ชี้ เก็บภาษีพระ! ทำคนไทยไม่อยากบวช แนะให้มอง พระต่างจังหวัดไม่ได้รวย |
|
อ้างอิง
อ่าน 216 ครั้ง / ตอบ 0 ครั้ง
|
ประพันธ์ เวารัมย์
|
ชี้ เก็บภาษีพระ! ทำคนไทยไม่อยากบวช แนะให้มอง พระต่างจังหวัดไม่ได้รวย
พระเทพสิทธาจารย์ (น้อย ญาณวุฒโฑ) เจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม เจ้าอาวาสวัดมหาชัย พระอารามหลวง อ.เมือง จ.มหาสารคาม ให้สัมภาษณ์กรณีพระเมธีธรรมาจารย์ (ประสาร จนฺทสาโร) รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ที่ปรึกษาสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา (สนพ.) ทำหนังสือเรื่อง 'การเตรียมกฎหมายเก็บภาษีพระและตรวจสอบทรัพย์สินของวัด' ถึงเจ้าคณะพระสังฆาธิการทั่วประเทศพร้อมแนบแบบตอบรับแสดงความคิดเห็นถึงนายกรัฐมนตรี ได้รับทราบถึงความคิดเห็นของเจ้าคณะพระสังฆาธิการที่มีต่อข้อเสนอของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ให้เก็บภาษีพระภิกษุที่มีรายได้มากกว่า 20,000 บาท และเก็บภาษีวัดที่จัดกิจกรรมเชิงพุทธพาณิชย์ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบข้อเสนอดังกล่าวและมอบหมายให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ศึกษาถึงความเป็นไปได้และรายงานกลับมาภายใน 30 วัน หรือวันที่ 12 มิถุนายน ว่า
สถานการณ์ของคณะสงฆ์ขณะนี้กำลังร้อนระอุ ทั้งกรณีให้เก็บภาษีพระที่มีรายได้เกิน 20,000 บาท หรือเรื่องเสนอให้เจ้าอาวาสมีวาระดำรงตำแหน่งเพียง 5 ปี ซึ่งอาตมาไม่เห็นด้วย เพราะพระสงฆ์ไม่มีลาภสักการะ และต้องเสียภาษีสังคม เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ารถ ค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น บางครั้งค่าน้ำ ค่าไฟยังไม่พอจ่าย และที่สำคัญวัดในต่างจังหวัดมีพระจำวัดเพียงไม่กี่รูป จึงอยากให้รัฐบาลมองปัญหานี้ด้วย ถ้าหากกฎหมายมีผลบังคับใช้จริง จะทำให้คนไม่อยากบวชเป็นพระ และเป็นการบีบบังคับพระไปในตัว ซึ่งจะคล้ายกับประเทศเพื่อนบ้านที่รัฐบาลไม่ค่อยสนับสนุนส่งเสริมพระพุทธศาสนา
'เรื่องกำหนดวาระของเจ้าอาวาส 5 ปี มองว่าพระสงฆ์เป็นสมณเพศที่แตกต่างจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้นำจิตวิญญาณของชุมชน ถ้าย้ายไปดำรงตำแหน่งที่วัดอื่น อาจเกิดปัญหาเรื่องความศรัทธาของญาติโยมในต่างถิ่น อาจถึงขั้นประท้วงขับไล่อย่างรุนแรง จึงอยากให้ศึกษาเรื่องนี้อย่างลึกซึ้งก่อนออกกฎหมาย' พระเทพสิทธาจารย์กล่าว
พระครูศรีรัตนาภิวัฒน์ (ทวี รตนเมธี) เจ้าคณะอำเภอเมืองสุพรรณบุรี เจ้าอาวาสวัดพระลอย อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า ถ้าจะเก็บภาษีพระและวัด อาตมาไม่มีปัญหา แต่อยากให้มองความต่างของวัดในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อย่าออกกฎหมายเพียงมองว่าพระ มีเงินเยอะ อย่างวัดในต่างจังหวัดกว่าจะหาเงินมาสร้างวัดได้ยากมากและใช้ระยะเวลานาน ต่างจากวัดในกรุงเทพฯ ที่มีเงินส่วนกลางสนับสนุนในการบูรณะวัดอยู่แล้ว ที่สำคัญอย่าศึกษาเฉพาะรายได้ของวัด ให้ศึกษารายจ่ายด้วย เพราะวัดราษฎร์และวัดพระอารามหลวงต่างกันมาก จะคิดว่ารายได้เท่ากันไม่ได้ อย่ามองด้านเดียวว่าพระโลภสะสมเงินจนรวย ให้มองพระที่มีจิตอาสา บริจาคเงินช่วยสังคมด้วย และขอความชัดเจนในรายละเอียดการตรวจสอบรายได้ของพระและวัด เพราะแต่ละเดือนมีรายรับรายจ่ายไม่คงที่ และภาษีนี้รัฐบาลจะนำไปทำอะไร ขอให้ชี้แจงด้วย ส่วนเรื่องเวียนตำแหน่งเจ้าอาวาสทุก 5 ปี ถ้าเป็นวัดราษฎร์คงทำได้ยาก เนื่องจากบางวัดมีพระจำพรรษารูปเดียว และเป็นที่ยึดเหนี่ยวของชาวบ้านในชุมชน ถ้าสับเปลี่ยนรูปใหม่ ศรัทธาของญาติโยมต้องเริ่มใหม่ แต่ถ้าเป็นวัดพระอารามหลวงอาจทำได้ เพราะการตั้งเจ้าอาวาสมาจากมติของมหาเถรสมาคม (มส.) ซึ่งญาติโยมไม่ได้ยุ่งเกี่ยวอยู่แล้ว
'มส.มีกฎควบคุมการตั้งเจ้าอาวาสอยู่ ตราบใดที่ยังไม่แก้กฎ มส. แม้ออกกฎหมายมาให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสคราวละ 5 ปีก็ทำไม่ได้ เพราะจะขัดแย้งกับกฎ มส. ส่วนการเก็บเงินภาษีของพระและวัด ถ้าเป็นไปอย่างโปร่งใส อาตมาก็ยินดี แต่อย่าลืมว่าเงินที่ได้จากภาษีพระนั้น มาจากเงินที่ญาติโยมถวายให้ด้วยความศรัทธา' พระครูศรีรัตนาภิวัฒน์กล่าว
ด้านสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กล่าวเป็นประธานพิธีเปิดการอบรมครูสอนพระปริยัติธรรม แผนกบาลี ประจำปี 2558 เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ครูพระที่เข้าอบรมครั้งนี้ ทางแม่กองบาลีสนามหลวงจะขึ้นทะเบียนไว้และจะถวายนิตยภัตปีละ 18,000 บาท หรือเดือนละ 1,000 กว่าบาท ดังนั้นอยากถวายความรู้พิเศษว่าคำว่านิตยภัตกับเงินเดือนคนละอย่างกัน ก่อนหน้านี้พระเรียกกันง่ายๆ ว่าเงินเดือน แต่ท่านผู้รู้เพิ่งบอกอาตมาว่า ถ้าเป็นเงินเดือนจะต้องเสียภาษี ถ้าเป็นนิตยภัตไม่เสียภาษี ความหมายต่างกัน อาตมาจึงได้ถามรองนายกรัฐมนตรีว่าท่านมีเงินเดือน ท่านเสียภาษีหรือไม่ รองนายกฯ ตอบว่าต้องเสียภาษี ฉะนั้นอย่าเรียกนิตยภัต ว่าเงินเดือน เดี๋ยวจะต้องเสียภาษีตามเขา
|
|
ประพันธ์ เวารัมย์ [183.88.42.xxx] เมื่อ 14/01/2017 13:57
|