แนะนำตำแหน่ง "เจ้าพนักงานพัสดุ" : ไม่เสี่ยงอย่างที่คิด |
|
อ้างอิง
อ่าน 19723 ครั้ง / ตอบ 3 ครั้ง
|
ประพันธ์ เวารัมย์
|
แนะนำตำแหน่ง 'เจ้าพนักงานพัสดุ' : ไม่เสี่ยงอย่างที่คิด
สวัสดีครับ
จากนี้ไปจะแนะนำตำแหน่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่น่าสนใจและจัดอยู่ในตำแหน่งตัวเต็งที่จะเปิดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะมีอยู่หลากหลายตำแหน่ง ผมจะค่อยทยอยแนะนำให้รับทราบต่อไปครับ
กระทู้นี้ ขอแนะนำตำแหน่ง 'เจ้าพนักงานพัสดุ'
เจ้าพนักงานพัสดุ คือ
ตำแหน่งเจ้าพนักงานพัสดุ คือ ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ที่มีสายงานเริ่มต้นในระดับ 2 หมายถึงเมื่อเริ่มบรรจุในตำแหน่งนี้ ท่านคือข้าราชการซี 2 ครับ สำหรับเจ้าพนักงานพัสดุหลายท่านคงมองว่าเป็นตำแหน่งที่เสี่ยงติดคุก (ขออนุญาตพูดตรงๆ) เพราะเจ้าพนักงานพัสดุจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภายใน อปท. เริ่มตั้งแต่กระบวนการจัดหา จัดซื้อ ตรวจรับพัสดุและครุภัณฑ์ต่างๆ แต่หากเราปฏิบัติตามระเบียบกฎหมาย ไม่เอนเอียงเอื้อประโยชน์แก่เอกชนรายใดรายหนึ่ง ก็ไม่ต้องกลัวครับ ระเบียบกฎหมายของคุ้มครองท่านเอง เมื่อท่านทำถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ต้องกลัวครับ
หน้าที่เจ้าพนักงานพัสดุ
เป็นเจ้าหน้าที่ชั้นต้นปฏิบัติงานที่ค่อนข้างยากเกี่ยวกับงานพัสดุตามที่ได้รับมอบหมาย เช่น การจัดหา จัดซื้อ ตรวจรับ การเบิกจ่าย การเก็บรักษา นำส่ง การซ่อมแซมและบำรุงรักษาพัสดุ ครุภัณฑ์ อุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องใช้ต่าง ๆ การทำทะเบียนพัสดุ การเก็บรักษาใบสำคัญหลักฐานและเอกสารเกี่ยวกับพัสดุและปฏิบัติหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้อง

(ภาพประกอบบทความจาก ASTVผู้จัดการออนไลน์)
ความน่าสนใจของตำแหน่งนี้
1. ท่านที่จบช่างกล ช่างโยธา ช่างก่อสร้าง สามารถมาสมัครสอบตำแหน่งเจ้าพนักงานพัสดุได้
2. เจ้าพนักงานพัสดุ เปิดรับวุฒิการศึกษาหลากหลายสาขา
3. เจ้าพนักงานพัสดุ เหมาะสำหรับคนที่ชอบจับจ่ายซื้อของ ท่านจะเพลิดเพลินไปกับการจัดทำเอกสารจัดซื้อจัดจ้างของ อปท.
4. เจ้าพนักงานพัสดุ เป็นตำแหน่งที่รักใคร่ชื่นชอบของ สตง. เป็นพิเศษ
5. หลาย อปท. ขาดแคลนเจ้าพนักงานพัสดุ และกำลังรอคอยเรียกใช้บัญชีอยู่ครับ
6. ปัจจุบันบัญชีผู้สอบได้ของ กสถ. ไม่มี ตำแหน่งเจ้าพนักงานพัสดุ
คุณวุฒิที่ต้องมีสำหรับตำแหน่งนี้
1. ได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิคหรือเทียบได้ไม่ต่ำกว่านี้ทางบัญชี เลขานุการ เทคนิคการตลาด การธนาคารและธุรกิจการเงิน เทคนิควิศวกรรมโยธา เทคนิคเขียนแบบวิศวกรรมเครื่องกล พาณิชยการ บริหารธุรกิจ การจัดการทั่วไป ช่างโยธา ก่อสร้าง ช่างเครื่องกล หรือทางอื่นที่ ก กลางกำหนดว่าใช้เป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนี้ได้ หรือ
2. ได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือเทียบได้ไม่ต่ำกว่านี้ ทางบัญชี เลขานุการ เทคนิคการตลาด การธนาคาร และธุรกิจการเงิน เทคนิควิศวกรรมโยธา เทคนิคเขียนแบบ วิศวกรรมเครื่องกล พาณิชยการ บริหารธุรกิจ การจัดการทั่วไป ช่างโยธา ช่างก่อสร้าง ช่างเครื่องกล หรือทางอื่นที่ ก กลางกำหนดว่าใช้เป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนี้ได้
ความเติบโตในสายงาน 'เจ้าพนักงานพัสดุ'
ตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งนั้น เจ้าพนักงานพัสดุจะเลื่อนระดับไปได้จนถึงระดับเจ้าพนักงานพัสดุ 6
หรือเมื่อถึงระดับ 3 แล้ว จะสอบเปลี่ยนสายงานขยับไปเป็น นักวิชาการพัสดุ ก็ได้
จากนั้นครองไปจนถึงระดับ 6 แล้ว สอบขึ้นเป็นนักบริหาร (หัวหน้าฝ่าย) ต่อไป
เจ้าพนักงานพัสดุ สอบบรรจุอย่างไร
เริ่มต้นให้เตรียมตัวสอบในภาค ก (ภาคความรู้ความสามารถทั่วไป)
จากนั้นอ่านหนังสือเตรียมสอบในภาค ข โดยขอบเขตเนื้อหาที่เคยถูกกำหนดไว้ มีดังนี้
1. พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540
2. ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
3. ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
4. ความรู้ที่เกี่ยวกับงานตาม 'ลักษณะงานที่ปฏิบัติ' ของตำแหน่งที่สมัคร
สรุป
เจ้าพนักงานพัสดุ ค่อนข้างเปิดกว้างรับผู้ที่จบหลากหลายวุฒิ แม้กระทั่งจบช่าง ก็สามารถมาสอบได้ และปัจจุบันบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ของ กสถ. ไม่มีตำแหน่งนี้ขึ้นบัญชี ดังนั้นเป็นไปได้สูงมากๆ ที่ กสถ. จะเปิดสอบในตำแหน่งนี้อีกครั้ง เพื่อตอบสนองความต้องการของ อปท.
ขอให้ท่านที่สนใจจะสอบศึกษาในเรื่องของการจัดหาพัสดุใหม่ e-market และ e-bidding ไว้ด้วย
ขอให้โชคดีครับ
.../ ไว้กระทู้ถัดไปจะแนะนำตำแหน่งอื่นให้รับทราบต่อไปครับ
ส.เสือ ชุมชนคนท้องถิ่น
|
|
ประพันธ์ เวารัมย์ [183.89.74.xxx] เมื่อ 21/12/2020 08:04
|