ประกาศคกก.ข้อมูลฯ เรื่องการเรียกค่าธรรมเนียมการขอสำเนา |
|
อ้างอิง
อ่าน 244 ครั้ง / ตอบ 0 ครั้ง
|
ประพันธ์ เวารัมย์
|
ประกาศคกก.ข้อมูลฯ เรื่องการเรียกค่าธรรมเนียมการขอสำเนา
http://www.slideshare.net/valrom/ss-46208388
หรือ
http://legal.tu.ac.th/menu/law_tu/pdf/pdf_a/notice_news/ประกาศคกก.ข้อมูลฯ%20เรื่องการเรียกค่าธรรมเนียมการขอสำเนา.pdf
คำถามที่ได้รับการสอบถามเป็นจำนวนมาก หน่วยงานจึงนำมาแสดงในรูปแบบคำถาม-คำตอบ ที่เป็นที่สนใจ
1. ถาม เกี่ยวกับขั้นตอนการส่งข้อมูลข่าวสาร ขั้นตอนการส่งข้อมูลข่าวสาร ตามมาตรา 7 (1) (2) (3) ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา
ตอบ แนวทางปฏิบัติในการส่งเรื่องไปประกาศในราชกิจจานุเบกษามีดังนี้
1.มีหนังสือนำส่งเรื่องไปถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และลงนามโดยหัวหน้าหน่วยงานระดับกรมหรือเทียบเท่า
2.เอกสารที่ส่งไปประกาศ ให้จัดส่งต้นฉบับหรือสำเนาคู่ฉบับซึ่งปรากฎลายมือชื่อของผู้มีอำนาจลงนามในเรื่องนั้น จำนวน 1 ชุด และสำเนาต้นฉบับที่มีข้อความชัดเจน จำนวน 4 ชุด โดยให้จนท. ตั้งแต่ระดับ 5 ขึ้นไปหรือเทียบเท่า ลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง และระบุชื่อตำแหน่งให้ชัดเจน
3.การพิมพ์เอกสารให้พิมพ์แนวตั้งเป็นหลัก
4.เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการพิมพ์ และแก้ไขข้อความให้ถูกต้อง จึงให้หน่วยงานที่ส่งประกาศ ส่งแผ่นข้อมูล (disk) ที่บันทึกข้อมูลในลักษณะข้อความ Word มิใช่รูปภาพไปด้วย
สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ส่วนราชกิจจานุเบกษา สำนักนิติธรรม สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี โทร.02-280-9000 ต่อ 124-6
2. ถาม เกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการถ่ายสำเนาเอกสาร
การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการถ่ายสำเนาเอกสารข้อมูลข่าวสารของราชการ
ตอบ เรื่องการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการเป็นไปตามมาตรา
9 วรรคสาม กล่าวคือ หากมีกฎหมายใดกำหนดเกี่ยวกับการเก็บค่าธรรมเนียมไว้โดยเฉพาะอยู่แล้วก็ให้เป็นไปตามกฎหมายเฉพาะนั้น เช่น การเก็บค่าธรรมเนียมการสำเนาทะเบียนบ้านก็เป็นไปตาม พ.ร.บ.ทะเบียนราษฎร์ หรือการสำเนาโฉนดที่ดินก็เป็นไปตามประมวลกฎหมายที่ดิน แต่หากไม่มีกฎหมายกำหนดไว้เฉพาะก็จะเป็นตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ กล่าวคือ หากหน่วยงานใดจะเก็บค่าธรรมเนียมการเข้าตรวจดู การสำเนาข้อมูลข่าวสารของราชการ หรือการสำเนาที่มีคำรับรองถูกต้อง จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการเสียก่อน เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้วจึงจะเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวได้ อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯได้ออกเกณฑ์กลางขึ้นมาในการเก็บค่าสำเนาข้อมูลข่าวสารของราชการไว้ตามประกาศลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2542 ซึ่งถือเป็นการเก็บค่าธรรมเนียมที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบไว้แล้ว เช่น การสำเนาข้อมูลด้วยกระดาษขนาด A4 เก็บไม่เกินแผ่นละ 1 บาท หรือค่ารับรองสำเนาถูกต้องเก็บครั้งละไม่เกิน 5 บาท รวมที้งการเก็บค่าธรรมเนียมตามต้นทุนที่แท้จริง นอกจากนี้หากหน่วยงานใดจะเก็บค่าธรรมเนียมก็ต้องขอความเห็นชอบเป็นรายๆไป ในทางปฏิบัติมีบางหน่วยงานให้เอกชนตั้งเครื่องถ่ายเอกสารไว้บริการ นั่นเป็นการบริการของเอกชนซึ่งไม่ถูกผูกพันตามประกาศหรือกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ ซึ่งหน่วยงานของรัฐน่าจะดำเนินการให้เกิดความเหมาะสมในเรื่องนี้ต่อไป
3. ถาม เกี่ยวกับใบประมาณราคาก่อสร้าง
ในกรณีสอบราคา สามารถเปิดเผยราคาในใบประมาณการราคาก่อสร้างให้แก่ผู้รับเหมาได้หรือไม่
ตอบ ปัจจุบันเรื่องการเปิดเผยราคากลางในการก่อสร้างถือว่าต้องเปิดเผยในประการศประกวดราคาหรือ
ประกาศสอบราคาได้เลย นอกจากนี้รายละเอียดการคำนวณราคากลางดังกล่าวก็สามารถขอได้ ณ หน่วยงานเจ้าของเรื่องด้วย ทั้งนี้มีมติ ครม.ในเรื่องนี้สั่งการไว้ด้วย
4. ถาม เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 9 ของ พรบ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ
1. ตามมาตรา 9(2) ระบุว่า 'นโยบายหรือการตีความที่ไม่เข้าข่ายต้องลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา ตามมาตรา 7(4) หมายความว่าให้นำมติคณะรัฐมนตรี นอกเหนือจาก มาตรา 7(4)มาบรรจุไว้ใช่หรือเปล่าหรือหมายความว่าอย่างไร
2. ถ้าจะนำนโยบายของนายก อบต.มาบรรจุไว้ได้หรือเปล่าครับถ้าไม่ได้ให้เก็บไว้ในข้อใดครับ
3. ข้อมูลข่าวสารอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนดตาม มาตรา 9(8) มีอะไรบ้างครับขอความอนุเคราะห์ข้อมูลด้วย
ตอบ กรณีเกี่ยวกับมติคณะรัฐมนตรีที่นำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นไปตามมาตรา 9(7) ซึ่งต้อง
นำลงประกาศฯ สำหรับมาตรา 9(2) เป็นเรื่องหน่วยงานทางปกครองหรือฝ่ายบริหารกำหนดนโยบายหรือมีการตีความที่เป็นแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับประชาชน นอกเหนือจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการไปแล้ว กฎหมายจึงกำหนดให้เป็นมาตรา 9(2) ซึ่งข้อมูลตามมาตรา ๙ นี้เป็นข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐต้องจัดไว้ประชาชนตรวจดูได้ ณ ที่ทำการของหน่วยงานเจ้าของเรื่องนั้นๆ
สำหรับนโยบายของนายก อบต.ก็สามารถบรรจุเป็นมาตรา 9(2) ได้ครับ
ข้อมูลตามมาตรา 9(8) ปัจจุบัน คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ได้กำหนดไว้ 2 ประการ คือ
1) ข้อมูลที่เป็นประกาศประกวดราคาและประกาศสอบราคา ที่ผู้มีอำนาจลงนามแล้วให้นำมาแสดงไว้ให้ตรวจดูได้อย่างน้อย 1 ปี
2) ข้อมูลสรุปผลการจัดซื้อจัดจ้างในรอบเดือน ที่กำหนดให้สรุปแสดงตามตารางแบบ สขร.1 ซึ่งเก็บไว้ให้ดูว่า ในรอบเดือนนั้นๆมีการใช้เงินในการจัดซื้อจัดจ้างอะไรบ้าง
5. ถาม เกี่ยวกับการขอดูกระดาษคำตอบและคำเฉลยข้อสอบ
ส่วนราชการได้จัดสอบคัดเลือกผู้บริหาร ซึ่งมีผู้เข้าสอบซึ่งคะแนนไม่ผ่านร้อยละ 60 ร้องขอตรวจสอบ 2 ประเด็น คือ (1) ขอดูคะแนนของตนเอง (2) ขอดูเฉลยคำตอบ ซึ่งในประเด็นที่ (1) ส่วนราชการได้ให้เจ้าตัวดูแล้ว ในส่วนประเด็นที่ (2) ยังไม่ได้รับคำตอบ ขอเรียนสอบถามว่าในประเด็นที่ (2) จะสามารถขอดูได้หรือไม่ ส่วนราชการนั้นสามารถสงวนสิทธิได้หรือไม่
ตอบ ข้อมูลข่าวสารของราชการตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการนั้น ประชาชนมีสิทธิขอดูได้
แต่อาจมีข้อมูลบางประเภทที่หน่วยงานจะอ้างกฎหมายในการไม่ให้ดู ซึ่งถือเป็นดุลพินิจของหน่วยงานเจ้าของข้อมูล ประชาชนอาจเชื่อตามนั้นแล้วไม่ขอต่อ หรืออาจไม่เชื่อก็จะมีสิทธิอุทธรณ์การปฏิเสธไม่ให้ดูนั้นได้ เมื่อมีการปฏิเสธแล้วจะมีคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร เป็นผู้พิจารณาและมีคำวินิจฉัยว่าให้เปิดเผยหรือไม่ให้เปิดเผยต่อไป
สำหรับกรณีที่ขอข้อมูลไป ๒ ประเด็น ประเด็นแรกแจ้งเปิดเผยแล้วแต่ประเด็นที่ ๒ ยังไม่แจ้งนั้น ผู้ขอมีสิทธิร้องเรียนให้หน่วยงานแจ้งผลว่าจะให้ดูหรือไม่ โดยร้องเรียนมายังคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ เพื่อดำเนินการได้ต่อไปครับ
6. ถาม ข้อมูลส่วนบุคคลและผลการพิจารณาคัดเลือก
กรณี นาย ก. ผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเพื่อเลื่อนระดับ ต้องการทราบผลคะแนนของตนเอง และของบุคคลอื่นๆทั้งหมดที่เข้าร่วมการคัดเลือกในคราวเดียวกัน ซึ่งหลักเกณฑ์การคัดเลือกดังกล่าว พิจารณาจากผลของการแสดงวิสัยทัศน์ และมีหลักเกณฑ์เงื่อนไขอื่นๆของคณะกรรมการภายในสำนักงาน ฯ
ในการนี้ สำนักงานฯควรดำเนินการอย่างไร จึงจะถูกต้องตาม พรบ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ
ตอบ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 มาตรา 25 ได้กำหนดสิทธิในการรู้ถึงข้อมูลข่าวสาร
ส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตนไว้ ดังนั้นเมื่อเจ้าตัวขอดูข้อมูลที่เป็นผลคะแนนของตนเองก็ใช้สิทธิขอดูได้ ซึ่งหน่วยงานของรัฐต้องจัดไว้ให้ตรวจดูได้ หากไม่ให้ดูก็ต้องมีเหตุผลที่สมควรและแจ้งปฏิเสธการเปิดเผยไป เพื่อให้ใช้สิทธิอุทธรณ์ได้ต่อไป สำหรับการขอดูผลคะแนนของผู้อื่นนั้น ถือเป็นการดูข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลของคนอื่นซึ่งมาตรา 24 กำหนดเรื่องความยินยอมไว้ โดยต้องมีหนังสือยินยอมมาประกอบคำร้องขอดูดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ดี หากไม่มีหนังสือยินยอมมาให้ หน่วยงานก็ต้องปฏิเสธการเปิดเผยซึ่งจะทำให้ผู้ขอมีสิทธิอุทธรณ์ได้ต่อไป เคยมีแนวคำวินิจฉัยหากผู้ขอมีส่วนได้เสียกับข้อมูลนั้น เช่น การสอบแข่งขันที่รับตามจำนวนที่กำหนด กวฉ.จะให้เปิดเผยข้อมูล แต่หากเป็นการสอบแข่งขันโดยกำหนดเกณฑ์เช่น 60% จึงจะผ่าน อย่างนี้ กวฉ.เห็นว่าเป็นการแข่งขันเฉพาะตัว ที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้อื่น เป็นต้น
สำหรับหลักเกณฑ์หรือข้อมูลที่เป็นเงื่อนไขในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ ถือเป็นข้อมูลข่าวสารของราชการที่เปิดเผยได้
7. ถาม ความหมายของคำว่า 'หน่วยงานของรัฐ'
1. ความหมายของคำว่า 'หน่วยงานของรัฐ' ตามมาตรา 4 ของพ.ร.บ. ข่าวสารฯ นี้ หมายความรวมถึงองค์การมหาชน ตามพ.ร.บ.องค์การมหาชน หรือไม่ เนื่องจาก ตามกฏหมายอื่นๆ ของทางราชการ องค์การมหาชน มักจะอยู่ในความหมายของคำว่า 'หน่วยงานอื่นของรัฐ' แต่สำหรับ พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสาร นั้น ใช้คำว่า 'หน่วยงานอิสระของรัฐและหน่วยงานอื่นตามที่กำหนดในกฏกระทรวง' เมื่อตามไปดูกฎกระทรวงที่ออกตามความใน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่ ไม่ปรากฏในเรื่องหน่วยงานอื่น ดังนั้น องค์การมหาชนอยู่ในข่ายที่จะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ. นี้หรือไม่เพียงใด เนื่องจากในคู่มือของสำนักงาน ก.พ.ร. กำหนดว่า 'ให้องค์การมหาชน ยึดถือหลักการและแนวทางปฏิบัติที่ปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าสาร ฯ ซึ่งหากต้องดำเนินการ จะต้องดำเนินการอย่างไร โปรดแนะนำ
2. เป็นไปได้หรือไม่ เนื่องจาก พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของทางราขการ พ.ศ. 2540 เกิดก่อน พ.ร.บ.องค์การมหาชน พ.ศ. 2546 ซึ่ง ณ ขณะที่ตรากฏหมายยังไม่มีองค์การพันธุ์ใหม่นี้อยู่ในสารระบบหน่วยงานของรัฐ เป็นไปได้หรือไม่ว่า จะปรับปรุงกฏหมายเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติ เพราะการตีความให้กับผู้บริหารของสำนักงาน หากข้อความในกฏหมายไม่ชัดเจน ปัญหาสำหรับผู้ปฏิบัติ คือคำตอบว่า ผู้ปฏิบัติตีความไม่ถูกต้องอาจตีความเป็นอย่างอื่นก็ได้ ซึ่งหมายถึงการไม่ต้องปฏิบัติตาม
ตอบ หน่วยงานของรัฐตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.๒๕๔๐ นั้นจะให้คำจำกัดความไว้ตาม
กฎหมายอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม กรณีองค์กรมหาชนที่จัดตั้งขึ้นภายหลังจากที่กฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการออกมาใช้บังคับแล้วนั้น กฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดตั้งหน่วยงานหรือองค์กรดังกล่าวขึ้น ก็ได้มีการกำหนดอยู่แล้วให้เป็นหน่วยงานของรัฐซึ่งก็ต้องถือปฏิบัติตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการด้วย นอกจากนี้องค์กรบางองค์กรที่จัดตั้งขึ้นได้มีการกำหนดให้อยู่ในกำกับดูแลของรัฐมนตรีฯ ซึ่งก็ถือเป็นราชการส่วนกลาง ในกำกับดูแลของกระทรวงนั้นๆไปด้วย สำหรับการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการนั้นของให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานมาประสานกับทางสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ เพื่อแนะนำการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป เพราะคงต้องทำความเข้าใจในรายละเอียดของการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องด้วย
สำหรับประเด็นการปรับแก้ไขกฎหมายนั้นอยู่ในระหว่างการดำเนินการเสนอขอแก้ไขเพื่อความชัดเจนอยู่แล้ว ขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
8. ถาม หนังสือร้องขอข้อมูลองค์การบริหารส่วนตำบลของผู้รับเหมา
ข้อเท็จจริง กรณีมีผู้รับเหมาทำหนังสือร้องขอข้อมูลมาที่ อบต. 1 ฉบับโดยหนังสือแจ้งว่าต้องการให้ อบต. ดำเนินการ คือ ส่งเอกสารเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างหรือประกวดราคาให้แก่ผู้รับเหมาทราบทุกครั้งที่มีการดำเนินการประกวดราคาหรือจัดซื้อจัดจ้าง แต่ อบต.ไม่ปฏิบัติตามคำขอโดยแจ้งแก่ผู้รับเหมาให้ทราบว่าการทำหนังสือร้องขอข้อมูลดังกล่าวนั้นต้องทำหนังสือทุกครั้งที่มีการร้องขอเป็นเรื่องๆทุกครั้งไป
ถามว่าการไม่ปฏิบัติตามหนังสือคำร้องขอข้อมูลของผู้รับเหมาและแจ้งแก่ผู้รับเหมาข้างต้น อบต. กระทำโดยชอบด้วย กม. หรือไม่ อย่างไร และขอคำแนะนำเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป พร้อมทั้งแนะนำแหล่งหาเอกสารอ้างอิง
ตอบ สิทธิประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการเป็นเรื่องของการเข้าตรวจดู ขอสำเนา
หรือขอสำเนาที่มีคำรับรองถูกต้องของข้อมูลข่าวสารของราชการ การจะจัดส่งข้อมูลข่าวสารให้ผู้ขอหรือไม่ เป็นเรื่องการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่มีข้อกฎหมายกำหนดให้ต้องกระทำแต่อย่างใด เว้นแต่เอกสารการสอบราคาที่มีระเบียบว่าด้วยการพัสดุฯ กำหนดให้ส่งไปยังผู้ประกอบอาชีพรับจ้างให้มากที่สุด (หน่วยงานจะมีการจัดทำบัญชีผู้ประกอบอาชีพรับจ้างไว้ ซี่งหากบริษัทหรือผู้รับจ้างในอาชีพนั้นๆจะขอให้ส่งเอกสารสอบราคา ก็ควรไปแจ้งขึ้นทะเบียนไว้กับหน่วยงานต่อไป)
หน้าที่ที่หน่วยงานต้องปฏิบัติคือ การติดประกาศการประกวดราคาหรือสอบราคา และจัดส่งไปเพือ่เผยแพร่ให้เป็นไปตามระเบียบฯ รวมทั้งการจัดข้อมูลข่าวสารของราชการดังกล่าวไว้ ณ หน่วยงานของรัฐนั้น(เช่น อบต.) เมื่อประชาชนมาตรวจดูก็จะเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้โดยสะดวก กรณีการขอให้ส่ง หากจะส่งให้ก็ไม่ผิดระเบียบหรือกฎหมายใด แต่หากไม่ส่งก็ควรแจ้งตอบกลับให้ผู้รับเหมาทราบว่ามีการจัดซื้อจัดจ้างให้มาตรวจดูข้อมูลที่เกียวข้อง และให้คอยมาตรวจสอบเป็นระยะๆ เพราะการเขียนถามครั้งเดียวแต่เป็นภาระในการต้องคอยแจ้งตลอดคงไม่ถูกต้อง เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการแจ้งซึ่งดังกล่าว ประชาชนควรเข้ามาตรวจดูในเวลาอันสมควรต่อไป
|
|
ประพันธ์ เวารัมย์ [183.89.75.xxx] เมื่อ 14/01/2017 13:57
|