ธรรมนูญหมู่บ้านสันติสุข ๙ ดี คัมภีร์สร้างอนาคตที่ดีให้ลูกหลาน |
|
อ้างอิง
อ่าน 217 ครั้ง / ตอบ 1 ครั้ง
|
ประพันธ์ เวารัมย์
|
ธรรมนูญหมู่บ้านสันติสุข ๙ ดี
คัมภีร์สร้างอนาคตที่ดีให้ลูกหลาน
บ้าน/ชุมชน……........................หมู่ที่........ตำบล ...................................อำเภอ...............................
จังหวัดบุรีรัมย์
........................................................
¬¬ ตามที่จังหวัดบุรีรัมย์ ได้นำตัวแบบการพัฒนาจังหวัดบุรีรัมย์รายกรณี (B- CM Model : Buriram Case Management Model) เป็นแนวทางการพัฒนาจังหวัดบุรีรัมย์ โดยกำหนดเป้าหมายสูงสุด “บุรีรัมย์สันติสุข
บนความพอเพียง เพื่ออนาคตลูกหลานชาวบุรีรัมย์ ครอบครัวเดียวกัน สายเลือดเดียวกัน” ซึ่งมีปัจจัยความสำเร็จ ๙ ประการ (๙ ดี) คือ เป็นคนดี มีปัญญา รายได้สมดุล สุขภาพแข็งแรง สิ่งแวดล้อมสมบูรณ์ สังคมอบอุ่น หลุดพ้นอาชญากรรม จัดตั้งกองทุนพึ่งพาตนเอง สร้างความเข้มแข็งคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.)/ชุมชน ที่เป็นกลไกหลักในระดับปฏิบัติในพื้นที่ ที่จะต้องเป็นผู้ขับเคลื่อนปัจจัยความสำเร็จ ทุกด้าน
อาศัยอำนาจตามความใน มาตรา ๒๘ ตรี แห่ง พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช ๒๔๕๗ พระราชบัญญัติจัดระเบียบบริหารหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง พ.ศ.๒๕๒๒ และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การเป็นกรรมการหมู่บ้าน การปฏิบัติหน้าที่ และการประชุมคณะกรรมการหมู่บ้าน พุทธศักราช ๒๕๕๑ คณะกรรมการหมู่บ้าน บ้าน................................... หมู่ที่.............ตำบล...................................... อำเภอ............................... จังหวัดบุรีรัมย์ จึงได้กำหนดให้มีธรรมนูญหมู่บ้านสันติสุข๙ ดี คัมภีร์สร้างอนาคตที่ดีให้ลูกหลาน ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) โดยความเห็นชอบชองประชาคมหมู่บ้าน เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๗ เพื่อประกาศและให้มีผลใช้บังคับกับราษฎรหรือผู้อยู่อาศัยในหมู่บ้าน และภายในอาณาเขตหมู่บ้าน
ธรรมนูญหมู่บ้านฉบับนี้จัดทำขึ้นไว้เพื่อเป็นการบังคับใช้ในระดับหมู่บ้านเพื่อเป็นการจัดระเบียบสังคม และเป็นการสร้างแนวทางการแก้ไขปัญหาของสังคมระดับหมู่บ้าน โดยเป็นการปฏิบัติให้สอดคล้องกับวัฒนธรรม จารีตประเพณี และไม่ขัดต่อกฎหมาย มีสาระสำคัญเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกันของราษฎรในหมู่บ้าน ในการธำรงรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยของสังคม การทำนุบำรุงรักษาศาสนา การยึดถือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข
หมวดที่๑
บททั่วไป
ข้อ ๑ธรรมนูญนี้ เรียกว่า ธรรมนูญหมู่บ้านสันติสุข ๙ ดีคัมภีร์สร้างอนาคตที่ดีให้ลูกหลานบ้าน ................................หมู่ที่ ......... ตำบล................................. อำเภอ................................. จังหวัดบุรีรัมย์
ข้อ ๒ ธรรมนูญหมู่บ้านนี้ให้ใช้บังคับภายในอาณาเขตของหมู่บ้านนี้ ตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประชาคมหมู่บ้านลงมติรับรองเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในธรรมนูญหมู่บ้านนี้
คณะกรรมการหมู่บ้านหรือ กม. หมายความว่า คณะกรรมการหมู่บ้านตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช ๒๔๕๗หรือคณะกรรมการหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเองตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบบริหารหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง พ.ศ.๒๕๒๒ และระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเป็นกรรมการหมู่บ้าน การปฏิบัติหน้าที่และการประชุมของคณะกรรมการหมู่บ้าน พุทธศักราช ๒๕๕๑
หมู่บ้าน หมายความว่า หมู่บ้านที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช ๒๔๕๗ พระราชบัญญัติจัดระเบียบบริหารหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง พ.ศ.๒๕๒๒ และให้รวมถึงชุมชนที่จัดตั้งขึ้นโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
หัวหน้าคุ้ม หมายความว่า บุคคลที่ได้รับการคัดเลือกจากราษฎรในคุ้มนั้น เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนและประสานการทำงานร่วมกับคณะกรรมการหมู่บ้าน มีวาระการดำรงตำแหน่ง ๔ ปี นับแต่วันที่ได้รับคัดเลือก
คุ้มบ้าน หมายความว่า บ้านเรือนที่ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน เป็นกลุ่มย่อยภายในหมู่บ้าน โดยอาจแบ่งตามสภาพภูมิประเทศ ประวัติความเป็นมา วัฒนธรรมประเพณี หรือระบบเครือข่ายญาติ
ครอบครัว หมายความ บ้านที่มีผู้อยู่อาศัยที่มีเลขที่ตามกฎหมายทะเบียนราษฎร และให้หมายความรวมถึง บ้านชั่วคราวหรือที่พักอื่นใดที่มีคนอยู่อาศัยภายในหมู่บ้าน
กลุ่ม หมายความว่า องค์กร ชมรมหรือกลุ่มต่างๆ ที่ทางราชการหรือหมู่บ้านกำหนดขึ้น เพื่อทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ เพื่อเป็นตัวแทนดำเนินการด้านต่างๆ ของหมู่บ้าน
ปลัดหมู่บ้านหมายความว่า บุคคลที่คณะกรรมการหมู่บ้านพิจารณาคัดเลือกจากผู้ที่มีความรู้ระเบียบงานสารบรรณ การพิมพ์หนังสือราชการ สามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้ และมีพื้นฐานความรู้อื่นๆ ที่สามารถปฏิบัติงานธุรการ งานหนังสือ การประสานงาน เป็นต้น โดยให้แต่งตั้งเลขานุการคณะทำงานด้านอำนวยการ
กองทุนพึ่งพาตนเอง หมายความว่า กองทุนกลางพัฒนาหมู่บ้าน หรือกองทุนใดๆที่ตั้งขึ้นมาเพื่อพึ่งพาตนเองของราษฎรในหมู่บ้าน
เงินสมทบ หมายความว่าเงินที่คณะกรรมการหมู่บ้านพิจารณามีมติเรียกเก็บจากผู้ที่กระทำการ อันเป็นการก่อความไม่สงบเรียบร้อย ผิดจารีตประเพณี ขัดขวางความสงบสุขของประชาชนในหมู่บ้าน ตามที่กำหนดในบทบัญญัติของธรรมนูญนี้และให้คณะกรรมการหมู่บ้านนำเงินสมทบเข้ากองทุนพึ่งพาตนเองของหมู่บ้านทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเหมาะสม คณะกรรมการหมู่บ้านอาจมีมติโดยความเห็นชอบของประชาคมหมู่บ้าน ในการกำหนดจำนวนเงินสมทบดังกล่าวตามความสมควรแก่กรณี โดยทำเป็นกฎหมู่บ้านเพิ่มเติมไว้
มาตรการทางสังคมหมายถึง วิธีการที่คณะกรรมการหมู่บ้านกำหนดขึ้นเพื่อลงโทษบุคลคลใดหรือลงโทษครอบครัวใดในหมู่บ้าน นอกเหนือจากที่เป็นการลงโทษปรับหรือที่กฎหมายกำหนด เช่น การงดให้ความช่วยเหลือด้านแรงงาน การงดให้ยืมสิ่งของหรืออุปกรณ์ของส่วนรวม การให้ความสำคัญในด้านการกู้ยืมเงินหรือสวัสดิการอื่นของหมู่บ้านเป็นลำดับท้ายสุดหรือการให้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม เป็นต้น โดยกำหนดระยะเวลาการดำเนินการลงโทษไว้ เช่น ภายในกี่วัน หรือกี่เดือน หรือกี่ครั้ง เป็นต้น
ข้อ ๔ หากมีระเบียบหรือกฎหมายใดบัญญัติให้กระทำการ ห้ามกระทำการ หรือกำหนดโทษไว้ ผู้ใดที่ได้กระทำผิดหรือฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวย่อมมีความผิดและต้องถูกดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายนั้นๆ กำหนด
กรณีธรรมนูญนี้ มีข้อห้ามหรือข้อกำหนดบัญญัติไว้เพื่อเป็นมาตรการทางสังคมเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยร่วมกัน ก็ให้มีการบังคับตามสมควรเท่าที่ไม่ขัดหรือเกินกว่าระเบียบหรือกฎหมายตามวรรคหนึ่ง
ข้อ ๕ หากมีข้อสงสัยหรือข้อขัดแย้งให้คณะกรรมการหมู่บ้านปรึกษาหารือและมีมติ โดยยึดหลักการตามหลักกฎหมายทั่วไปและจารีตประเพณีท้องถิ่น ทั้งนี้ อาจขอความร่วมมือให้นายอำเภอ ปลัดอำเภอ ตำรวจ อัยการ หรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของทางราชการ เข้าไปช่วยเหลือแนะนำ
ข้อ ๖หากมีกรณีที่สมควรหรือจำเป็นคณะกรรมการหมู่บ้านสามารถออกระเบียบ ข้อบังคับ หรือวิธีการดำเนินการใดๆ เพิ่มเติม โดยขอความเห็นชอบจากประชาคมหมู่บ้านได้เท่าที่ไม่ขัดกฎหมาย นโยบายของทางราชการหรือจารีตประเพณีอันดีงามของสังคม
ข้อ ๗ให้ประธานคณะกรรมการหมู่บ้าน เป็นผู้รักษาการตามธรรมนูญนี้
หมวดที่ ๒
ว่าด้วยดีที่ ๑ เป็นคนดี
ข้อ ๘ ให้คณะทำงานด้านการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เป็นเจ้าภาพรับผิดชอบหลักในหมวดนี้
ข้อ ๙สร้างจิตสำนึกให้ทุกครอบครัวประพฤติตนเป็นคนดี ละเว้นความชั่ว และเกรงกลัวบาป
ข้อ ๑๐ ทุกครอบครัวต้องธำรงและรักษาไว้ซึ่งความเป็นชาติไทย เทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนาและ พระมหากษัตริย์ด้วยชีวิต
ข้อ ๑๑ สมาชิกทุกครอบครัวต้องรักษาศีล ๕ หรือปฏิบัติตามหลักศาสนาที่นับถือ เว้นจากการประพฤติชั่วมี มีจิตสำนึกดี ทำแต่ความดีและปฏิบัติตามกฎข้อห้าม ดังนี้
(๑) ห้ามผู้ใดมีการประทุษร้าย ทะเลาะเบาะแว้ง ทำให้ผู้อื่นเกิดความเดือดร้อน หรือเสียหายแก่ร่างกายและทรัพย์สินทั้งส่วนตนและส่วนรวม
(๒) ห้ามผู้ใดมีพฤติกรรมการลักขโมย หรือยึดเอาทรัพย์ของบุคคลอื่นโดยที่ไม่ได้รับอนุญาตรวมทั้งห้ามทำลายหรือทำให้เสียหายซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่นหรือทรัพย์สินของทางราชการหรือหมู่บ้าน
(๓)ห้ามผู้ใดล่วงละเมิดประเวณี หรือมีพฤติกรรมแสดงออกเชิงชู้สาว กับบุตร ภรรยาหรือสามีผู้อื่น
(๔) เฝ้าระวัง ห้ามมีการหลอกลวง ต้มตุ๋น ใส่ร้ายป้ายสี ต่อกัน
(๕) ส่งเสริมให้ลด ละ เลิก บุหรี่ สุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และห้ามเล่นการพนันผิดกฎหมาย
ผู้ใดกระทำการฝ่าฝืน ให้คณะกรรมการหมู่บ้านว่ากล่าวตักเตือน พร้อมแจ้งต่อที่ประชุมและประชาสัมพันธ์ให้ราษฎรในหมู่บ้านทราบ และหากเป็นความผิดตาม (๑) และ (๓) ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือชดใช้สิ่งของที่ชำรุด สูญหาย หากเป็นความผิดตาม (๒) ให้ทำการปรับเงิน ๒ เท่า หรือให้ซ่อมแซมหรือชดเชยทรัพย์สินเท่ากับจำนวน ที่สูญหาย หรือให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย และหากเป็นความผิดฐานเล่นการพนันตาม (๕) ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฯ หมู่บ้านจำนวน ๕๐๐ บาทต่อคน
ข้อ ๑๒ให้ตัวแทนแต่ละครอบครัวเข้าร่วมกิจกรรมตามศาสนกิจอย่างสม่ำเสมอหรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ ๑ ครั้งหากครอบใดที่มีเด็ก และเยาวชน ต้องสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมตามศาสนพิธี ที่หมู่บ้านจัดขึ้นทุกคน หากเป็นวันที่เด็กอยู่ในโรงเรียน ให้ประสานโรงเรียนจัดให้เด็กและเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมตามศาสนพิธีด้วย
หากครอบครัวใดไม่ให้ความร่วมมือโดยไม่มีเหตุผลอันควร ให้คณะกรรมการหมู่บ้านแจ้งต่อที่ประชุมประจำเดือนของหมู่บ้านทราบ เพื่อตักเตือนและหากไม่ปรับปรุงหรือไม่ให้ความร่วมมืออีกให้คณะกรรมการหมู่บ้านพิจารณางดความช่วยเหลือทางสังคม หรือให้ทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม หรือต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฯ หมู่บ้านจำนวน ๑๐๐ บาท ต่อครั้ง
ข้อ ๑๓ ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการหมู่บ้าน และทุกครอบครัวต้องปลูกฝังค่านิยมไทยที่ดีงามการเสริมสร้างคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต ความกตัญญูกตเวทีเมตตาเอื้ออาทร รักชาติรักแผ่นดินเกิด สร้างอนาคตที่ดีให้ลูกหลานรัชกาลที่ ๑ และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ทำสิ่งผิดกฎหมาย ไม่รับสินบน ไม่ฉ้อราษฎร์บังหลวง ไม่ซื้อสิทธิ์ ขายเสียง
ข้อ ๑๔ทุกครอบครัวต้องให้ความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรม หรือการบริจาคทรัพย์ เพื่อสร้าง ดูแล พัฒนาซึ่งทรัพย์สินส่วนรวม และตามที่คณะกรรมการหมู่บ้านร้องขอ
ให้คณะกรรมการหมู่บ้านรายงานผลการดำเนินกิจกรรม หรือรายการบริจาคทรัพย์สิ่งของให้ที่ประชุม และราษฎรทราบ
ข้อ ๑๕ทุกครอบครัวต้องมีกิจกรรมเพื่อดำรงชีวิตหรือเรียนรู้เป็นวิถีชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การปฏิบัติตามแนวทางโครงการตามแนวพระราชดำริ หรือหลักการทรงงาน และนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน อย่างน้อยครอบครัวละ ๑ กิจกรรม
ข้อ ๑๖ให้ทุกหมู่บ้านเปิดเพลงชาติไทยทางหอกระจายข่าว ทุกวัน เวลา ๐๘.๐๐ น. และ ๑๘.๐๐ น. และทุกครอบครัว ต้องมีและประดับธงชาติไทย ไว้ในที่เหมาะสมเพื่อแสดงออกถึงเอกลักษณ์ความเป็นชาติไทย และประดับพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในที่เหมาะสมและสมพระเกียรติ รวมทั้งการเข้าร่วมหรือมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ทุกโอกาส
ข้อ ๑๗ให้ทุกคนศึกษาเรียนรู้ ปฏิบัติตามพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เกี่ยวกับการดำรงชีวิตให้เป็นคนดีของชาติบ้านเมือง
ให้คณะกรรมการหมู่บ้านทำป้ายปิดประกาศให้ราษฎรทราบและส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ข้อ ๑๗/๑ทุกครอบครัวต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และร่วมกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างค่านิยมไทย ๑๒ ประการ ของรัฐบาล
ข้อ ๑๘ ทุกครอบครัวต้องทำนุบำรุงและปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสนา รักษาวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ขนบธรรมเนียมประเพณีไทย และปฏิบัติตามจารีตประเพณี ฮีต ๑๒ คลอง ๑๔
หมวดที่ ๓
ว่าด้วยดีที่ ๒ มีปัญญา
ข้อ ๑๙ให้คณะทำงานด้านการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เป็นเจ้าภาพรับผิดชอบหลักในหมวดนี้
ข้อ ๒๐ให้องค์กรหลักในชุมชน ประกอบด้วย บ้าน วัด หน่วยงานทางการศึกษา และส่วนราชการส่งเสริมสมาชิกของทุกครอบครัวให้ได้รับการศึกษาทุกระดับทุกประเภท ให้มีความรู้ความสามารถนำไปใช้ในการดำรงชีวิตได้
ข้อ ๒๑บิดามารดา หรือผู้ปกครอง ต้องส่งบุตรหลานทุกคนเข้ารับการศึกษาภาคบังคับ สามารถศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น และประกอบอาชีพได้ โดยดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างสันติสุข ตามระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งนี้ คณะกรรมการหมู่บ้าน ต้องส่งเสริมสนับสนุนและช่วยเหลือการจัดการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
ข้อ ๒๒ ให้ทุกครอบครัวปฏิบัติตนตามวิถีประชาธิปไตยเช่น หลักการใช้เหตุผล หลักการยึดเสียงข้างมากยอมรับฟังเสียงข้างน้อย หลักการแบ่งปันและการให้อภัย หลักการเคารพกฎหมาย ใช้สติในการแก้ไขปัญหา เป็นต้น
ข้อ ๒๓จัดและส่งเสริมให้ทุกคนในหมู่บ้านได้รับความรู้ ข้อมูลข่าวสารทันต่อเหตุการณ์ปัจจุบันรวมทั้งการใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารได้อย่างถูกต้องและมีคุณค่า
ข้อ ๒๔ส่งเสริมให้กำลังใจ ยกย่องชมเชยนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่เรียนดี มีความประพฤติดีเพื่อเป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่น รวมทั้งให้สนับสนุนศักยภาพของเยาวชน เช่น สนับสนุนทุน วัสดุ หรือการให้คำแนะนำเพิ่มเติม
ข้อ ๒๕ส่งเสริมสนับสนุนการจัดเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอผลงานของภูมิปัญญาท้องถิ่นและสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ของชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่นและปราชญ์ชาวบ้าน
ทั้งนี้ ทุกองค์กร/กลุ่มภายในหมู่บ้าน ต้องมีเยาวชนเป็นเลขานุการหรือผู้ช่วยเลขานุการ และให้เน้นการสร้างระบบทายาท(เยาวชน) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ข้อ ๒๖ คณะกรรมการหมู่บ้านต้องสร้างกระบวนการคิดเชิงระบบ โดยต้องมีการสร้างและพัฒนาสิ่งสร้างสรรค์และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาตนเอง ด้วย ๔ คำถามสร้างสันติสุขประกอบด้วย
(๑) การอธิฐานจิตที่จะทำแต่สิ่งที่เกิดประโยชน์ต่อการสร้างสันติสุข
(๒) การมีเป้าหมายสูงสุดที่ต้องการของสิ่งที่จะทำตาม (๑) คืออะไร
(๓) การกำหนดปัจจัยความสำเร็จของเป้าหมายสูงสุดตาม (๒) มีอะไรบ้าง
(๔) วิธีการดำเนินการทำอย่างไรจึงจะทำให้ปัจจัยความสำเร็จตาม (๓) สัมฤทธิ์ผล
แบ่งเป็น ๓ ขั้นตอน
ขั้นตอนที่ ๑ ขั้นเตรียมการและวิเคราะห์ความเสี่ยง (กระบวนการต้นน้ำ)
ขั้นตอนที่ ๒ ขั้นดำเนินการ (กระบวนการกลางน้ำ)
ขั้นตอนที่ ๓ ขั้นต่อยอดให้เกิดความยั่งยืน (กระบวนการปลายน้ำ)
หมวดที่ ๔
ว่าด้วยดีที่ ๓ รายได้สมดุล
ข้อ ๒๗ ให้คณะทำงานด้านส่งเสริมเศรษฐกิจ เป็นเจ้าภาพรับผิดชอบหลักในหมวดนี้
ข้อ๒๘ส่งเสริมให้ทุกครอบครัวร่วมปฏิบัติตามแนวทางการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ การออม จัดทำบัญชีครัวเรือน เพื่อแก้ปัญหาความยากจน โดยผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชุมชนตามกิจกรรม อาชีพ พร้อมจัดทำแผนพัฒนาอาชีพนั้นๆ
ข้อ ๒๙ส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนปลูกพืชผักสวนครัวเลี้ยงสัตว์ การประมง อาชีพเสริมอื่นตามความเหมาะสมของพื้นที่และศักยภาพภายในหมู่บ้านเพื่อการบริโภคหรือการจำหน่ายเพื่อเพิ่มรายได้และให้คณะกรรมการหมู่บ้านมีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบอาชีพดังกล่าวในหมู่บ้าน โดยรับซื้อสินค้าจากแต่ละครอบครัวเพื่อนำมาจำหน่ายยังร้านค้าสหกรณ์ประจำหมู่บ้านหรือจัดให้มีตลาดนัดในชุมชน หรือตลาดเซราะกราวเพื่อให้มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันในหมู่บ้าน หรือการรวมกลุ่มสินค้าต่างๆ ไปจำหน่ายในตลาด เสมือนมี “ตู้เย็นข้างบ้าน ATM ข้างกาย”และให้ประสานแหล่งความรู้และแหล่งเงินทุนต่างๆ มาสนับสนุนให้ชุมชน
ข้อ ๓๐รณรงค์ให้มีการจัดตั้งธนาคารหมู่บ้าน หรือกลุ่มออมทรัพย์อื่นๆ ส่งเสริมให้มีการตั้งสหกรณ์หรือร้านค้าชุมชนประจำหมู่บ้าน เพื่อเป็นศูนย์กลางในการจำหน่ายสินค้าในราคาที่เป็นธรรม และสร้างรายได้ให้กับสมาชิก หรือครอบครัวในหมู่บ้านและให้คณะกรรมการหมู่บ้านกำหนดระเบียบหลักเกณฑ์ในการดำเนินการ
ข้อ ๓๑ส่งเสริมให้มีอาชีพทางเลือก หรืออาชีพเสริมเพื่อยกระดับสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP)อาชีพเชิงเศรษฐกิจการตลาด สนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มอาชีพพัฒนาสู่วิสาหกิจชุมชนเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและชุมชนและสร้างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน เพื่อการแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ และการเรียนรู้ร่วมกัน
ข้อ ๓๒ส่งเสริมให้มีการทำเกษตรอินทรีย์วิถีชาวบ้าน เพื่อลดต้นทุนทางการผลิตของเกษตรกรภายในหมู่บ้าน และส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทน เพื่อการใช้วัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงอย่างคุ้มค่า
ข้อ ๓๓ส่งเสริมและจัดให้มีศูนย์เรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในหมู่บ้าน เพื่อการเรียนรู้และให้ราษฎรในหมู่บ้านนำไปใช้โดยให้มีศูนย์การถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการประกอบอาชีพ การจำหน่ายสินค้าและการสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชน
หมวด ๕
ว่าด้วยดีที่ ๔ สุขภาพแข็งแรง
ข้อ ๓๔ ให้คณะทำงานด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบหลักในหมวดนี้
ข้อ ๓๕ให้หัวหน้าครอบครัวส่งเสริมให้สมาชิกออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และให้คณะกรรมการหมู่บ้านจัดให้มีลานสุขภาพและให้ราษฎรรวมกลุ่มกันออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ ๓ ครั้ง ๆ ละไม่น้อยกว่า ๓๐ นาที และให้จัดตั้งกลุ่มออกกำลังกายอย่างน้อย ๑ กลุ่ม เช่น กลุ่มส่งเสริมมวยไทยมรดกโลกและ ลานมวยไทย หรือกายบริหาร ๑๕ ท่าแม่ไม้มวยไทย เป็นต้น
ข้อ ๓๖ให้ผู้ประกอบการร้านค้า/แผงลอยผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายในหมู่บ้านปฏิบัติตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขและมีจิตสำนึกที่ดีต่อเพื่อนบ้านโดยผลิตจำหน่ายเฉพาะอาหารที่สะอาด มีคุณภาพ ปราศจากสารพิษหรือสารปนเปื้อนและให้คณะกรรมการหมู่บ้านเฝ้าระวังภัยสุขภาพจากร้านค้าแผงลอย รถเร่และหาบเร่
ผู้ใดฝ่าฝืนหรือกระทำผิด ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฯ หมู่บ้าน จำนวนไม่เกิน ๕๐๐ บาท
ข้อ ๓๗คนในครอบครัวต้องไม่ทอดทิ้งเด็ก คนชรา ผู้ป่วย ผู้พิการ และผู้ป่วยจิตเวช
ข้อ ๓๘ให้ทุกครอบครัวร่วมกิจกรรมการควบคุมป้องกันโรคและภัยสุขภาพตามที่คณะกรรมการหมู่บ้านร้องขอ และให้คณะกรรมการหมู่บ้านจัดให้มีความรู้เกี่ยวกับโรคภัยสุขภาพ โดยการประสานการดำเนินการร่วมกับหน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่
ข้อ ๓๙ส่งเสริมให้ราษฎรในหมู่บ้านเข้ารับการตรวจคัดกรองสุขภาพเบื้องต้นในโรงพยาบาลหรือหน่วยงานสาธารณสุขทุกปี อย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง
หมวดที่ ๖
ว่าด้วยดีที่ ๕ สิ่งแวดล้อมสมบูรณ์
ข้อ ๔๐ ให้คณะทำงานด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข เป็นเจ้าภาพรับผิดชอบหลักในหมวดนี้
ข้อ ๔๑ให้ราษฎรทุกคนในหมู่บ้านมีหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์สมบัติอันเป็นสาธารณประโยชน์ และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งมีหน้าที่อนุรักษ์ป่าและส่งเสริมการปลูกป่าในหมู่บ้าน โดยต้องปลูกต้นไม้อย่างน้อย คนละ ๑ ต้นต่อปีและให้ช่วยกันดูแลพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้าประปา เป็นต้น
ข้อ ๔๒ห้ามผู้ใดบุกรุก ตัดไม้ ทำลายป่าสาธารณะและล่าสัตว์หวงห้าม
หากมีผู้ใดกระทำผิดให้แจ้งพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมาย และให้คณะกรรมการหมู่บ้านเรียกมาว่ากล่าวตักเตือนให้งดหรือยุติการกระทำ พร้อมแจ้งให้ที่ประชุมหมู่บ้านทราบเพื่อช่วยกันเฝ้าระวังป้องกันและผู้ใดตัดไม้ ๑ ต้น ต้องปลูกต้นไม้ทดแทน ๑๐ ต้น
ข้อ ๔๓ให้ทุกครอบครัวรักษาความสะอาดและจัดทำภูมิทัศน์ในบริเวณบ้านพักอาศัยของตนเองให้น่าอยู่ และให้ทุกคุ้มบ้านจัดกิจกรรมทำความสะอาดและพัฒนาหมู่บ้านเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง
ข้อ ๔๔ให้ทุกครอบครัวมีหน้าที่คัดแยกขยะในครัวเรือนก่อนนำไปทิ้ง และให้ทิ้งขยะในพื้นที่ที่กำหนดให้ทิ้งเท่านั้น
ข้อ ๔๕ห้ามผู้ใดก่อมลพิษทางเสียง ทางอากาศ ทางน้ำ ทางกลิ่น หรือทางอื่นๆ อันเป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น และห้ามราษฎรในหมู่บ้านทิ้งขยะหรือสิ่งปฏิกูลลงในที่หรือทางสาธารณะ หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่ก่อให้เกิดความสกปรก หรือเป็นมลพิษในหมู่บ้าน
ผู้ใดกระทำการฝ่าฝืน ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฯ หมู่บ้านจำนวนไม่เกิน ๕๐๐ บาท
หมวดที่ ๗
ว่าด้วยดีที่ ๖ สังคมอบอุ่น
ข้อ ๔๖ให้คณะทำงานด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบหลัก และคณะทำงานด้านการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม เป็นเจ้าภาพรับผิดชอบร่วม ในหมวดนี้
ข้อ ๔๗ ให้มีศูนย์วิจัยเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจสร้างพลังยึดเหนี่ยวจิตใจคนในหมู่บ้านให้เป็นหนึ่งเดียว
ข้อ ๔๘ส่งเสริมให้เกิดความรัก ความอบอุ่น สร้างสายใยรักในครอบครัว โดยคณะกรรมการหมู่บ้านจัดให้ราษฎรแต่ละครอบครัวได้มีการจัดทำกิจกรรมร่วมกัน และมีส่วนร่วมในงานประเพณี วันสำคัญต่างๆ
ข้อ ๔๙ส่งเสริมให้สมาชิกทุกครอบครัวถือศีลปฏิบัติตามข้อกำหนดแต่ละศาสนา และต้องเคารพกฎหมายบ้านเมืองอย่างเคร่งครัด หากปฏิบัติได้ จะได้รับการยกย่อง เป็นคนดี ศรีหมู่บ้าน
ข้อ ๕๐สนับสนุนให้ทุกครอบครัวได้ตระหนัก ควบคุม ดูแล และจำกัดเวลาการใช้คอมพิวเตอร์และสื่อออนไลน์ของเด็กและเยาวชน รวมถึงผู้ประกอบการร้านอินเตอร์เน็ทในหมู่บ้านด้วย หากไม่ปฏิบัติตาม ผู้ปกครองและผู้ประกอบการต้องได้รับการตักเตือน และถูกลงโทษตามธรรมนูญของหมู่บ้าน โดยคณะทำงานรับผิดชอบในหมวดนี้กำกับดูแล แนะนำและให้คำปรึกษา
ข้อ ๕๑เสริมสร้างและสนับสนุนอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม จารีตประเพณี ที่ดีงามของหมู่บ้าน/ชุมชน****
ข้อ ๕๒ส่งเสริมให้ทุกครอบครัวมีความรักความสามัคคีเอื้ออาทรและมีจิตสาธารณะในการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขอย่างยั่งยืน และห้ามกระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ หากผู้ใดกระทำความรุนแรงให้คณะกรรมการหมู่บ้านมีหน้าที่ห้ามปรามและว่ากล่าวตักเตือน หากกระทำผิดอีกให้ผู้เสียหายหรือผู้ใหญ่บ้านดำเนินการแจ้งความคดีตามกฎหมาย และให้คณะกรรมการหมู่บ้านช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ในเบื้องต้นแก่ผู้เสียหาย
ข้อ ๕๓ ส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบทุกคนเข้าสู่ระบบประกันสังคม (ม. ๔๐) เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงและส่งเสริมให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวเข้าถึงระบบสวัสดิการสังคมทุกด้าน ***
ข้อ ๕๔ส่งเสริมให้ทุกครอบครัวได้เรียนรู้และดำเนินชีวิต โดยยึดหลัก “เศรษฐกิจพอเพียง” และมีแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตครัวเรือน
ข้อ ๕๕ สนับสนุนให้คนในหมู่บ้านให้ความเคารพเชื่อฟังผู้อาวุโส และคณะกรรมการหมู่บ้านอย่างเคร่งครัด
ข้อ ๕๖ ให้มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อสร้างจิตสำนึกให้เกิดความรัก ความสามัคคี เอื้ออาทรต่อกันของคนในหมู่บ้าน/ชุมชน
หมวดที่ ๘
ว่าด้วยดีที่ ๗หลุดพ้นอาชญากรรม
ข้อ ๕๗ ให้คณะทำงานด้านการปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบหลักในหมวดนี้
ด้านการปกครอง
ข้อ ๕๘ ให้สมาชิกทุกครอบครัว มีหน้าที่ส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีหน้าที่ปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายและธรรมนูญนี้ และส่งเสริม สนับสนุน ให้มีการเลือก/เลือกตั้ง ทุกระดับ
ผู้ใดซื้อสิทธิหรือขายเสียงในหมู่บ้าน ถือเป็นความผิดต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฯ หมู่บ้านจำนวนไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท
ด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ข้อ ๕๙ ในกรณีเกิดภัยพิบัติหรือภัยตามธรรมชาติ ให้คณะกรรมการหมู่บ้านมีหน้าที่ร่วมกับราษฎรในหมู่บ้าน ระงับเหตุ ยับยั้ง แก้ไข บรรเทาเหตุในเบื้องต้น ที่คณะกรรมการหมู่บ้านเห็นว่าอยู่ในขีดความสามารถที่ทำได้
เมื่อได้ดำเนินการแล้ว หากเห็นว่าผู้ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อน จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือเพิ่มเติม ให้คณะกรรมการหมู่บ้านแจ้งผู้ใหญ่บ้านและประสานกำนัน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอำเภอ เพื่อเข้ามาตรวจสอบและช่วยเหลือตามระเบียบของทางราชการ ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการหมู่บ้านมีหน้าที่ช่วยเหลือการดำเนินการอย่างสุดขีดความสามารถ และรับผิดชอบการตรวจสอบและประชุมประชาคมร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและอำเภอเพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วและถูกต้องตามระเบียบของทางราชการกำหนด
ข้อ ๖๐ ห้ามผู้ใดถมดิน หรือปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างอื่น อันเป็นการก่อผลกระทบหรือความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นหรือแก่ส่วนรวม เช่น การถมดินสูงเกินกว่าที่ควรทำให้ขัดขวางทางระบายน้ำ ก่อให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่หรือบ้านเรือนผู้อื่น หรือ การถมดินหรือก่อสร้างอาคารกีดขวางทางสาธารณะและการสัญจรปกติของราษฎร รวมทั้งการกระดำเนินการอื่นๆ ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสวัสดิภาพและภยันตรายอื่นๆ
ผู้ใดกระทำการในลักษณะดังกล่าวให้คณะกรรมการหมู่บ้านว่ากล่าวตักเตือนและแนะนำให้แก้ไขให้ถูกต้อง หากฝ่าฝืนต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฯ หมู่บ้านจำนวนไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท หรือหากกระทบต่อพื้นที่หรือทางสาธารณะให้แจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมาย
ด้านการรักษาความสงบเรียบร้อย
ข้อ ๖๑ ให้มีการจัดตั้งชุดรักษาความปลอดภัยประจำหมู่บ้าน(ชรบ.) หรือชุดคุ้มครองหมู่บ้าน(ชคบ.)เพื่อทำหน้าที่เวรยามประจำหมู่บ้านและช่วยเหลือคณะกรรมการหมู่บ้านตรวจตรา หรือระงับเหตุต่างๆ
ข้อ ๖๒ผู้ใดในฐานะเป็นเจ้าบ้าน หรือเป็นเจ้ามือ หรือผู้เล่น จัดให้มีการเล่นการพนันหรือร่วมเล่นการพนันไม่ว่ากรณีใดๆภายในหมู่บ้าน จะถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของหมู่บ้าน
ผู้ใดกระทำการฝ่าฝืน ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฯ หมู่บ้านจำนวนไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาทหรือตามที่คณะกรรมการหมู่บ้านเห็นสมควร และให้แจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมาย
ข้อ ๖๓ ผู้ใด ยุยงส่งเสริม สนับสนุนหรือเป็นตัวการก่อให้มีการทะเลาะวิวาทในหมู่บ้านหรือระหว่างหมู่บ้าน ที่เป็นการก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือเป็นภัยอันตรายแก่ราษฎรในหมู่บ้าน หากฝ่าฝืนต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฯ หมู่บ้านจำนวนไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาทหรือตามที่คณะกรรมการหมู่บ้านเห็นสมควร หรือถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
ข้อ ๖๔ผู้ใดกระทำการหรือก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาท ในงานมหรสพ งานประเพณีที่สำคัญของหมู่บ้าน
หากการทะเลาะวิวาทนั้นทำให้การจัดงานไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้จนเสร็จงาน ผู้ที่ทำการวิวาทและผู้ให้การสนับสนุนการกระทำจะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าจัดงานให้แก่หมู่บ้านหรือเจ้าภาพผู้จัดงานและต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฯ หมู่บ้านจำนวนไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาทหรือตามที่คณะกรรมการหมู่บ้านเห็นสมควร
ข้อ ๖๕ราษฎรทุกคนในหมู่บ้านมีหน้าที่แจ้งข้อมูลข่าวสารและแจ้งเบาะแส ในกรณีพบเห็นการกระทำความผิดหรือ มีสิ่งผิดกฎหมาย ยาเสพติด ในหมู่บ้าน เพื่อหาทางแก้ไขร่วมกัน โดยให้แจ้งคณะกรรมการหมู่บ้านหรือหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทราบโดยทันที โดยจัดให้มีระบบการคัดกรองทางสังคม เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ประกอบด้วย
(๑) ผู้เสพยาเสพติด
(๒) ผู้ติดยาเสพติด
(๓) ผู้ค้ายาเสพติด
(๔) แหล่งพักหรือทางผ่านของยาเสพติด
ผู้ใดพบเห็นการกระทำผิด แต่นิ่งเฉยหรือไม่แจ้งคณะกรรมการหมู่บ้านทราบ ให้ถือเป็นความผิดฐานรู้เห็นเป็นใจหรือยุยงส่งเสริม ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฯ หมู่บ้านจำนวนไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาทหรือตามที่คณะกรรมการหมู่บ้านเห็นสมควร
ข้อ ๖๖ ผู้ใดเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ในฐานะเป็นผู้เสพ ผู้ค้า ผู้จำหน่าย หรือเคยเสพยาและเข้ารับการบำบัดแล้วยังมีพฤติกรรมเกี่ยวกับยาเสพติดอีก ให้คณะกรรมการหมู่บ้านมีหน้าที่ให้คำแนะนำตักเตือนและแจ้งเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจดำเนินการตามกฎหมายต่อไป หรือตามที่คณะกรรมการหมู่บ้านจะพิจารณาเห็นสมควร
ข้อ ๖๗ให้งดการแจกจ่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และห้ามเล่นการพนันในงานศพ งานบวชและงานสำคัญทางศาสนา
ผู้ใดกระทำผิดให้มีโทษปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาทหรือตามที่คณะกรรมการหมู่บ้านเห็นสมควร
ข้อ ๖๘ห้ามผู้ใดยิงปืนหรือจุดปะทัดหรือดอกไม้เพลิงโดยไม่มีเหตุอันควร ในหมู่บ้าน ชุมชนหรือสาธารณะสถานซึ่งราษฎรได้ใช้ในการจัดกิจกรรมของหมู่บ้าน
ผู้ใดฝ่าฝืนจะถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของหมู่บ้าน หากฝ่าฝืนต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฯ หมู่บ้านจำนวนไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาทหรือตามที่คณะกรรมการหมู่บ้านเห็นสมควร หรือถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
ข้อ ๖๙ห้ามผู้ใดขับรถเร็ว ส่งเสียงดัง น่าหวาดเสียวหรือก่อความเดือดร้อนรำคาญหรืออาจก่อให้เกิดอันตรายกับราษฎรในหมู่บ้าน
ผู้ใดฝ่าฝืนจะถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของหมู่บ้าน หากฝ่าฝืนต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฯ หมู่บ้านจำนวนไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาทหรือตามที่คณะกรรมการหมู่บ้านเห็นสมควร
ข้อ ๗๐ ผู้ใดดูหมิ่นหรือทำร้าย เจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่และคณะกรรมการหมู่บ้าน ผู้ปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย ขณะปฏิบัติหน้าที่หรือเพราะเหตุที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ ภายในหมู่บ้าน จะมีโทษ ว่ากล่าวตักเตือนทำทัณฑ์บนและต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฯ หมู่บ้านจำนวนไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาทหรือตามที่คณะกรรมการหมู่บ้านเห็นสมควร
ข้อ ๗๑ห้ามผู้ประกอบการ ใช้เครื่องมือ เครื่องจักรภายในเขตชุมชนของหมู่บ้าน หรือ ขุดดิน หรือทำการบรรทุกขนดิน วิ่งผ่านในเขตชุมชนของหมู่บ้าน อันก่อให้เกิดเสียงดังก่อความรำคราญ หรือกีดขวางความสะดวก ในระหว่างเวลา ๑๘.๐๐ น. – ๐๖.๐๐ น.
ผู้ใดฝ่าฝืนจะถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของหมู่บ้าน ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฯ หมู่บ้านจำนวนไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาทหรือตามที่คณะกรรมการหมู่บ้านเห็นสมควร
ข้อ ๗๒ห้ามผู้ใดเข้ามาเรี่ยไรในหมู่บ้านโดยไม่ได้รับอนุญาตตามที่กฎหมายกำหนด หากมีการเรี่ยไรจะต้องแจ้งคณะกรรมการหมู่บ้านหรือผู้ใหญ่บ้านทุกครั้ง
ผู้ใดฝ่าฝืนให้คณะกรรมการหมู่บ้านว่ากล่าวตักเตือน หากยังกระทำผิดอีกให้แจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย
ข้อ ๗๓ห้ามมิให้ผู้ประกอบการค้า จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่นักเรียน และบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า ๒๐ ปีบริบูรณ์ หากฝ่าฝืนจะถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของหมู่บ้าน และต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฯ หมู่บ้านจำนวนไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาทหรือตามที่คณะกรรมการหมู่บ้านเห็นสมควร
ข้อ ๗๔ คณะกรรมการหมู่บ้านมีหน้าที่สอดส่อง ดูแล มิให้มีการมั่วสุมของเด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ในร้านเกมส์ภายในหมู่บ้าน ซึ่งมีพฤติกรรมขัดต่อความสงบเรียบร้อยของหมู่บ้าน ชุมชน หรือมีพฤติการณ์ที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีและกฎหมายบ้านเมือง
ผู้ใดฝ่าฝืนจะถือเป็นความรับผิดชอบของผู้ประกอบการร้านเกม ซึ่งคณะกรรมการหมู่บ้านมีหน้าที่ว่ากล่าวตักเตือน หากมีการฝ่าฝืนอีกจะถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของหมู่บ้าน ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฯ หมู่บ้านจำนวนไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาทหรือตามที่คณะกรรมการหมู่บ้านเห็นสมควร และให้แจ้งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมาย
หมวดที่ ๙
ว่าด้วยดีที่ ๘ กองทุนพึ่งพาตนเอง
ข้อ ๗๕ให้คณะทำงานด้านอำนวยการ เป็นเจ้าภาพรับผิดชอบหลักในหมวดนี้
ข้อ ๗๖หมู่บ้านต้องทำการจัดตั้งกองทุนพึ่งพาตนเองในระดับหมู่บ้าน เพื่อเป็นเงินกองทุนสำหรับใช้จ่ายในการพัฒนาหมู่บ้านและเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการของคณะกรรมการหมู่บ้าน ทั้งนี้ให้เป็นไปตามระเบียบฯ ที่คณะกรรมการหมู่บ้านได้กำหนดขึ้นโดยมติหรือความเห็นชอบของหัวหน้าทุกครอบครัว
ข้อ ๗๗ รายได้ และที่มาของเงินกองทุนพึ่งพาตนเอง
(๑) เงินบริจาค หรือเงินรายได้ ที่ได้มาจากการจัดกิจกรรมการระดมทุนของประชาชนในหมู่บ้าน ทุกครอบครัวเช่น ผ้าป่าสามัคคี กิจกรรมการทำบุญตามประเพณีหมู่บ้าน เช่น โดนตา วันสำคัญของคนไทย เช่นวันพ่อ แม่ ฯ การจัดผ้าป่าข้าวเปลือกประจำปี ฯลฯ
(๒) เงินบริจาคโดยปราศจากเงื่อนไขจากผู้มีจิตศรัทธา(เงินบริจาคหน้าเมรุเผาศพ ฯลฯ)
(๓) เงินจัดสรรจากผลกำไร จากการบริหารจัดการกลุ่ม กองทุนฯ องค์กรทางการเงินภายในหมู่บ้าน ตามอัตรา จำนวนที่กลุ่ม กองทุนฯ องค์กรทางการเงินได้กำหนดไว้
(๔) เงินรายได้จากการจำหน่ายให้เช่า ดอกผล ที่เกิดขึ้นจากทรัพย์สินของหมู่บ้าน
(๕) เงินค่าปรับไหมตามธรรมนูญนี้ ค่าธรรมเนียม ที่คณะกรรมการหมู่บ้านได้กำหนดไว้
(๖) เงินอุดหนุนของรัฐจากส่วนราชการ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(๗) เงินอื่น ๆ
ข้อ๗๘ เงินกองทุนพึ่งพาตนเองของหมู่บ้านที่ได้รับมาจากรายได้ประเภทใด ๆ แต่ละครั้ง จะต้องจัดแบ่งไว้เป็นเงินสะสม หรือเงินทุนสำรองของหมู่บ้าน ไม่น้อยกว่า ร้อยละ ๒๐ ของรายได้ที่ได้มาในแต่ละครั้ง ส่วนการใช้จ่ายจากเงินสะสม หรือเงินทุนสำรอง ให้เป็นไปตามระเบียบ ฯ ที่คณะกรรมการหมู่บ้านได้กำหนด
หมวดที่ ๑๐
ว่าด้วยดีที่ ๙ การสร้างความเข้มแข็งคณะกรรมการหมู่บ้าน(กม.)/ชุมชนเมือง
ด้านกรรมการหมู่บ้านและคณะกรรมการคุ้มบ้าน
ข้อ ๗๙ ให้คณะทำงานด้านอำนวยการเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบหลักในด้านนี้
ข้อ ๘๐ให้หมู่บ้านทำการแบ่งคุ้มบ้าน ตามลักษณะภูมิประเทศ ประเพณีวัฒนธรรม หรือเครือญาติ ตามขนาดและจำนวนที่มีความเหมาะสมแต่ละหมู่บ้าน โดยแต่ละคุ้มบ้านต้องคัดเลือกประธานคุ้มบ้าน ๑ คน และคณะกรรมการคุ้มบ้านฝ่ายต่างๆตามความเหมาะสมและจำเป็น
ข้อ ๘๑ ให้จัดตั้งคณะกรรมการหมู่บ้าน หัวหน้าคุ้มบ้าน คณะกรรมการคุ้มบ้าน ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดโดยจัดให้มีที่ทำการคณะกรรมการหมู่บ้าน และที่ทำการคณะกรรมการคุ้มบ้าน ตามความเหมาะสม
ข้อ ๘๑/๑ ให้จัดตั้งคณะกรรมการหมู่บ้านฝ่ายเด็กและเยาชน (กม.น้อย) เพื่อให้เยาวชนได้มีส่วนร่วม เป็น กม. คู่ขนาน ในการดำเนินงานของคณะกรรมการหมู่บ้าน เพื่อให้สามารถรับช่วงการพัฒนาหมู่บ้านในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ระบบทายาท)
ในการจัดตั้ง กม. น้อย ให้ใหญ่บ้านออกคำสั่งแต่งตั้งด้วยความเห็นชอบ ของคณะกรรมการหมู่บ้านและให้มีพิธีปฏิญาณตน รับหน้าที่ตามบัญญัติธรรมนูญหมู่บ้าน
ข้อ ๘๒ ให้คณะกรรมการหมู่บ้าน แต่งตั้งปลัดหมู่บ้านขึ้นมาหนึ่งคนโดยคัดเลือกจากบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในการที่จะช่วยเหลืองานด้านธุรการของคณะกรรมการหมู่บ้านได้เป็นอย่างดี
ข้อ ๘๓ให้คณะกรรมการหมู่บ้าน หัวหน้าคุ้มบ้าน คณะกรรมการคุ้มบ้าน ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมาย กำหนด หรือตามที่นายอำเภอมอบหมาย หรือผู้ใหญ่บ้านร้องขอ และมีหน้าที่ดำเนินการจัดประชุมปรึกษาหารือเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหา และพัฒนาหมู่บ้านอย่างสม่ำเสมอ และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของราษฎรในหมู่บ้านเพื่อให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมของหมู่บ้านอย่างกว้างขวางทั้งนี้ ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การเป็นกรรมการหมู่บ้าน การปฏิบัติหน้าที่และการประชุมของคณะกรรมการหมู่บ้าน พ.ศ.๒๕๕๑
ให้คณะกรรมการหมู่บ้าน และทุกครัวเรือนส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมในการจัดประชุมของผู้ใหญ่บ้าน หรือการประชุมใหญ่คณะกรรมการหมู่บ้าน หรือการประชุมที่หน่วยงานราชการกำหนดขึ้นหากครัวเรือนใดขาดการประชุมเกิน ๓ ครั้งติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันควร จะถือว่าเป็นครัวเรือนที่ขาดคุณสมบัติหรือไม่ให้ความสำคัญกับงานส่วนรวม เมื่อมีการพิจารณาช่วยเหลือจากกิจกรรมหรืองบประมาณใดๆ จะได้รับการพิจารณาในลำดับท้ายๆหรือดำเนินการตามมาตรการทางสังคม
ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมของคณะกรรมการหมู่บ้าน และคณะกรรมการคุ้มบ้าน ให้เบิกจ่ายได้จากเงินกองทุนพึ่งพาตนเอง ตามจำนวนที่คณะกรรมการหมู่บ้านกำหนด
ข้อ ๘๔ ให้คณะกรรมการหมู่บ้าน จัดทำรายงานการประชุม และเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นหลักฐานทางกฎหมายและการบังคับใช้หรือการยืนยันในการดำเนินการในด้านต่างๆ และนำสรุปรายงานการประชุม ผลการดำเนินงาน และภาพถ่าย(ถ้ามี) เสนอที่ประชุมคณะกรรมการหมู่บ้านในคราวต่อไป
ข้อ ๘๕ คณะกรรมการหมู่บ้าน หัวหน้าคุ้มบ้าน และคณะกรรมการคุ้มบ้าน มีหน้าที่สนับสนุนกลุ่มอาชีพ หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในหมู่บ้านให้มีความเข้มแข็งและมีหน้าที่จัดกิจกรรมสาธารณกุศล และจัดทำระเบียบการเก็บค่าธรรมเนียมจากกองทุนต่าง ๆ ที่มีอยู่ในหมู่บ้าน หรือกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อนำเงินเข้ากองทุนพึ่งพาตนเอง
ข้อ ๘๖คณะกรรมการหมู่บ้าน ต้องบูรณาการหรือประสานงานกับส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วัด องค์กรภาคเอกชน และประชาชน เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะต้องประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ในการพัฒนาหมู่บ้านและส่งต่อปัญหาหรือความต้องการของหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือหรือดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ในการดำเนินกิจกรรมของคณะกรรมการหมู่บ้าน แม้จะได้มอบหมายให้คณะทำงานด้านต่างๆ หรือคณะกรรมการคุ้มบ้าน หรือบุคคลใดดำเนินการในเรื่องใด ให้ถือว่าคณะกรรมการหมู่บ้านยังคงต้องร่วมรับผิดชอบดำเนินการร่วมกันทุกฝ่ายหรือทุกด้าน เพื่อให้งานมีประสิทธิภาพและประสบผลสำเร็จ
ข้อ ๘๗ให้จัดทำข้อมูลทางการปกครองและจัดทำป้ายประกาศ เช่น แผนที่เขตการปกครอง แผนผังครัวเรือนและสถานที่ ประวัติหมู่บ้าน บุคคลที่เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน บุคคลที่เป็นผู้นำ หมายเลขโทรศัพท์หน่วยงานหรือบุคคลที่จำเป็น หรือข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์
ด้านแผนพัฒนาหมู่บ้าน
ข้อ ๘๘ ให้คณะทำงานด้านแผนพัฒนาหมู่บ้าน เป็นเจ้าภาพรับผิดชอบหลักในด้านนี้
ข้อ ๘๙ ให้หมู่บ้านจัดทำระบบฐานข้อมูล และระบบสารสนเทศ (Data Base – MIS) ให้ครบถ้วน ทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต
ข้อ ๙๐ให้หมู่บ้านมีแผนพัฒนาหมู่บ้าน ทั้งแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยในการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้าน ให้ดำเนินการจัดทำแผนตามความต้องการและสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาหมู่บ้านอย่างแท้จริง โดยให้ราษฎรในหมู่บ้านมีหน้าที่สนับสนุนการจัดแผนพัฒนาพัฒนาหมู่บ้านและให้คณะกรรมการหมู่บ้าน หัวหน้าคุ้มบ้าน คณะกรรมการคุ้มบ้าน มีหน้าที่ประสานงานในการจัดทำแผนและติดตามผลการดำเนินการตามแผน
ข้อ ๙๑ให้คณะทำงานด้านแผนพัฒนาหมู่บ้าน ประสานหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรใดๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการขับเคลื่อนและมีการดำเนินการแผงงาน โครงการ หรือกิจกรรมในแผนพัฒนาหมู่บ้าน รวมทั้งมีการทบทวนแก้ไขและแสนอแผนในโอกาสต่อไป ทั้งนี้ สมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในหมู่บ้าน ต้องนำโครงการ/กิจกรรมในแผนพัฒนาหมู่บ้านไปบรรจุในแผนฯ ๓ ปี ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ด้านการอำนวยความเป็นธรรมของคณะกรรมการหมู่บ้าน
(ศูนย์ดำรงธรรมหมู่บ้าน)
ข้อ ๙๒ ให้คณะทำงานด้านการปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบหลักในด้านนี้
ข้อ ๙๓ ให้มีการจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมหมู่บ้าน ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหรือสถานที่ที่เห็นสมควร
ข้อ ๙๔ศูนย์ดำรงธรรมหมู่บ้าน มีหน้าที่
(๑) เป็นศูนย์ไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาททั้งความแพ่งทุกประเภท หรือความอาญาที่เป็นความผิดอันยอมความได้พร้อมจัดทำบันทึก เอกสาร รวมทั้งการรายงานตามระเบียบกำหนดโดยถือปฏิบัติตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการปฏิบัติงานประนอมข้อพิพาทของคณะกรรมการหมู่บ้าน พ.ศ.๒๕๓๐
(๒) เป็นศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของราษฎรในหมู่บ้าน ทำการแนะนำแก้ไข รวมทั้งประสานหรือรายงานหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องหรือศูนย์ดำรงธรรมอำเภอเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ด้านการประชาคมหมู่บ้าน
ข้อ ๙๕ ให้คณะทำงานด้านอำนวยการ เป็นเจ้าภาพรับผิดชอบหลักในด้านนี้
ข้อ ๙๖การใดที่เป็นเรื่องผลประโยชน์ของส่วนรวม หรือเป็นกรณีที่มีผลกระทบต่อราษฎรส่วนใหญ่ในหมู่บ้าน หรือเป็นกรณีที่ต้องใช้บังคับเพื่อให้ราษฎรในหมู่บ้านต้องประพฤติปฏิบัติตามหรือการใดที่มีผู้เห็นสมควรยกขึ้นหารือกับคนส่วนใหญ่ในหมู่บ้าน หรือการใดที่ทางราชการสั่งให้นำเข้าที่ประชุมประชาคมหมู่บ้าน ให้คณะกรรมการหมู่บ้านนำเรื่องนั้นๆเข้าปรึกษาหารือในที่ประชุมประชาคมหมู่บ้าน
มติหรือความเห็นของที่ประชุมต้องไม่ขัดต่อกฎหมายหรือระเบียบคำสั่งของทางราชการ และให้มีสภาพบังคับให้ทุกคนต้องปฏิบัติตามมติของที่ประชุมประชาคมในเรื่องนั้น
ข้อ ๙๗การประชุมประชาคมทุกครั้งต้องมีหัวหน้าครอบครับหรือผู้แทนที่มีอายุตั้งแต่ ๑๕ ปี ขึ้นไป ครัวเรือนละ ๑ คน เข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนครัวเรือนทั้งหมดในหมู่บ้าน หากมีผู้เข้าประชุมไม่ครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ในข้อนี้ให้ถือว่ายังไม่ครบองค์ประชุมและห้ามดำเนินการประชุม หรือในขณะที่กำลังประชุมกันหากมีผู้ออกจากที่ประชุมไปจนเหลือไม่ครบองค์ประชุมก็ให้การประชุมในขณะนั้นจำเป็นต้องยุติลง
มติที่ประชุมประชาคมหมู่บ้าน ให้ถือตามเสียงข้างมากของที่ประชุมหากมีคะแนนเสียงเท่ากันให้มีการทบทวนและหารือใหม่ร่วมกันเพื่อหาข้อสรุปเหมาะสมและจัดให้มีการลงมติอีกครั้ง
ข้อ ๙๘ ในการประชุมประชาคมทุกครั้งเพื่อให้การปรึกษาหารือเป็นไปด้วยความรอบคอบและป้องกันปัญหาหรือความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น จึงให้ที่ประชุมเลือกบุคคลที่เห็นสมควรจำนวน ๕-๗ คน เพื่อทำหน้าที่ฝ่ายค้านในที่ประชุมโดยให้มีหน้าที่คัดค้านทุกเรื่องที่ปรึกษาหารือพร้อมให้เสนอแนวทางแก้ไขและให้ร่วมรับผิดชอบร่วมปฏิบัติด้วย
ข้อ ๙๙ให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นประธานที่ประชุมประชาคมหมู่บ้าน กรณีไม่มีผู้ใหญ่บ้านหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือผู้ใหญ่บ้านไม่อยู่ในที่ประชุมก็ให้ที่ประชุมเลือกบุคคลที่เห็นสมควรทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุม และให้ปลัดหมู่บ้านเป็นเลขานุการของที่ประชุมประชาคมหมู่บ้าน โดยมีหน้าที่แจ้งเชิญผู้เข้าประชุม จัดทำระเบียบวาระหรือหัวข้อในการประชุมจัดทำเอกสารให้ผู้เข้าประชุมลงชื่อ บันทึกรายงานการประชุมและงานธุรการอื่นๆที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย
(ลงชื่อ)
(..........................................................)
ผู้ใหญ่บ้าน/กำนัน
ประธานคณะกรรมการหมู่บ้าน
(ลงชื่อ) สักขีพยาน (ลงชื่อ) สักขีพยาน
(...............................................) (................................................)
เจ้าคณะตำบล.......................... กำนันตำบล.................................
(ลงชื่อ) สักขีพยาน (ลงชื่อ) สักขีพยาน
(...............................................) (................................................)
นายก(อปท.)................................. สมาชิก(อปท.)...................................
(ลงชื่อ) สักขีพยาน (ลงชื่อ) สักขีพยาน
(...............................................) (................................................)
แทนคุ้ม................................................ ผู้แทนคุ้ม..........................................
|
|
ประพันธ์ เวารัมย์ [183.89.72.xxx] เมื่อ 14/01/2017 13:57
|