สรุป Plan B ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สอบประมวล ม.รามคำแหง |
|
อ้างอิง
อ่าน 654 ครั้ง / ตอบ 2 ครั้ง
|
ประพันธ์ เวารัมย์
|
สรุป Plan B
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
วิชาในกลุ่มความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมี 3 วิชาคือ
-703 สถานการณ์การเมืองโลกในปัจจุบัน
-PS 709 นโยบายต่างประเทศไทย
-PS 714 การเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ข้อสอบวิชา Plan B ส่วนใหญ่เป็นข้อสอบที่ออกแบบกว้างให้นักศึกษาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่มีบางปีที่ให้วิเคราะห์เหตุการณ์เฉพาะ
ประเด็นหลักที่ต้องเตรียมคือ
1.ความคิดรวบยอดในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
2.ทฤษฎีที่ใช้ในการอธิบายปรากฎการณ์ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
3.ทฤษฎีการตัดสินใจกำหนดนโยบายต่างประเทศ
4.เหตุการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระดับโลก และระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (714)
1.ประเด็นที่หนึ่ง ความคิดรวบยอด
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีความคิดรวบยอดที่บอกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมี เพียง 2 รูปแบบคือ
1.ความร่วมมือระหว่างประเทศ (International Cooperation) ซึ่งแบ่งเป็น
-ความร่วมมือทางด้านการเมือง
-ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ
2.ความขัดแย้งระหว่างประเทศ (International Conflict ) แบ่งเป็น
-ความขัดแย้งทางการเมือง
-ความขัดแย้งทางด้านเศรษฐกิจ
2.ประเด็นที่สอง ทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
การทำความเข้าใจกับทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะต้องสนใจไปที่ สำนักที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่สำคัญๆ ประกอบด้วย
1.สำนักสัจจนิยม แบ่งออกเป็น
1.1 สำนักสัจจนิยมแบบดั้งเดิม
1.2 สัจจนิยมแนวใหม่
ทฤษฎีที่อยู่ในกลุ่มนี้ เช่น
-ทฤษฎีดุลแห่งอำนาจ (Balance of Power) มองว่าโลกจะไม่มีสงครามที่รุนแรงหากทำให้เกิดดุลแห่งอำนาจ
-แนวคิดพาณิชยนิยม (Mercantilism) เน้นการปกป้องทางการค้า รัฐพยายามแสวงหาความได้เปรียบทางการค้า ส่งออกให้มากที่สุดแต่นำเข้าให้น้อยที่สุด
2.สำนักเสรีนิยม แบ่งออกเป็น
2.1 เสรีนิยม
2.1 เสรีนิยมแนวใหม่
ทฤษฎีที่อยู่ในสำนักนี้เช่น
-ทฤษฎีการบูรณาการระหว่างประเทศ
-ทฤษฎีพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
3.สำนักโครงสร้างนิยม มีทฤษฎีสำคัญ เช่น
-ทฤษฎีการพึ่งพิง
-ทฤษฎีระบบโลก
รายละเอียดของแต่ละสำนักคิด
1.นักสัจจะนิยม (Realism) สัจจะนิยมมีความเชื่อพื้นฐานว่ามนุษย์มีความชั่วร้ายและเต็มไปด้วยบาป เห็นแก่ตัว ต้องการผลประโยชน์ และต้องการอำนาจ และเนื่องจากรัฐถูกกำหนดนโยบายโดยมนุษย์รัฐจึงชั่วร้ายไปด้วย รัฐจึงเห็นแก่ตัว ต้องการอำนาจ
1.1 สัจจะนิยมแบบดั้งเดิม (Classical Realism) หัวใจของสัจจะนิยมแบบดั้งเดิมคือ
1.มองว่ารัฐเป็นตัวแสดงที่สำคัญ สัจจะนิยมแบบดั้งเดิมมองว่ารัฐเป็นผู้แสดงบทบาทสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แม้ว่าจะมีตัวแสดงอื่นๆ จะมีแต่สำนักสัจจะนิยมจะไม่สนใจตัวแสดงอื่นๆ แต่มองว่ารัฐเป็นตัวสำคัญที่ทำให้เกิดความร่วมมือและความขัดแย้งระหว่างประเทศ
2.เน้นผลประโยชน์แห่งชาติ (National Interest) ผลประโยชน์แห่งชาติหมายถึง สิ่งที่รัฐต้องการ จำเป็นและปราถนา และเป็นสิ่งที่อยู่ในดินแดนอื่นๆ เช่น ทรัพยากรธรรมชาติ
สินค้าการบริการและตลาดการค้า ตลาดการลงทุน เทคโนโลยี อาวุธยุทโธปกรณ์ เงินทุน พลังงาน ความมั่งคั่ง การกินดีอยู่ดี
** -ความมั่นคงปลอดภัย*** เป็นสิ่งที่สำนักนี้ให้ความสำคัญมากที่สุด เนื่องจากสัจจนิยมมองว่ารัฐจะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งความมั่นคงปลอดภัย
สัจจนิยมมองว่ารัฐทุกรัฐจะทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติแม้ว่าจะล่วงละเมิดต่อรัฐอื่นๆ
3.เน้นการถ่วงดุลอำนาจ สำนักสัจจะนิยมมองว่ารัฐแต่ละรัฐพยายามถ่วงดุลอาจกับรัฐตรงกันข้าม เช่นสร้างกำลังทหารให้เทียบเคียงได้กับฝ่ายตรงกันข้าม โดยเชื่อว่าสงครามและความขัดแย้งจะไม่เกิดขึ้นหากมีการถ่วงดุลอำนาจ
1.2 สัจจนิยมแนวใหม่ (Neorealism) มีแนวคิดที่สำคัญคือ
1.มองว่าปรากฎการณ์ระหว่างประเทศเกิดจากโครงสร้างของระบบระหว่างประเทศ (หมายถึงการกระทำซึ่งกันและกันในระหว่างประเทศ)
ดังนั้น ในขณะที่สัจจนิยมแนวเก่าเน้นรัฐเป็นหน่วยในการวิเคราะห์ แต่สัจจนิยมแนวใหม่เน้นโครงสร้างของระบบระหว่างประเทศเป็นหน่วยในการวิเคราะห์
2.มองว่าสังคมระหว่างประเทศมีลักษณะอนาธิปไตย คือมองว่าไม่มีกฎเกณฑ์หรือองค์กรระหว่างประเทศใดๆที่จะมีอำนาจในการควบคุมรัฐได้ ทำให้รัฐต้องช่วยเหลือตนเอง และแสวงหาอำนาจ เกียรติยศ และความได้เปรียบเหนือรัฐอื่น
ในแนวคิดนี้มองว่ารัฐต้องการได้เปรียบรัฐอื่นๆตลอดเวลา เช่นสหรัฐต้องการเป็นผู้นำโลก จึงยอมไม่ได้ถ้าจีนจะขึ้นมาเทียบรัศมีกับสหรัฐอเมริกา จึงไปสนับสนุนอินเดียเพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำ
3.เน้นดุลแห่งความหวาดกลัว สัจจะนิยมแนวใหม่มองว่าดุลแห่งความหวาด (ต่างจากสัจจนิยมแนวเก่าที่เน้นดุลแห่งอำนาจ) มองว่าดุลแห่งความหวาดกลัวจะช่วยไม่ให้เกิดความรุนแรง และยับยั้งไม่ให้เกิดสงคราม เช่นประเทศที่มีนิวเคลียร์จะไม่กล้าโจมตีประเทศอื่นๆเพราะกลัวจะถูกโจมตีโต้ตอบด้วยอาวุธนิวเคลียร์
4.เชื่อว่าประเทศต่างๆต้องเตรียมพร้อมทางการทหารอยู่ตลอดเวลาเพื่อการป้องปราม (Deterrence) หรือเพื่อยับยั้งให้ไม่ถูกโจมตี เช่นเวลานี้ จีน เกาหลีเหนือ อิหร่านก็พยายามเตรียมพร้อมทางการทหาร เพื่อป้องปรามไม่ให้รัฐตรงข้ามโจมตี
2. สำนักเสรีนิยม (Liberalism) มีสองแนวคือ
2.1 สำนักเสรีนิยม (Liberalism)
2.2 สำนักเสรีนิยมแนวใหม่ (Neo-liberalism)
แนวคิดเสรีนิยมนั้นพัฒนามาจากแนวคิดแบบอุดมคตินิยม ที่เชื่อในเรื่องของความร่วมมือเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมทั้งโลก
สัจจะนิยมใหม่ ซึ่งมีแนวคิดที่สำคัญคือ
1.เน้นการสร้างสถาบันและองค์การระหว่างประเทศ เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่ในการสร้างความร่วมมือและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ เช่นใน WTO จะมีกลไกระงับกรณีพิพาททางด้านการค้าระหว่างประเทศสมาชิก
2.เน้นการสร้างสันติภาพ คือมองว่าหากมีความร่วมมือระหว่างประเทศจะก่อให้เกิดสันติภาพ
3.เน้นให้กฎหมายระหว่างประเทศเป็นเครื่องมือในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นตัวควบคุมพฤติกรรมของรัฐหรือสมาชิกขององค์กรระหว่างประเทศ
4.เน้นการสร้างประชาธิปไตย เพราะมองว่าหากทุกประเทศเป็นประชาธิปไตยโลกก็จะมีสันติภาพ สำนักนี้จึงเชื่อตามทฤษฎีสันติภาพประชาธิปไตย (Democratic Peace Theory) ที่เชื่อว่าสงครามมักไม่เกิดขึ้นกับประเทศที่ปกครองประชาธิปไตย หรือประเทศประชาธิปไตยจะไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขความขัดแย้ง ดังนั้นการจะไม่ให้สงครามเกิดขึ้นในโลกจะต้องทำให้ทุกประเทศเป็นประชาธิปไตย
เราจะพบว่าความเป็นประชาธิปไตยเป็นหลักการที่สำคัญที่สหรัฐ อียู และมหาอำนาจยึดถือเป็นกรอบในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ เช่นอียูมีเงื่อนไขว่าประเทศต่างๆที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกอียูจะต้องเป็นประชาธิปไตย
5.เน้นการประสานความร่วมมือและการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน (Interdependence) เพื่อให้บรรลุถึงความจำเป็นของมวลมนุษย์ คือการแก้ไขปัญหาความยากจน การช่วยเหลือกันในการพัฒนาประเทศ
6.เน้นความมั่นคงปลอดภัยร่วมกัน (Collective Security) โดยร่วมมือกันอาจจะมีกองกำลังร่วมกัน เช่นกองกำลังขององค์การระหว่างประเทศ
7.เน้นเรื่องการสร้างระเบียบโลก ซึ่งหมายถึงแบบแผนความสัมพันธ์ทางด้านต่างๆทั้งการเมือง การค้า การทหาร
ทั้งนี้ทฤษฎีต่างๆที่ใช้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็จะอยู่ภายใต้สำนักคิดดังกล่าวข้างต้น และ เมื่อเหตุการณ์ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมี 2 ด้านทฤษฎีที่ใช้ในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะมี 2 กลุ่มเช่นกัน คือ
2.1 ทฤษฎีที่ใช้ในการวิเคราะห์ความร่วมมือ แบ่งเป็น
-ทฤษฎีที่ใช้ในการวิเคราะห์ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ
-ทฤษฎีที่ใช้ในการวิเคราะห์ความร่วมมือทางการเมือง
2.2 ทฤษฎีที่ใช้ในการวิเคราะห์ความขัดแย้ง แบ่งเป็น
-ทฤษฎีที่ใช้ในการวิเคราะห์ความขัดแย้งทางด้านเศรษฐกิจ
-ทฤษฎีที่ใช้ในการวิเคราะห์ความขัดแย้งทางด้านการเมือง
ทฤษฎีที่ใช้ในการวิเคราะห์ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ
1.ทฤษฎีพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันระหว่างประเทศ (Interdependence Theory) นักวิชาการยังไม่ยอมรับว่าเป็นทฤษฎี เป็นแต่เพียงแนวคิด เนื่องจากยังไม่มีข้อสรุปที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป และนำมาใช้วิเคราะห์ในเรื่องเศรษฐกิจการค้าเป็นหลักที่มองว่าการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันทำให้เกิดการค้าขยายตัวมากขึ้น
วิชาการที่โดดเด่นคือโรเบิร์ต โอ. เคียวเฮน และโจเซฟ เอช. ไน ซึ่งป็นบิดาของทฤษฎีพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันยุคใหม่ แต่ก่อนหน้านั้นก็ยังมีนักวิชาการอื่นก่อนหน้าแล้วบ้าง
เคียวเฮนและไน อธิบายว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก่อให้เกิดการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันในระหว่างประเทศ เช่นการพึ่งพาสินค้า พึ่งพาการลงทุน พึ่งพาเทคโนโลยี พึ่งพาทรัพยากรต่างๆ และความสัมพันธ์ในแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันจะทำให้เกิดเหตุการณ์ระหว่างประเทศขึ้น
ประเภทของการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน แบ่งออกเป็น
1.การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันแบบเท่าเทียมกัน (Symmetrical Interdependent) เช่นการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันระหว่างสหรัฐและอียู ที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีอำนาจพอๆกัน สามารถเจรจาต่อรองกันได้ เมื่อมีการใช้อำนาจจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอีกฝ่ายสามารถตอบโต้ได้ หรือกรณีจีนกับสหรัฐก็เป็นการพึ่งพาที่เท่าเทียมกัน
เช่นกรณีอียูบอยคอตสินค้าจากสหรัฐ สหรัฐก็จะมีมาตรการโต้ตอบในทันที หรือจีนที่ถูกสหรัฐข่มขู่ว่าถ้าจีนไม่แก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนหรือไม่แก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิสินค้าจากสหรัฐ สหรัฐจะแซงชั่น แต่จีนก็กล้าที่จะประกาศตอบโต้ทันที่ว่าถ้าสหรัฐแซงชั่นจีนจีนก็จะแซงชั่นตอบ
2.การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันแบบไม่เท่าเทียมกัน(Asymmetry Interdependent)เช่นกรณีระหว่างไทยกับสหรัฐเป็นการพึ่งพาอาศัยแบบไม่เท่าเทียมกันก่อให้เกิดอำนาจที่แตกต่างกัน กล่าวคือไทยเราเป็นฝ่ายพึ่งพาสหรัฐมากกว่าสหรัฐอเมริกาพึ่งพาไทยถ้าไทยไม่ให้ความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาเราก็อาจจะได้รับผลกระทบมากมายเมื่อไทยพึ่งพาสหรัฐมากกว่าทำให้สหรัฐอเมริกามีอำนาจเหนือกว่าประเทศไทยและสามารถชี้นำหรือบังคับให้เราทำตามความต้องการได้
ทฤษฎีนี้สามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจ และพยายามวิเคราะห์แบบ 2 ฝ่าย หรือจับคู่กันวิเคราะห์
2.ทฤษฎีบูรณาการทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (International Integration Theory)
เป็นทฤษฎีที่สนับสนุนให้ประเทศต่างๆมีการรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างความร่วมมือในทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันเป็นทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น ดังจะเห็นจากทั่วโลกได้เกิดการรวมกลุ่มในรูปแบบต่างๆมากมาย
ทฤษฎีบูรณาการทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศมีนักวิชาการนำเสนอหลายคนแต่ที่มีชื่อเสียงคือทฤษฎีการบูรณาการทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคของ Bela Balassa (เบลา บาลาสซา) เนื่องจากเป็นทฤษฎีที่ใช้ในการอธิบายการบูรณาการของยุโรป ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก
บาลาสซ่าเสนอว่าขั้นตอนของการบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคมี 5 ขั้นตอน ได้แก่
1.ความร่วมมือจัดตั้งเขตการค้าเสรี (Free Trade Area / Agreement: FTA) หมายถึง การร่วมมือกันของประเทศสมาชิกในภูมิภาคเพื่อขจัดอุปสรรคทางการค้า ยกเลิกภาษีทางการค้าระหว่างกัน มีการเคลื่อนย้ายสินค้าโดยเสรีระหว่างประเทศสมาชิก โดยประเทศสมาชิกยังจัดเก็บภาษีศุลกากรกับประเทศนอกกลุ่มได้ตามนโยบายของตนเอง
เวลานี้การรวมตัวของประเทศในกลุ่มอาเซียนยังอยู่ในขั้นตอนนี้คือการจัดเป็นเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA)
2.สหภาพศุลกากร (Custom Union) หมายถึง ประเทศสมาชิกนอกจากจะยกเลิกภาษีทางการค้าลดอุปสรรคระหว่างกันแล้วยังใช้ระบบภาษีศุลกากรกับประเทศนอกกลุ่มในอัตราเดียวกัน หรือมี Common Custom Policy
3. ตลาดร่วม (Common Market) หมายถึง การขยายความร่วมมือด้านการค้าถึงขนาดที่เปิดโอกาสให้ทุน แรงงาน การประกอบการเคลื่อนไหวอย่างเสรีภายในกลุ่ม เช่นแรงงานในเยอรมันไปทำงานในฝรั่งเศส ในอังกฤษ และประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอื่นๆ ได้อย่างเสรี
4. สหภาพทางเศรษฐกิจ (Economic Union) เป็นการรวมตัวกันตั้งแต่ขั้นตอนที่ 1 + 2 + 3 รวมกับการกำหนดนโยบายสังคม เศรษฐกิจ การเงิน การคลังร่วมกัน
5. สหภาพการเมือง (Political Union) ถือเป็นจุดสุดท้ายของการบูรณาการทางเศรษฐกิจ หมายถึง การใช้นโยบายการเมืองและความมั่นคงอันเดียวกัน เช่นเดียวกับ United States of America ขั้นตอนนี้ยังคงเป็นไปได้ยากเพราะรัฐต่าง ๆ ยังอยากสงวนอำนาจอธิปไตยในการกำหนดนโยบายการเมืองและความมั่นคงของตนเองอยู่
(ทฤษฎีนี้เหมาะสำหรับไปใช้อธิบายความร่วมมือในทางเศรษฐกิจแบบกลุ่มประเทศ เช่นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของอาเซี่ยน อียู หรือกลุ่มเศรษฐกิจอื่นๆของโลก)
ทฤษฎีที่ใช้ในการวิเคราะห์ความร่วมมือทางการเมือง
1.ทฤษฎีดุลแห่งอำนาจ (Balance of Bower) เป็นทฤษฎีที่บอกว่าโลกจะไม่เกิดปัญหาความรุนแรง ไม่มีสงคราม หากมีความได้ดุลในอำนาจของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เนื่องจากต่างฝ่ายต่างต้องกลัวอำนาจของอีกฝ่าย
เช่นรัสเซียก็พยายามสร้างดุลกับสหรัฐอเมริกา หรือในยุคของสงครามเย็นฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็พยายามรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างดุลอำนาจกับฝ่ายโลกเสรี
ทฤษฎีที่ใช้วิเคราะห์ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ
1.ทฤษฎีพึ่งพิง (Dependency Theory) จะมองว่าในโลกนี้จะแบ่งรัฐออก รัฐแกนกลาง (Core) ซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้วกับรัฐปริมณฑล (Periphery) ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา ที่รัฐแกนกลางได้เข้ามากอบโกยผลประโยชน์ด้านต่างๆ จากประเทศปริมณฑล ส่งผลให้ประเทศปริมณฑลต้องด้อยพัฒนา ไม่มีโอกาสในการพัฒนาตนเอง
2.ทฤษฎีระบบโลก (World System Theory) บิดาของทฤษฎีนี้คือเอ็มมานูเอล วอลเลอร์ไสตน์
ทฤษฎีระบบโลกก็จะเน้นการอธิบายความขัดแย้ง (ทำให้กลายเป็นจุดอ่อนเพราะไม่สามารถอธิบายปรากฎการณ์ความร่วมมือที่เกิดขึ้นได้ เช่นทำมี WTO ทำไม่มีการรวมกลุ่มในระดับภูมิภาค)
สาระสำคัญของทฤษฎีระบบโลกมองว่าประเทศต่าง ๆ ในโลกแบ่งเป็นสามกลุ่มคือ
-ประเทศศูนย์กลาง (Core) ได้แก่ประเทศที่พัฒนาแล้ว สหรัฐฯ และยุโรปตะวันตก แคนาดา
-ประเทศกึ่งปริมณฑล (Semi-periphery) ได้แก่ ญี่ปุ่น ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NICs) คือเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน บราซิล เม็กซิโก อาเจนตินาร์
-ประเทศปริมณฑล (Periphery) ได้แก่ ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายทั้งในเชียและอัฟริกา
ทฤษฎีระบบโลกกล่าวว่า ประเทศศูนย์กลางจะกอบโกยผลประโยชน์จากประเทศรอบนอกและกึ่งรอบนอก รวมทั้งยังกีดกันทางการค้าจากประเทศรอบนอกและกึ่งรอบนอกโดยมาตรการต่างๆ
ส่วนประเทศกึ่งรอบนอกจะทำหน้าที่สองอย่างคือถูกกอบโกยจากประเทศศูนย์กลาง และในเวลาเดียวกันก็เข้าไปกอบโกยผลประโยชน์จากประเทศรอบนอกด้วย รวมทั้งกีดกันทางการค้าไม่ให้สินค้าจากประเทศรอบนอกเข้าไปในตลาด ทำให้ประเทศรอบนอกเป็นผู้ที่เดือดร้อนมากที่สุด ยิ่งทำให้ประเทศรอบนอกที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาไม่มีโอกาสพัฒนาขึ้นมาได้เลย สุดท้ายก็จะนำมาซึ่งความขัดแย้ง
3.ทฤษฎีจักรวรรดินิยม (Imperialism)
เจ.เอ. ฮอบสัน กล่าวว่าภาวะจักรวรรดิที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นเพราะระบบเศรษฐกิจในระบบอุตสาหกรรมทุนนิยมที่มีผลิตมากเกินไป (Overproduction) แต่มีการบริโภคน้อย (Under-consumption) เพราะคนทำให้นายทุนให้ขยายตัวออกไปต่างประเทศ ทั้งต้องการหาตลาด และหาวัตถุดิบมาป้อนอุตสาหกรรมในประเทศตะวันตก แต่การเข้าไปนั้นกลับไปเอารัดเอาเปรียบ ไปครอบงำทำให้และที่สำคัญมีการใช้กำลังในการคอรบงำ และเอาเกิดลัทธิจักรวรรดินิยมขึ้น ต่อมามีการแข่งขันกันล่าอาณานิคมระหว่างประเทศตะวันตกด้วยกัน มีการทำสงครามเพื่อเข้าครอบงำดินแดนแห่งใหม่ทั้งหลาย เพื่อไปสร้างจักรวรรดิหรืออาณาจักรของตนเอง ทำให้ลัทธิจักรวรรดิมีความเข้มข้นมากขึ้น
ลัทธิจักรวรรดินิยมที่ส่งเสริมให้นายทุนเข้าไปครอบงำดินแดนแห่งใหม่ และเอารัดเอาเป็นต้นแบบของบรรษัทข้ามชาติในยุคต่อมา เพราะในช่วงแรกมีการครอบงำในลักษณะการเป็นเมืองขึ้น ต่อมาเมื่อสถานการณ์ระหว่างประเทศเปลี่ยนไปอาณานิคมต่างเรียกร้องเอกราช จักรวรรดินิยมก็ปรับตัวไปครอบงำทางด้านการค้า และขยายมาสู่วัฒนธรรม ครอบงำทางความคิด ต่อประเทศด้อยพัฒนา
ขณะที่ เลนิน มองว่าจักรวรรดินิยมนั้นเป็นความผิดพลาด 100% ของทุนนิยม เพราะจักรวรรดินิยมคือขั้นตอนที่สูงสุดของระบบทุนนิยมเป็นการเอาเปรียบกันมากที่สุด
และพฤติกรรมของจักรวรรดินิยมนั้นมีการเปลี่ยนรูปเปลี่ยนร่างไปเรื่อยๆ จากที่เป็นจักรวรรดินิยมโดยรัฐ ก็อาจจะมีตัวแสดงอื่นๆเข้ามาเป็นตัวสร้างจักรวรรดินิยมให้เกิดขึ้น เช่นปัจจุบันอาจจะเป็นจักรวรรดิโดยบรรษัทข้ามชาติ
4.แนวคิดพาณิชยนิยม (Mercantilism) เป็นทฤษฎีที่บอกว่ารัฐแต่ละรัฐจะสร้างความมั่งคั่งของตนเองด้วยการพยายามส่งออกให้มากที่สุดแต่นำเข้าให้น้อยที่สุด เป็นแนวคิดการปกป้องทางการค้า (Protectionism) ในปัจจุบันแนวคิดนี้ถูกเรียกว่าการปกป้องแบบใหม่ (New Protectionism) เนื่องจากเครื่องมือที่ประเทศต่างนำมาใช้ในการปกป้องทางการค้าจะมีการพัฒนารูปแบบไปจากเดิมที่ใช้มาตรการทางภาษี (Tariff Barrier) ด้วยการตั้งภาษีนำเข้าแพงๆ มาเป็นมาตรการแบบใหม่ เช่น
-มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม
-มาตรการด้านแรงงาน
-มาตรการด้านสิทธิมนุษยชน
-มาตรการด้านคุณภาพสินค้า
-มาตรการด้านทรัพย์สินทางปัญญา
เราจะพบว่าประเทศที่พัฒนาแล้วมักจะอ้างเหตุผลเหล่านี้เพื่อกีดกันการนำเข้าจากประเทศกำลังพัฒนา เช่นยกเลิกการนำเข้าอาหารทะเลจากไทยเพราะกระบวนการผลิตสินค้าไม่ได้มาตรฐานที่เขากำหนด (มาตรการที่อียูหรือสหรัฐกำหนดเป็นการกำหนดฝ่ายเดียว บางครั้งเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องจุกจิกที่จะทำได้ และหากต้องทำเอกชนไทยต้องลงทุนมากมาย เช่นต้องซื้อความรู้ จ้างฝรั่งให้มาอบรมถึงกระบวนการควบคุมคุณภาพ ล้วนแต่กลายเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนให้ทั้งสิ้น)
ทฤษฎีที่ใช้วิเคราะห์ความขัดแย้งทางการเมือง
1.แนวคิดการครองความเป็นเจ้า (Hegemony) เช่นสหรัฐที่พยายามครองความเป็นเจ้าจึงต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับทุกประเทศในโลก โดยใช้เครื่องมือทุกอย่างเพื่อให้ตนเองครองความเป็นเจ้าโลก
2.แนวคิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย เป็นแนวคิดที่บอกว่าหากประเทศเล็กๆจะเอาชนะประเทศมหาอำนาจซึ่งมีความพร้อมในทุกด้านทั้งเศรษฐกิจ กำลังทหาร จะต้องใช้วิธีการก่อการร้าย เนื่องจากเป็นวิธีการที่ทำให้ประเทศมหาอำนาจเกิดความประหวั่นพรั่นพรึง
3.ประเด็นที่สาม ตัวแบบในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ (เนื้อหา 709)
ในการวิเคราะห์การกำหนดนโยบายต่างประเทศ จะใช้ตัวแบบในการตัดสินใจนโยบายต่างๆประเทศ (Decision Making Model) ซึ่งเป็นตัวแบบที่เน้นวิเคราะห์ว่ามีปัจจัยว่าอะไรที่มีผลต่อนโยบายต่างประเทศ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวแบ่งออกเป็น
1.ปัจจัยภายใน (Internal Factor) เช่น
-สภาพการเมืองภายใน
-สภาวะผู้นำและทัศนคติ
-ภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ
-อุดมการณ์ทางการเมือง
-ขนาด ที่ตั้ง และสภาพภูมิศาสตร์
-กำลังอาวุธและทหาร
-ทรัพยากรธรรมชาติ ความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธ์ ธัญญาหาร
-.พลังของประชากรในประเทศ
-กลุ่มผลประโยชน์และพรรคการเมือง เช่นกลุ่มทหาร ข้าราชการ กลุ่มพ่อค้านักธุรกิจ
-มติมหาชนและสื่อมวลชน
2.ปัจจัยภายนอก (External Factor) เช่น
-อิทธิพลของมหาอำนาจ และท่าที่ของมหาอำนาจในกรณีต่างๆ
-เหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศต่างๆ
-สถานการณ์การเมืองในระดับโลก
หากข้อสอบเปิดโอกาสให้นักศึกษาแสดงความคิดเห็นว่าประเทศไทยควรจะมีบทบาทหรือนโยบายในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเรื่องต่างๆอย่างไร นักศึกษาก็ควรจะอธิบายโดยดึงปัจจัยเหล่านี้มาวิเคราะห์
4.ประเด็นที่สี่ เหตุการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
4.1 เหตุการณ์ระดับโลก
-เหตุการณ์ที่เป็นความร่วมมือ ในปี 2008-2009 สิ่งที่ทำให้โลกทั้งโลกร่วมมือกันได้น่าจะเป็นประเด็นวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งเวลานี้ผู้นำของประเทศต่างๆพยายามประชุมหารือกันเพื่อร่วมมือกันในการแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนี้
-เหตุการณ์ที่เป็นความขัดแย้ง เช่นสงครามอีรัก ความขัดแย้งด้านพลังงาน การก่อการร้ายข้ามชาติ การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
4.2 เหตุการณ์ในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เนื้อหาจาก 714)
-เหตุการณ์ที่เป็นความร่วมมือ เช่นความร่วมมือในอาเซียน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือในการแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน) เช่นความร่วมมือในการจัดตั้งกองทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศในอาเซียน ความร่วมมือในการปฏิรูประบบการเงินระหว่างประเทศเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินระหว่างประเทศ
-เหตุการณ์ที่เป็นความขัดแย้ง ในอาเซียน เช่นความขัดแย้งตามแนวชายแดนของแต่ละประเทศ (เช่นกรณีเขาพระวิหาร) ความขัดแย้งเรื่องชนกลุ่มน้อย (ล่าสุดเป็นเรื่องของชนกลุ่มน้อยโรฮิงยา ที่เป็นคนมุสลิมในพม่าที่อพยพเข้าประเทศไทยและถูกทางการไทยผลักดันให้ออกนอกประเทศจนกลายเป็นประเด็นระหว่างประเทศ)
-พัฒนาการของความร่วมมือในอาเซียน
-นโยบายต่างประเทศของไทยต่อเพื่อนบ้าน และต่อประเทศมหาอำนาจที่สำคัญๆ
|
|
ประพันธ์ เวารัมย์ [101.51.54.xxx] เมื่อ 14/01/2017 13:57
|