รถราชการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถทำประกันภัยได้ !!! |
|
อ้างอิง
อ่าน 432 ครั้ง / ตอบ 0 ครั้ง
|
ประพันธ์ เวารัมย์
|
ถหลวง ... ไม่มีประกัน
รถหลวง ... ทำประกันไม่ได้
จากประโยคข้างต้นก่อเกิดข้อสงสัย และข้อถกเถียงกัน(ด้วยเหตุผล)ภายในกลุ่ม อปท.
ดังนั้น ด้วยความอยากรู้ และเพื่อต้องการหาข้อชัดเจนในเรื่องนี้ ผมจึงแสวงหาข้อมูลมาแบ่งบันสมาชิกฯครับ
สรุปคือ
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ถือปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0808.2/ว 2633 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2552 เรื่อง ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการประกันภัยรถราชการ
รถราชการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สามารถจัดทำประกันภัยและเบิกค่าใช้จ่ายจากการทำประกันภัยจะต้องเป็นรถราชการตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการใช้และรักษารถยนต์ของรถราชการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548 ได้แก่
- รถส่วนกลาง คือ รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่จัดไว้เพื่อกิจการอันเป็นส่วนรวมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และให้หมายความรวมถึงรถยนต์ที่ใช้ในการบริการประชาชนหรือใช้ในหน้าที่ของส่วนราชการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น รถยนต์ดับเพลิง รถยนต์บรรทุกน้ำ รถยนต์พยาบาล รถยนต์บรรทุกขยะมูลฝอย และเครื่องจักรกลต่าง ๆ

(ขอยืมภาพประกอบมาจาก เว็บไซต์เทศบาลตำบลท่าข้าม)
- รถประจำตำแหน่ง คือ รถยนต์ซึ่งจัดให้แก่ผู้บริหาร หรือหัวหน้าส่วนราชการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- รถรับรอง คือ รถยนต์ที่จัดไว้เป็นพาหนะรับรองชาวต่างประเทศซึ่งเป็นแขกของทางราชการ หรือจัดไว้เพื่อรับรองบุคคลสําคัญ
ซึ่งการจัดทำประกันภัยรถราชการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แบ่งเป็น
1. การประกันภัยภาคบังคับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดให้มีการประกันภัยรถราชการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภาคบังคับ ตาม พรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ได้
2. การประกันภัยภาคสมัครใจ ในกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะจัดให้มีการประกันภัยนอกเหนือจากการประกันภัยภาคบังคับ ให้เสนอเรื่องให้ผู้บริหารท้องถิ่นเป็นผู้พิจารณาอนุมัติจัดทำ
โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจัดทำประกันภัยภาคสมัครใจ ดังนี้
ก. หลักเกณฑ์
1. ต้องเป็นรถยนต์ส่วนกลางที่ใช้ในการปฏิบัติงานตามภารกิจหน้าที่ของ อปท.
2. ลักษณะการใช้รถตามข้อ 1. มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
3. อปท. มีงบประมาณเพียงพอในการจัดทำประกันภัย
ข. เงื่อนไขในการจัดทำประกันภัยภาคสมัครใจ
กลุ่มที่ 1 รถยนต์ส่วนกลางของอปท. ในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา
กลุ่มที่ 2 รถยนต์ส่วนกลางของอปท. มีลักษณะการใช้งานที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ อาจมีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลอื่นในวงกว้าง เช่น รถพยาบาล รถยนต์ฉุกเฉิน รถยนต์บรรเทาสาธารณภัย รถยนต์ดับเพลิง รถยนต์ส่วนกลางที่มีลักษณะเป็นรถยนต์โดยสารจำนวน 20 ที่นั่งขึ้นไป
กลุ่มที่ 3 รถยนต์ส่วนกลางของอปท. ที่นอกเหนือจากกลุ่มที่ 2
การจัดทำประกันภัย ในกลุ่มที่ 1-2 ให้ผู้บริหารพิจารณาประเภทของการจัดทำประกันภัยตามความเหมาะสม สำหรับกลุ่มที่ 3 ให้จัดทำประกันภัยภาคสมัครใจในความคุ้มครองประเภทที่ 3 ในวงเงินความคุ้มครอง ไม่เกิน 300,000 บาทต่อคน
อนึ่ง ในการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายสำหรับการทำประกันภัยรถราชการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ตั้งงบประมาณรายจ่ายในหมวดค่าตอบแทน ใช้สอยและวัสดุ ประเภทรายจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งบริการ
*** สรุปสุดท้าย ***
รถราชการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถทำประกันภัยได้
โดยให้ถือปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0808.2/ว 2633 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2552 เรื่อง ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการประกันภัยรถราชการ
พิมพ์แบ่งบันโดย ส.เสือ
หนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0808.2/ว 2633 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2552
เรื่อง ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการประกันภัยรถราชการ
http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2552/8/6546_1.pdf
|
|
ประพันธ์ เวารัมย์ [183.88.40.xxx] เมื่อ 14/01/2017 13:57
|