่ยนสถาบันทางการเมือง เปลี่ยนโครงสร้างของผู้นำ เปลี่ยนกิจกรรมและนโยบายต่างๆของรัฐบาล
สาเหตุของการปฏิวัติ การปฏิวัติเกิดจากการที่ระบบไม่สามารถทำหน้าที่ (Dysfunction) ต่อไปได้ เพราะ
1.มาจากสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจ เจมส์ เดวี่ ที่บอกว่าการปฏิวัติจะเกิดขึ้นได้ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจที่กำลังก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆเกิดตกต่ำอย่างฉับพลัน
2.สภาพการทางการเมือง เช่นมีความขัดแย้งกันในรัฐบาลจนทำให้รัฐบาลขาดความชอบธรรม
3.เกิดจากสภาพการณ์ทางจิตวิทยา เช่น เทด โรเบิร์ต เกอร์ บอกว่าการปฏิวัติเกิดจากการไม่พึงพอใจ (Discontent) ของประชาชนเกิดที่รู้สึกว่าพวกเขาถูกฉกฉวยผลประโยชน์ที่เขาควรจะได้รับในเชิงเปรียบเทียบ โดยเฉพาะถ้าความเดือดร้อนหรือความไม่พอใจนั้นถูกทำให้เป็นประเด็นทางการเมืองหรือ Politicize
2.การปฏิรูป (Reform) การปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้ยากกว่าการปฏิวัติการปฏิรูปเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีขอบเขตที่จำกัด ในบางประเด็นที่เป็นปัญหาและพยายามแก้ไขประเด็นนั้น แต่การปฏิวัตินั้นจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งสังคม
และถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงผู้นำ เปลี่ยนแปลงนโยบายและสถาบันทางการเมืองในระดับปานกลาง ขณะที่การปฏิวัตินั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับลึก แบบพลิกฝ่ามือ
ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยหลายปรากฎการณ์ที่เกิดจากความไร้เสถียรภาพทางการเมืองอันสืบเนื่องมาจากสังคมนั้นๆมีระดับของการพัฒนาเศรษฐกิจและระดับของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม แต่ขาดระดับของการพัฒนาการเมืองที่ดี ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 16 ตุลาคม พฤษภาทมิฬ จนกระทั่งการปฏิรูปการเมือง 2540 และการปฏิรูปการเมือง 2550 ที่กำลังดำเนินอยู่
สาระสำคัญของ 712
แนวคิดรวบยอด
การมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political Participation) ถือเป็นประเด็นที่สำคัญมากๆในปัจจุบัน เพราะแนวโน้มของการเมืองไทยและการเมืองในระดับโลกคือการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน เนื่องจากระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่เชื่อมั่นในตัวประชาชน
ดังนั้นจึงมีความพยายามที่จะเปลี่ยนการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเป็นประชาธิปไตยในแบบตัวแทน (Representative Democracy) มาเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม
สาเหตุที่สำคัญที่สุดที่ทำให้การเมืองเปลี่ยนจากประชาธิปไตยแบบมีตัวแทนมาสู่ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy) ก็เนื่องจากที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าระบบตัวแทน ไม่ใช่ระบบที่ดีที่สุด ซ้ำยังเป็นระบบที่ก่อให้เกิดปัญหามากมาย และปัญหาที่ว่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก
ในประเทศไทยเราจึงพยายามเปลี่ยนแปลงการเมืองของเราจากประชาธิปไตยแบบตัวแทนมาเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม หรือเรียกอีกอย่างว่าเปลี่ยนการเมืองของนักการเมืองมาเป็นการเมืองของพลเมือง
รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่พยายามสร้างกลไกตรงนี้ให้เกิดขึ้น แต่ในที่สุดเราก็ล้มเหลว เนื่องจากบางส่วนของรัฐธรรมนูญและการนำรัฐธรรมนูญมาปรับใช้กลับไปส่งเสริมอำนาจรัฐและอำนาจทุนจนกลายเป็นวิกฤติการณ์ทางการเมืองและถือเป็นวิกฤติการมีส่วนร่วมทางการเมืองด้วย สุดท้ายก็นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในวันที่ 19 กันยายน 2549
หลังจากการรัฐประหารปี 2549 เรากำลังปฏิรูปการเมืองโดยใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมืออีกครั้ง ด้วยการออกรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่วิกฤติการเมืองไทยยังไม่ยุติ ปี 2551 การเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและฝ่ายตรงข้ามยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง มาจนถึงปี 2552 กลุ่มที่ตรงข้ามกับพันธมิตรคือกลุ่มคนเสื้อแดงก็ยังคงมีบทบาทในทางการเมือง
อย่างไรก็ตามการมีส่วนร่วมทางการเมืองของทั้ง 2 ฝ่ายยังมีปัญหามากมาย เช่นเกิดคำถามว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอยู่ในขอบเขตของกฎหมายมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะการยึดสนามบินสุวรรณภูมิ ไม่แตกต่างจากฝ่ายตรงข้ามที่มีการเคลื่อนไหวในแบบรุนแรง เช่นฆ่าฝ่ายพันธมิตรเสียชีวิต หรือปาไข่ใส่นักการเมืองเช่นนายชวน หลีกภัย ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังถูกตั้งคำถามว่าเคลื่อนไหวอย่างมีอิสระหรือได้รับการว่าจ้าง
จุดร่วมสำคัญของวิชา 710 และ 712 คือ จะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างมีสำนึกในความเป็นพลเมือง คำตอบโดยคร่าวๆก็คือคำตอบของวิชา 710 คือ การพัฒนาเศรษฐกิจให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และการให้ความรู้ทางการเมืองกับประชาชน แต่ที่ผ่านมากระบวนการทั้ง 2 นี้ยังไม่บรรลุเป้าหมาย (เพราะคนที่ความรู้ทางการเมืองน้อยและคนจนยังเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ)
ดังนั้นหากคำถามขอข้อสอบออกมาให้แบบเปิดโอกาสให้เรานำความรู้ทั้ง 2 วิชาไปตอบได้ก็น่าจะดึงจุดร่วมตรงนี้ไปช่วยในการอธิบาย
รายละเอียดของวิชา 712
รูปแบบของการมีส่วนร่วมทางการเมือง มี 3 รูปแบบ
1.รูปแบบที่เป็นทางการ (formal / conventional participation) เช่น การเลือกตั้ง การเข้าชื่อกันถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย การชุมนุมประท้วง ซึ่งมีกฎหมายรองรับในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสันติปราศจากอาวุธ
2.รูปแบบที่ไม่เป็นทางการ (informal / unconventional participation) เช่น การวิ่งเต้นทางพรรคการเมืองเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง การพูดคุยทางการเมืองในสนามกอล์ฟ การล๊อบบี้ เป็นต้น
3.การมีส่วนร่วมนอกระบบหรือนอกรูปแบบ (exceptional form of participation) จะเห็นว่ามีลักษณะคล้ายกับรูปแบบที่ 2 แต่การมีส่วนร่วมนอกระบบจะเน้น 2 ประเด็นคือ
3.1 การใช้ความรุนแรงทางการเมือง
3.2 การปฏิวัติ
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมือง (Civil Political Participation)
เป็นประเด็นที่สำคัญมากในปัจจุบัน กล่าวได้ว่าการศึกษารัฐศาสตร์ในปัจจุบันได้มีจุดสนใจอยู่ในเรื่องการเมืองของพลเมือง ซึ่งถือว่าเป็นการเมืองแบบใหม่ หรือ New Politics
ทั้งนี้การเติบโตของภาคประชาชน หรือเรียกอีกอย่างว่าภาคประชาสังคม (Civil Society Sector) ที่ลุกขึ้นมาทานอำนาจรัฐมากขึ้น จากเดิมในอดีตที่ภาคสังคมเป็นภาคที่ยอมสยบอยู่ใต้อำนาจรัฐ ทำให้การศึกษาการเมืองต้องเปลี่ยนมิติหรือเปลี่ยนมุมมองในการศึกษา
กล่าวคือในอดีตการศึกษาการเมืองจะให้ความสำคัญไปที่เรื่องของรัฐ เช่น
-การศึกษาว่ารัฐที่ดีหรือผู้ปกครองที่ดีควรจะเป็นอย่างไร
-ศึกษาสถาบันทางการเมืองที่เป็นทางการ เช่นพรรคการเมือง รัฐสภา ระบบราชการ
-ศึกษากลไกทางการเมืองที่เป็นทางการ เช่นการเลือกตั้ง การอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ในอดีตภาครัฐ (State Sector) จึงมีขนาดใหญ่มีบทบาทในการควบคุมและจัดการกับภาคสังคมได้อย่างกว้างขวาง
แต่เมื่อภาคสังคมมีการเติบโต ทำให้บทบาทหลายอย่างที่รัฐเคยทำถูกผ่องถ่ายมายังภาคประชาสังคม ทำให้การเมืองในยุคใหม่จึงหันมาเน้นการเมืองของประชาชนหรือการเมืองภาคพลเมือง
การศึกษาการเมืองภาคพลเมืองจึงให้ความสนใจกับ
-บทบาททางการเมืองของภาคประชาชน ที่เป็นบทบาทอย่างไม่เป็นทางการ เช่น การประท้วงโครงการของรัฐ การดื้อแพ่งต่อการใช้อำนาจรัฐ ที่เรียกว่า Civil Disobedience (ตั้งแต่มีการประท้วงการเลือกตั้งด้วยการฉีกบัตรคำนี้ก็เป็นที่รู้จักในสังคมไทยว่าอารยะขัดขืน)
-การเคลื่อนไหวของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement) ซึ่งมีความหลากหลายมากขึ้น เช่นกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กลุ่มเรียกร้องและคุ้มครองสิทธิต่างๆของประชาชน เช่นกลุ่มอัญจารี เป็นกลุ่มหญิงรักหญิงที่ตั้งขึ้นมาเพื่อคุ้มครองสิทธิของกลุ่มหญิงรักหญิง และทำกิจกรรมของกลุ่ม รวมทั้งกลุ่ม สมาคม หรือชมรมที่ตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลคนชายขอบของสังคม
การที่ภาคสังคมเติบโตขึ้น มีบทบาทมากขึ้นเนื่องมาจาก ภาครัฐไม่ได้ทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการของภาคสังคมอย่างเพียงพอ
โดยเฉพาะในระบอบประชาธิปไตยแบบมีตัวแทน (Representative Democracy) ที่ภาครัฐมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ปรากฏว่าตัวแทนประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้ทำหน้าที่ตัวแทนที่ดี อีกทั้งในสมัยปัจจุบันประเด็นปัญหา ความต้องการของสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้นจนตัวแทนไม่สามารถทำหน้าที่ดูแลได้ทั้งหมด
เฉพาะประเทศไทยพบว่าระบบตัวแทนของเรามีปัญหามากมาย ตั้งแต่การเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองก็มีปัญหาการซื้อขายเสียง การใช้อิทธิพล ใช้เงินซื้อตำแหน่งทางการเมือง พอเข้าไปเป็นตัวแทนก็มีการโกงกินคอรัปชั่น
ปัญหาดังกล่าวทำให้ภาคสังคมมองว่าการจะรอให้ภาครัฐเปลี่ยนแปลง หรือรอให้นักการเมืองที่เป็นตัวแทนของประชาชนเป็นนักการเมืองที่ดี หรือเป็นตัวแทนที่ดีไม่น่าจะเพียงพอต่อการทำให้คนในสังคมมีชีวิตที่ดีขึ้น ภาคสังคมจึงต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหาร ในการจัดการ แม้กระทั่งในการปกครองตนเอง หรือเรียกรวมว่าต้องเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง
ลักษณะเช่นนี้ทำให้เกิดประชาธิปไตยแบบใหม่ที่เรียกว่าประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy) ซึ่งเป็นประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้คนทุกภาคส่วนเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง การเมืองแบบนี้จึงไม่ใช่การเมืองของนักการเมืองอย่างที่เคยเป็น แต่เป็นการเมือของประชาชนที่มีจิตสำนักทางการเมืองที่เรียกว่าพลเมือง ทำให้การเมืองยุคใหม่จึงเป็นการเมืองของพลเมือง
แนวคิดที่นำไปใช้ในการวิเคราะห์การเมืองภาคพลเมือง
1.แนวคิดประชาสังคม (Civil Society)
2.แนวคิดเรื่องขบวนการทางสังคม (Social movement)
แนวคิดประชาสังคม
แนวคิดเรื่องประชาสังคมเป็นแนวคิดที่มาแรงมาในปัจจุบัน ประชาสังคม หมายถึง เครือข่ายของกลุ่ม ชมรม สมาคม มูลนิธิ สถาบันและชุมชนที่มีกิจกรรม มีการเคลื่อนไหวระหว่างรัฐกับปัจเจกชน
หลักการของประชาสังคม
1.เป็นแนวคิดที่ไม่ชอบและไม่ยอมให้รัฐครอบงำและบงการ แม้ว่าจะยอมรับความช่วยเหลือจากรัฐและให้ความร่วมมือกับรัฐได้ แต่ต้องสามารถกำกับ ควบคุมและคัดค้านรัฐได้ตามสมควร และปฏิเสธแนวคิดรัฐนิยม
2.เป็นแนวคิดที่ไม่ชอบลัทธิปัจเจกชนนิยมสุดขั้ว เพราะมองว่าปัจเจกชนนิยมช่วยส่งเสริมความเห็นแก่ตัวและแย่งชิงผลประโยชน์
แนวคิดประชาสังคมนั้นจะเน้นบทบาทของประชาชนควบคู่ไปกับรัฐ คือไม่ได้ต่อต้านการมีรัฐ แต่มองว่ารัฐจะต้องมีบทบาทที่จำกัด และประชาชนซึ่งรวมกลุ่มกันเป็นประชาคมต่างๆจะมีบทบาทมากขึ้นในด้านต่างๆ รวมทั้งมีบทบาทในการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ
แนวคิดนี้เกิดขึ้นเพราะ ต้องการสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy) เนื่องจากประชาธิปไตยแบบมีตัวแทน (Representative Democracy) นั้น ส.ส.ไม่เคยเป็นตัวแทนของประชาชน แต่ ส.ส.กลับเป็นตัวแทนของรัฐ เข้าไปใช้อำนาจรัฐ เช่น ส.ส.ไม่เคยตรวจสอบโครงการใหญ่ๆ แต่ ส.ส.กลับใช้ความเป็นตัวแทนในการกินงบประมาณจากโครงการใหญ่ๆ แม้แต่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต.ที่เป็นตัวแทนระดับล่างสุด ก็ทำหน้าที่เป็นตัวแทนรัฐมากกว่าจะเป็นตัวแทนของชุมชน
แนวคิดขบวนการทางสังคม
ขบวนการทางสังคม หมายถึงขบวนการในการเคลื่อนไหวของประชาชน เนื่องจากปัจจุบัน การเมืองนั้นได้เคลื่อนตัวจากภาครัฐลงมาอยู่ที่ภาคประชาชน ซึ่งมีการรวมตัวกันเป็นขวนการต่างๆ เช่นขบวนการนักศึกษา ขวนการผู้ใช้แรงงาน ขบวนการชาวนา เพื่อเคลื่อนไหวในทางการเมือง ตรงนี้ถือว่าเป็นการเกิดการเมืองในรูปแบบใหม่ (New Politics) ซึ่งในการเมืองในรูปแบบใหม่นั้นจะเกิดองค์กรที่ไม่ใช่รัฐ (Non Governmental Organization-NGOs) ขึ้นมามากมาย และขบวนการทางสังคมเหล่านี้จะมีบทบาทมาก
การมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมือง จึงมีความสำคัญมากในระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน เพราะการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่เป็นทางการนั้นจะทำได้ยากในทางปฏิบัติ และการมีส่วนร่วมที่เป็นทางการหลายๆอย่างไม่มีความเป็นธรรม เช่นการเลือกตั้งก็มีการซื้อขายเสียง การจะให้ประชาชนเป็นสมาชิกพรรคการเมืองก็ทำได้ยากหากไม่มีเงิน การรวบรวมรายชื่อถอดถอนนักการเมืองก็ยุ่งยากและมีขั้นตอน
ดังนั้นการมีส่วนร่วมทางการเมืองนอกระบบจึงเป็นทางออกเพียงทางเดียวที่จะให้ประชาชนมีโอกาสมีส่วนร่วม และร่วมในการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐและระบบตัวแทน แต่การจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ต้องสร้างจิตสำนึกแห่งความเป็นพลเมือง (Civic Virtue) ให้เกิดขึ้นในจิตใจของคนไทยทุกคน
ปัญหาของการมีส่วนร่วมทางการเมืองภาคพลเมืองในประเทศกำลังพัฒนา
-การขาดองค์กรในการนำที่ชัดเจนและไร้เสถียรภาพ
-ประชาชนขาดประสบการณ์ในการเจรจาต่อรอง
-ถูกจำกัดด้วยกฎหมายหรือค่านิยมเก่าๆ
-ขาดความต่อเนื่องในการทำกิจกรรม
-ความขัดแย้งระหว่างผู้นำในองค์กร
-ขาดการสร้างเครือข่าย
ขณะที่ เมลเคอร์ ออลสัน มองว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองหรือการรวมกลุ่มทางการเมืองเป็นเรื่องยาก เนื่องจากในการเข้ามาร่วมกิจกรรมทางการเมืองเป็นเรื่องที่ต้องมีต้นทุน เช่นถ้าคนจะมาร่วมเดินประท้วงรัฐบาล อาจจะต้องเสียเวลา เสียเงินทอง หรือสูญเสียโอกาสอื่นๆ อาจจะถูกรัฐบาลเพ่งเล็ง หรือแม้กระทั่งถูกปราบปราม
ดังนั้นจึงไม่มีใครอยากจะลงทุน ยกเว้นประเมินแล้วว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เช่นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองก็มีต้นทุน เช่นต้องทิ้งงานออกมานอนบนถนน ต้องรับแรงกดดันจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เช่นต้องถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าทำลายเศรษฐกิจของประเทศ
แนวทางที่นักศึกษาต้องเสนอแนะในวิชาการมีส่วนร่วมทางการเมืองก็คือทำอย่างไร จึงจะให้คนไทยมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยมีจิตสำนึกอย่างแท้จริง
|
|
ประพันธ์ เวารัมย์ [101.51.54.xxx] เมื่อ 14/01/2017 13:57
|